ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
ศาลากลางจังหวัดอยุธยาหลังเก่า
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2484
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

เป็นที่ทราบดีว่า “อยุธยา” อดีตราชธานีของสยาม คือแบบเบ้าสำคัญทั้งในเชิงรูปธรรมและแนวคิดในการสร้างราชธานีใหม่อย่างกรุงเทพฯ ในช่วงก่อตั้งอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ไม่เพียงเท่านั้นอาณาจักรที่มีอายุ 417 ปีแห่งนี้ยังมีความสำคัญในฐานะเครื่องมือที่เหล่าชนชั้นนำในยุคต่อมาใช้สร้าง “อดีต” และ “ประวัติศาสตร์” ให้แก่รัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งนั่นนำมาสู่การที่รัฐไทยย้อนกลับไปบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานในพื้นที่เมืองเก่าที่เคยย่อยยับจากสงครามให้กลับมาสง่างามอีกครั้ง กระบวนการที่ถูกนิยามว่า “การปฏิสังขรณ์อดีต” ในเมืองเก่าอยุธยา เริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการบูรณะพระราชวังจันทรเกษม และวัดหลายแห่ง รวมถึงการที่รัชกาลที่ 5 ใช้พระราชวังโบราณประกอบพิธีรัชมงคล รศ.126 (พ.ศ. 2450) ในวโรกาสที่พระองค์เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติยาวนานเสมอด้วยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 กษัตริย์ผู้ครองคราวราชย์ยาวนานที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา (หลังจากนั้นพื้นที่พระราชวังหลวงก็ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญของพระมหากษัตริย์เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 7) กระทั่งภายหลังปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรก็ยังคงใช้อยุธยาเป็นสัญลักษณ์ยึดโยงประวัติศาสตร์ชาติแต่อยู่ภายใต้บริบทที่ต่างออกไป นั่นคือการนำแนวคิดผังเมืองสมัยใหม่มาใช้และเชื่อมโยงพื้นที่เข้ากับราษฎรมากยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งกรมศิลปากรในปี 2476 ให้เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณะวัดในพื้นที่ตอนในหลายแห่ง (หากแต่ไม่มีการบูรณะพระราชวังใดๆ) สร้างทางหลวงแผ่นดินสายวังน้อย-อยุธยา (ถนนโรจนะ) ผ่าเข้าไปยังเกาะกลางเมืองเก่า รวมถึงสะพานปรีดี-ธำรง ที่เชื่อต่อการสัญจรด้วยรถยนต์เข้าสู่เกาะเมืองเก่าเป็นครั้งแรก  โดยสะพานที่ตั้งตามชื่อของ 2 แกนนำคณะราษฎรผู้มีพื้นเพเป็นชาวอยุธยาอย่าง ปรีดี พนมยงค์ และ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ถือเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนสภาพการตั้งรกราก-สร้างที่อยู่อาศัยของชาวเมือง จากที่เคยใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำรอบเกาะเมืองและใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการสัญจร ก็ย้ายไปพักอาศัยในพื้นที่ตอนในของเกาะอยุธยามากขึ้น และนั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาราชธานีเก่าอย่างอยุธยาสู่เมืองสมัยใหม่อย่างแท้จริง

นอกจากการตัดถนนและสร้างสะพานเชื่อมเมืองแห่งใหม่ คณะราษฎรยังได้สร้างอาคาร “ศาลากลางจังหวัดอยุธยา” สำหรับเป็นที่ทำการของจังหวัดในรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สะท้อนอุดมการณ์นำประเทศเข้าสู่ความทันสมัยของคณะราษฎร อาคารความสูง 3 ชั้นที่ตั้งอยู่สุดปลายถนนโรจนะตัดกับถนนศรีสรรเพชญ์แห่งนี้เริ่มก่อสร้างในปี 2484 สมัยหลวงบริหารชนบท (ส่าน) เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด โดยการสนับสนุนจาก ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้น เบื้องหน้าของอาคารมีเสา 6 ต้นที่สะท้อนหลัก 6 ประการของคณะราษฎรตระหง่านอยู่ บนยอดเสาแต่ละต้นยังประดิษฐานรูปปั้นของอดีตกษัตริย์ 6 พระองค์ในสมัยอยุธยาและธนบุรี ได้แก่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง), สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ, พระสุริโยทัย, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทั้งนี้นอกจากบุคคลต้นแบบในรูปปั้นทั้งหมดจะไม่ใช่กษัตริย์ในยุครัตนโกสินทร์หาก “พระศรีสุริโยทัย” ยังเป็นบุคคลเดียวที่เป็นผู้หญิงและไม่ได้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ (เป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) สิ่งนี้ยังสะท้อนแนวคิดการเชิดชูสตรีในยุคคณะราษฎร เช่นเดียวกับการจัดสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีที่จังหวัดนครราชสีมา (พ.ศ. 2476) และยังสอดคล้องกับการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และหลักการ “ผัวเดียวเมียเดียว” ของจอมพล ป. เพื่อยกระดับให้ไทยมีความศิวิไลซ์เฉกเช่นนานาอารยะประเทศ

เมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจลงในปี 2490 หากหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรอย่าง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กลับมาเรืองอำนาจอีกครั้งในฐานนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 จอมพล ป. ก็ยังคงสานต่อโครงการ “ปฏิสังขรณ์อดีต” ในอยุธยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิสังขรณ์วิหารพระมงคลบพิตรและบูรณะเจดีย์สามองค์ วัดพระศรีสรรเพชญ์ การสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา รวมถึงการบูรณะบึงพระรามให้เป็นสวนสาธารณะแห่งแรกในเกาะเมืองเก่า อันเป็นแนวคิดที่สืบทอดมาจากคณะราษฎรที่นิยมสร้างรมณียสถานสำหรับประชาชนในพื้นที่กลางเมือง ในขณะที่อาคารศาลากลางฯ ได้ถูกใช้เป็นสำนักงานจังหวัดจนถึงปีต้นปี 2539 ก่อนมีการย้ายสำนักงานไปตั้งในอาคารหลังใหม่ริมถนนสายเอเชีย ตำบลคลองสวนพลู และอาคารหลังเดิมนี้ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวและหอศิลป์แห่งชาติจังหวัดอยุธยา โดยในช่วงกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยระหว่างปี 2563 - 2564 ยังมีกลุ่มประชาชนชาวอยุธยาที่รวมตัวกันในชื่อ “คณะราษฎรอยุธยา” ใช้อาคารหลังดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุมนุมแสดงสัญลักษณ์ขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกด้วย  

รูปภาพ

ยุคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐

พิกัดสถานที่