ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
โอ่งดินพานรัฐธรรมนูญ
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2478
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

รูป “พานรัฐธรรมนูญ” ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่คณะราษฎรใช้ในการสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยให้กับคนในชาติหลังการปฏิวัติ 2475 เพราะไม่เพียงจะปรากฏอยู่ในอนุสาวรีย์สำคัญๆ ของชาติ (อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนิน, อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ บางเขน รวมถึงอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในหลายจังหวัดของภาคอีสาน) รูปดังกล่าวยังปรากฏในลวดลายของสถาปัตยกรรม รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ของสามัญชนที่หาได้ถูกผลิตโดยภาครัฐ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึง “การตื่นรู้” ของเอกชนและคนทั่วไปต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมถึงสื่อนัยถึงการเฉลิมฉลองการมาถึงของประชาธิปไตยผ่านการผลิตวัตถุสิ่งของมาใช้ในชีวิตประจำวัน เฉกเช่นการสร้างโอ่งดินเผาสำหรับเก็บน้ำใบนี้

แม้ไม่ทราบที่มา แต่เมื่อพิจารณาจากรูปแบบ สันนิษฐานกันว่าโอ่งใบนี้ถูกสร้างขึ้นโดยช่างฝีมือชาวบ้านทั่วไป โอ่งทำจากดินเผาสูง 80 เซนติเมตร กว้าง 70 เซนติเมตร บริเวณขอบด้านบนปรากฏลวดลายพานรัฐธรรมนูญ และสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์เหนือยอดพาน ซึ่งสามารถตีความได้ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญนี้คือการสิ้นสุดยุคมืด และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งแสงสว่าง บริเวณด้านล่างของโอ่งยังระบุ พ.ศ. 2478 ซึ่งน่าจะเป็นปีที่ของชิ้นนี้ถูกผลิตขึ้น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับมอบโอ่งใบนี้มาจากเจ้าของเดิม ก่อนที่ท่านจะส่งต่อให้คลังสะสมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันโอ่งถูกเก็บไว้ภายในหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

การมีอยู่ของโอ่งใบนี้ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ที่มีลวดลายพานรัฐธรรมนูญ เป็นเครื่องยืนยันถึงการรับรู้ของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศ ซึ่งแตกต่างจากข้อกล่าวหาของฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือกลุ่มนิยมเจ้าที่มองว่าคณะราษฎร “ชิงสุกก่อนห่าม” ชิงเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งที่ประชาชนไม่มีความพร้อมหรือมีความรับรู้ใดๆ ต่อระบอบใหม่ รวมถึงมุมมองอคติเสียดเย้ยที่กล่าวว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า “รัฐธรรมนูญ” คือลูกชายของพระยาพหลพลพยุหะเสนา เพราะไม่ว่าผู้ผลิตที่เป็นประชาชนคนธรรมดาจะมีมุมมองในผลิตข้าวของเครื่องใช้ที่มีลวดลายพานรัฐธรรมนูญนี้อย่างไร ไม่ว่าจะมองในฐานะกระแสนิยมชั่วคราวของยุคสมัย หรือตระหนักรู้ในคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ การที่พวกเขาได้ลงมือสร้างสิ่งของเหล่านี้เพื่อใช้งาน ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนการรับรู้ของพลเมืองไทยต่อการมีอยู่ของรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ใช่ชื่อของลูกพระยาพหลฯ ดังที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

รูปภาพ

ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน

พิกัดสถานที่