เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของสยามในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และเน้นย้ำต่อประชาชนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย ทางรัฐบาลสยามที่นำโดยคณะราษฎรจึงจัดให้มี “งานฉลองรัฐธรรมนูญ” ในวันที่ 11-12 ธันวาคม 2475 เป็นงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ทั่วประเทศและเต็มไปด้วยกิจกรรมมากมาย เช่น การจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ การออกร้าน มหรสพสมโภช งานประกวดประณีตศิลปกรรม และการประกวดนางสาวสยามหรือนางสาวไทย (จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2477) เป็นต้น สำหรับในกรุงเทพฯ งานเฉลิมฉลองนี้จัดขึ้นที่ “สวนสราญรมย์” สวนสไตล์ยุโรปข้างพระบรมมหาราชวังที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังสราญรมย์ ก่อนจะกลายเป็นที่ตั้งของ “ทวีปัญญาสโมสร” พื้นที่สังสรรค์ของชนชั้นสูงตามแบบผู้ดีอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 5 (ก่อตั้งโดยรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้นทรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ) กระทั่งภายหลังปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรจะเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็น “สวนสาธารณะสำหรับประชาชน” โดยงานฉลองรัฐธรรมนูญก็ได้ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่นี้นับตั้งแต่ปี 2475 – 2501 (หากก็เริ่มถูกลดความสำคัญลงนับตั้งแต่การสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎรในปี 2490) โดยในปี 2477 หลังจากที่คณะราษฎรก่อตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” ขึ้นโดยใช้พื้นที่ของโรงเรียนกฎหมายเป็นพื้นที่ทำการชั่วคราว คณะราษฎรก็ตัดสินใจสร้างอาคารของสมาคมฯ ถาวรภายในสวนแห่งนี้
ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2477 อาคารสโมสรคณะราษฎรมีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเรียบเกลี้ยง ไร้ลวดลายตามจารีตประเพณี มีความสูงหนึ่งชั้น หลังคาทรงตัด โดดเด่นด้วยประติมากรรมพานรัฐธรรมนูญบริเวณช่องกลางด้านหน้า และมีการนำสัญลักษณ์หลัก 6 ประการเข้ามาเป็นองค์ประกอบ เช่น เสา บานหน้าต่าง บานกระจก และขั้นบันได ดังที่กล่าวว่าจุดประสงค์แรกเริ่มคือการเป็นที่ทำการ “สมาคมคณะราษฎร” ตามที่หลวงพรมโยธี สมาชิกคณะราษฎร เล่าว่า “เพื่อจะได้ใช้สมาคมเป็นที่เผยแพร่ให้ความเข้าใจ และรักษาระบอบการปกครองที่ได้สถาปนาขึ้นใหม่ คือระบอบประชาธิปไตย ในการปกครองระบอบนี้ มีหลักการอันหนึ่งที่เห็นว่าจะต้องเป็นคู่กัน คือพรรคการเมือง…” อย่างไรก็ตาม เพียงไม่นานหลังจากนั้น ด้วยปัญหาทางการเมืองระหว่างคณะราษฎรกับกลุ่มอำนาจเก่า จึงมีการเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานของอาคารหลังนี้เป็น “อาคารสโมสรคณะราษฎร” โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกับสโมสรทั่วไป รวมถึงเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมเผยแพร่แนวคิดในระบอบประชาธิปไตย และกองอำนวยการในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี กระนั้นพลันที่คณะราษฎรสิ้นสุดอำนาจลงในปี 2490 รัฐบาลในยุคหลังจากนั้นก็พยายามกำจัดพื้นที่ที่แสดงบทบาทของคณะราษฎรเรื่อยมา รวมถึงเปลี่ยนชื่ออาคารหลังนี้เป็น “สโมสรราษฎร์สราญรมย์” ที่กลายเป็นสโมสรเพื่อการสังสรรค์อย่างเต็มตัว ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “สโมสรราษฎร์สราญรมย์ในพระบรมราชูปถัมภ์” และยุบสลายลงช่วงกลางทศวรรษ 2520 ในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ปัจจุบันอาคารหลังนี้ยังคงตั้งอยู่ภายในสวนสราญรมย์ และมีหน้าที่เป็นสำนักงานของพนักงานดูแลสวนฯ ขณะที่ประชาชนที่มาวิ่งออกกำลังกายหรือพักผ่อนในสวนแห่งนี้น้อยคนนักที่จะทราบถึงความสำคัญของมันในอดีต หากด้วยสถานะที่เหลือรอดจากการถูกทุบทำลายดังเช่นสิ่งปลูกสร้างหลายแห่งที่เป็นมรดกคณะราษฎร อดีต “อาคารสโมสรคณะราษฎร” หลังนี้ก็สะท้อนสุนทรียะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมในยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้อย่างสง่างาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประติมากรรมพานรัฐธรรมนูญที่ตั้งอยู่ด้านหน้า ซึ่งทำจากโครงไม้ปิดทองและประดับกระจก เทคนิคเดียวกับที่พบได้ในประติมากรรมประดับวิหารวัด นับเป็นหนึ่งในพานรัฐธรรมนูญจากยุคคณะราษฎรที่งดงามที่สุดที่ยังเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน