แม้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยจะประกาศใช้ในปี 2475 หากจุดเริ่มต้นที่สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญไปปรากฏอยู่ในรูปแบบต่างๆ ทั้งอนุสาวรีย์ ลวดลายสลักบนสถาปัตยกรรมและสิ่งของ ได้เกิดขึ้นในปี 2477 เมื่อ จำรัส มหาวงศ์นันทน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน ได้เสนอให้รัฐบาลอัญเชิญรัฐธรรมนูญจำลองไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ประชาชนได้ยึดเหนี่ยว ข้อเสนอนั้นได้รับการเห็นพ้องจากรัฐบาลจนนำมาสู่การสร้างรัฐธรรมนูญจำลองขึ้น 70 ชุดเพื่อแจกจ่ายไปทั่วประเทศ โดยมี หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ควบคุมดูแล และมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ควบคุมเรื่องการออกแบบ จนได้มาเป็นสมุดไทยลงรักปิดทองวางบนพาน 2 ชั้น เป็น “พานรัฐธรรมนูญ” ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดความเป็นของบูชา รวมถึงเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เพราะพาน 2 ชั้นนี้มีชื่อเรียกว่า “พานแว่นฟ้า” ซึ่งปกติจะใช้รองรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้แนวคิดเรื่องการทำให้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญมักไปปรากฏอยู่ในองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมของวัดหลายแห่งทั่วภูมิภาค ซึ่งหาใช่เพียงสิ่งของที่เพิ่งถูกสร้างใหม่ (ในสมัยนั้น) อย่างพนักพิงธรรมาสน์ของวัดเชิงท่า จังหวัดลพบุรี หรือลวดลายบนเพดาของอุโบสถ (สิม) วัดท่าครก จังหวัดเลย แต่ยังรวมถึงการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานอายุหลายร้อยปีของวัดให้มีสัญลักษณ์แห่งยุคสมัยใหม่ปรากฏอยู่ด้วย ดังจะเห็นได้จากหน้าบันของวิหารวัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ในจังหวัดเชียงใหม่ชิ้นนี้
วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ตั้งอยู่ในเขตเวียงเก่าเชียงใหม่ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (คนละแห่งกับวัดอุโมงค์ สวนพุทธรรม บริเวณหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ามหานิกาย แต่เดิมชื่อวัดโพธิ์น้อย เล่ากันว่าวัดแห่งนี้สร้างมาในช่วงไล่เลี่ยกับการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1839 โดยพญามังรายมหาราช (อย่างไรก็ดีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าวัดแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 1910) จากเอกสารพบว่าที่นี่เคยเป็นวัดร้างในช่วงปี 2461 ก่อนจะมีการบูรณะในเวลาต่อมา วัดแห่งนี้มีวิหารศิลปะล้านนาที่งามสง่า วิหารถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นวิหารย่อมุม ด้านหน้าและด้านหลังมีหลังคาซ้อนชั้นเป็นตับ มีมุขยื่นทางทิศเหนือด้านเดียว หางหงส์ประดับด้วยกระจกสี ส่วนหน้าบันประดับด้วยไม้แกะสลักรูปสัตว์และดอกประจำยามติดกระจกสี รวมถึงรูป “พานรัฐธรรมนูญ” ที่ส่องประกายแสงล้อมรอบด้วยรูปเทวดา ทั้งยังมีจารึกภาษาไทยและจีนว่า “พ.ศ. 2486 นายฮะเสง นางคำปัน โต๋วถ่ายลัง” ซึ่งน่าจะเป็นชื่อของผู้อุปถัมภ์การบูรณะหน้าบันแห่งนี้
พานรัฐธรรมนูญบนหน้าบันของวิหารวัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์แห่งนี้เป็นหลักฐานของความร่วมมือระหว่างฝ่ายศาสนา (วัด) และฆราวาส (ผู้อุปถัมภ์ทั้งชาวไทยและจีน) ในการเฉลิมฉลองระบอบการปกครองใหม่ของประเทศในระดับท้องถิ่น รวมถึงการสะท้อนกรอบคิดที่มองว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวมีความสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างชัดเจน ยิ่งเมื่อพิจารณาจากการที่ทางวัดได้อนุญาตให้ผู้อุปถัมภ์ใส่สัญลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นสมัยใหม่อย่าง “พานรัฐธรรมนูญ” ลงภายในพื้นที่ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของเมือง ก็ยิ่งตอกย้ำความสำคัญสูงสุดของรัฐธรรมนูญในโลกของฆราวาสที่อาจเป็นคล้ายการให้ความสำคัญกับพระไตรปิฎกในโลกทางธรรม ทั้งนี้รูปแบบการใส่สัญลักษณ์ในพื้นที่ที่มีความสำคัญระดับมรดกของเมืองยังพบได้ในวัดปงสนุกเหนือ จังหวัดลำปาง ที่มีอายุกว่า 1,300 ปี (สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1223) โดยมีภาพเขียนกรอบกระจกรูปพานรัฐธรรมนูญ พร้อมข้อความ “พ.ศ. ๘๒” ปรากฏอยู่ภายใน “วิหารพระเจ้าพันองค์” วิหารล้านนาที่ได้รับการยอมรับว่างดงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย