ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
วัดประชาธิปไตย (วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน)
ปีที่สร้าง:
ปลายทศวรรษ 2483
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

ชัยชนะของคณะราษฎรในเหตุการณ์กบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 ไม่เพียงนำมาซึ่งการจัดตั้งอนุสรณ์สถานที่ทำหน้าที่รำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และย้ำเตือนถึงหลักความเสมอภาคในระบอบการปกครองใหม่ อาทิ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (อนุสาวรีย์ปราบกบฏ) ณ ทุ่งบางเขน ในปี 2479 หรืออนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีที่มีความเชื่อมโยงในเชิงความหมายของพื้นที่ในปี 2476 ที่จังหวัดนครราชสีมา แต่ยังรวมถึงการสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญในบริบทของความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์อย่าง “วัดประชาธิปไตย” ศาสนาสถานแห่งเดียวที่สร้างโดยคณะราษฎร และเป็นพื้นที่สำคัญที่ตอกย้ำอุดมการณ์ของคณะราษฎรทั้งในเชิงความหมาย และกายภาพผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่

วัดประชาธิปไตยสร้างขึ้นในปี 2483 บริเวณทุ่งบางเขน ไม่ไกลจากที่ตั้งของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สถานที่ที่เคยเป็นสมรภูมิปราบกบฏบวรเดช แล้วเสร็จในปี 2485 คณะราษฎรตั้งใจให้วัดแห่งนี้เป็นอนุสรณ์ของการปกครองระบอบใหม่ จากการเป็นสถานที่ประดิษฐานมหาธาตุในระบอบประชาธิปไตย คู่ขนานไปกับวัดมหาธาตุที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานมหาธาตุในคติดั้งเดิม (โดยภายหลังที่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและต้นมหาโพธิ์จากอินเดียมาประดิษฐานที่วัดนี้ จึงมีมติให้เปลี่ยนชื่อจากวัดประชาธิปไตยมาเป็น “วัดพระศรีมหาธาตุ”) วัดแห่งนี้มีพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำการปฏิวัติ 2475 เข้าอุปสมบทเป็นพระสงฆ์รูปแรก และเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของวัดในระดับชาติ จึงมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 3 ของชาติ รองจากพระแก้วมรกต และพระพุทธชินราช มาประดิษฐานในพระอุโบสถ นอกจากนี้คณะราษฎรยังตั้งใจให้วัดแห่งนี้เป็นตัวกลางในการสลายความขัดแย้งระหว่างพระสงฆ์มหานิกายและธรรมยุกตินิกายด้วยการรวมสองนิกายนี้ไว้ด้วยกัน (หากไม่ประสบความสำเร็จ) สถาปัตยกรรมของวัดพระศรีมหาธาตุได้รับการออกแบบโดยพระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) ซึ่งแม้พระอุโบสถจะได้รับอิทธิพลมาจากอุโบสถวัดเบญจมบพิตร แต่ก็มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้คอนกรีตเสริมเหล็กมารังสรรค์สถาปัตยกรรมไทย หรือที่เรียกว่า “สถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต” และลวดลายหน้าบัน “อรุณเทพบุตร” ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในวัดแห่งไหน ทั้งยังมีการสันนิษฐานกันว่าเป็นลวดลายที่พยายามหลุดพ้นจากความเชื่อมโยงกับคติของสถาบันกษัตริย์ อาทิ ลวดลายนารายณ์ทรงครุฑ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เทวดาชั้นสูง หรือพระราชลัญจกรต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ โดยลวดลาย “อรุณเทพบุตร” ยังปรากฏอยู่เหนือประตูทางเข้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีกด้วย ขณะที่พระเจดีย์ก็มีรูปแบบสมัยใหม่  ภายใต้แนวคิดแบบวิหารแพนธีอัน (Panthéon) ประเทศฝรั่งเศส เจดีย์เป็นทรงระฆังกลมโดยตัดทิ้งซึ่งลวดลายแบบประเพณี ออกไปทั้งหมด บัวกลุ่มยอดเจดีย์ทำเป็น 6 ชั้นที่น่าจะสื่อความหมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

ไม่เพียงวัดแห่งนี้จะสะท้อนสุนทรียภาพทางความงามแบบใหม่ในสถาปัตยกรรมไทย ภายในเจดีย์ของวัดยังเป็นที่บรรจุอัฐิของกลุ่มสมาชิกคณะราษฎรเกือบทุกคน ซึ่งนับเป็นเรื่องใหม่ที่มีการบรรจุอัฐิของสามัญชนรวมไว้กับพระบรมสารีริกธาตุ (กระทั่งอัฐิของพระมหากษัตริย์ก็ยังไม่เคยถูกรวมไว้กับพระบรมสารีริกธาตุมาก่อน) สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงจิตสำนึกที่เปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากอิทธิพลแนวคิดเรื่อง “ความเสมอภาค” ที่เข้ามาแทนที่จิตสำนึกเรื่องฐานานุศักดิ์ จึงกล่าวได้ว่าวัดพระศรีมหาธาตุถือเป็นศาสนสถานแห่งแรกๆ ที่ได้เข้ามาเปลี่ยนระบบฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรมไทย และได้ส่งอิทธิพลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน แต่ถึงแม้จะมีบทบาทสำคัญในช่วงแรก หากหลัง พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา วัดแห่งนี้ก็ดูเหมือนจะเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน โดยเป็นที่จดจำเพียงที่ตั้งของฌาปนสถานของกองทัพอากาศ อย่างไรก็ดี ความที่วัดเป็นที่บรรจุอัฐิของเหล่าบุคคลสำคัญของคณะราษฎร ลูกหลานของพวกเขาจึงมักมาทำพิธีระลึกถึงทุกวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี และภายหลังรัฐประหาร 2549 ที่กลุ่มคนเสื้อแดงได้พยายามรื้อฟื้นประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคณะราษฎร วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน จึงถูกหยิบยกมาพูดถึงในฐานะสัญลักษณ์และพื้นที่จัดกิจกรรมทางประชาธิปไตยควบคู่ไปกับอนุสาวรีย์ปราบกบฏ (ที่ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปแล้ว) อีกครั้ง ต่อเนื่องมาถึงยุคสมัยของการรื้อฟื้นบทบาทของคณะราษฎรของผู้คนในยุคปัจจุบัน

รูปภาพ

ยุคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐

ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน

คลิปวิดีโอ

พิกัดสถานที่

วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร

เลขที่ 140 ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220