ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
รูปหล่อปูนปลาสเตอร์ครึ่งตัวของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2483
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

รูปหล่อปูนปลาสเตอร์ครึ่งตัวในรูปแบบสัจนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผลงานของ ปิยะ ชวนเสถียร เจ้าของร้านห้องหุ่น ร้านค้าที่ผลิตหุ่นสำหรับโชว์เสื้อผ้าและงานประติมากรรมแห่งแรกในประเทศไทย วางจำหน่ายครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2483 มีด้วยกัน 2 ขนาด ได้แก่ ขนาดเล็กสูง 11 นิ้ว จำหน่ายในราคา 5 บาท และขนาดใหญ่สูง 11 นิ้วครึ่ง จำหน่ายในราคา 8 บาท ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่หุ่นวางจำหน่าย ยังเป็นปีที่หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารของไทยในสมัยนั้น ดำเนินนโยบายเรียกร้องดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงที่ไทยเคยมีปัญหากับฝรั่งเศสจากเหตุการณ์ รศ.112 ก่อนที่จอมพล ป. จะตัดสินใจส่งทหารเข้าสมรภูมิสงครามอินโดจีน และเมื่อภายหลังสงครามสิ้นสุด หลวงพิบูลสงครามก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘จอมพล’ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484

ปิยะ ชวนสเถียร ผู้ก่อตั้งและเจ้าของร้านห้องหุ่น เคยให้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ประชามิตร-สุภาพบุรุษ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2484 ไว้ว่าระหว่างที่เขาเป็นผู้จัดการร้านตัดเสื้อชื่อ ‘ปิติ’ ของนายห้างแขกคนหนึ่ง เขาได้รับจดหมายฉบับหนึ่งพร้อมด้วยภาพหุ่นโชว์เสื้อผ้าที่ต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ นั่นทำให้เขาคิดถึงการปั้นหุ่นโชว์ด้วยตนเอง โดยขอยืมเงินจากนายห้างแขกเป็นจำนวน 800 บาทสำหรับการทดลองทำหุ่น ก่อนจะเปิดร้าน ‘ห้องหุ่น’ ขึ้นบริเวณตรงข้ามศาลาเฉลิมกรุง ภายในเขตพระนคร แม้ในช่วงแรกร้านเปิดทำการ ปิยะจะขายหุ่นไม่ได้เลย หากด้วยความพยายาม และกลยุทธ์ทางธุรกิจ รวมถึงการวางจำหน่ายรูปหล่อครึ่งตัวของท่านผู้นำในยุคนั้น ในที่สุด สินค้าของเขาก็ได้รับความนิยมทั้งในไทย และยังมีโอกาสส่งออกไปขายในพม่าและฮ่องกงอีกด้วย

ปิยะยังได้ทำใบปิดประชาสัมพันธ์การขายประติมากรรมจอมพล ป. พร้อมทั้งประกาศหาตัวแทนจำหน่ายในจังหวัดต่างๆ จังหวัดละหนึ่งราย โดยใบปิดดังกล่าวยังมีเนื้อความจดหมายจากจอมพล ป. ที่เขียนชื่นชมในความสามารถในการปั้นหุ่นของปิยะ หลังจากที่ปิยะได้ส่งผลงานไปให้จอมพล ป. ได้ติชมเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของผู้รับ - “ผมขอชมเชยในความอุตสาหะวิริยะของคุณด้วยความจริงใจ ที่สามารถทำได้ดีไม่แพ้ชาวต่างประเทศที่ทำมาจำหน่าย และหวังใจว่าการอุตสาหกรรมช่างปั้น ซึ่งมีคุณเป็นผู้นำขึ้นเป็นรายแรกในประเทศไทยนี้คงจะเป็นที่นิยมของมหาชนและเจริญวัฒนาถาวรยิ่งๆ ขึ้นไป ตลอดกาลนาน พร้อมกับจดหมายนี้ ผมขอส่งเงิน 100 บาท มาช่วยส่งเสริมงานของคุณ ขอได้โปรดรับไว้ด้วย… ขอแสดงความนับถือ (ลงชื่อ) พิบูลสงคราม” กล่าวได้ว่า ในขณะที่เรื่องราวของประติมากรรมดังกล่าวจะสะท้อนนัยของลัทธิบูชาตัวบุคคล หากยังเป็นหนึ่งในหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการที่จอมพล ป. ก้าวถึงจุดสูงสุดของอำนาจ ทั้งในแง่ของการได้รับยศเป็นจอมพล และความนิยมจากประชาชน

รูปภาพ

ยุคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐