ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศรัญญู เทพสงเคราะห์[1]

 

ในบรรดาอนุสาวรีย์หรือวัตถุที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการรำลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยนั้น “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “หมุดคณะราษฎร” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกฝังตรึงอยู่กลางลานพระบรมรูปทรงม้า อันเป็นวัตถุแห่งความทรงจำสมัยคณะราษฎรที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ดังข้อความที่ปรากฏบนหมุดอย่างชัดเจน ความว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” แม้ว่าหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญจะเป็นวัตถุแห่งความทรงจำที่ตอกย้ำถึงความสำคัญของการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ตลอดจนใช้เป็นสถานที่รำลึกถึงคณะราษฎรในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงเช้าวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี[2] ทว่าประวัติความเป็นมาของหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพิ่งได้รับความสนใจและเริ่มเป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายหลังจากหมุดนี้หายสาบสูญอย่างมีเงื่อนงำในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ด้วยคำอธิบายว่า หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเกิดจากดำริของพระยาพหลพลพยุหเสนาในการสร้างอนุสรณ์เพื่อการรำลึกเหตุการณ์เมื่อเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจัดสร้างหมุดนี้ขึ้น กระทั่งพระยาพหลฯ ได้ประกอบพิธีฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 โดยคำอธิบายนี้ส่วนใหญ่อ้างอิงจากข่าวการฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2479[3]

อย่างไรก็ตามจากการค้นคว้าและอ่านหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยคณะราษฎร ผู้เขียนกลับมีข้อสงสัยเกี่ยวกับหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญทั้งประเด็นที่ว่าทำไมการประกอบพิธีฝังหมุดจึงกระทำในวันที่ 10 ธันวาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 24 มิถุนายน หรือเหตุใดหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญจึงไม่ค่อยมีภาพปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลายในสื่อสิ่งพิมพ์สมัยคณะราษฎรแตกต่างจากอนุสาวรีย์ปราบกบฏและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ข้อสงสัยดังกล่าวจึงเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้ที่ต้องการศึกษาความหมายและความสำคัญของ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ในบริบทสมัยคณะราษฎรว่ามีความเป็นมาอย่างไร

เริ่มต้นด้วยการอ่านต้นฉบับลายมือสุนทรพจน์พระยาพหลฯ ในพิธีฝังหมุด

ในการตอบคำถามเบื้องต้นเกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนได้เริ่มต้นจากการกลับไปอ่านเอกสารต้นฉบับสุนทรพจน์พระยาพหลฯ ในพิธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ซึ่งเขียนด้วยลายมือของพระยาพหลฯ[4] แม้ว่าเนื้อความของเอกสารชิ้นนี้มีข้อความในรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างจากสุนทรพจน์พระยาพหลฯ ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติฉบับวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2479 แต่สาระสำคัญของหลักฐานทั้งสองมิได้แตกต่างกันนัก อันเป็นการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างและความสำคัญในการประกอบพิธีฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ

สุนทรพจน์ของ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา กล่าวในที่ประชุมคณะผู้ก่อการ ในการวางหมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ 

เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ 

เวลาบ่าย. 

๑๔๓๐

 

พี่น้องผู้ร่วมตายทั้งหลาย

ท่านยังระลึกได้หรือไม่ว่าตำบลใดเป็นที่ที่เราได้เคยร่วมกำลัง ร่วมใจ ร่วมความคิด กระทำการ, เพื่อขอความอิสสรเสรีให้แก่ปวงชนชาวสยาม ข้าพเจ้าเชื่อว่าบางท่านคงจะจำได้แต่เพียงเลือน ๆ และบางท่านที่ต้องถูกใช้ไปทำหน้าที่อื่น ๆ ที่ห่างไกลออกไป ก็คงไม่ทราบ ว่าจุดนั้นอยู่แห่งใดแน่. ข้าพเจ้าเห็นว่าพวกเราชาวสยามไม่ควรจะหลงลืมที่สำคัญอันนี้เสียเลย, เพราะเป็นที่กำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์สยาม, ซึ่งเราถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งเป็นมิ่งขวัญของประชาชาติด้วย.

มิ่งขวัญของพวกเราชาวสยามได้เริ่มถูกเรียกและถูกเชิญให้มาอยู่กับเนื้อกับตัวในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง ณะที่นี้. ในขณะวันและเวลาที่กล่าวนั้น พวกท่านผู้ก่อการณ์ได้มอบชีวิตจิตต์ใจไว้แก่ข้าพเจ้าอย่างเต็มที่ คือ เราจักต้องตายร่วมกัน, ถ้ากิจการที่ก่อขึ้นนั้นไม่เป็นผลสำเหร็จลุล่วง ด้วยความสามัคคีและพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้แหละ จึ่งทำให้มีความบางบั่นพร้อมด้วยน้ำใจอันแรกกล้า ที่จะยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อขอพระราชทานแลกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น.

สำหรับเป็นเครื่องป้องกันการหลงลืม และให้เป็นอนุสรสืบต่อไปภายภาคหน้า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มาหารือกับข้าพเจ้าในการที่จะจัดให้มีหมุดที่ระลึก, ทำด้วยโลหะสัมฤทธิวางไว้ณะจุดที่ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งจากพวกพี่น้องผู้ร่วมก่อการณ์ให้เป็นผู้นำ และที่นั้นข้าพเจ้าได้ยืนกล่าวสุนทรพจน์เพื่อปลุกใจเพื่อนที่เคยร่วมตายทั้งหลาย และได้สั่งการอย่างเด็ดขาดในการที่จะดำเนิรการต่อไป และได้วางกำหนดโทษในการฝ่าฝืนคำสั่งและการเสียวินัยในการกระทำหน้าที่ในเรื่องเกี่ยวแก่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น.

ฉะนั้น หมุดที่จะวางลงณะที่นี้จึ่งเรียกว่า “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ในมงคลสมัยซึ่งเป็นวันบรรจบครบรอบ ๕ รอบปีแห่งการรับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนี้ นับว่าเป็นฤกษ์งามยามดีอยู่แล้ว ฉนั้นข้าพเจ้าจึ่งขอถือโอกาสวางหมุดกำเนิดแห่งรัฐธรรมนูญ ณะที่ซึ่งเตรียมการไว้นั้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.

สุนทรพจน์ข้างต้นนี้ พระยาพหลฯ มุ่งสื่อสารกับบรรดาคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองอันประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ที่เข้าร่วมพิธีฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญให้ทบทวนถึง “ความทรงจำ” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นวันสำคัญที่พวกเขาได้ร่วมกันก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง “เพื่อขอความอิสสรเสรีให้แก่ปวงชนชาวสยาม” ตลอดจนเป็นที่มาของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในประเทศสยาม รวมถึงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญสำหรับ “เป็นเครื่องป้องกันการหลงลืม และให้เป็นอนุสร..” แห่งการรำลึก ณ บริเวณที่พระยาพหลฯ ได้ยืนอ่านประกาศคณะราษฎรและกล่าวปลุกใจคณะผู้ก่อการฯ ในช่วงย่ำรุ่งของวันแห่งการปฏิวัติสยาม

นอกจากนี้สุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ ยังต้องการส่งสารไปยังพลเมืองทุก ๆ คน เพื่อให้ชาวสยามได้ร่วมรำลึกและตระหนักว่าจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญไทยเกิดจากความเสียสละของคณะราษฎร ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ผลตอบรับที่มีต่อพิธีฝังหมุดและสุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ อยู่ในบทความของกุหลาบ สายประดิษฐ์ 2 ชิ้น คือ “ระบอบรัฐธรรมนูญ”[5] และ “ความเสมอภาค” [6] ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 15 และ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ตามลำดับ โดยบทความทั้งสองชิ้นของกุหลาบได้ชื่นชม “สุนทรพจน์สั้น ๆ อับจับใจ ที่เจ้าคุณพหลฯ ได้กล่าวต่อหน้าชุมนุมสหายผู้ร่วมตายของท่าน” รวมถึงชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจของพิธีฝังหมุด ซึ่งเป็นเหตุการณ์พิเศษในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2479 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและสนับสนุนการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ

จากเนื้อหาของสุนทรพจน์ในพิธีฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความทรงจำเกี่ยวกับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และยังชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างพิธีฝังหมุดกับงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2479 ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงนำประเด็นทั้งสองนี้มาพิจารณาเพื่อทำความเข้าใจความทรงจำเกี่ยวกับ 24 มิถุนายน รวมถึงบริบทของพิธีฝังหมุด อันมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดความหมายและความสำคัญของหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญในยุคสมัยคณะราษฎร

ความทรงจำเกี่ยวกับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ก่อนจะมีการประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติตามมติคณะรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2481 ทางรัฐบาลและหน่วยงานราชการมิได้มีการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการรำลึกถึงวันแห่งการปฏิวัติแต่ประการใด โดยปล่อยให้วันที่ 24 มิถุนายนในแต่ละปีผ่านไปเหมือนเช่นวันปกติ บรรยากาศเช่นนี้สะท้อนได้จากบทความเรื่อง “วันที่ 24 มิถุนายน” ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2478 ที่อธิบายความเงียบเหงาของวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีโดยไร้ซึ่งงานเฉลิมฉลองวันแห่งการครบรอบเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม ว่ามีสาเหตุจาก “คณะรัฐบาล ซึ่งยังมีผู้ก่อการปฏิวัติเปนหลักอยู่ในเวลานี้ ไม่ปรารถนาจะตีราคาการกระทำของตนเองประการหนึ่ง และคงจะถือว่าการประกาศการฉลองการปฏิวัติ จะเปนเครื่องแสลงใจแก่ฝ่ายที่เปนปรปักษ์ได้ และเราทราบกันดีว่า คณะรัฐบาลก็ดี หรือคณะผู้ก่อการก็ดี เปนผู้มีน้ำใจกว้างขวาง และมีความเมตตากรุณาต่อศัตรูเพียงใด.”[7] 

ข้อความในหนังสือพิมพ์ข้างต้นสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เห็นว่ารัฐบาลพระยาพหลฯ ไม่มีความกระตือรือร้นในการส่งเสริมความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายนมากนัก สืบเนื่องจากคณะผู้ก่อการพยายามประนีประนอมกับสถาบันกษัตริย์นับตั้งแต่หลังการปฏิวัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยินยอมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และจัดพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญตามความประสงค์ของรัชกาลที่ 7 ตลอดจนมีการจัดงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอย่างยิ่งใหญ่ในทุกวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีอย่างสม่ำเสมอ อันเป็นการลดทอนความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายนไปโดยปริยาย เนื่องจากวันที่ 24 มิถุนายนเป็นความทรงจำเลวร้ายของกลุ่มชนชั้นนำในระบอบเก่าที่ถูกยึดอำนาจและถูกโจมตีอย่างรุนแรงในประกาศคณะราษฎร[8]

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจบรรยากาศของยุคสมัยคณะราษฎรผ่านการอ่านหนังสือพิมพ์เก่ากลับพบว่า มีสมาชิกในคณะผู้ก่อการบางคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันที่ 24 และวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ด้วยการแสดงปาฐกถาทางวิทยุกระจายเสียงในวันดังกล่าว[9] อันแตกต่างจากท่าทีเงียบเฉยของพระยาพหลฯ และรัฐบาลพระยาพหลฯ ต่อการรำลึก 2 วันสำคัญข้างต้น โดยหลวงพิบูลสงครามได้แสดงปาฐกถาในคืนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เพื่อย้ำเตือนให้ระลึกถึงวันครบรอบ 2 ปีของการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันเป็นวันที่ระลึกถึงความสำคัญที่ให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการปกครอง ประชาชาติไทยได้รับสิทธิและเสรีภาพ และประเทศสยามได้เข้าสู่วิถีทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองด้วยการมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครอง มีการแก้ปัญหาการเงินของประเทศ มีการจัดการศึกษาของชาติอย่างเป็นระบบ และมีการส่งเสริมเศรษฐกิจของชาติไทยให้รุดหน้า[10] หลวงพิบูลสงครามยังทบทวนความทรงจำในช่วง 2 ปีแรกที่มีความไม่ราบรื่นในการปกครองระบอบใหม่ โดยเปรียบเทียบกับทารกที่เพิ่งเกิดในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ต้องทำการบริหารร่างกายให้เติบโตก่อนผ่านการจัดการป้องกันตัวให้อยู่ในความปกติ แต่ต้องพบความเจ็บป่วยจากการปิดสภาและยุบคณะรัฐมนตรีในวันที่ 1 เมษายน 2476 แม้ว่าทารกจะหายป่วยไข้จากการเปิดสภากระทั่งสามารถตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ทว่ากลับเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชที่พยายามล้มล้างรัฐธรรมนูญจนต้องเสียเวลาปราบปรามในเดือนตุลาคม 2476 นอกจากนี้หลวงพิบูลสงครามยังเปรียบเทียบผลงานของรัฐบาลระบอบใหม่กับรัฐบาลระบอบเก่าด้วยท่าทีไม่ประนีประนอมโดยกล่าวว่ารัฐบาลระบอบใหม่มีผลงานช่วยเหลือราษฎรเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนกว่า “รัฐบาล 150 ปี”[11]

ทั้งนี้ควรบันทึกด้วยว่าเคยมีการเฉลิมฉลองในวันที่ 27 มิถุนายนเพื่อรำลึกถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของประเทศสยาม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่จังหวัดมหาสารคาม จากความร่วมมือของข้าราชการ คหบดี พ่อค้า และประชาชนในจังหวัดมหาสารคาม โดยกิจกรรมสำคัญของงานเฉลิมฉลองวันที่ 27 มิถุนายน 2477 คือ การเปิด “อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญแห่งแรกของประเทศสยาม การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญผ่านการจัดมหรสพ การแสดงรอบกองไฟ การจัดปาฐกถา และการเผยแพร่กลอนลำเรื่องระบอบรัฐธรรมนูญในภาษาอีสาน[12]

แม้ว่าตลอด 6 ปีแรกหลังการปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2481) วันที่ 24 มิถุนายนจะได้รับการรำลึกถึงอย่างเงียบ ๆ แตกต่างจากวันที่ 10 ธันวาคม ที่มีเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่จนกลายเป็นมหกรรมแห่งชาติ อย่างไรก็ตามหลังจากความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับชนชั้นนำในระบอบเก่าที่ดำเนินอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ได้ยุติลงเมื่อรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477 (พ.ศ. 2478 ตามปฏิทินใหม่) และเปิดทางให้รัฐบาลพระยาพหลฯ สามารถดำเนินงานปฏิรูปด้านต่าง ๆ หลังการปฏิวัติสยามได้อย่างเต็มที่ บรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้ทำให้ชนชั้นนำระบอบใหม่เริ่มจัดกิจกรรมพิเศษในวันที่ 24 มิถุนายนอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ พ.ศ. 2478 ดังสะท้อนจากการจัดงานสโมสรสันนิบาตของเหล่าสมาชิกสโมสรคณะราษฎร ณ สโมสรคณะราษฎร สวนสราญรมย์ ในคืนวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2478 เพื่อเป็นการรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งงานนี้มีผู้เข้าร่วมตั้งแต่สมาชิกคณะรัฐมนตรีและชาวต่างประเทศ[13] จากนั้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2478 ทางราชการได้จัดพิธีมอบเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญแก่ทหารอาสา กรรมกร และกสิกร ที่มีส่วนช่วยเหลือรัฐบาลในการปราบกบฏบวรเดช ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เวลา 16.30 น. มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีลอยและเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพระยาพหลฯ เป็นประธานในพิธี โดยหลวงธำรงฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ถึงความเป็นมาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย การทำนุบำรุงการปกครองระบอบใหม่ รวมถึงเกียรติยศเกียรติศักดิ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ[14] ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานว่าพิธีนี้อาจเป็นที่มาให้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้หารือกับพระยาพหลฯ ในการสร้างหมุดที่ระลึกการปฏิวัติสยาม[15]

นอกจากนี้ในค่ำวันเดียวกันพระยาพหลฯ ยังได้แสดงสุนทรพจน์ทางวิทยุกระจายเสียงในคืนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2478 เนื่องในโอกาส “ครบรอบปีที่ 3 ที่คณะราษฎรได้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวสยาม” เนื้อหาของสุนทรพจน์นี้ พระยาพหลฯ ได้ชี้แจงความมุ่งหมายของการสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญและการดำเนินงานตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร[16] แต่ถึงกระนั้นการจัดกิจกรรมของรัฐบาลพระยาพหลฯ เพื่อรำลึกถึงวันแห่งการปฏิวัติสยามในปี พ.ศ. 2478 ยังคงน้อยเกินไปในสายตาของหนังสือพิมพ์ร่วมสมัย ดังปรากฏจากประชาชาติได้นำเสนอบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่ามิได้จัดงานเฉลิมฉลองการปฏิวัติอย่างเป็นทางการ อันตรงกันข้ามกับความรู้สึกของประชาชนต่างเห็นพ้องว่าวันที่ 24 มิถุนายน ทำให้ประเทศสยามสามารถหลุดพ้นจากความล้าหลังและก้าวไปสู่ความทันสมัย[17] อันสะท้อนว่าประชาชนเห็นคุณค่าของวันที่ 24 มิถุนายนและเหตุการณ์การปฏิวัติสยามกระทั่งกลายเป็นความทรงจำร่วมของสังคมไปอย่างแนบแน่นแล้ว

เมื่อพิจารณาการรำลึกวันที่ 24 มิถุนายน ในปี พ.ศ. 2479 ผู้เขียนกลับประสบปัญหาการค้นคว้าเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงหลักฐานได้ แต่ผู้เขียนสันนิษฐานว่ารัฐบาลพระยาพหลฯ ยังคงจัดกิจกรรมรำลึกวันที่ 24 มิถุนายนอย่างเงียบ ๆ เช่นเดิม โดยกิจกรรมหลักคือ การแสดงปาฐกถาทางวิทยุกระจายเสียงของพระยาพหลฯ และผู้ก่อการฯ คนสำคัญนับตั้งแต่คืนวันที่ 24-27 มิถุนายน และการจัดสโมสรสันนิบาตที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพในคืนวันที่ 27 มิถุนายน ทว่าในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2479 รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้ประกอบพิธีกรรมสำคัญคือ พิธีอัญเชิญอัฐิทหารและตำรวจ 17 นายที่สละชีพเพื่อพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญในการปราบกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 เข้าบรรจุใน “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” ที่หลักสี่และจัดพิธีเปิดอนุสาวรีย์ในวันที่ 14-15 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ซึ่งพิธีกรรมนี้ย่อมย้ำเตือนความทรงจำของความขัดแย้งที่ไม่สามารถประนีประนอมได้ระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติ ถึงแม้ว่าจากคำกราบบังคมทูลของหลวงพิบูลสงครามในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏจะย้ำเตือนให้ประชาชนมีความสามัคคีและคำนึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ แต่การจัดสร้างและเฉลิมฉลองอนุสาวรีย์ปราบกบฏอย่างยิ่งใหญ่ย่อมสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลพระยาพหลฯ ได้เริ่มเข้ามาจัดการความทรงจำสาธารณะในรูปแบบของอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกและผลิตซ้ำความทรงจำเกี่ยวกับชัยชนะของรัฐบาลคณะราษฎรเหนือฝ่ายกบฏบวรเดช ยิ่งไปกว่านั้นอนุสาวรีย์แห่งนี้ยังถูกให้ความหมายในฐานะอนุสรณ์สถานสำคัญที่แสดงออกถึงระบอบรัฐธรรมนูญในช่วงเวลาก่อนมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนินอีกด้วย[18] จนอาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2479 รัฐบาลพระยาพหลฯ เริ่มให้ความสำคัญกับการเมืองเรื่องความทรงจำมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ไม่มีพิธีฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญในกำหนดการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2479

ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าการฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญประกอบพิธีในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 อันตรงกับช่วงเวลาการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2479 ที่มีการจัดงานถึง 6 วันตั้งแต่วันที่ 8-13 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ในงานฉลองรัฐธรรมนูญปีนี้ทางสมาคมคณะรัฐธรรมนูญพระนครและธนบุรี ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดงานได้กำหนดสถานที่จัดงานถึง 3 แห่ง ได้แก่ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชอุทยานสราญรมย์ และบริเวณท้องสนามหลวง นอกจากนี้ทางราชการได้ประกาศหยุดราชการ 3 วันตั้งแต่วันที่ 9-10 ธันวาคม รวมถึงประกาศชักชวนให้ประชาชนตกแต่งบ้านเรือนด้วยการประดับธงทิวและตามประทีป

อย่างไรก็ตามเมื่อผู้เขียนได้ตรวจสอบกิจกรรมในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2479 จากเอกสารกำหนดการที่คณะกรรมการจัดงานได้พิมพ์ออกมา 2 รูปแบบ[19] พิธีฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญกลับไม่ปรากฏอยู่ในกำหนดการ โดยบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมใช้เป็นสถานที่ในการจัดงานพระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 และ 12 ธันวาคมเท่านั้น[20] ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อผู้เขียนค้นคว้าหาข่าวพิธีฝังหมุดในหนังสือพิมพ์ประชาชาติฉบับวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ซึ่งหอสมุดแห่งชาติได้สแกนและเผยแพร่ในรูปแบบออนไลน์ พบว่าต้นฉบับไม่มีหน้า 1 ที่เป็นหัวข้อข่าวและเนื้อหาส่วนแรกของพิธีฝังหมุด ต้นฉบับมีเพียงข่าวพิธีฝังหมุดในหน้า 36 ที่ต่อจากหน้า 1 กล่าวถึงสุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ ในพิธีฝังหมุด ดังนั้นผู้เขียนจึงพยายามสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับพิธีฝังหมุดอีกครั้งผ่านข่าวของหนังสือพิมพ์ประชาชาตินับตั้งแต่วันที่ 9-15 ธันวาคม ที่กล่าวถึงบรรยากาศการเที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2479 แต่กลับไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับพิธีฝังหมุดเช่นกัน มีเพียงคำบรรยายการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะพื้นที่หลักบริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์ ซึ่งมีงานรื่นเริงควบคู่กับการแสดงอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศสยาม เพื่อให้ประชาชนที่เข้าร่วมงานได้มีความสนใจในกิจการค้าขาย อุตสาหกรรม และการกสิกรรม[21]

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงได้ข้อสรุปว่าพิธีฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเป็นกิจกรรมพิเศษที่ไม่ได้อยู่ในกำหนดงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2479 และไม่มีความเกี่ยวข้องกับสมาคมคณะรัฐธรรมนูญ ผู้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ผู้เขียนจึงเกิดความสงสัยว่าพิธีฝังหมุดนี้จัดโดยใครหรือหน่วยงานอะไร จากการตรวจสอบเอกสารกำหนดการ “พิธีฝังหมุดที่พระลานพระบรมรูปทรงม้า” ซึ่งเป็นเอกสารพิมพ์ดีดแผ่นเล็ก ๆ เนื้อหาของเอกสารให้รายละเอียดของพิธีฝังหมุดที่เกี่ยวข้องกับพิธีสงฆ์ โดยไม่มีการกล่าวถึงเจ้าภาพในการจัดพิธีฝังหมุดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามจากสุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ ในพิธีฝังหมุดได้มีการกล่าวถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายนาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) ในฐานะผู้มาหารือกับพระยาพหลฯ ให้จัดทำหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นผู้เขียนจึงไปสำรวจรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2478-2479 และพบว่าตลอดสองปีนั้น ไม่มีวาระเรื่องการจัดสร้างหมุดที่ระลึกของการก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพระยาพหลฯ แต่อย่างใด อันนำมาสู่ข้อสันนิษฐานของผู้เขียนที่ว่า พิธีฝังหมุดนี้รัฐบาลพระยาพหลฯ มิได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน แต่อาจเป็นคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งสอดคล้องกับผู้เข้าร่วมพิธีที่ประกอบด้วย “พี่น้องผู้ร่วมตายในวันที่ 24 มิถุนายน 2475”

พิธีฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ

 

พิธีฝังหมุดที่พระลานพระบรมรูปทางม้า

---------------------

วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๙

เวลาเช้า เจ้าหน้าที่จะได้เตรียมการจัดตั้งปรำและฉัตรเบญจา อาสนสงฆ์ไว้พร้อมสรรพ.

เวลาบ่าย ๑๔.๓๐ นาฬิกา พระสงฆ์วัดเบ็ญจมบพิตรมีพระธรรมโกศาจารย์ เป็นประธาน รวม ๙ รูป พร้อมกัน ณอาสนสงฆ์ที่เตรียมไว้ เมื่อนายกรัฐมนตรีมายังโรงพิธี เจ้าพนักงานสังฆการีอาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีล แล้วเจริญพระปริตต์ตามสมควร เสร็จแล้วพรมน้ำมนต์และเจิมหมุดที่หลุม ครั้นแล้วนายกรัฐมนตรีเริ่มจับหมุดฝังเป็นปฐมฤกษ์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาจบแล้ว นายกรัฐมนตรีประเคนเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา แล้วเป็นเสร็จพิธี.

 

การประกอบพิธีฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญได้เริ่มต้นเมื่อเวลา 14.30 น. ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า พิธีนี้มีพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะราษฎรเป็นประธานในพิธีฝ่ายฆราวาส และมีการนิมนต์พระสงฆ์จากวัดเบญจมบพิตรฯ ซึ่งอยู่ใกล้กับทำเนียบนายกรัฐมนตรีวังปารุสกวันและลานพระบรมรูปทรงม้า มาร่วมพิธีจำนวน 9 รูป โดยมีพระธรรมโกศาจารย์ (ปลด) มาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์[22] 

จากหมายกำหนดการพิธีฝังหมุดได้กล่าวถึงเจ้าพนักงานที่เตรียมงานและร่วมพิธี ได้แก่ (1) เจ้าพนักงานจัดตั้งปรำและฉัตรเบญจา สังกัดสำนักพระราชวัง ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ที่รัฐบาลพระยาพหลฯ ตั้งขึ้นหลังจากดำเนินการปฏิรูปราชสำนักสยามหลังการปฏิวัติ 2475 โดยหน่วยงานนี้เป็นหนึ่งในองค์กรของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี[23] และ (2) เจ้าพนักงานสังฆการี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับสงฆ์ในงานหลวง สังกัดกรมธรรมการ กระทรวงธรรมการ[24] ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ทราบว่าพิธีกรรมนี้ได้รับการอนุญาตจากทางราชการและมีการจัดส่งข้าราชการมาช่วยงานอย่างเป็นทางการ

เมื่อพิจารณา “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นหมุดทองเหลืองมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 นิ้ว แม้จะไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ออกแบบ แต่จากการตั้งข้อสังเกตลวดลายที่ประดับบนหมุดของเพ็ญสุภา สุขคตะ พบว่ามีลาย “ดอกซีกดอกซ้อน” ซึ่ง “เป็นฟอร์มรูปขนมเปียกปูนตัดแยกทำให้มีกรอบเป็นสามเหลี่ยมหัวคว่ำ-หัวหงาย และมีลายคล้ายกลีบดอกไม้เล็ก ๆ ผ่าครึ่งซ้อนอยู่ด้านละครึ่งดอก” ลายนี้มีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงหรือกลิ่นอายผลงานของพระพรหมพิจิตร สถาปนิกคนสำคัญสมัยคณะราษฎร แต่เพ็ญสุภาจะยังไม่ยืนยันว่าพระพรหมพิจิตรเป็นผู้ออกแบบหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานแบบแปลนจากกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากรมาสนับสนุนสมมติฐาน[25] นอกจากนี้จากการสำรวจเหรียญตราต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎร ที่น่าจะได้รับอิทธิพลการออกแบบจากหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนพบว่ามีเหรียญที่ระลึกเนื้อดีบุกที่กองกษาปณ์ กรมคลังเป็นผู้จัดทำเพียงเหรียญเดียวคือ เหรียญในพิธีเปิดธนาคารแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2485 โดยด้านหนึ่งมีการจัดวางลวดลายและข้อความคล้ายคลึงกับหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ระบุข้อความว่า “พิธีเปิดธนาคารแห่งประเทศไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม 10 ธันวาคม 2485” ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปตราธนาคารแห่งประเทศไทย คือ พระสยามเทวาธิราชและมีถุงเงินในพระหัตถ์เบื้องขวา มีข้อความว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย”

ทั้งนี้ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของพิธีฝังหมุดคือ ยังไม่มีการค้นพบภาพถ่ายในการประกอบพิธีฝังหมุด แม้ว่าผู้เขียนได้พยายามสำรวจภาพถ่ายในหอจดหมายเหตุแห่งชาติและภาพถ่ายที่ทายาทพระยาพหลฯ มอบให้ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี จัดเก็บในพิพิธภัณฑ์ก็ยังไม่พบภาพพิธีดังกล่าว

อย่างไรก็ตามเมื่อปลายปี พ.ศ. 2564 ผู้เขียนได้ซื้อภาพถ่ายงานฉลองรัฐธรรมนูญมาจากเว็ปไซด์ประมูลพระเครื่องแห่งหนึ่ง และพบว่าภาพถ่ายขนาดเล็กจำนวนทั้งสิ้น 29 รูปเป็นภาพถ่ายของช่างภาพนิรนามที่เที่ยวชมงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2479 โดยมีภาพถ่ายสำคัญคือ หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญจำนวน 2 รูปเป็นภาพของหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญในระยะใกล้และไกล ภาพระยะใกล้ได้ให้รายละเอียดของหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ที่มีลักษณะเป็นหมุดโลหะลวดลายยังคมชัดฝังตรึงอยู่บนแผ่นคอนกรีตรูปวงกลม ส่วนภาพระยะไกลแสดงหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญฝังอยู่กลางถนน (ที่ยังไม่เป็นถนนคอนกรีต) และมีพระบรมรูปทรงม้าเป็นฉากหลัง ผู้เขียนสันนิษฐานว่าภาพถ่าย 2 รูปนี้น่าจะเป็นภาพถ่ายหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญอยู่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์พิธีฝังหมุดมากที่สุด รวมถึงเป็นหลักฐานในการยืนยันที่ตั้งและสภาพเดิมของหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2479 ได้เป็นอย่างดี และคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับที่ตั้งของหมุดนี้ว่าฝังอยู่บริเวณกลางลานพระบรมรูปทรงม้าฝั่งสนามเสือป่ามาโดยตลอดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2479-2560 (แม้จะถูกถอดออกช่วงเวลาสั้น ๆ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)

ความหมายของ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ในสมัยคณะราษฎร

เมื่อพิจารณาช่วงเวลาประกอบพิธีฝัง “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ในปี พ.ศ. 2479 ถือว่าอยู่ภายใต้บริบททางการเมืองสมัยพระยาพหลฯ ที่ฝ่ายคณะราษฎรเริ่มมีท่าทีลดทอนการประนีประนอมกับฝ่ายชนชั้นนำระบอบเก่า โดยสมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญได้เริ่มให้ความสำคัญกับความทรงจำเกี่ยวกับการปฏิวัติสยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อย่างต่อเนื่องภายหลังจากรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ ผ่านการแสดงสุนทรพจน์ การจัดงานสโมสร และการจัดกิจกรรมพิเศษในวันที่ 24 มิถุนายนนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 ขณะเดียวกันสื่อหนังสือพิมพ์บางฉบับยังกระตุ้นให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน ด้วยการจัดงานรำลึกและเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกับวันรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี จากบริบทข้างต้นเป็นมูลเหตุสำคัญให้มีการสร้างหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

สำหรับความหมายของหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญมีลักษณะตรงไปตรงมาตามข้อความที่ปรากฏบนหมุดที่ระบุว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” ยิ่งไปกว่านั้นจากสุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ ในพิธีฝังหมุด ยิ่งเป็นการยืนยันว่าหมุดนี้มีจุดมุ่งหมายในการสร้างเพื่อเป็นเครื่องป้องกันการหลงลืมและเป็นอนุสรณ์แห่งการรำลึกถึงวันแห่งการปฏิวัติสยาม กระนั้นเองการฝังหมุดอย่างแนบเนียนลงบนพื้นถนนบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ย่อมสะท้อนการเมืองของความทรงจำที่รัฐบาลพระยาพหลฯ ที่ยังคงพยายามประนีประนอมไม่แตกหักกับความทรงจำของชนชั้นนำระบอบเก่าเหนืออดีตพื้นที่ทางอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างตรงไปตรงมา

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่ออ่านสุนทรพจน์ทางวิทยุกระจายเสียงเรื่อง “การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ” ของพระยาพหลฯ ในคืนวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 หลังเสร็จสิ้นพิธีฝังหมุด พระยาพหลฯ ได้อธิบายถึงความจำเป็นของการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากมนุษย์ทุกคนรักในสิทธิเสรีภาพและต้องมีระเบียบการปกครอง ส่งผลให้ประเทศสยามต้องมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองนับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 พระยาพหลฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามได้สำเร็จอย่างรวดเร็ว แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคมาขัดขวางบ้าง อาทิ การปิดสภาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 และกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 แต่สิ่งที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลงคือ การเปลี่ยนชีวิตจิตใจของผู้คน ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องปรับปรุงแก้ไขกิจการต่าง ๆ อย่างระมัดระวังให้สอดคล้องกับนิสัยใจคอของประชาชาติไทย และดำเนินนโยบายรัฐบาลให้สอดคล้องกับตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร[26] จากสุนทรพจน์นี้เป็นการยืนยันถึงความสำคัญของการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญที่มีจุดเริ่มต้นจากวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่ให้อิสรเสรีแก่ประชาชนชาวไทยและมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครอง ดังนั้นหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญจึงมิใช่เป็นเพียงหมุดแห่งการรำลึกเหตุการณ์วันแห่งการปฏิวัติที่จบไปแล้วในปี พ.ศ. 2475 แต่หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญยังมีความหมายถึงการปฏิวัติที่ยังไม่สิ้นสุด แต่เป็นหมุดหมายแห่งการเริ่มต้นของความเจริญงอกงามของการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญในประเทศสยาม ที่ค่อย ๆ ฝังแน่นบนแผ่นดินและเริ่มขยายเข้าไปในจิตใจของประชาชนชาวไทย

จากหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เมื่อหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญได้ถูกฝังตรึงบนลานพระบรมรูปทรงม้าเปรียบเสมือนเป็นหมุดหมายให้ทางราชการผลักดันให้วันที่ 24 มิถุนายนกลายเป็นวันสำคัญของชาติ ด้วยการกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2480 เป็นวันหยุดราชการ อันเปิดโอกาสให้ข้าราชการทหารและพลเรือน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนสามารถเยี่ยมคารวะและลงนามอวยพรสมาชิกคณะราษฎรชั้นผู้ใหญ่ได้[27] 

ยิ่งไปกว่านั้นการให้ความสำคัญกับวันที่ 24 มิถุนายน ยังมาพร้อม ๆ กับการระลึกถึงและยกย่องคณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังปรากฏจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2480 นายร้อยตรี ถัด รัตนพันธุ์ ส.ส.ประเภทหนึ่งจังหวัดพัทลุงได้เสนอญัตติด่วน ขอให้สภาลงมติขอบคุณคณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยถัดได้กล่าวว่า “จริงอยู่แม้ได้มีหมุดฝังก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญไว้แห่งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2479 ก็ดีแต่หมุดนั้นเป็นแต่เครื่องหมายของคณะราษฎร์เท่านั้น หาเป็นเกียรติพอแก่ผู้สละเลือดเนื้อเพื่อผู้อื่นในครั้งนั้นไม่” รวมถึงขอให้สภารับหลักการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นที่ระลึกแก่คณะราษฎร แต่ที่ประชุมสภาได้ลงมติเพียงขอบคุณคณะราษฎร[28] ถัดมานายดาบยู่เกียง ทองลงยา ส.ส.ประเภทหนึ่งจังหวัดกาญจนบุรี ได้ขอให้สภารับรองวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติ แต่นายดาบยู่เกียงได้ขอถอนญัตติหลังจากประธานสภาและส.ส.บางคนโต้แย้งว่าเรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของสภา จากนั้นนายดาบยู่เกียงได้พยายามผลักดันร่างกฎหมายให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันสำคัญของชาติและให้มีพิธีกรรมเป็นการโฆษณา ซึ่งรัฐบาลพระยาพหลฯ ได้พิจารณาร่างกฎหมายของนายดาบยี่เกียงและมีมติเห็นชอบรับหลักการให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นสำคัญของชาติ แต่สุดท้ายสภาได้ลงมติยกเรื่องอื่นมาพิจารณาแทนและทำให้ร่างกฎหมายนี้ตกไปโดยปริยาย[29]

วันที่ 24 มิถุนายนได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในฐานะวันสำคัญของชาตินับตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2480 เมื่อรัฐบาลพระยาพหลฯ ได้มีมติกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน และวันที่ 27 มิถุนายน เป็นวันหยุดราชการประจำปีในฐานะ “วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ” (Constitution Petition Day) และ “วันรัฐธรรมนูญชั่วคราว” (Provisional Constitution Day) ตามลำดับ[30] อันทำให้วันที่ 24 มิถุนายน ได้มีพื้นที่ความทรงจำบนหน้าปฏิทินทางการของรัฐสยาม[31]

เมื่อรัฐบาลพระยาพหลฯ ได้พิจารณาเรื่องวันชาติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 และได้ลงมติให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ ส่งผลให้วันที่ 24 มิถุนายนได้กลายเป็นวันสำคัญที่มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ โดยงานฉลองวันชาติครั้งแรกจัดขึ้นในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามภายใต้ชื่อ “งานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา” ซึ่งเป็นงานที่ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองควบคู่กับการเฉลิมฉลองการได้รับเอกราชสมบูรณ์หลังจากประเทศสยามสามารถแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคกับต่างประเทศได้สำเร็จ โดยพิธีการสำคัญในงานวันชาติครั้งแรกเป็นการวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนินกลาง

ทั้งนี้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าภายใต้ปฏิบัติการทางการเมืองต่าง ๆ ที่ทำให้วันที่ 24 มิถุนายน ทวีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2480 แต่หมุดก่อกำเนิดคณะราษฎรกลับเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่ทรงพลังน้อยกว่าสัญลักษณ์ “พานรัฐธรรมนูญ” ที่ปรากฏในสิ่งของวัตถุในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างแพร่หลาย อาทิ หน้าปกหนังสือหรือสมุด เครื่องประดับ ขันน้ำ กล่องใส่บุหรี่ ตลอดจนลวดลายตามศาสนสถาน[32] แต่ภาพหมุดก่อกำเนิดคณะราษฎรกลับมีการเผยแพร่อย่างจำกัดเฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น ดังตัวอย่างเช่น การตีพิมพ์ภาพหมุดบนหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2481 หรือหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ยิ่งไปกว่านั้นจากการสำรวจเบื้องต้นของผู้เขียนกลับพบว่า สมุดภาพรวมผลงานของรัฐบาลระบอบใหม่ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2480 ภาพเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งหมดล้วนเป็นภาพพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 แต่กลับไม่มีภาพหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด[33] โดยภาพหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญปรากฏในสิ่งพิมพ์ของรัฐครั้งแรกในหนังสือ “ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นหนังสือที่ระลึกในงานฉลองวันชาติ พ.ศ. 2482[34] และเป็นช่วงเวลาเดียวกับการปรากฏภาพหมุดในหนังสือของเอกชนครั้งแรกคือ “สำคัญที่ผู้นำ” ของดำริห์ ปัทมะศิริ ที่จัดพิมพ์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2482[35] จากนั้นภาพหมุดได้ปรากฏในสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ในโอกาสงานวันชาติและค่อย ๆ หายไปจากพื้นที่สิ่งพิมพ์ของรัฐและเอกชนนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2490 ภาพหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญจึงเริ่มกลับมาปรากฏบนปกหนังสือที่มีเนื้อหาสนับสนุนคณะราษฎร เริ่มต้นจาก “เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ของกุหลาบ สายประดิษฐ์[36] ในปี พ.ศ. 2490 ตามมาด้วยปกหนังสือ “ประชาธิปไตยเสทือน” ของนิร นิรันดร[37] (นามแฝง วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร) ในปี พ.ศ. 2492

สาเหตุสำคัญที่ทำให้หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเลือนหายไปจากพื้นที่ความทรงจำสาธารณะ เนื่องมาจากประเทศไทยได้มีอนุสรณ์ที่ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยิ่งใหญ่และทรงพลังขึ้นมาแทนที่หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญคือ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” นับตั้งแต่หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 โดยอนุสาวรีย์แห่งนี้ได้ถูกออกแบบให้เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และสอดแทรกสัญลักษณ์แทนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กับหลักหกประการของคณะราษฎรในองค์ประกอบส่วนต่าง ๆ ของอนุสาวรีย์[38] นอกจากนี้รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามยังกำหนดให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่สำคัญในการประกอบรัฐพิธีสำคัญต่าง ๆ ของชาติไทย รวมถึงตั้งใจให้เป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของถนนทุกสายจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมือง[39] อันสะท้อนว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้กลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของระบอบประชาธิปไตยสมัยคณะราษฎรแทนที่หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ รวมถึงสานต่อภารกิจของ “คณะราษฎร” ที่ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองและก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ไปสู่ภารกิจการสร้างชาติไทยร่วมกันของ “ประชาชาติไทย” เพื่อให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

 


[1] อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

[2] ชาตรี ประกิตนนทการ, “คณะราษฎรหลังรัฐประหาร 19 กันยาฯ 49,” ใน ชาตรี ประกิตนนทการ, ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2563), น. 332-336.

[3] “พิธีฝังหมุด,” ประชาชาติ (12 ธันวาคม 2479), น. 36.

[4] เอกสารชิ้นนี้ปัจจุบันเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี เอกสารนี้ได้เคยถอดมาเป็นตัวพิมพ์และเผยแพร่ครั้งแรกใน ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์, 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มีนาคม 2541 (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552), น. 498. จากนั้นได้มีการนำต้นฉบับลายมือมาพิมพ์อีกครั้งใน นริศ จรัสจรรยาวงศ์, 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564), น. (8)-(11). จากการสำรวจของผู้เขียนพบว่า หลักฐานต้นฉบับลายมือของพระยาพหลฯ ได้ถูกใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ครั้งแรกในบทความของ ปรมินทร์ เครือทอง, “นาทีปฏิวัติ 2475 : อยากรู้ “ย่ำรุ่ง” คือกี่โมง?,” ศิลปวัฒนธรรม 33, 8 (มิถุนายน 2555): 60-73.

[5] กุหลาบ สายประดิษฐ์, “ระบอบรัฐธรรมนูญ,” ประชาชาติ (15 ธันวาคม 2479), น. 5, 33.

[6] กุหลาบ สายประดิษฐ์, “ความเสมอภาค,” ประชาชาติ (18 ธันวาคม 2479), น. 5.

[7] “วันที่ 24 มิถุนายน,” ประชาชาติ (24 มิถุนายน 2478), น. 5.

[8] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา,” ฟ้าเดียวกัน 2, 2 (เมษายน-มิถุนายน 2547): 77-79.

[9] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้แสดงปาฐกถาทางวิทยุกระจายเสียง เรื่อง “สองปีที่ล่วงมาแล้ว” ในวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ว่าเป็นวันที่ประเทศสยามได้มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว และชี้แจงผลงานของรัฐบาลระบอบใหม่ในรอบ 2 ปีตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่มา: “ปาฐกถาหลวงประดิษฐ,” ประชาชาติ (29 มิถุนายน 2477), น. 1, 5, 36.

[10] “หลวงพิบูลฯ แถลง,” ประชาชาติ (26 มิถุนายน 2477), น. 1, 5, 36; “หลวงพิบูลฯ ว่าเวลา 150 ปีได้ทำอะไร,” ประชาชาติ (27 มิถุนายน 2477), น. 2.

[11] “หลวงพิบูลฯ ว่าเวลา 150 ปีได้ทำอะไร และว่ารัฐบาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีอายุเพียง 2 ขวบปีได้ช่วยราษฎรมาแล้วอย่างไร,” ประชาชาติ (28 มิถุนายน 2477), น. 7, 32.

[12] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ “มองสำนึกพลเมืองยุคคณะราษฎรผ่านอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสาน” กับ “กลอนลำรัฐธรรมนูญมหาสารคาม พ.ศ. 2477” ใน ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562), น. 25-117.

[13] “รัฐบาลคณะราษฎรของสยาม,” ประชาชาติ (27 มิถุนายน 2478), น. 5.

[14] “ชาวนาพากระบือเผือกมามอบให้รัฐบาลในโอกาสรับเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ,” ประชาชาติ (26 มิถุนายน 2478), น. 1, 33.

[15] ตามสุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ ในพิธีฝังหมุด ระบุว่า “ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มาหารือกับข้าพเจ้าในการที่จะจัดให้มีหมุดที่ระลึก” ซึ่งหากพิจารณาข้อความนี้ในบริบทปี พ.ศ. 2479 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ย่อมหมายถึง นายนาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ 

[16] “สุนทรพจน์นายกรัฐมนตรี,” ประชาชาติ (26 มิถุนายน 2478), น. 5.

[17] “วันที่ 24 มิถุนายน,” ประชาชาติ (24 มิถุนายน 2478), น. 5.

[18] ดูเพิ่มเติมใน “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ : จากจุดเริ่มต้นสู่การอันตรธาน พ.ศ. 2476-2561,” ใน ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร, น. 223-295.

[19] “งานฉลองรัฐธรรมนูญ 2479,” เอกสารกำหนดงานการฉลองรัฐธรรมนูญ ปีที่ 5 พุทธศักราช 2479; กำหนดการงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2479 (ปีที่ 5) (พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2479).

[20] “หมายกำหนดการฉลองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2479,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 (6 ธันวาคม 2479), น. 2369-2371.

[21] “จัดงานรัฐธรรมนูญปีนี้บนหลัก 6 ประการ,” ประชาชาติ (9 ธันวาคม 2479), น. 19; ณัฐพล ใจจริง, “กำเนิด ‘สตาร์ตอัพ’ : ความหมาย ความงาม และความรุ่มรวยในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2479,” เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_524074 (10 พฤษภาคม 2565).

[22] พระธรรมโกศาจารย์ (ปลด) ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชในปี พ.ศ. 2503-2505 เมื่อท่านดำรงสมศักดิ์เป็นพระพรหมมุนีได้เป็นพระนิสสยาจารย์ของพระยาพหลฯ ในงานอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. 2484 ณ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน รวมถึงเป็นพระอาจารย์ของพระภิกษุพหลโยธีเมื่อจำพรรษาอยู่วัดเบญจมบพิตร ดูเพิ่มเติมใน ““หลอมนิกาย” มหาสังฆกรรมคณะราษฎรอุปสมบทพระยาพหลฯ พ.ศ. 2484,” ใน นริศ จรัสจรรยาวงศ์, 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน, น. 317-363.

[23] ดูเพิ่มเติมใน ปราการ กลิ่นฟุ้ง, “การปฏิรูปราชสำนักสยามในสมัยรัฐธรรมนูญ,” วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 5, 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561): 125-168

[24] นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 ได้เปลี่ยนชื่อหน่วยงาน “กรมธรรมการ” เป็น “กรมการศาสนา” และ “กระทรวงธรรมการ” เป็น “กระทรวงศึกษาธิการ”

[25] เพ็ญสุภา สุขคตะ, “ร่องรอยศิลปกรรมของ ‘พระพรหมพิจิตร’ บน ‘หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’,” มติชนสุดสัปดาห์ 37, 1916 (5-11 พฤษภาคม 2560): 84.

[26] “สุนทรพจน์ของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ กล่าวทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2479,” ใน สมุดที่ระลึกของสำนักนายกรัฐมนตรี ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2480 (พระนคร:ม.ป.พ., 2480), น. 1-13.

[27] “นายกเน้นความ,” ประชาชาติ (26 มิถุนายน 2480), น. 36.

[28] “ญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาฯ ลงมติขอบคุณคณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง,” รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง (24 มิถุนายน 2480), น. 4-7.

[29] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา,” : 75-77.

[30] เรื่องเดียวกัน, น. 95-96.

[31] ชนาวุธ บริรักษ์, ความทรงจำใต้อำนาจ:รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน (กรุงเทพฯ: มติชน, 2565), น. 57-59.

[32] ดู ชาตรี ประกิตนนทการ, “สิ่งของ(คณะ)ราษฎร,” จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสต์ 24 (มิถุนายน 2563-พฤษภาคม 2564): 48-61.

[33] สมุดที่ระลึกของสำนักนายกรัฐมนตรี ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2480 (พระนคร: ม.ป.พ., 2480).

[34] ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ (พระนคร: โรงพิมพ์พานิชศุภผล, 2482).

[35] ดำริ ปัทมะศิริ, สำคัญที่ผู้นำ (พระนคร: โรงพิมพ์เทศบาลนครกรุงเทพ, 2482).

[36] กุหลาบ สายประดิษฐ์, เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 (พระนคร: จำลองสาร, 2490).

[37] นิร นิรันดร ( นามแฝง วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ), ประชาธิปไตยเสทือน (พระนคร: โรงพิมพ์จำลองศิลปะ, 2492).

[38] องค์ประกอบของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เชื่อมโยงกับการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 และคณะราษฎร ได้แก่ (1) ปีกทั้งสี่ด้านสูง 24 เมตร รัศมีของอนุสาวรีย์ยาว 24 เมตร หมายถึงวันที่ 24 มิถุนายน (2) ปืนใหญ่ที่ฝังรอบอนุสาวรีย์ 75 กระบอก หมายถึงปี พ.ศ. 2475 (3) ภาพดุนบริเวณฐานของปีกสี่ด้านแสดงภาพประวัติคณะราษฎร (4) พานรัฐธรรมนูญ ตั้งอยู่กลางป้อม มีส่วนสูงของพาน 3 เมตร หมายถึงเดือน 3 คือ เดือนมิถุนายน (ตามปฏิทินเก่า) (5) รูปพระขรรค์ 6 ด้ามประดับประตูรอบป้อมกลางอนุสาวรีย์ หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่มา : “เรื่องการเปิดอนุสสาวรีย์ประชาธิปไตย,” ข่าวโฆษณาการ 3, 4 (กรกฎาคม 2483): 710-719.

[39] ชาตรี ประกิตนนทการ, คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมืองหลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม “อำนาจ” (กรุงเทพฯ: มติชน, 2548), น. 87.