“หลักการศึกษา” คือหนึ่งในหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรมุ่งเน้นในการพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ความทันสมัยภายหลังการปฏิวัติ 2475 ดังเช่นส่วนหนึ่งของคำประกาศวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ว่า “การที่ราษฎรยังถูกดูหมิ่นว่ายังโง่อยู่ ไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นเพราะขาดการศึกษา ที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่" โดยส่วนหนึ่งของรูปธรรมในหลักการดังกล่าวคือการที่คณะราษฎรสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาที่ซึ่งในยุคระบอบเก่ามีเพียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในระดับนี้เพียงแห่งเดียว (ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2442 ในสมัยรัชกาลที่ 5) “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง” จึงได้ถูกก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งที่สองของประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่สร้างขึ้นในยุคคณะราษฎร โดยมีจุดประสงค์ในช่วงเริ่มต้นคือการเป็นตลาดวิชาเพื่อการศึกษากฎหมายและการเมืองของประชาชนทั่วไป ครั้นเมื่อก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (หลังการรัฐประหาร 2490 มหาวิทยาลัยได้ตัดคำว่า “การเมือง” ออก และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน) ยังไม่มีอาคารเรียนเป็นของตัวเอง ต้องอาศัยอาคารภายในโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เป็นที่ทำการเรียนการสอน กระทั่งมหาวิทยาลัยได้ขอซื้อที่ดินบริเวณที่เรียกว่า “ชานกำแพงพระนคร” ตั้งแต่ย่านท่าพระจันทร์ถึงประตูพระอาทิตย์จากกรมทหารราบที่ 4 กระทรวงกลาโหมเพื่อใช้เป็นที่ตั้งของสถาบัน และต่อมาในปี 2479 มหาวิทยาลัยได้รับที่ดินเพิ่มเติมจากกระทรวงกลาโหมในส่วนที่เป็นคลังสรรพาวุธ ทำให้มีที่ดินเพิ่มราว 50 ไร่ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
หลังจากที่ได้รับกรรมสิทธิ์พื้นที่ มหาวิทยาลัยที่มี ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นอธิการบดีคนแรก ก็ได้เริ่มทำการก่อสร้างอาคารโดยมี “ตึกบัญชาการ” หรือที่รู้จักต่อมาในชื่อ “ตึกโดม” เป็นอาคารหลังแรก ตึกโดมถือว่าเป็นอาคารที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอาคารทั่วไป กล่าวคือไม่ได้เกิดขึ้นจากการก่อสร้างใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการออกแบบโดยปรับปรุงจากอาคารสถาปัตยกรรมตะวันตกความสูง 2 ชั้นเดิมที่มีอยู่ 4 หลัง ซึ่งสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 หมิว อภัยวงศ์ สถาปนิกผู้ออกแบบตึกโดมได้ทำหลังคาใหม่เชื่อมอาคารทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นอาคารหลังเดียว โดยพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารหลังที่ 2 และ 3 ที่เป็นจุดกึ่งกลาง ได้รับการออกแบบใหม่ให้เป็นอาคาร 3 ชั้นเชื่อมต่อระหว่างปลายมุขของอาคาร 2 และ 3 ทำให้ส่วนกลางของอาคารที่สร้างใหม่มีความกว้างถึง 22 เมตร เพียงพอสำหรับเป็นโถงทางเข้าและโถงบันไดหลัก บนหลังคาออกแบบเป็นโดมทรงกรวยยอดแหลม 2 ชั้น สูงประมาณ 16 เมตร เพื่อเน้นทางเข้าและเป็นสัญลักษณ์ของอาคาร ที่ฐานของโดมทรงกรวยยังออกแบบเป็นทรงแปดเหลี่ยมมีหน้าต่างยื่นออกมา 6 ช่อง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการสะท้อน “หลัก 6 ประการ” ส่วนใต้ชายคาของยอดโดมด้านหน้ายังติดตั้ง “นาฬิกาปารีส” นาฬิกาลูกตุ้มเหล็ก 7 ชิ้นที่สั่งพิเศษจากห้าง เอส.เอ.บี. และเพื่อให้สอดคล้องกับอาคารยอดโดมที่ออกแบบใหม่ หมิว อภัยวงศ์ ยังได้ปรับเปลี่ยนลวดลายใหม่ทั้งหมด ซึ่งเดิมมีลวดลายแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเปลี่ยนมาเป็นลวดลายที่มีลักษณะเรียบง่ายมากขึ้นตามสมัยนิยม (หากอาคารส่วนที่ 1 และ 4 ยังคงลวดลายบัวหัวเสาแบบดั้งเดิมไว้)
ไม่เพียงยอดโดมจะเป็นสัญลักษณ์ของตึกบัญชาการซึ่งเป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทว่า “ตึกโดม” ก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยในความรับรู้ของผู้คนมาจนถึงปัจจุบัน อาคารหลังนี้ตั้งตระหง่านริมแม่น้ำเจ้าพระยามากว่า 90 ปี และผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองไทยมาแล้วมากมาย ทั้งการเคยเป็น “ศูนย์บัญชาการเสรีไทย” (อย่างลับๆ) ที่นำโดย ปรีดี พนมยงค์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีส่วนทำให้ไทยไม่ต้องตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม ก่อนจะกลายมาเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของเหล่านักศึกษาและฝ่ายนิยมปรีดีที่รัฐบาลเข้ายึดในเหตุการณ์ “กบฏวังหลวง” (พ.ศ. 2492) และ “กบฏแมนฮัตตัน” (พ.ศ. 2494) โดยเหตุการณ์หลังยังปลุกให้นักศึกษาธรรมศาสตร์เดินขบวนเรียกร้องและเข้ายึดมหาวิทยาลัยกลับคืน ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นบทบาทสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและต่อต้านอำนาจอยุติธรรมต่างๆ ของนักศึกษา รวมถึงเหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยคือเหตุการณ์สังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นอกจากนี้ตึกโดมยังเป็นพื้นที่สำคัญที่ผู้คนในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 ใช้เป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับกระแสการฟื้นฟูคณะราษฎรและรำลึกในบทบาทของการสนับสนุนประชาธิปไตยของ ปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องมาถึงยุคปัจจุบัน ในอีกแง่มุมหนึ่ง ภายหลังที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการก่อตั้ง คณะราษฎรก็ได้ก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่นๆ เพื่อสนับสนุนนโยบายด้านการศึกษาของประชาชนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยมหิดล) และมหาวิทยาลัยศิลปากร (ทั้งหมดก่อตั้งในปี 2486) กล่าวได้ว่าไม่เพียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาสมัยใหม่ในหมู่ราษฎรทุกชนชั้นของประเทศไทย