ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
ประติมากรรมรูปพระยาพหลพลพยุหเสนา
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2476
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

ก่อนการมาถึงของแนวคิดสมัยใหม่ เป็นที่ทราบกันว่างานประติมากรรมของไทยส่วนใหญ่ หากไม่ใช่การสร้างสรรค์เพื่อเป็นข้าวของเครื่องใช้ หรือประกอบในพิธีกรรมความเชื่อ ก็จะเป็นการสะท้อนความศรัทธาอันแน่นแฟ้นในพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากงานปั้นพระพุทธรูป หรือเครื่องปั้น หล่อ หรือแกะสลักสำหรับตบแต่งศาสนสถาน เมื่อประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์ งานประติมากรรมได้ถูกปรับใช้ในมิติของการเชิดชูคุณความดีของพระมหากษัตริย์ ผ่านการผสานความศักดิ์สิทธิ์เข้าไปในตัวบุคคล ดังเช่นการปั้นรูปเหมือนของกษัตริย์ให้มีคุณลักษณะดุจทวยเทพ (apotheosis) จนกระทั่งมาถึงยุคหลังปฏิวัติ 2475 ที่คณะราษฎรพยายามนำเสนองานศิลปกรรมสมัยใหม่ รวมถึงประติมากรรมแบบสัจนิยม เพื่อสลัดให้พ้นจากจารีตของกลุ่มอำนาจเก่า พร้อมทั้งสนับสนุนแนวคิดความเสมอภาคเท่าเทียมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์งานออกแบบสิ่งปลูกสร้างและงานศิลปะที่เป็นสื่อกลางของอุดมการณ์ประชาธิปไตยของภาครัฐ ในทางกลับกันภาคประชาชนก็แสดงออกถึงการตื่นตัวในการมาถึงของระบอบใหม่ ผ่านการสร้างสรรค์วัตถุสิ่งของที่มีลวดลายพานรัฐธรรมนูญ สัญลักษณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับงานศิลปะประเภทประติมากรรมซึ่งเห็นได้ชัดในประติมากรรมแกะสลักหินรูปพระยาพหลพลพยุหเสนาชิ้นนี้ ประติมากรรมที่ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงมุมมองทางการเมืองใหม่ หากก็ยังผสมผสานอิทธิพลทางความคิดของจารีตนิยมในยุคเก่าอย่างน่าสนใจ

ประติมากรรมรูปพระยาพหลพลพยุหเสนา ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2476 โดย นายซุ่นฮะ ตวลพรรณ์ ชายไทยเชื้อสายจีนผู้มีศรัทธาต่อ “ปฏิวัติ 2475” เขาปั้นรูปนี้ขึ้นเพื่อเป็นของที่ระลึกมอบให้แก่พระยาพหลฯ หนึ่งในผู้นำการปฏิวัติ ประติมากรรมมีลักษณะแบบเทวรูป ทำจากหินทรายแกะสลัก มีชื่อเรียกว่า “อิศวรปางปราบอสุรตรีปูรำ เทิดรัฐธรรมนูญสยามรัฐ” ความสูงประมาณ 60 เซนติเมตร มือขวาถือพานรัฐธรรมนูญ บนบ่าด้านซ้ายมีรูปปั้นคนขนาดเล็กเกาะอยู่ โดยใบหน้าของเทวรูปใช้ใบหน้าของพระยาพหลฯ เป็นต้นแบบในการแกะสลัก โดยรูปแบบการสร้างเทวรูปดังกล่าวยังคงเชื่อมโยงกับคติโบราณในการสร้างสรรค์รูปลักษณ์ของบุคคลธรรมดาให้มีลักษณะเหมือนทวยเทพ ผู้สร้างได้ใช้สัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเชื่อที่ว่าผู้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือผู้นำของประเทศนั้นคือบุคคลศักดิ์สิทธิ์ หรือผู้ที่มีบุญญาธิการมาเกิด ส่วนรูปปั้นคนขนาดเล็กบนบ่าได้รับการอธิบายว่าเป็นสัญลักษณ์แทนประชาชนที่พระยาพหลฯ ได้นำพาเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบใหม่ แม้จะสะท้อนมุมมองของผู้สร้างซึ่งขัดแย้งกับอุดมการณ์ด้านความเสมอภาคของคณะราษฎร (หลังจากผู้สร้างมอบให้พระยาพหลฯ ท่านก็ได้เก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว หาได้นำมาจัดแสดงที่ไหน) หากการลงทุนลงแรงสร้างสรรค์ประติมากรรมชิ้นนี้ของชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ก็สะท้อนความตระหนักรู้ต่อการปฏิวัติ 2475 รวมไปถึงความซาบซึ้ง และความหวังที่จะเห็นอนาคตที่ดีของบ้านเมืองภายใต้การปกครองของผู้นำในระบอบใหม่

ในตลอดชีวิตของพระยาพหลฯ ประติมากรรมรูปแบบเทวรูปชิ้นนี้ไม่เคยได้ถูกนำมาจัดแสดงในที่สาธารณะที่ไหน ผู้คนรับรู้ถึงการมีอยู่ของมันหลังจากที่ของสะสมบางส่วนของพระยาพหลฯ ถูกนำมาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์พระยาพหลพลพยุหเสนา ศูนย์การปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน จังหวัดลพบุรี ทั้งนี้ภายหลังที่คณะราษฎรได้เผยแพร่แนวทางทางศิลปะสมัยใหม่ เราก็แทบไม่พบเห็นงานสร้างสรรค์ที่มีลักษณะการเชิดชูบุคคลให้เป็นดังเทวรูปเช่นนี้อีก (นอกเสียจากการทำเทวรูปให้มีลักษณะตามแบบเบ้าของพลเมืองผู้มีร่างกายสมบูรณ์ของคณะราษฎร ดังเช่น “ประติมากรรมพระพลบดีทรงช้างสามเศียร” ที่สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งมีเรือนร่างอันเต็มไปด้วยมัดกล้าม) กระทั่งการมาถึงของโซเชียลมีเดียที่ซึ่งผู้คนร่วมสมัยได้สร้างมีม (meme) หรือมุขล้อเลียนขำขัน ด้วยการตัดต่อรูปถ่ายของเหล่าบุคคลหรือนักการเมืองที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสวมทับกับองค์ประกอบที่ดูมีความศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ กระนั้นวิธีการเช่นนี้ก็มีเจตจำนงและความหมายที่ต่างออกไปจากการทำเทวรูปดังกล่าว  

รูปภาพ

ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน

พิกัดสถานที่