ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
ผู้หญิงและพานรัฐธรรมนูญ
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2483
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

พร้อมไปกับการสนับสนุนแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย การสนับสนุนแนวคิดด้านความเท่าเทียมทางเพศและ “สิทธิสตรี” ก็เป็นอีกประเด็นทางสังคมที่คณะราษฎรพยายามขับเคลื่อนมาตลอดภายหลังการปฏิวัติ 2475 กรอบคิดนี้ถูกทำให้เห็นเป็นประจักษ์ผ่านการออกรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยที่ให้สิทธิ์ผู้หญิงเลือกตั้ง รวมถึงสามารถสมัครเป็นผู้แทนราษฎรได้ตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยังไม่เห็นมากนักในกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศฝั่งตะวันตก เช่นเดียวกับการส่งเสริมค่านิยม “ผัวเดียวเมียเดียว” ด้วยการประกาศใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกในปี 2478 ที่มีบทบัญญัติให้บุคคลสามารถมีคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายในขณะเดียวกันเพียงคนเดียว นอกจากนี้บทบาทของผู้หญิงในยังปรากฏอย่างมีนัยสำคัญในงานฉลองรัฐธรรมนูญผ่านการประกวดนางสาวสยามในปี 2477 อันเป็นเวทีที่เปิดพื้นที่ให้สตรีแสดงสิทธิสำแดงตัวตนในสังคมใหม่พร้อมแสวงหาสัญลักษณ์ที่เป็นศรีสง่าแก่ระบอบประชาธิปไตยและชาติ ก่อนที่การประกวดดังกล่าวจะมีการพัฒนารูปลักษณ์และความหมายจนกลายเป็น “เทพีแห่งรัฐธรรมนูญ” ในช่วงที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2481 - 2487) โดยในห้วงเวลาต้นทศวรรษ 2480 ยังถือเป็นช่วงที่รัฐบาลมีการส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายยกฐานะสตรีไทยตามหลักสตรีสมัยใหม่ ทั้งในด้านการแต่งกาย จิตใจที่ร่าเริง และรู้จักบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพดี “เพื่อให้เป็นมารดาที่มีคุณภาพสร้างพลเมืองที่มีทั้งคุณภาพและปริมาณต่อไป” รวมถึงการขยายบทบาทของผู้หญิงในสังคม เช่น การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเป็นแนวหลังในการสงคราม (ผ่านการจัดตั้งกองอาสากาชาดขึ้น) ไปจนถึงการเป็นกำลังรบทางการทหาร (ผ่านการจัดตั้งกองยุวนารี และนักเรียนนายสิบและนายร้อยหญิง) โดยภาพจำที่เด่นชัดในยกย่องบทบาทของผู้หญิงในสมัยจอมพล ป. คือการนิยามผู้หญิงให้เปรียบดัง “ดอกไม้ของชาติ” และ “มารดาของชาติ” ควบคู่ไปกับการเชิดชูความงามพร้อมของผู้หญิงให้เป็นดัง “เทพีแห่งรัฐธรรมนูญ”

รูป “เทพีแห่งรัฐธรรมนูญ” บนหน้าปกหนังสือ “ไทยใหม่วันจันทร์” ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2483 เป็นหนึ่งในสื่อที่ตอกย้ำแนวคิดการยกย่องเชิดชูผู้หญิงให้มีบทบาทร่วมในการพัฒนาประเทศชาติของคณะราษฎรอย่างชัดเจน รูปดังกล่าวเป็นผู้หญิงเปลือยอก นุ่งผ้าถุง สวมมงกุฎ กำไร สังวาล และเครื่องประดับเพชร โดยมือทั้งสองของหญิงสาวกำลังยกเทินพานรัฐธรรมนูญขึ้นเหนือหัว ทั้งนี้รูปร่างของหญิงสาวในรูปยังสะท้อนเรือนร่างในอุดมคติของประชาชนตามแบบศิลปะของคณะราษฎรที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง และมีสุขพลานามัยที่ดี ขณะที่การกำหนดให้หญิงสาวเทินพานรัฐธรรมนูญขึ้นเหนือหัวก็เป็นการสื่อสารโดยตรงถึงความสำคัญของสังคมไทยในยุคนั้นที่ยกย่องให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของชาติที่ทุกคนจะต้องรักษาและยกขึ้นไว้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

แม้รูปเทพีแห่งรัฐธรรมนูญจะเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนแนวคิดสมัยใหม่ในด้านความเท่าเทียมทางเพศในยุคคณะราษฎร หากในทางกลับกัน เมื่อพิจารณาว่าคณะราษฎรและเหล่าผู้บริหารบ้านเมืองในยุคนั้นทั้งหมดล้วนเป็นเพศชาย จึงเป็นเรื่องน่าสังเกตว่าอุดมคติความเป็นหญิงที่สมบูรณ์แบบในยุคนั้นยังคงตกอยู่ภายใต้กรอบคิดแบบ “ชายเป็นใหญ่” กล่าวคือผู้ชายยังคงเป็นผู้กำหนดมาตรฐานความงามให้กับผู้หญิงต้องดำเนินตาม หาใช่ผู้หญิงเป็นฝ่ายตัดสินใจในการออกแบบเรือนร่างของตัวเอง เช่นเดียวกับมุมมองของสังคมที่ยังกรอบให้ผู้หญิงเป็นเสมือนช้างเท้าหลัง หรือเป็นผู้ให้การสนับสนุนสามี รวมถึงเป็น “แม่” ให้กำเนิดบุตรเพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ผู้หญิงในยุคคณะราษฎรจึงยังไม่ถูกมองในฐานะ “ปัจเจกชน” ที่มีสิทธิ์ในการกำหนดบทบาทหรือวิถีชีวิตของตนเอง  ยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า แม้กฎหมายจะเปิดให้เพศหญิงสามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรได้ตั้งแต่ปี 2475 แต่ตลอดระยะเวลา 15 ปีในยุคคณะราษฎร ก็ไม่เคยมีผู้สมัครเพศหญิงคนไหนได้รับเลือกให้เข้ามาทำงานในสภา (สส.หญิงคนแรกของประเทศไทยคือ  อรพิน ไชยกาล สส.อุบลราชธานี ที่ได้รับเลือกในปี 2492) อย่างไรก็ดี สิ่งนี้ก็ถือเป็นเรื่องเข้าใจได้เมื่อพิจารณาจากบริบทสังคมในยุคดังกล่าวที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังมองว่างานบริหารบ้านเมืองเป็นเรื่องของผู้ชาย และเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสิ่งที่คณะราษฎรโดยเฉพาะในยุคของจอมพล ป. ได้วางรากฐานไว้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการในด้านสิทธิสตรีของไทยในยุคสมัยใหม่ที่ส่งผลสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

รูปภาพ

ยุคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐