ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
หลักเขตนครหลวง
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2485
สถานะ:
คงอยู่บางชิ้น
พิกัดสถานที่:

แนวคิดเรื่อง “เมืองหลวงใหม่” ของคณะราษฎร เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2481 ในสมัยที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม (ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายพันเอก) เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากคณะราษฎรมองว่ากรุงเทพฯ ประสบปัญหาหลายประการ ทั้งประชากรแออัด น้ำท่วม รวมถึงมีชัยภูมิที่ไม่เหมาะสม จากนั้นคณะราษฎรก็เริ่มมองหาทำเลที่จะก่อตั้งเมืองหลวงใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ลพบุรี, อยุธยา และนครสวรรค์ ก่อนที่ในปี 2485 “จังหวัดสระบุรี” จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามเนื่องจากประเทศไทยในเวลานั้นกำลังเผชิญกับสงครามมหาเอเชียบูรพาและถูกชาติสัมพันธมิตรนำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่อง (เนื่องจากไทยเป็นพันธมิตรของฝ่ายอักษะ) แผนการย้ายเมืองหลวงไปสระบุรีจึงต้องถูกระงับ เหตุเพราะสระบุรีมีภูมิศาสตร์เป็นที่ราบอันง่ายต่อการถูกทิ้งระเบิดเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ คณะราษฎรจึงตัดสินใจเปลี่ยนโครงการย้ายเมืองหลวงไปยังจังหวัดที่ห้อมล้อมด้วยภูเขาอันสลับซับซ้อนและมียุทธศาสตร์ที่ดีกว่าอย่างจังหวัดเพชรบูรณ์แทน แม้ในท้ายที่สุดโครงการย้ายเมืองหลวงจะไม่เกิดขึ้นจริง หากมรดกจากโครงการใหญ่ยักษ์ดังกล่าวก็ยังคงปรากฏเป็นรูปธรรมหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน ไม่เฉพาะกับเพชรบูรณ์ที่เริ่มมีการก่อสร้างอาคารที่ทำการของรัฐบาลแล้วในเวลานั้น แต่ยังรวมถึงในสระบุรี (อดีต) ว่าที่เมืองหลวงที่เป็นตัวเลือกในฝันอันดับหนึ่งของคณะราษฎร

หลักเขตนครหลวงคือหลักคอนกรีตมีลักษณะเป็นใบเสมา สูงราว 1.50 เมตร จากระดับผิวดิน มีอักษรสลักว่า “หลักเขตนครหลวง” ปัจจุบันถูกพบแล้วประมาณ 12 หลัก ในบริเวณพรมแดนของจังหวัดสระบุรี-อยุธยา จากการศึกษาพบว่าหลักเหล่านี้ทำหน้าที่ปักปันเขตแดนรอบพื้นที่เวนคืนในโครงการสร้าง “พุทธบุรีมณฑล” โครงการเมืองหลวงใหม่ของประเทศไทยในเขตจังหวัดสระบุรี สอดคล้องกับเอกสาร “ปรับปรุงจัดตั้งนครหลวงใหม่” ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ที่ได้บันทึกโครงการย้ายเมืองหลวงครั้งนี้เอาไว้ค่อนข้างละเอียดพร้อมกับแผนที่ “ผังนครหลวง” ซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2485 โดยผังเมืองหลวงใหม่แห่งนี้มีรูปแบบเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ากินพื้นที่ถึง 406 ตารางกิโลเมตร ด้านทิศเหนือติดแนวภูเขาอันเป็นที่ตั้งของวัดพระพุทธบาท สระบุรี และถนนประชาธิปัตย์ (ถนนพหลโยธิน) ทิศตะวันตกมีแนวทางรถไฟสายเหนือเป็นเสมือนขอบเขตเมืองโดยมี 3 สถานีที่เชื่อมต่อเข้าสู่เขตเมืองคือ สถานีท่าเรือ สถานีบ้านหมอ และสถานีหนองโดน ทิศใต้ใช้แนวแม่น้ำป่าสักเป็นขอบเขต ส่วนทิศตะวันออกใช้แนวถนนประชาธิปัตย์เป็นขอบเขต ทำให้เมืองหลวงใหม่แวดล้อมไปด้วยการคมนาคมที่ครบสมบูรณ์ทั้งทางรถไฟ ทางรถยนต์ และทางเรือ ทั้งยังมีรูปแบบการวางแนวถนนเป็นตารางสี่เหลี่ยม พร้อมทั้งการเชื่อมต่อพื้นเข้าหากันด้วยการตัดถนนในแนวเฉียง 45 องศาจนเกิดเป็นเครือข่ายถนนแบบใยแมงมุมครอบคลุมพื้นที่เมืองทั้งหมด โดยแนวแกนหลักกลางเมืองที่วางตัวจากเหนือจรดใต้น่าเชื่อว่าจะถูกกำหนดไว้ให้เป็นศูนย์กลางในการบริหารประเทศ เนื่องจากมันได้ทอดตัวยาวเชื่อมตรงดิ่งไปสู่มณฑปพระพุทธบาทที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมือง ซึ่งถูกกำหนดไว้ให้เป็น “หลักเมือง” ตามแนวคิดของ จอมพล ป. ทั้งนี้ผังเมืองดังกล่าวยังสะท้อนองค์ความรู้สมัยใหม่ด้านการวางผังเมืองที่เข้ามาอย่างชัดเจนภายหลังการปฏิวัติ 2475

เป็นข้อน่าสังเกตว่า “วัดพระพุทธบาท สระบุรี” เป็นศาสนสถานที่คณะราษฎรและจอมพล ป.ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยในปี 2476 (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 1 ปี) คณะราษฎรได้มอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะยอดมณฑปพระพุทธบาทในลักษณะที่เสมือนสร้างใหม่ และต่อมาได้สร้างพระที่นั่งเย็นขึ้นบนฐานไพทีหน้ามณฑป ด้วยรูปแบบ “สถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต” แบบสมัยใหม่ ตามแนวทางของสถาปัตยกรรมคณะราษฎร และในปี 2479 รัฐบาลยังได้ทำการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาทและใกล้เคียงเพื่อประโยชน์ในทางพุทธศาสนา จนในที่สุดจอมพล ป. ก็มากำหนดให้พระพุทธบาท สระบุรี เป็นหลักเมืองของเมืองหลวงใหม่ในปี 2485 นำมาสู่การก่อสร้างหลักเขตนครหลวงปักปันเขตแดน อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลเปลี่ยนแผนการย้ายเมืองหลวงไปยังเพชรบูรณ์ วัตถุที่เป็นมรดกของคณะราษฎรชิ้นนี้จึงหมดความสำคัญลงไปเสียก่อน จากนั้นเมื่อข้อเสนอในพระราชกำหนดในการย้ายเมืองหลวงไปยังเพชรบูรณ์ถูกคณะผู้แทนราษฎรปัดตกไปในวันที่ 20 กรกฎาคม 2487 จอมพล ป. ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และภายหลังที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงไม่นาน คณะราษฎรก็หมดอำนาจลง หลงเหลือไว้เพียงหลักปักปันเขตแดนที่ถูกทิ้งร้างรอบ “เมืองหลวงใหม่” ของคณะราษฎรที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง

รูปภาพ

ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน

คลิปวิดีโอ