โปสเตอร์ หรือ “ใบปิด” นับเป็นงานศิลปะที่ทำหน้าที่เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่ทรงอิทธิพลไม่แพ้หนังสือพิมพ์หรือรายการวิทยุในศตวรรษที่ผ่านมา และแม้สยามจะเคยมีโรงพิมพ์แห่งแรกที่ตั้งโดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศส หลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2205 (สมัยสมเด็จพระนารายณ์) กว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะก็ล่วงเข้าสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งนายแพทย์แดเนียล บีช บรัดเลย์ หรือ “หมอบรัดเลย์” ได้ตีพิมพ์ “บางกอกรีคอเดอร์” หนังสือพิมพ์ข่าวฉบับแรกของสยาม ในปี 2387 นั่นยังเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่สื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบโปสเตอร์ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างด้วยเช่นกัน กระทั่งศตวรรษต่อมา ราวปี พ.ศ. 2473 เทคโนโลยีการพิมพ์ที่พัฒนาขึ้นก็ได้เปลี่ยนโปสเตอร์ที่เป็นสีขาว-ดำให้มีสีสันสะดุดตา โดยในช่วงแรกโปสเตอร์สีเหล่านี้มักนิยมใช้ในการประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ กลายเป็นของมีราคา และเป็นที่ต้องการของนักสะสม
ภายหลังคณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โปสเตอร์พิมพ์สีก็ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อทางการเมืองที่นำเสนอแนวคิดประชาธิปไตยและหลัก 6 ประการของคณะราษฎรอย่างมีนัยสำคัญ โปสเตอร์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นงานที่มีต้นแบบมาจากหน้าปกสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ถูกออกมาในช่วงเวลานั้น ซึ่งมักนำเสนอภาพลักษณ์ของความเป็นสมัยใหม่ ผ่านการใช้รูปแบบงานศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบอาร์ท เดโค (Art Deco) รวมถึงรูปแบบตัวอักษรที่ความเป็นสมัยใหม่, “อุดมคติเรือนร่างของพลเมืองไทยในสมัยสร้างชาติ” ผ่านการนำเสนอภาพร่างกายพลเมืองแบบ “ศิลปะคณะราษฎร” ที่สมบูรณ์ แข็งแรง เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ และที่สำคัญคือการเชิดชูระบอบ “รัฐธรรมนูญนิยม” ผ่านการออกแบบสัญลักษณ์ “พานรัฐธรรมนูญ” ควบคู่กับ “หลัก 6 ประการ” ลงบนหน้าปกของสิ่งพิมพ์ต่างๆ เฉกเช่นโปสเตอร์ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์ไทย”ชิ้นนี้ ซึ่งเป็นโปสเตอร์พิมพ์สองสี ปรากฏรูปพานรัฐธรรมนูญสีทองโดดเด่นอยู่กลางภาพ พร้อมพิมพ์ตัวอักษร “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์ไทย” สีดำลงบนรัฐธรรมนูญ ขนาบข้างด้วยเสายอดบัวตูม ข้างละ 3 ต้น แต่ละต้นระบุหลัก 6 ประการของคณะ ขณะที่ด้านหลังของรูปพานปรากฏวงกลมสีส้มขนาดใหญ่บนพื้นหลังสีดำ สันนิษฐานว่าวงกลมดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์แทนดวงอาทิตย์ ที่บ่งบอกถึงรุ่งอรุณใหม่ของระบอบการเมืองการปกครองของไทย
ทั้งนี้การแพร่หลายของโปสเตอร์สนับสนุนอุดมการณ์ของคณะราษฎรยังเชื่อมโยงโดยตรงต่อการเกิดขึ้นของ “กรมประชาสัมพันธ์” ที่มีจุดเริ่มต้นในยุคหลังปฏิวัติ 2475 ด้วยเช่นกัน “กรมประชาสัมพันธ์” เกิดขึ้นครั้งแรกในชื่อ “กองโฆษณา” ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2476 ภายหลังที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลของตนเองและก่อตั้งกรมนี้ขึ้น โดยนำแนวคิดการโฆษณาชวนเชื่อมาจากพรรคนาซี หากเพียงเดือนถัดมาเมื่อคณะราษฎรสามารถยึดอำนาจคืน ก็มีการยกฐานะหน่วยงานนี้ขึ้นเป็น “สำนักงานโฆษณาการ” ( 9 ธันวาคม 2476) และเป็น “กรมโฆษณาการ” (5 กรกฎาคม 2483) กระทั่งเป็น “กรมประชาสัมพันธ์” (8 มีนาคม 2495) ตามลำดับ โดยโปสเตอร์นำเสนอรูปภาพพานรัฐธรรมนูญ และหลัก 6 ประการ รวมถึงสิ่งพิมพ์ต่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ของหน่วยงานดังกล่าวควบคู่ไปกับความนิยมจัดทำของสำนักพิมพ์เอกชนเพื่อร่วมกระแสของการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน ขณะเดียวกันภายหลังที่รัฐบาลคณะราษฎรเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 (เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของประเทศ แต่เป็นครั้งแรกที่ประชาชนสามารถเลือกผู้แทนราษฎรได้โดยตรง) เทคโนโลยีการพิมพ์สีก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการจัดทำโปสเตอร์หาเสียงของเหล่าผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้แทนราษฎรด้วย และเป็นที่น่าสังเกตว่าโปสเตอร์หาเสียงของผู้สมัครหลายคนก็นิยมใช้สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญมาเป็นองค์ประกอบพร้อมรูปของผู้สมัคร สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งเครื่องสะท้อนบรรยากาศของสังคมการเมืองในยุคคณะราษฎรที่ประชาชนหลายคนตั้งความหวังกับระบอบใหม่ของประเทศอย่างประชาธิปไตยได้อย่างชัดเจน