ในขณะที่ “หมุดคณะราษฎร” เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยของไทย “หมุดหน้าใส” ที่มีผู้ค้นพบว่าถูกผู้ไม่ประสงค์ออกนามได้ทำการฝังไว้แทนที่หมุดคณะราษฎรดั้งเดิม ก็เป็นเหมือนสิ่งของที่สะท้อนถึงความพยายามของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่จะขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยผ่านการลบล้างประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร กระนั้นในอีกทาง หมุดอันใหม่นี้ก็กลับเป็นสัญลักษณ์ที่กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ยุคหลังรัฐประหาร 2557 ลุกขึ้นมาแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ไปพร้อมกับรื้อฟื้นประวัติศาสตร์และความสำคัญของคณะราษฎรด้วยเช่นกัน
“หมุดหน้าใส” มีลักษณะเป็นหมุดทองเหลืองทรงกลมขนาดเดียวกับหมุดคณะราษฎร หากมีข้อความสลักบนหมุดที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนี้ “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน" หมุดอันนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในเช้าวันที่ 14 เมษายน 2560 คาดว่ามันถูกเปลี่ยนแทนที่หมุดคณะราษฎรในระหว่างวันที่ 3-7 เมษายน ในช่วงที่มีการปฏิสังขรณ์พระบรมรูปทรงม้า อย่างไรก็ดี กลับไม่มีฝ่ายใดออกมาแสดงตัวว่าเป็นผู้เปลี่ยนหมุด รวมถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกมายืนยันว่ารัฐบาลไม่รู้เห็นในเรื่องนี้ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เขียนหนังสือ “2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ” ได้วิเคราะห์ว่า ข้อความที่ปรากฏบนหมุดอันใหม่นี้ (ซึ่งต่อมาจะถูกเรียกว่าหมุดหน้าใส) ตรงกับคาถาภาษิตในพระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) ปรากฏการใช้คำเก่าหลายคำ เช่น “ประเทศสยาม” “สุขสันต์” รวมถึง “หน้าใส” ซึ่งพบในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อาจตีความได้ถึงมีความสุขสดชื่นของผู้คน แต่ขัดกับคำว่า "ประชาชน" ซึ่งเป็นคำใหม่หลังการปฏิวัติ 2475 (ก่อนหน้านี้จะใช้คำว่า "ราษฎร") โดยรวมแล้ว หมุดดังกล่าวพยายามสื่อว่า บ้านเมืองดูดี แต่ไม่สะท้อนอุดมการณ์ประชาธิปไตย ดังเช่นหมุดดั้งเดิมที่ถูกเปลี่ยน
การเปลี่ยนหมุดฯ อย่างไม่ทราบที่มา ได้ปลุกกระแสความสนใจจากสังคมอย่างมาก โดยมีหลายฝ่ายได้ออกมาทวงถามถึงเหตุผลในการเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงการออกมาเรียกร้องให้มีการตามหาหมุดคณะราษฎรอันเดิม เช่น วันที่ 17 เมษายน 2560 นักศึกษาจากกลุ่ม PPDD ธรรมศาสตร์และกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ร่วมกันจัดกิจกรรม "ประชาชนหน้าไม่ใสก็ได้ป่ะ??" ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขโมยหมุดคณะราษฎรนำหมุดมาคืน รวมถึงการลงชื่อเรียกร้องทวงหมุดคณะราษฎรคืนบนเว็บไซต์ Change.org หากในขณะเดียวกัน ก็มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวไม่น้อย เช่น ศรีสุวรรณ จรรยา ที่ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ติดตามหาหมุด แต่ถูกตำรวจและทหารควบคุมตัวไปยังกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ วัฒนา เมืองสุข ที่ถูกดำเนินคดีจากข้อความที่เขาโพสต์ว่า “หมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุ” หากตำรวจอ้างว่าเป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตาม พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 บุญสิน หยกทิพย์ และเพื่อนจากฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ ที่เข้าแจ้งความเรื่องหมุดฯ หาย แต่กลับถูกทหารเชิญตัวไปปรับทัศนคติที่มณฑลทหารบกที่ 11 เช่นเดียวกับ เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมและอดีตนักโทษการเมือง ที่เข้าแจ้งความ และพยายามนำหมุดคณะราษฎรจำลองมาติดตั้งที่จุดเดิม ในวันที่ 24 มิถุนายน 2560 ก็ถูกตำรวจจับกุมและส่งตัวกลับบ้านในช่วงค่ำของวันเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอีกหลากหลายของภาคประชาชนอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของวัตถุสิ่งนี้ จนนำมาสู่การชุมนุมหลายครั้ง กล่าวได้ว่าหมุดหน้าใสหาได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ที่ถูกนำมาติดตั้งแทนหมุดคณะราษฎรเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่เข้ามาปลุกกระแสการเคลื่อนไหวที่ใหญ่ขึ้นโดยคนรุ่นใหม่ที่ไม่เพียงแค่ต้องการคืนหมุดเดิม แต่ยังเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปและเคารพในประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การประท้วงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจของประชาชนต่อการลบเลือนประวัติศาสตร์และความต้องการเสรีภาพในสังคมไทย