ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศรัญญู เทพสงเคราะห์[1]
 

“หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “หมุดคณะราษฎร” ณ กลางลานพระราชวังดุสิต เป็นวัตถุพยานแห่งประวัติศาสตร์ที่ระบุตำแหน่งของพระยาพหลพลพยุหเสนาในคราวอ่านสุนทรพจน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ดังปรากฏจากข้อความบนหมุดว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว ฝังตรึงอยู่กลางลานพระราชวังดุสิตตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 โดยมีพระยาพหลฯ หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผู้ประกอบพิธี เนื่องในโอกาสที่คณะราษฎรนำพาประเทศสยามก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 ของการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญได้อย่างมั่นคง หมุดนี้จึงถูกตอกตรึงไว้เป็นหมุดหมายอันแสดงถึงจุดสิ้นสุดการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และจุดเริ่มต้นระบอบใหม่ที่เต็มไปด้วยความหวัง หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญได้ฝังแน่นอยู่กับประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาอย่างยาวนานกว่า 8 ทศวรรษ ได้รับความสำคัญอย่างยิ่งในยุคคณะราษฎร จากนั้นก็ถูกลดทอนคุณค่าไปภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ตลอดจนเคยถูกรื้อไปเก็บเพื่อความปลอดภัยในยุคเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากนั้นก็ถูกลืมเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งได้มีการรื้อฟื้นความสำคัญอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 2540 จนกลายเป็นสถานที่รำลึกถึงเหตุการณ์ปฏิวัติสยามในช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี แต่สุดท้ายหมุดที่ระลึกแห่งการปฏิวัติสยามชิ้นนี้กลับถูกทำให้สูญหายอย่างไร้ร่องรอยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 แล้วแทนที่ด้วยหมุดใหม่อันปราศจากรากเหง้าของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยโดยสิ้นเชิง

ถึงแม้ว่าหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญจะมีความสำคัญในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์และอนุสรณ์แห่งความทรงจำเกี่ยวกับการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 แต่กลับปรากฏข้อมูลหลักฐานชั้นต้นน้อยมากเกี่ยวกับหมุดชิ้นนี้ โดยหลักฐานที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางที่สุดคือ สุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ ในพิธีฝังหมุดทั้งต้นฉบับที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ทหารปืนใหญ่ ลพบุรี[2] หรือฉบับตีพิมพ์ในข่าวหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ซึ่งสามารถอ่านได้ในเว็บไซด์ของหอสมุดแห่งชาติ[3] 

จากหลักฐานชั้นต้นที่มีจำนวนน้อยชิ้นและข้อมูลจากหลักฐานก็มีอยู่อย่างจำกัด ปัญหาเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับที่มาของหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ แม้ว่าผู้เขียนได้เคยศึกษาหมุดชิ้นนี้อย่างละเอียดผ่านการเทียบเคียงกับหลักฐานอื่นและบริบทในยุคคณะราษฎร รวมถึงเปิดหลักฐานใหม่คือ ชุดภาพถ่ายหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2479 เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับที่มา ความหมาย คุณค่าและความสำคัญของหมุดชิ้นนี้ในยุคสมัยคณะราษฎร[4] แต่คำถามเบื้องต้นเกี่ยวกับหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญในฐานะวัตถุทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร อย่างคำถามที่ว่า “ใครเป็นผู้ริเริ่มให้สร้างหมุด? ใครเป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างหมุด? ช่วงเวลาในการสร้างหมุด? และสถานที่ในการสร้างหมุด?” กลับยังไม่มีคำตอบที่กระจ่างชัดนัก[5]

จนกระทั่งในช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ผู้เขียนได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญในเอกสารของกรมศิลปากรที่ให้บริการอยู่ในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ[6] โดยเอกสารชิ้นนี้เป็นเอกสารจากพระพรหมพิจิตร อาจารย์ผู้ปกครองแผนกประณีตศิลปกรรม โรงเรียนศิลปากร ถึงพระสาโรชรัตนนิมมานก์ ผู้อำนวยการโรงเรียนศิลปากร ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 มีเนื้อหารายงานกิจการของแผนกประณีตศิลปกรรมในช่วงเดือนเมษายนจนถึงกันยายน พ.ศ. 2479 ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ปั้น ถอดพิมพ์ และหล่อทองสำริด แผ่นที่ระลึก วันที่ 4 มิถุนายน 2475 ให้สมาคมคณะราษฎ์ 1 แผ่น.”[7] แม้ว่าข้อความในเอกสารจะพิมพ์เลขตกหล่นจากวันที่ “24” เป็น “4” รวมถึงเรียกชื่อ “สโมสรคณะราษฎร” เป็น “สมาคมคณะราษฎ์” ทว่าหลักฐานชิ้นนี้ก็เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับการสร้างหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2479 ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ “สโมสรคณะราษฎร” ในฐานะเจ้าภาพในการจัดสร้างหมุดและ “โรงเรียนศิลปากร” ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหน่วยงานที่ออกแบบ ปั้น และหล่อหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ

สโมสรคณะราษฎร

หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” ขึ้นเพื่อเป็นพรรคการเมืองตัวอย่างและเป็นองค์กรที่ช่วยในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแก่พลเมืองในระบอบใหม่ สมาคมคณะราษฎรมีการประชุมครั้งแรก ณ โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2475 โดยพระยานิติศาสตร์ไพศาล เป็นนายกคณะกรรมการสมาคม สมาคมคณะราษฎรได้ขยายตัวอย่างกว้างขวางในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งการจัดตั้งสาขาสมาคมในต่างจังหวัดและปรากฏว่ามีประชาชนทั่วประเทศสมัครเข้าเป็นสมาชิกหลายหมื่นคน[8]

อย่างไรก็ตามจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายปฏิปักษ์คณะราษฎรที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ฝ่ายปฏิปักษ์คณะราษฎรหวาดวิตกว่าสมาคมคณะราษฎรจะเป็นฐานอำนาจทางการเมืองให้แก่คณะราษฎร จึงได้ตั้งสมาคมคณะชาติสำหรับเป็นพรรคการเมืองคู่ตรงข้ามกับสมาคมคณะราษฎรอย่างเปิดเผย แต่ต่อมาในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2475 (พ.ศ. 2476 ตามปฏิทินใหม่) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ว่า “ไม่ทรงโปรดให้มีคณะพรรคการเมือง และทรงให้เลิกคณะราษฎรในฐานะพรรคการเมืองเสีย”[9] ส่งผลให้เวลาต่อมารัฐบาลพระยามโนฯ ได้ยุบเลิกสมาคมการเมืองทั้งสมาคมคณะราษฎรและสมาคมคณะชาติ รวมถึงออกคำสั่งห้ามไม่ให้ข้าราชการเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากพระยามโนฯ ทำการรัฐประหารในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เพื่อตอบโต้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจากความพยายามผลักดันเค้าโครงการเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง) ได้ทำให้สถานการณ์ของสมาคมคณะราษฎรตกอยู่ในที่นั่งลำบากยิ่งขึ้น เนื่องด้วยรัฐบาลพระยามโนฯ ไม่ปรารถนาให้มีสมาคมคณะราษฎรอีกต่อไป ดังนั้นสมาคมคณะราษฎรจึงต้องเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นสโมสรธรรมดาโดยไม่ข้องเกี่ยวกับการเมืองคือ “สโมสรคณะราษฎร” นับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) ช่วยเหลือส่งเสริมการกุศล (2) บำรุงการศึกษา (3) รักษาสามัคคีธรรม ส่วนสาขาสมาคมคณะราษฎรตามต่างจังหวัดนั้นต้องปล่อยให้เป็นอิสระจากสโมสรคณะราษฎรที่กรุงเทพฯ โดยให้จดทะเบียนเป็นสโมสรคณะราษฎรประจำจังหวัดไป นอกจากนี้ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสมาคมคณะราษฎร หากประสงค์จะเป็นสมาชิกสโมสรคณะราษฎรต้องสมัครเข้าใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ใหม่ของสโมสรคณะราษฎรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง[10]

อย่างไรก็ตามเนตร พูนวิวัฒน์ ผู้ก่อการคณะร.ศ.130 และสมาชิกสโมสรคณะราษฎร ยังคงเห็นว่า “สโมสรคณะราษฎร” นั้นเป็นองค์การแทน “คณะราษฎร” ที่มีพระยาพหลฯ เป็นผู้นำ[11] โดยเนตรได้ยกคำกล่าวของพระยาพหลฯ ในที่ประชุมสโมสรคณะราษฎรว่า “ถ้าหากมีสาเหตุอันใด ทำให้สโมสรคณะราษฎรต้องเลิกล้มไป ผมจะยกป้ายสโมสรคณะราษฎร ไปติดตั้งที่บ้านของผมโดยจะไม่ยอมให้ชื่ออันเป็นอนุสรณ์ของคณะราษฎรนี้สูญหายไปเป็นอันขาด”[12] แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการที่พระยาพหลฯ ตระหนักดีว่าสโมสรคณะราษฎรแห่งนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองที่มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวพันกับคณะราษฎรอย่างยิ่ง

สโมสรคณะราษฎรได้วางระเบียบและวิธีปฏิบัติให้เป็นแบบแผนในปี พ.ศ. 2477 และมีผู้สมัครเป็นสมาชิกตามข้อบังคับเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2477 ในการดำเนินงานของสโมสรคณะราษฎร มีกรรมการอำนวยการเป็นผู้จัดการและรับผิดชอบร่วมกัน 19 คน คือ นายก อุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก และกรรมการอื่น ๆ กรรมการเหล่านี้ให้สมาชิกลงคะแนนเลือกกันขึ้นในที่ประชุมใหญ่ประจำปีทุกระยะ 2 ปี และให้กรรมการอำนวยการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารงานสโมสรกันเองจนครบตามตำแหน่ง[13]

เมื่อสโมสรคณะราษฎรได้ก่อตั้งขึ้นตามระเบียบของราชการแล้ว ได้ตั้งสำนักงานอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์ จากนั้นสโมสรได้เริ่มฟื้นตัวและเจริญก้าวหน้าขึ้นหลังจากประสบปัญหาทางการเมืองจากรัฐบาลพระยามโนฯ มีสมาชิกคณะราษฎรได้เข้าเป็นผู้อุปถัมภ์และกรรมการกิตติมศักดิ์ของสโมสรหลายคน ถึงแม้ว่าสโมสรคณะราษฎรจะเป็นสโมสรเพื่อการสังสรรค์ แต่บันทึกของจรูญ เสตะรุฐิ สมาชิกสโมสรคณะราษฎรตลอดชีพ กลับบอกเล่าบรรยากาศของสโมสรคณะราษฎรที่เป็นพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนทางการเมืองของสมาชิกสโมสรไว้อย่างน่าสนใจว่า

สมาชิกสโมสรคณะราษฎร ในเวลานั้นมีผู้ก่อการชั้นอาวุโสเป็นสมาชิกหลักอยู่มากที่สุด ทุกเวลาเย็นจึงมีการมาสโมสรอยู่เป็นประจำจำนวนมาก ๆ ในวงสนทนาจึงย่อมมีการแลกเปลี่ยนความคิด-ความเห็นเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติของผู้ที่มีอุดมคติอันเดียวกัน กลุ่มสมาชิกอาวุโสกับกลุ่มสมาชิกผู้เยาว์อยู่ใกล้ ๆ กัน ด้วยความใกล้ชิดด้วยความเป็นกันเองของผู้ก่อการโดยถือว่า สมาชิกทุกคนย่อมเท่ากันหมดเมื่ออยู่ที่สโมสร ฉะนั้นบรรดาสมาชิกรุ่นเยาว์จึงได้มีโอกาสวิสาสะพูดคุยกับท่านสมาชิกรุ่นอาวุโสบ้างถึงเรื่องการบ้าน-การเมือง สิ่งที่ดีที่สุดของความดีทั้งหลายคือพวกเราสมาชิกรุ่นเยาว์ได้กล้าแสดงความคิดเห็นของตัวออกมาให้ผู้ใหญ่รู้และทราบความต้องการว่า สิ่งใดควรเปลี่ยนแปลงบ้างในวงราชการและบ้านเมืองให้เกิดความเจริญ เพื่อเป็นส่วนรวมของประเทศชาติตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย[14]

ทั้งนี้กรรมการอำนวยการสโมสรคณะราษฎรชุดที่ 2 (พ.ศ. 2478-2481) ถือเป็นกรรมการที่มีคณะผู้ก่อการได้รับคัดเลือกเข้ามาบริหารงานสโมสรจำนวนมากนับตั้งแต่ น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (นายกสโมสร) พ.ต.น้อม เกตุนุติ น.ต.หลวงนิเทศกลกิจ นายชุณห์ ปัณฑานนท์ รวมถึงยังมีอดีตคณะกรรมการสมาคมคณะราษฎรเข้ามาเป็นกรรมการ อาทิ หลวงมิลินทวณิชเสวี นายยนต์ ยมาภัย พ.ต.อ.พระพินิจชนคดี หลวงบำบัดคดี และหลวงปธานถ่องวิจัย[15] นอกจากนี้ยังมีขุนวิศุทธิจรรยา ข้าราชการกระทรวงยุติธรรมที่ใกล้ชิดกับคณะราษฎรสายพลเรือนมาเป็นกรรมการอีกด้วย คณะกรรมการอำนวยการสโมสรคณะราษฎรชุดนี้จึงทำให้หวนนึกถึงสมาคมคณะราษฎรที่กรรมการอำนวยการประกอบด้วยคณะผู้ก่อการ รวมถึงสะท้อนการฟื้นตัวของสโมสรคณะราษฎรที่ยังคงมีบทบาทในการดำเนินงานอยู่

เมื่อหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลพระยาพหลฯ เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกสโมสรคณะราษฎร หลวงธำรงฯ ได้พยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสโมสรคณะราษฎรกับคณะผู้ก่อการให้แนบแน่นมากขึ้น ดังปรากฏได้จากการจัดงานสโมสรสันนิบาตของสมาชิกสโมสรคณะราษฎร ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ ในคืนวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2478 เพื่อเป็นการรำลึกถึงเช้าตรู่ของวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยสโมสรคณะราษฎรได้เชิญบุคคลสำคัญเข้าร่วมงานจำนวนมาก นับตั้งแต่สมาชิกสโมสร สมาชิกคณะรัฐมนตรี คณะผู้ก่อการ และชาวต่างประเทศ[16] และอีกประการสำคัญคือ หลวงธำรงฯ ได้เสนอให้พระยาพหลฯ จัดทำหมุดที่ระลึกแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ดังปรากฏในสุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ ในพิธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ความว่า “...ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (หลวงธำรงฯ – ผู้เขียน) ได้มาหารือกับข้าพเจ้าในการที่จะจัดให้มีหมุดที่ระลึก, ทำด้วยโลหะสัมฤทธิวางไว้ณะจุดที่ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งจากพวกพี่น้องผู้ร่วมก่อการณ์ให้เป็นผู้นำ และที่นั้นข้าพเจ้าได้ยืนกล่าวสุนทรพจน์เพื่อปลุกใจเพื่อนที่เคยร่วมตายทั้งหลาย...”[17]

จากความริเริ่มของหลวงธำรงฯ ในการสร้างหมุดที่ระลึกในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้สโมสรคณะราษฎรได้เป็นเจ้าภาพในการจัดทำหมุดดังกล่าว โดยว่าจ้างให้โรงเรียนศิลปากร ซึ่งเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนด้านศิลปะของกรมศิลปากร “ปั้น ถอดพิมพ์ และหล่อทองสำริด แผ่นที่ระลึก วันที่ 24 มิถุนายน 2475” ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2479[18]

โรงเรียนศิลปากร

สำหรับโรงเรียนศิลปากรเป็นผลผลิตของรัฐบาลคณะราษฎรในการยกระดับการจัดการเรียนการสอนด้านศิลปะในประเทศสยามให้ก้าวหน้าขึ้น โดยที่มาของโรงเรียนศิลปากรเริ่มต้นจากกลุ่มช่างสังกัดกรมศิลปากรจัดตั้งโรงเรียนสอนช่างเพื่อป้อนงานกรมศิลปากรและกลายมาเป็น “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม” ในปี พ.ศ. 2476 จากการผลักดันของศิลป พีระศรี (คอร์ราโด 
เฟโรชี) และพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์)[19] จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2477 รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงธรรมการจัดตั้งโรงเรียนศิลปากร (Ecole des Beau Arts) ตามข้อเสนอของหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร โดยกรมศิลปากรมุ่งหมายจะรวมการเรียนการสอนที่กระจัดกระจายทั้งวิชาช่างปั้น ช่างเขียน ช่างรัก รวมถึงนาฏดุริยางค์ เข้ามารวมไว้ด้วยกันให้เป็นเอกภาพ มีการกำหนดหลักสูตรแน่นอนสอดคล้องกับมาตรฐานสากล[20]

ในการจัดตั้งโรงเรียนศิลปากร ทางกรมศิลปากรได้ยกแผนกละครและสังคีตจากกองศิลปวิทยาการไปรวมกับกองประณีตศิลปกรรม แล้วเปลี่ยนชื่อกองเป็น “กองโรงเรียนศิลปากร” และให้ข้าราชการในกองนั้นเป็นเจ้าหน้าที่และเป็นครูโรงเรียนศิลปากรตามความสามารถ[21] ในปี พ.ศ. 2478 กองโรงเรียนศิลปากร มีพระสาโรชรัตนนิมมานก์เป็นผู้อำนวยการ แบ่งออกเป็น 3 แผนก ได้แก่ (1) แผนกประณีตศิลปกรรม สอนช่างปั้นและช่างเขียน (2) แผนกศิลปะอุตสาหกรรม สอนช่างรักและช่างเขียนเครื่องลายคราม และ (3) แผนกดุริยางค์ สอนการละครและดนตรี[22]

ทั้งนี้จากรายงานกิจการแผนกประณีตศิลปกรรม โรงเรียนศิลปากร ในระยะ 6 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2479 (เมษายน-กันยายน 2479) พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) อาจารย์ผู้ปกครองแผนกประณีตศิลปกรรม ได้รายงานว่า แผนกช่างและนักเรียนแผนกประติมากรได้ช่วยกันทำงานพิเศษหลายชิ้นในช่วงต้นปี พ.ศ. 2479 อาทิ การปั้นและหล่อพระพุทธสิหิงค์จำลองสำหรับประดิษฐานที่จังหวัดภูเก็ต การปั้นและหล่อพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 การปั้นรูปพระยาพหลฯ สำหรับทำเหรียญ การปั้นและหล่อคอนกรีตลวดลายและตัวอักษรประตูสวัสดิโสภา และที่สำคัญคือ การปั้นและหล่อหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญให้แก่สโมสรคณะราษฎร[23]

จากข้อมูลการปั้นและหล่อหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญภายใต้การกำกับดูแลของพระพรหมพิจิตร อาจารย์ผู้ปกครองแผนกประณีตศิลปกรรม โรงเรียนศิลปากร ย่อมเป็นการสนับสนุนสมมติฐานของเพ็ญสุภา สุขคตะ ที่เสนอว่าหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญออกแบบโดยพระพรหมพิจิตร เนื่องจากลวดลายที่ประดับบนหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ มีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงหรือกลิ่นอายผลงานของพระพรหมพิจิตร ดังปรากฏจากลาย “ดอกซีกดอกซ้อน” ซึ่ง “เป็นฟอร์มรูปขนมเปียกปูนตัดแยกทำให้มีกรอบเป็นสามเหลี่ยมหัวคว่ำ-หัวหงาย และมีลายคล้ายกลีบดอกไม้เล็ก ๆ ผ่าครึ่งซ้อนอยู่ด้านละครึ่งดอก”[24]

นอกจากนี้หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญยังเป็นผลงานทางศิลปะที่เกิดจากการฝึกทักษะความสามารถของนักเรียนแผนกประติมากรรมของโรงเรียนศิลปากรรุ่นแรกก่อนที่พวกเขาจะเริ่มมีชื่อเสียงจากการประกวดผลงานในงานฉลองรัฐธรรมนูญในปีถัดมา[25] โดยนักเรียนศิลปะเหล่านี้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปั้น ถอดแบบ และหล่อหมุดสำริดที่รำลึกแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ บริเวณศิลปากรสถาน อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากรในปัจจุบัน

ส่งท้าย

หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญได้ถูกฝังตรึงบริเวณลานพระราชวังดุสิตโดยพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะราษฎร ท่ามกลางคณะผู้ก่อการ “เพื่อนที่เคยร่วมตายทั้งหลาย” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 เวลา 14.30 น. เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการรำลึกถึงความสำเร็จของคณะราษฎรในการยุติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และนำพาประเทศสยามเข้าสู่การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ ดังที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ฝังหมุดไว้อย่างกินใจว่า

“การฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญที่คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ชุมนุมกันกระทำ เมื่อวันที่ 10 เดือนนี้ เปนเหตุการณ์ที่จับใจตรึงใจประชาชนทั่วหน้า หมุดนั้นแทนดวงใจของบรรดาท่านวีระบุรุษแห่งวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเมื่อก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ฝังดวงใจไว้ในรัฐธรรมนูญ ท่านเหล่านั้นไม่เพียงแต่จะก่อกำเนิด ยังตามพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ ตลอดเสมอไปด้วย.”[26]

ถึงแม้ว่าปัจจุบันอนุสรณ์ของคณะราษฎรหลายแห่งจะหายไป อาทิ สโมสรคณะราษฎรได้เปลี่ยนมาเป็นสโมสรราษฎร์สราญรมย์ในพระบรมราชูปถัมภ์ในช่วงทศวรรษ 2490 และได้ยุติบทบาทในกลางทศวรรษ 2520 หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญได้สูญหายไปจากลานพระราชวังดุสิตในเดือนเมษายน 2560 และอนุสาวรีย์ปราบกบฏได้สูญหายไปจากวงเวียนหลักสี่ในเดือนธันวาคม 2561 ถึงกระนั้นความสำคัญและคุณูปการของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงประเทศสยามให้ “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎร” กลับมิได้เลือนหายไปจากสังคมไทย 

 


[1] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

[2] ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์, 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มีนาคม 2541 (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552), น. 498;ปรมินทร์ เครือทอง, “นาทีปฏิวัติ 2475 : อยากรู้ “ย่ำรุ่ง” คือกี่โมง?,” ศิลปวัฒนธรรม 33, 8 (มิถุนายน 2555): 60-73; นริศ จรัสจรรยาวงศ์, 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564), น. (8)-(11).

[3] “ประชาชาติ ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม 2479,” เข้าถึงได้จาก http://164.115.27.97/digital/items/show/365?c=0&m=0&s=0&cv=0 (9 เมษายน 2566).

[4] ศรัญญู เทพสงเคราะห์, “อ่านความหมาย “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ในสมัยคณะราษฎร,” ศิลปวัฒนธรรม 43, 8 (มิถุนายน 2565): 58-78.

[5] ผู้เขียนได้เคยสันนิษฐานว่าผู้สร้างหมุดเป็นคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยอาศัยการตีความจากสุนทรพจน์ฝังหมุดของพระยาพหลฯ และการสำรวจรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2478-2479 ที่ไม่มีเรื่องการจัดสร้างหมุด อันสะท้อนว่ารัฐบาลพระยาพหลฯ มิได้เป็นเจ้าภาพในการจัดสร้าง

[6] ผู้เขียนขอขอบคุณ ผศ.ดร.พินัย สิริเกียรติกุล ที่แจ้งเบาะแสและอนุเคราะห์สำเนาหลักฐานชั้นต้นชิ้นใหม่เกี่ยวกับหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ

[7] หจช. ศธ.0701.32/2 รายงานกิจการในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2479 (พ.ศ. 2479).

[8] ราษฎร์สราญรมย์อนุสรณ์ครบรอบ 36 ปี 24 มิถุนายน 2513 (พระนคร: สโมสรณ์ราษฎร์สราญรมย์, 2513), น. 35.

[9] ณัฐพล ใจจริง, “สมาคมคณะราษฎร : พรรคการเมืองแรก,” ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23-29 เมษายน 2564 เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_418570 (9 เมษายน 2566).

[10] ราษฎร์สราญรมย์อนุสรณ์ครบรอบ 36 ปี 24 มิถุนายน 2513, น. 35-36.

[11] เนตร พูนวิวัฒน์, “วันชาติประชาธิปไตย ยังดำรงอยู่,” ใน ราษฎร์สราญรมย์อนุสรณ์ 2477-2507 ครบรอบ 30 ปี (พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2507), น. 34.

[12] เนตร พูนวิวัฒน์, “อนุสรณ์ของคณะราษฎรยังอยู่,” ใน ราษฎร์สราญรมย์อนุสรณ์ 2477-2502 ครบรอบ 25 ปี (พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2502), ไม่มีเลขหน้า.

[13] หจช. สบ.3.10/1 สมาคมคณะราษฎร พ.ศ. 2475 (23 กุมภาพันธ์ 2475 – 5 มิถุนายน 2478).

[14] จรูญ เสตะรุฐิ, “สมาชิกสโมสรฯ มีส่วนทำประโยชน์ให้แก่ ประเทศ-ชาติ-ประชาชน,” ใน ราษฎร์สราญรมย์อนุสรณ์ 2477-2507 ครบรอบ 30 ปี, น. 55-56.

[15] หจช. สบ.3.10/1 สมาคมคณะราษฎร พ.ศ. 2475 (23 กุมภาพันธ์ 2475 – 5 มิถุนายน 2478).

[16] “รัฐบาลคณะราษฎรของสยาม,” ประชาชาติ (27 มิถุนายน 2478), น. 5.

[17] ศรัญญู เทพสงเคราะห์, “อ่านความหมาย “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ในสมัยคณะราษฎร,”: 61.

[18] หจช. ศธ.0701.32/2 รายงานกิจการในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2479 (พ.ศ. 2479); หจช. ศธ.0701.9.3/3 ผลการปฏิบัติงานของกรมศิลปากร (พ.ศ. 2479-2480).

[19] ชาตรี ประกิตนนทการ, “สถาปนิก ความรู้ โรงเรียนสถาปัตยกรรม,” หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย 13 (มกราคม-ธันวาคม 2559): 98.

[20] หจช. ศธ.0701.31/4 ตั้งโรงเรียนศิลปากร (พ.ศ. 2477-2482).

[21] เรื่องเดียวกัน.

[22] เรื่องเดียวกัน.

[23] หจช. ศธ.0701.32/2 รายงานกิจการในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2479 (พ.ศ. 2479); หจช. ศธ.0701.9.3/3 ผลการปฏิบัติงานของกรมศิลปากร (พ.ศ. 2479-2480).

[24] เพ็ญสุภา สุขคตะ, “ร่องรอยศิลปกรรมของ ‘พระพรหมพิจิตร’ บน ‘หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’,” มติชนสุดสัปดาห์ 37, 1916 (5-11 พฤษภาคม 2560): 84.

[25] ตัวอย่างเช่น พิมาน มูลประมุข แช่ม แดงชมพู จงกล กำจัดโรค อนุจิตร แสงเดือน สิทธิเดช แสงหิรัญ และแช่ม ขาวมีชื่อ

[26] “ความเสมอภาค โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์,” ใน ประชาชาติ (18 ธันวาคม 2479), น. 5.