ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
สนามกีฬาแห่งชาติ
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2480
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

แม้การพลศึกษาเริ่มเข้าสู่การศึกษาสมัยใหม่ของไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กระนั้น “ราษฎร” ก็ยังไม่ใช่หัวใจสำคัญสูงสุด ดังจะเห็นได้ว่าสนามกีฬาหรือสโมสรทางการกีฬาต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยนั้นถูกจำกัดการใช้งานเฉพาะชนชั้นสูงเป็นหลัก ต่อมาในช่วงปลายระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์ คติการเสริมสร้างร่างกายเพาะกายเริ่มกลายเป็นกิจกรรมในการเสริมสร้างความเป็นชายมากขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2470 จากมีการจัดตั้งสถานเพาะกายหรือ “สถานกายบริหาร” ของเอกชนขึ้นในปี 2473 อย่างไรก็ดีแนวคิดเรื่องการพลศึกษาได้เข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ ก็เมื่อหลังปฏิวัติ 2475 โดยเป็นส่วนหนึ่งของคติเรื่องชาตินิยมของคณะราษฎร ดังเช่นที่รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (2476 - 2481) ได้มีนโยบายสร้างสังคมใหม่ผ่านการศึกษาเพื่อสร้างเยาวชนให้เป็น “พลเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่มีศีลธรรม ปัญญา ความคิด ทั้งด้านกำลังกายและกำลังใจด้วยการบำรุงการพลศึกษา เช่นเดียวกับรัฐบาลต่อมาในยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม (2481 - 2487) ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างชาติผ่านร่างกายอันสมบูรณ์แข็งแรงของพลเมือง ผ่านหลักสูตรการศึกษา การถ่ายทอดค่านิยมผ่านงานศิลปกรรมสมัยใหม่ รวมไปถึงการจัดสร้างพื้นที่สำหรับออกกำลังกายและสนามกีฬา

ทั้งนี้สองปีให้หลังหลังจากการก่อตั้ง “กรมพลศึกษา” สังกัดกระทรงธรรมการในวันที่ 9 ธันวาคม 2476 นาวาโทหลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษา ได้มีความคิดในการจัดสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ด้านการกีฬาขึ้นมาเพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายของคณะราษฎร นั่นคือการสร้าง “กรีฑาสถานแห่งชาติ” สนามกีฬาสาธารณะสำหรับประชาชนแห่งแรกบนพื้นที่บริเวณที่เคยเป็นพระราชวังวินด์เซอร์ (แต่ไม่เคยมีสถานะเป็นวังแต่อย่างใด เนื่องจากเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของวังเสด็จทิวงคตเสียก่อนที่จะได้มาอาศัยในวังแห่งนี้) ซึ่ง ณ ขณะนั้น พื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยถูกใช้เป็นโรงเรียนหอวัง สนามกีฬาเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 เสร็จสมบูรณ์ปี 2484 (แต่มีการเปิดใช้สนาม ครั้งแรกในการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี พ.ศ. 2481) ภายในประกอบไปด้วยสนามฟุตบอลพื้นหญ้าขนาดมาตรฐานพร้อมลู่วิ่งรอบนอก, อัฒจันทร์ทิศตะวันตก จำนวน 20 ชั้น มีหลังคารูปเพิงแหงนไม่มีเสาค้ำปกคลุมตลอดแนว และอัฒจันทร์ทิศเหนือ จำนวน 20 ชั้นเท่ากัน ส่วนด้านนอกสนาม ที่ยอดเสามุมซ้ายขวาของมุขกลาง มีรูปปั้นนูนสูงขนาดใหญ่เป็นภาพพระพลบดีทรงช้างไอยราพต สัญลักษณ์ประจำกรมพลศึกษา ซึ่งสะท้อนศิลปะสมัยใหม่ในยุคคณะราษฎรที่ขับเน้นกล้ามเนื้อของพระพลบดีและตัวช้าง ส่วนริมสุดทางซ้ายขวา ขนาบด้วยหอคอยสองข้าง พร้อมประตูทั้งสองฝั่ง ทิศตะวันออกเรียกว่าประตูช้าง ทิศตะวันตกเรียกว่าประตูไก่

สนามกีฬาที่คนไทยนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “สนามศุภชลาศัย” หรือ “สนามกีฬาแห่งชาติ” แห่งนี้ มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี 2551 ในวาระครบรอบ 70 ปี ซึ่งประกอบด้วย ส่วนหน้าปะรำที่ประทับประดับด้วยพระบรมมหาราชวังจำลอง ส่วนหน้ามุขทางขึ้นตกแต่งคล้ายกับพระราชวังวินด์เซอร์แบบในสหราชอาณาจักร ซึ่งเชื่อมโยงกับวังของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศที่เคยตั้งอยู่เดิมในพื้นที่ (โดยฝ่ายนิยมเจ้าโจมตีคณะราษฎรมาตลอดว่า “รื้อวังเพื่อสร้างสนามกีฬา”) เช่นเดียวกับในทศวรรษต่อมา ที่มีความพยายามของฝ่ายนิยมเจ้าล่ารายชื่อผู้สนับสนุนเพื่อขอเปลี่ยนชื่อสนามกีฬาแห่งนี้เป็น “สนามสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ” สอดรับไปกับกระแสการเปลี่ยนชื่อสถานที่ที่มีความเชื่อมโยงกับคณะราษฎรในอดีตให้มีความหมายสื่อถึงการคืนกลับของแนวคิดกษัตริย์นิยม ปัจจุบันสนามกีฬาแห่งชาติ (ยังไม่เปลี่ยนชื่อ) มีความจุ 19,793 ที่นั่ง โดยนอกจากจะเป็นสนามกีฬาที่เคยรองรับการแข่งขันกีฬาระดับชาติและนานาชาติตามหน้าที่ สถานที่แห่งนี้ยังถูกใช้ในงานมหรสพและพิธีกรรมขนาดใหญ่ระดับประเทศหลายครั้ง อาทิ เวทีคอนเสิร์ตไมเคิล แจ็กสัน แดนเจอรัส เวิลด์ ทัวร์ (2536), พิธีมิสซาในการเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (2562) และล่าสุดกับคอนเสิร์ตของแบล็กพิงก์ (Blackpink) เวิลด์ ทัวร์ (2566) 

รูปภาพ

ยุคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐

ยุคที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๐ ถึง ๒๕๔๙

ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน

คลิปวิดีโอ

พิกัดสถานที่