ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
เกมการ์ดของ (คณะ) ราษฎร
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2561
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

นิทรรศการ “ของ (คณะ) ราษฎร” หรือ Revolutionary Things จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน – 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ณ คาร์เทล อาร์ตสเปซ (Cartel Artspace) ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ 22 กรุงเทพฯ เป็นนิทรรศการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ และกิตติมา จารีประสิทธิ์ ภัณฑารักษ์จาก Waiting You Curator Lab ซึ่งได้รวบรวมและจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้และงานศิลปกรรมที่สะท้อนบทบาทการเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยในช่วงตลอด 15 ปีที่คณะราษฎรเรืองอำนาจภายหลังการปฏิวัติ 2475 ไม่ว่าจะเป็นวัตถุที่เป็นของจริงที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยนั้น อาทิ แผ่นเสียงที่บันทึกเพลงสดุดีรัฐธรรมนูญ, ขัน กล่องใส่บุหรี่ และโอ่งดินเผาที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ, พนักพิงธรรมาสน์ของวัดเชิงท่า จังหวัดลพบุรี ฯลฯ และสิ่งของที่จำลองมาจากต้นแบบ (โมเดล) เช่น รูปปั้นพระยาพหลพลหยุหเสนา, เมรุวัดไตรมิตร และเพดานลายพานรัฐธรรมนูญของสิม (โบสถ์) วัดท่าครก จังหวัดเลย ทั้งนี้นิทรรศการดังกล่าวยังได้จัดทำสูจิบัตรสำหรับแจกผู้เข้าร่วมงานในรูปแบบที่ต่างออกไป กล่าวคือแทนที่จะแจกเอกสารที่ระบุถึงข้อมูลของวัตถุจัดแสดงแบบทั่วไป ทว่ากลับเป็นการแจก “เกมการ์ด (คณะ) ราษฎร” ชุดการ์ดเกมในรูปแบบสำรับไพ่ที่นำเสนอข้อมูลของประดิษฐกรรมจากยุคคณะราษฎรพร้อมวิธีการเล่นเกม กล่าวได้ว่าการ์ดเกมชุดนี้ยังถือเป็น “วัตถุปฏิวัติ” อีกหนึ่งชิ้นที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในยุคร่วมสมัย และสะท้อนนัยของกระแสฟื้นฟูคณะราษฎรในยุคปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ

เกมการ์ด ของ (คณะ) ราษฎร 1 ชุด จะมีการ์ดหรือไพ่ทั้งหมด 54 ใบ แต่ละใบมีภาพวัตถุสิ่งของในยุคคณะราษฎรที่มีความสำคัญหรือมีการออกแบบน่าสนใจ หรือหากไม่ใช่ภาพวัตถุ จะเป็นภาพที่สะท้อนนโยบายหรือแนวความคิดในยุคนั้น เช่น การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย, นโยบายรัฐนิยม, การประกวดนางสาวสยาม ฯลฯ หน้าปกของกล่องเกม รวมถึงรูปด้านหลังของการ์ดทุกใบเป็นผลงานการออกแบบของ วชิรา รุธิรกนก แห่ง Rabbit Hood ปรากฏเป็นกราฟิกแบบเรขาคณิตรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลับหัวชนกัน และมีสัญลักษณ์ของพานรัฐธรรมนูญและกรอบทรงหกเหลี่ยมอยู่ตรงกลาง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการล้อไปกับกระแสงานออกแบบและศิลปกรรมในยุคคณะราษฎรที่นิยมทรงเรขาคณิต 6 เหลี่ยมอันสอดคล้องกับ “หลัก 6 ประการ” เช่นเดียวกับรูปประดิษฐกรรมของคณะราษฎรชิ้นต่างๆ บริเวณหน้าไพ่ที่นำเสนอในกรอบ 6 เหลี่ยม พร้อมข้อความอธิบายด้วยแบบอักษร (font) อันเป็นที่นิยมในยุคคณะราษฎร ส่วนวิธีการเล่นเกมการ์ดดังกล่าวคือให้ผู้เล่นจับคู่กับเพื่อน คนหนึ่งถือการ์ดไว้ในมือวางตรงระดับหน้าอก โดยไม่มองว่าอีกด้านหนึ่งของการ์ดเป็นรูปภาพอะไร จากนั้นให้เพื่อนที่มองเห็นการ์ดใบ้ (ไม่อนุญาตให้เอ่ยคำที่ปรากฏในการ์ดอย่างตรงไปตรงมา) หากผู้ทายทายไม่ถูกและต้องการเปลี่ยนไพ่ให้พูดคำว่า “รัฐประหาร” หากใครทายถูกได้จำนวนมากกว่าภายในเวลา 2.40 นาที จะเป็นฝ่ายชนะ โดยที่การ์ดจะมีคิวอาร์โค้ด (QR Code) ให้สแกนเข้าไปดูคำเฉลยพร้อมคำอธิบายได้

ทั้งนิทรรศการและเกมการ์ดชุดนี้ถือเป็นหนึ่งในสื่อสำคัญที่ช่วยจุดประกายให้ผู้คนในยุคหลังรัฐประหาร 2557 ให้หันกลับมาสนใจศึกษาประวัติศาสตร์และบทบาทของคณะราษฎรในช่วงหลังปฏิวัติ 2475 สอดรับกับเหตุการณ์ถอดหมุดคณะราษฎรดั้งเดิมและแทนที่ด้วยหมุดหน้าใสฯ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อปี 2560 ทั้งนี้กระแสดังกล่าวยังมีความเข้มข้นขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในระหว่างปี 2563 – 2564 ที่คนรุ่นใหม่จัดกิจกรรมรำลึกถึงคณะราษฎรตามพื้นที่ต่างๆ และร่วมกันผลิตวัตถุสิ่งของสมัยใหม่ที่มีความเชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ของคณะราษฎรในอดีต อาทิ การทำหมุดคณะราษฎรจำลอง, พวงกุญแจและนาฬิกาหมุดคณะราษฎร, ชุดงานเซรามิกพานรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงหนังสือกราฟิกโนเวลอิงประวัติศาสตร์ 2475 เป็นต้น

เกมการ์ดสามารถสั่งซื้อได้ที่ [email protected]
เกมการ์ด ของ (คณะ) ราษฎร ร่วมเขียนโดย กษมาพร แสงสุระธรรม กิตติมา จารีประสิทธิ์ ชาตรี ประกิตนนทการ ณภัค เสรีรักษ์ 

รูปภาพ

ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน

คลิปวิดีโอ