ปี พ.ศ. 2482 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้น เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักในการปกครองประเทศ ซึ่งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้นตั้งอยู่กลางถนนราชดำเนินกลาง ตัดกับถนนดินสอ โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483
ส่วนประกอบของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
Meaning and components of the Democracy Monument
- ปีกทั้ง 4 ด้านของอนุสาวรีย์ สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร รัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 มิถุนายน วันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
- ปืนใหญ่ 75 กระบอกโดยรอบ หมายถึง พ.ศ. 2475 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
- ภาพดุนที่ฐานปีก หมายถึง ประวัติการดำเนินงานของ “คณะราษฎร” ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
- พานรัฐธรรมนูญตั้งบนป้อมกลางสูง 3 เมตร หมายถึง เดือนที่ 3 คือเดือนมิถุนายน เดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เดิมการนับปีใหม่ เริ่มจากเดือนเมษายน เป็นเดือนที่ 1)
- พระขรรค์ 6 เล่ม ประกอบบานประตูรอบป้อมกลาง หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันเป็นนโยบายของคณะราษฎร ได้แก่ หลักเอกราช หลักความปลอดภัย หลักเศรษฐกิจ หลักเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา
There are 4 images of the bumps at the base of the wings and their meanings as follows:
ภาพดุนที่ 1 ภาพการวางแผนเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เป็นภาพชายในเครื่องแบบทหารและพลเรือนปรึกษาหารือกัน
ภาพดุนที่ 2 ภาพทหารของฝ่ายก่อการปฏิวัติ อาวุธยุทโปกรณ์ ม้า รถถังและปืน เคลื่อนพลเข้ายึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ภาพดุนที่ 3 ภาพการประกอบอาชีพของประชาชนชาวไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น ข้าราชการ เกษตรกร กรรมกร และการค้าขาย
ภาพดุนที่ 4 ภาพสังคมไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น การศึกษา ศาสนา เศรษฐกิจ อาชีพ การกีฬา และสังคมที่สงบสุขยุติธรรม
บทความโดย ซันวา สุดตา | 30 ธันวาคม 2563
Source : Parliament Museum