ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
กลุ่มอาคารศาลฎีกา
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2482
สถานะ:
ถูกรื้อถอน
พิกัดสถานที่:

แม้ประเทศไทยจะได้ขึ้นชื่อว่าไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นหรือไม่เคยเสียเอกราชให้ใคร กระนั้นหลายคนอาจไม่ทราบว่าครั้งหนึ่งไทยเคยสูญเสียเอกราชทางการศาลมายาวนานกว่า 80 ปี นับตั้งแต่การทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับสหราชอาณาจักรในสมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2399) สนธิสัญญาดังกล่าวทำให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการค้ากับไทยหลังจากนั้นมี “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” หรือสิทธิพิเศษที่ไม่ต้องถูกพิจารณาคดีในศาลไทยหากชาวต่างชาติได้กระทำความผิดในไทย แต่ไปพิจารณาคดีในศาลกงสุลของประเทศที่ชาวต่างชาติผู้นั้นสังกัดแทน นั่นเท่ากับว่าประเทศไทยได้เสียอธิปไตยของชาติให้ชาวต่างชาติ และเป็นเสมือนการสูญเสียอาณานิคมบางส่วนอย่างไม่อาจปฏิเสธ ภายหลังจากที่คณะราษฎรสามารถเปลี่ยนแปลงการปกครอง พร้อมประกาศหลัก 6 ประการในปี 2475 “หลักเอกราช” ได้ถูกหยิบยกมานำเสนอเป็นประการแรก โดยหลักเอกราชตามความหมายในประกาศนั้น มีนัยถึงการเรียกร้องเอกราชทางการศาลให้กลับคืนมาอย่างสมบูรณ์ด้วย และทันทีที่คณะราษฎรเข้ามาปกครองประเทศ ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้เป็นโต้โผในการปฏิรูปกฎหมายใหม่ให้สอดรับกับยุคสมัย พร้อมทั้งทยอยแก้สนธิสัญญาข้อนี้กับนานาประเทศจนแล้วเสร็จในปี 2481 โดยในปีต่อมา รัฐบาลก็ได้มีการฉลองความสำเร็จในเรื่องนี้อย่างยิ่งใหญ่ควบคู่ไปกับงานฉลองวันชาติ ทั้งนี้หนึ่งในรูปธรรมความสำเร็จดังกล่าวยังปรากฏในรูปแบบของอนุสรณ์สถาน ผ่านการจัดสร้างกลุ่มอาคารศาลฎีกาหลังใหม่ที่เริ่มขึ้นในปี 2482

กลุ่มอาคารศาลฎีกา ประกอบด้วยอาคารหลายหลัง แต่อาคารที่เป็นดังอนุสรณ์สถานของการประกาศเอกราชทางการศาล คือกลุ่มอาคารรูปตัววี (V) ในรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ที่ออกแบบโดย พระสาโรชรัตนินมานก์ (สาโรช สุขยางค์) ร่วมกับ หมิว อภัยวงศ์, หลวงบุรกรรมโกวิท, นายเอฟ ปิโตโน และหลวงจักรปาณีศรีวิสุทธิ์ แม้ว่ากลุ่มอาคารจะได้รับการออกแบบไว้พร้อมกัน แต่เมื่อถึงช่วงการก่อสร้างก็หาได้สร้างขึ้นในคราวเดียวกันทั้งหมด โดยอาคารหลังแรกเริ่มสร้างในปี 2482 (อาคารปลายตัววี) เพื่อใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงยุติธรรม สร้างเสร็จและทำพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน 2484 โดยด้านหน้าของอาคารหลังนี้ยังมีเสา 6 ต้นที่สื่อถึงหลัก 6 ประการตระหง่านอยู่ อาคารหลังที่สองคืออาคารปีกตัววีฝั่งที่ติดกับคลองคูเมืองเดิม สร้างในปี 2484 ทำพิธีเปิดเมื่อ 24 มิถุนายน 2486 ส่วนปีกอาคารฝั่งถนนราชดำเนินในนั้น ไม่ได้ถูกก่อสร้างตามแบบเดิม อันเนื่องมาจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่จะมาเริ่มก่อสร้างใหม่ ภายใต้การออกแบบใหม่ในปี 2502 ก่อสร้างแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดในปี 2506 ทั้งนี้การที่คณะราษฎรจงใจเลือกใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในกลุ่มอาคารหลังนี้ (รวมถึงอาคารหลังอื่นๆ ที่สร้างในยุคนั้น) ก็ยังเป็นเหมือนการสะท้อนแนวคิดทางการเมืองในการต่อต้าน แข่งขัน และแย่งชิงความชอบธรรมทางการเมืองกับกลุ่มอำนาจเก่า (สถาบันกษัตริย์ และกลุ่มนิยมเจ้า) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเฉลิมฉลองและเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ หากความสำคัญของกลุ่มอาคารหลังนี้สูญหายไปหลังคณะราษฎรหมดอำนาจลง เช่นเดียวกับความหมายของการเป็นสัญลักษณ์ของเอกราชทางการศาลที่ถูกบิดเบือนโดยความพยายามของกลุ่มนิยมเจ้า ในช่วงหลัง พ.ศ. 2500 ผ่านคำอธิบายที่ว่าไทยมีเอกราชทางการศาลโดยสมบูรณ์แล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยผูกโยงเรื่องราวเชื่อมไปกับการสร้างความทรงจำว่าด้วย “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” ด้วยเหตุนี้ราวปี 2549 จึงได้มีการเสนอแนวคิดในการรื้อกลุ่มอาคารศาลฎีกา เนื่องจากผู้เสนอมองว่ากลุ่มอาคารหลังเดิมมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่สามารถใช้งานต่อได้ ก่อนจะมีการนำเสนอรูปแบบอาคารใหม่เป็นสถาปัตยกรรมไทยย้อนยุค และความตั้งใจรื้อ-สร้างใหม่ (หรืออีกนัยคือการรื้อถอนมรดกของคณะราษฎร) ก็ลุล่วงลงใน พ.ศ. 2556 นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่กลุ่มอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทั้งในเชิงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและความหมายแห่งนี้ต้องสูญหายไปในปัจจุบัน
 

รูปภาพ

ยุคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐

ยุคที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึง ๒๕๕๗

ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน

คลิปวิดีโอ

พิกัดสถานที่