ปฏิทินคือเครื่องมือที่มีผลมากต่อการจัดระเบียบการใช้เวลาของเรา เมื่อเราจดข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางสังคม การนัดหมายในที่ทำงาน วันเกิด และอื่นๆ ลงไปบนปฏิทิน นอกจากนี้ปฏิทิน (โดยเฉพาะปฏิทินแบบทางการ) ยังเป็นสื่อกลางที่มีประสิทธิภาพของรัฐในการครอบงำทางอุดมการณ์และเรื่องเล่ากระแสหลักทางประวัติศาสตร์ ผ่านการแสดงให้เราเห็นว่ากิจกรรมใดที่ถือว่าควรมีความสำคัญทางสังคมและควรเป็นวันหยุดประจำชาติ ด้วยลักษณะเช่นนี้ ปฏิทินจึงเป็นเสมือนผลสรุปรวบยอดเรื่องเล่ากระแสหลักที่ถูกเลือกมาให้สังคมระลึกจดจำ พร้อม ๆ ไปกับการกดทับเรื่องเล่ากระแสรองให้หายไป ในประเทศไทย เรื่องเล่ากระแสหลักที่ควรระลึกจดจำล้วนเชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์และพุทธศาสนา อีกนัยหนึ่งก็คือวันหยุดประจำชาติไทยก็คือการเฉลิมฉลองความสำคัญของสถาบันทั้งสองนี้ แม้จะมีการเฉลิมฉลองวันรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งอาจทำให้คิดไปว่านี่อาจเป็นข้อยกเว้นเพราะเป็นวันหยุดที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันหลักทั้งสอง แต่ในความเป็นจริง วันดังกล่าวได้รับการอธิบายโยงเข้ากับการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกโดยรัชกาลที่ 7 ในขณะที่บทบาทของคณะราษฎรที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดขึ้นของรัฐธรรมนูบฉบับแรกกลับถูกตัดออกไป
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีปฏิทินชุดหนึ่งปรากฏขึ้นโดยนำเสนอองค์ประกอบของเรื่องเล่าที่ควรระลึกจดจำในอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างออกไป โดยทั้งหมดอ้างอิงย้อนกลับไปสู่คณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 ปฏิทินชุดนี้จัดทำโดยโครงการป๋วย อึ๊งภากรณ์ และมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป โดยปฏิทินปีแรกตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2563 ในชื่อชุด “ไทยใหม่” โดยภาพที่ปรากฎอยู่บนทุกหน้าของปฏิทิน คือภาพวาดสีน้ำของงานศิลปะและสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นในยุคคณะราษฎร ชุดที่สองทำขึ้นในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 90 ปีแห่งความสำเร็จของการปฏิวัติ 2475 และครบรอบ 110 ปีของความล้มเหลวในการพยายามปฏิวัติเพื่อต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2455 ปฏิทินใช้ชื่อว่า “2475 กองหน้าคณะราษฎร” นำเสนอในรูปแบบการ์ตูน โดยใจกลางของเรื่องคือการเล่าเหตุการณ์ทั้งสองข้างต้น เพื่อเป้าหมายในการ "นำความทรงจำของคณะผู้ก่อการที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงกลับคืนมา" ส่วนในปี 2566 ปฏิทินใช้ชื่อชุดว่า "เทอดรัฐธรรมนูญ" เพื่อระลึกถึงเรื่องราวในช่วงขวบปีแรกของไทยภายใต้การปกครองด้วยรัฐธรรมนูญ ภายใต้รูปแบบการ์ตูนเหมือนปีผ่านมา ปฏิทินให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2476 โดยเน้นไปที่ความสำเร็จของคณะราษฎรในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในประเทศไทย ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ทั้งการเมืองภายในระหว่างสมาชิกคณะราษฎรและจากความพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวจากฝ่ายกษัตริย์นิยมที่รู้จักในชื่อ “กบฏบวรเดช”
ปฏิทินชุดนี้ได้แสดงบทบาทในการนำเสนอทางเลือกที่ต่างออกไปของเรื่องเล่าที่สังคมควรระลึกจดจำ โดยปีแรกเน้นความสำคัญของยุคคณะราษฎรผ่านงานศิลปะและสถาปัตยกรรม ปีที่สองเน้นความสำคัญทางสังคมของความพยายามลุกขึ้นสู้ครั้งแรก (แต่ประสบความล้มเหลว) ในการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ตามมาด้วยการปฏิวัติ 2475 ซึ่งทำให้เกิดการปกครองด้วยรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ส่วนในปีที่สามคือการเน้นไปที่การโต้กลับจากฝ่ายกษัตริย์นิยม ที่ไม่ใช่เพียงแค่การต่อสู้ผ่านวาทกรรมทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังใช้ความรุนแรงอย่างเปิดเผย ด้วยลักษณะดังกล่าว อาจพูดได้ว่าปฏิทินชุดนี้ได้ทำให้คณะราษฎรกลายเป็นวัตถุรูปแบบใหม่ที่โต้กลับเรื่องเล่าและความทรงจำกระแสหลักที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยที่มักปิดซ่อนบทบาทของคณะราษฎรในการสถาปนาการปกครองด้วยระบอบรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ปฏิทินชุดนี้คือเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญในชีวิตประจำวันที่ได้เข้ามาต่อสู้ท้าทายอุดมการณ์ที่ครอบงำประเทศไทยอยู่ในปัจจุบัน