ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกี่ยวกับ

วัตถุปฏิวัติ: การก่อตัวของคณะราษฎรผ่านวัตถุสิ่งของ

 

 

ในทุกสังคม การถกเถียงเกี่ยวกับอดีตส่งผลต่อความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจุบันและอนาคต ดังที่กลุ่มผู้ปกครองมักใช้การรับรู้เกี่ยวกับอดีตเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจเป็นที่ยอมรับและยังคงดำรงอยู่ ข้อเท็จจริงนี้ปรากฏให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งในประเทศไทย ที่ซึ่งเรื่องราวอิทธิพลเกี่ยวกับจุดกำเนิดและการปกป้องการปกครองแบบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญถูกเชื่อมโยงกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ในเรื่องราวดังกล่าว ไม่มีที่ว่างให้กับบทบาทสำคัญของคณะราษฎรที่โค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ. 2475 และก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ

ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทยในพ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 ประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรและมรดกทางวัตถุของพวกเขาได้รับความนิยมอย่างไม่เคยมีมาก่อนในกลุ่มผู้คนที่สนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศไทย ในหนังสือวิชาการ นักวิชาการต่างวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร โดยเน้นถึงวิสัยทัศน์ของคณะราษฎรต่อสังคมหลังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และความคาดหวังที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนอย่างเป็นวงกว้าง ในขณะเดียวกัน วัตถุสิ่งของและสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรได้ปรากฏขึ้นตามที่ต่าง ๆ ในที่สาธารณะ เนื่องจากนักเคลื่อนไหวและผู้ประท้วงนำวัตถุเหล่านี้มาใช้เพื่อสร้างพื้นที่ในการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง การเกิดใหม่ของคณะราษฎรในวงการวิชาการและการเมืองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มีใครมองเห็น ผลที่ตามมาคือสิ่งของหลายชิ้นในมรดกทางวัตถุของคณะราษฎรได้หายไปจากพื้นที่สาธารณะ มรดกทางวัตถุของคณะราษฎรตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกทำลายลง เนื่องจากเป็นสิ่งตกทอดที่นำมาซึ่งความไม่สบายใจต่อกลุ่มอนุรักษ์นิยมและราชาธิปไตย

เว็บไซต์นี้เกิดขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรและวิสัยทัศน์ของพวกเขาต่อสังคม วัฒนธรรม และการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในทศวรรษ 1930 และครึ่งแรกของทศวรรษ 1940 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ เว็บไซต์ได้นำเสนอข้อมูลวัตถุที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร บางชิ้นเป็นวัตถุที่มาจากยุคสมัยเดียวกันกับคณะราษฎร ในขณะที่บางชิ้นเป็นวัตถุที่มีอายุการสร้างใหม่ในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังการรัฐประหารในปีพ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 ซึ่งได้หยิบยกนำเอาสัญลักษณ์ของคณะราษฎรมาใช้ วัตถุบางชิ้นไม่มีอยู่แล้ว  บ้างเพราะความผุกร่อนตามกาลเวลา และบางชิ้นเกิดจากการกระทำที่ตั้งใจทำลาย บางอันมีชื่อเสียง ในขณะที่บางอย่างไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก บางชิ้นเป็นวัตถุขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในที่สาธารณะ ในขณะที่บางชิ้นมีขนาดเล็กและมีไว้สำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน

การจัดกลุ่มวัตถุสิ่งของในเวปไซด์แบ่งออกเป็น 3 มุมมองเพื่อสร้างความเข้าใจที่หลากหลาย ได้แก่ หนึ่ง มุมมองตามยุคสมัยเพื่อสร้างความเข้าใจกำเนิดและความเปลี่ยนแปลงทางความหมายของวัตถุแต่ละชิ้นที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา สอง มุมมองตามหมวดหมู่ประเภทวัตถุเพื่อจำแนกให้เห็นบทบาทหน้าที่ของวัตถุแต่ละชิ้นตามลักษณะประเภทการใช้งาน และสาม มุมมองตามผู้สร้าง เพราะใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างจะสะท้อนวิธีคิด เป้าหมาย และความหมายของวัตถุที่แตกต่างกัน

วัตถุแต่ละชิ้นมาพร้อมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ขนาดสั้น  เพื่อแนะนำข้อมูลพื้นฐานและความสำคัญของวัตถุนั้น ๆ  นอกจากนี้ วัตถุบางชิ้นยังมีบทความขนาดยาวเพื่อให้ผู้เยี่ยมชมสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมและนำไปสู่แหล่งเรียนรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแหล่งข้อมูลออนไลน์แห่งนี้จะได้รับความสนใจและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน  

เราหวังว่าคุณจะเพลิดเพลินกับการเยี่ยมชม

 

เกี่ยวกับ

การแบ่งยุค

วัตถุสิ่งของคณะราษฎรหากมองในมุมความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ สามารถแบ่งช่วงชีวิตแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองไทย

ช่วงที่ 1 "กำเนิดวัตถุสิ่งของคณะราษฎร พ.ศ. 2475-2490" เป็นช่วงเวลาที่คณะราษฎรมีอำนาจนำทางการเมืองและวัฒนธรรมในสังคมไทย วัตถุสิ่งของทุกอย่างถูกสรา้งขึ้นเพื่อส่งเสริมแนวคิดประชาธิปไตยและ "หลักหกประการของคณะราษฎร" ลักษณะเด่นที่ปรากฎคือการแทรกสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญและหลักหกประการลงไปในวัตถุ การออกแบบส่วนใหญ่มีลักษณะสมัยใหม่โดยได้รับแรงบันดาลใจจากงานศิลปะตามแนวทางอาร์ตเดโคซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ณ ขณะนั้น

ช่วงที่ 2 "คณะราษฎรที่ถูกลืม พ.ศ. 2490-2549" เป็นช่วงเวลาอันยาวนานเกือบ 60 ปี ภายหลังคณะราาฎรหมดบทบาทนำทางการเมืองและวัฒนธรรม คณะราษฎรกลายเป็นผู้ร้ายในทางประวัติศาสตร์ ความทรงจำถูกกลบฝัง วัตถุสิ่งของที่ถูกสรา้งขึ้นในช่วงที่ 1 ถูกทำให้เลือนหายไปจากความทรงจำร่วมทางสังคม บางอย่างถูกรื้อ บางอย่างถูกทิ้งร้าง และหลายอย่างถูกอธิบายความหมายใหม่ในแง่ลบ

ช่วงที่ 3 "การเกิดใหม่ครั้งที่สองของคณะราษฎร พ.ศ. 2549-2557" ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 การต่อต้านรัฐประหารในมิติทางวัฒนธรรมในหลากหลายกลุ่มเริ่มย้อนกลับไปศึกษาตีความประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และวัตถุสิ่งของหลายอย่างที่สร้างขึ้นในช่วงที่ 1 เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐประหาร วันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรถูกรื้อฟื้น มีงานศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับคณะราษฎรเกิดขึ้นมากอย่างมีนัยยะสำคัญ อนุสาวรีย์ อาคาร ตลอดจนวัตถุหลากหลายชนิดที่สร้างโดยกลุ่มคณะราษฎรกลายมาเป็นที่นิยม ทั้งในแง่ของการชุมชนุมทางการเมือง และในแง่ของการเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงใสนตลาดค้าของเก่า

ช่วงที่ 4 "การเกิดใหม่ครั้งที่สามของคณะราษฎร พ.ศ. 2557-ปัจจุบัน" ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 วัตถุสิ่งของยุคคณะราษฎรถูกรื้อทิ้งทำลายลงเป็นจำนวนมาก โดยมุ่งหวังว่าจะทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรสูญหายไปอีกครั้ง ปรากฎการณ์นี้ทำให้เกิดกระแสย้อนกลับ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามต่อการรื้อทำลายวัตถุสิ่งของยุคคณะราษฎร ก่อให้เกิดเป็นกระแสใหม่ในการเข้ามาตีความประวัติศาสตร์คณะราษฎรอย่างกว้างขวาง เกิดการผลิตวัตถุสิ่งสมัยใหม่มากมายที่ได้แรงบันดาลใจจากยุคคณะราษฎร มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาอย่างน่าสนใจในการรื้อฟื้นความทรงจำที่เกี่ยวกับคณะราษฎร      

 

เกี่ยวกับ

หมวดหมู่วัตถุ

หากจำแนกวัตถุสิ่งของคณะราษฎรออกเป็นประเภทต่าง ๆ อาจจัดแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

กลุ่มที่ 1 "สถาปัตยกรรม" ในยุคคณะราษฎร เกิดความเปลี่ยนแปลงทางรูปแบบและแนวคิดทางสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่โดยมีเป้าหมายในการใช้งานสถาปัตยกรรมเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่และปลูกฝังแนวคิดประชาธิปไตยและหลักหกประการของคณะราษฎร รูปแบบสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบอาร์ตเดโค โดยจะมีการออกแบบที่ผสมผสานเข้ากับสัญลักษณะพานรัฐธรรมนูญและหลักหกประการของคณะราษฎร 

กลุ่มที่ 2 "ศิลปกรรม" เช่นเดียวกับงานสถาปัตยกรรม งานศิลปะคณะราษฎรถูกสร้างขึ้นโดยมีส่วนผสมระหว่างงานศิลปะสมัยใหม่ ศิลปะอาร์ตเดโค และการแทรกสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญและหลักหกประการของคณะราษฎรเข้าด้วยกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือรูปแบบงานศิลปะไทยใหม่ที่แยกขาดออกจากงานศิลปะในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในขณะเดียวกันก็มีความแตกต่างออกไปจากงานศิลปะสมัยใหม่จากยุโรปที่เป็นต้นแบบ

กลุ่มที่ 3 "สิ่งพิมพ์" ภายใต้บรรยากาศของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 การสื่อสารความเปลี่ยนแปลงนี้สู่สังคมวงกว้างเป็นสิ่งจำเป็น และในบรรดาเครื่องมือการสื่อสารทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดจะมีบทบาทสำคัญมากเท่าสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าเป็น หนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือ แผ่นพับ โปสเตอร์ ฯลฯ การทำความเข้าใจหลักฐานข้อมูลประเภทนี้จะช่วยทำให้เข้าใจความคิดและจิตวิญาณเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้ชัดเจนขึ้น

กลุ่มที่ 4 "วัตถุทางการเมืองวัฒนธรรม" สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเป็นอีกประเภทของวัตถุสิ่งของที่เข้ามาทำหน้าที่สื่อสารและปลูกฝังแนวคิดทางการเมืองได้อย่างมีพลัง ในยุคคณะราษฎรมีสิ่งของประเภทนี้ผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก เช่น เนคไท เข็มกลัด ที่เขี่ยบุหรี่ ปฏิทิน ตลาปัตร สมุด สแตมป์ โอ่ง ขัน ฯลฯ วัตถุเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานสำคัญของความเลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่กระตัวอย่างกว้างขวาง และภายใต้การต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมในปัจจุบัน วัตถุทางการเมืองวัฒนธรรมเป็นจำนวนไม่น้อยก็ถูกสรา้งขึ้นใหม่โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัตถุสิ่งของยุคคณะราษฎร

 

เกี่ยวกับ

ผู้สร้างวัตถุ

ในอีกมุมองหนึ่ง บรรดาวัตถุสิ่งของคณะราษฎรอาจจำแนกได้ออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ วัตถุที่สร้างโดยรัฐ และ วัตถุที่สร้างโดยประชาชน โดยการจำแนกในลักษณะนี้จะช่วยทำให้เราเข้าใจการทำงานของวัตถุเหล่านี้ได้ชัดเจนและรอบด้านมากยิ่งขึ้น

"วัตถุที่สร้างโดยรัฐ" แม้ในด้านหนึ่งวัตถุประเภทนี้จะเป็นหลักฐานชั้นดีต่อการศึกษาและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัย แต่ในแง่หนึ่ง สิ่งเหล่านี้คือการโฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐ ทั้งหมดคือวัตถุที่ใช้ปลูกฝังแนวคิดและอุดมการณ์ที่รัฐต้องการสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนได้มองเห็นและเข้าใจได้ผ่านการใช้สอยวัตถุสิ่งของเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ สถาปัตยกรรม ธนบัตร เหรียญตรา ฯลฯ  

"วัตถุที่สร้างโดยประชาชน" วัตถุในกลุ่มนี้เป็นสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นจากประชาชนทั่วไป ในด้านหนึ่งคือการสะท้อนภาพให้เห็นว่าแนวคิดและอุดมการณ์ที่รัฐปลูกฝังให้แก่ประชาชนนั้นประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่ในอีกด้านคือการสะท้อนให้เห็นถึงการสนองตอบและเห็นพ้องต้องกันของประชาชนต่อแนวคิดและอุดมการณ์ที่รัฐเสนอ โดยในปัจจุบันมีวัตถุเป็นจำนวนมากที่สร้างขึ้นโดยประชาชนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งของยุคคณะราษฎร ซึ่งวัตถุสมัยใหม่เหล่านี้ถูกให้ความหมายในฐานะสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประาธิปไตยและการต่อต้านรัฐประหาร

 

เกี่ยวกับ

ผู้เกี่ยวข้อง

ผู้เขียน

ชาตรี ประกิตนนทการ

เป็นศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นคอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ เขาได้รับปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2562 ชาตรีได้ศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทยโดยเน้นไปที่การเมืองในงานสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของศิลปะไทย และการเมืองในการอนุรักษ์ภูมิทัศน์เมืองเก่าของกรุงเทพฯ งานวิจัยปัจจุบันของเขามุ่งเน้นไปที่ขบวนการศิลปะอาร์ตเดโคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Søren Ivarsson

Søren Ivarsson สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาจาก University of Copenhagen ก่อนจะเริ่มงานที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2564 Søren เคยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ที่ University of Copenhagen ปัจจุบันทำวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของผู้ประกอบการเดนมาร์กในการสร้างระบบทุนนิยมในสยามในช่วงเปลี่ยนศตวรรษที่ 20 ส่วนอีกโครงการหนึ่งนั้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันไม่ลงรอยของมรดกในเชิงวัตถุธรรมต่างๆ ของคณะราษฎร

ศรัญญู เทพสงเคราะห์

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่อง “กระบวนการกำหนดนโยบายที่ดินในประเทศไทย ระหว่างพ.ศ. 2475-2500” และได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยวิทยานิพนธ์ “จากการคุมขังสู่การแก้ไขฟื้นฟู: การเปลี่ยนแปลงของการราชทัณฑ์ไทยสมัยใหม่ พ.ศ. 2433-2506”

ปัจจุบัน ศรัญญู เทพสงเคราะห์ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ศรัญญูมีความสนใจและหลงใหลในประวัติศาสตร์ไทยหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มีการเผยแพร่ผลงานในรูปแบบบทความวิชาการและหนังสือ อาทิ “รัฐนาฏกรรมในงานวันชาติ พ.ศ. 2482-2484” (2567) “เปิดบันทึก "ตำรวจเชลย": ตำรวจสันติบาลกับการปราบกบฏบวรเดช.” (2566) “สงวน ตุลารักษ์ คนรุ่นใหม่ในการปฏิวัติสยาม 2475” (2566) “อ่านความหมาย “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ในสมัยคณะราษฎร” (2565) “ทัณฑนิคม: ปฏิบัติการราชทัณฑ์สมัยใหม่สมัยคณะราษฎร.” (2563) “ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร“ (2562)

นริศ จรัสจรรยาวงศ์

นักเขียน นักวิชาการอิสระ ที่เต็มไปด้วยคลังข้อมูลจากหนังสือและเอกสารเก่าแก่ที่เก็บรวบรวมไว้เป็นจำนวนมาก งานทั้งหมดเป็นไปเพื่อการรื้อฟื้นเรื่องราวเหล่าวิญญูชนคนสามัญผู้ถูกลืมให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง โดยงานด้านอาณาจักรสนใจในบริบทสังคมระยะเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ส่วนในด้านพุทธจักร ใฝ่ฉันทะชีวประวัติสตรีผู้เป็นพุทธมามิกาและงานแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาพากย์จีน มีผลงานวิชาการตีพิมพ์มากมายในสื่อหลากหลายประเภท อาทิ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, ปาจารยสาร, เพจ 101 ตลอดจนผลงานหนังสืออีกหลายเล่มในเครือมติชน นอกจากนี้ยังเป็นนักวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ เรื่องไทยศึกษาและพระพุทธศาสนา

สิริเดช วังกรานต์

สิริเดช วังกรานต์ อาจารย์ประจำที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จบปริญญาตรีทางด้านสถาปัตยกรรมไทยและปริญญาโททางด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง “คิดอย่าง” กลุ่มที่นำเสนอเรื่องราวด้านสถาปัตยกรรมไทยผ่านโซเชียลมีเดีย สิริเดชสนใจการวิจัยในสาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมไทย และการสันนิษฐานรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ปัจจุบันพังทลายหรือสูญหายไปแล้ว เพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ๆ งานวิจัยปัจจุบันของเขามุ่งเน้นศึกษาสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียน นักแปล และบรรณาธิการอิสระ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่จังหวัดเชียงใหม่ งานเขียนของจิรัฏฐ์ครอบคลุมตั้งแต่บทความด้านศิลปวัฒนธรรมและบทสัมภาษณ์บุคคล เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์อย่าง The Cloud, Cont., Capital และ Ground Control งานเขียนบทภาพยนตร์และสารคดี งานเขียนแคมเปญโฆษณาและสื่อประชาสัมพันธ์องค์กร ไปจนถึงงานวรรณกรรมร่วมสมัย (นวนิยายและรวมเรื่องสั้น) ผลงานวรรณกรรมเกือบทุกเล่มของเขาตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์แซลมอน ซึ่งมักเล่าถึงประวัติศาสตร์การเมือง กระบวนการจัดการความทรงจำรวมหมู่ในสังคมโดยฝ่ายที่มีอำนาจ และชะตากรรมของคนตัวเล็ก ๆ ภายใต้กรอบความเชื่อของสังคมที่ไม่ปกติ อาทิ พิพิธภัณฑ์เสียง (2556) ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า (2560) และรักในลวง (2566) ความสนใจดังกล่าวยังผลักดันให้เขาแปรรูปงานเขียนไปสู่งานทัศนศิลป์ โดยมีนิทรรศการเดี่ยวจัดแสดงมาแล้ว 2 ชุด ได้แก่ คิดถึงคนบนฝ้า (Our Daddy Always Looks Down on Us, 2563) จัดแสดงที่ Cartel Artspace และฝ่าละออง (From Dawn till Dust, 2565) จัดแสดงที่ VS Gallery

ทีมงาน

ผู้จัดการโครงการ

กิตติมา จารีประสิทธิ์ 

ภัณฑารักษ์แห่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ และ ใหม่อีหลี จังหวัดขอนแก่น ในปีพ.ศ. 2559 เธอร่วมก่อตั้ง ห้องทดลองภัณฑารักษ์รอคอยคุณ เพื่อทำงานทดลองด้านภัณฑารักษ์และสื่อสิ่งพิมพ์ศิลปิน  เธอสนใจศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะประเด็นที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ สังคม และการเมืองเชิงวิพากษ์ ทั้งที่เกี่ยวกับประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทำงานร่วมกับนัก วิชาการ ศิลปิน องค์กร และพื้นที่ทางศิลปะในหลากหลายรูปแบบจากหลากหลายประเทศ  กิตติมาได้รับปริญญามหาบัณฑิตสาขา การคัดสรรผลงานและจัดการชุดงานสะสม จาก Chelsea College of Arts ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

ออกแบบเว็บไซต์

ศีตภา พรหมมลมาศ

พัฒนาเว็บไซต์

ปกป้อง พงศาสนองกุล

จัดหาภาพถ่าย

อัครชัย อังศุโภไคย

 

เกี่ยวกับ

ติดต่อเพื่อตีพิมพ์บทความ

สำหรับผู้ที่มีข้อมูลและเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวข้องกับวัตถุสิ่งทั้งที่เป็นของสรา้งขึ้นในยุคคณะราษฎรและสร้างใหม่ในปัจจุบันโดยได้รับแรงบันดาลใจจากยุคคณะราษฎร สามารถเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ วัตถุปฏิวัติ: การก่อตัวของคณะราษฎรผ่านวัตถุสิ่งของ ได้ โดยส่งเรื่องราววัตถุเหล่านั้น ทั้งที่เ็นบทความขนาดสั้น 500 คำ และบทขนาดยาวไม่จำกัดจำนวนหน้ามายังอีเมล [email protected] 

 

ผู้สนับสนุน

มูลนิธิ จอมพล ป. และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม 
มูลนิธิสิทธิอิสรา 
ห้องทดลองภัณฑารักษ์รอคอยคุณ