ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
ธนบัตร 50 สตางค์
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2480
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

ไม่เพียงเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ธนบัตรยังเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับย่อที่สะท้อนภูมิทัศน์ทางการเมือง อุดมการณ์ชาติ และพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศผู้เป็นเจ้าของธนบัตรนั้นๆ ด้วย เช่นนั้นแล้วเราจึงมักพบว่าธนบัตรของประเทศต่างๆ จะปรากฏรูปของผู้นำทางการเมืองหรือบุคคลสำคัญของชาติ เช่นเดียวกับลวดลายสัญลักษณ์ที่สอดรับกับประวัติศาสตร์ และทิศทางของรัฐศาสตร์ในประเทศนั้นๆ ปรากฏมาพร้อมกัน สำหรับในประเทศสยาม ธนบัตรถูกนำมาใช้ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมาพร้อมกับลวดลายตราแผ่นดิน และคงรูปแบบเช่นนั้นเรื่อยมาจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อเทคโนโลยีทางการพิมพ์สามารถทำให้ผู้ผลิตสามารถใส่รูปถ่ายลงบนธนบัตรได้ “ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์” (ทั้งกษัตริย์องค์ปัจจุบันและในอดีต) จึงถูกประทับเพิ่มเติมเข้ามาในฐานะรูปประธาน ควบคู่กับพระปรมาภิไธย และสถานที่สำคัญๆ ของชาติ  รวมถึงห้วงเหตุการณ์ที่เชื่อมร้อยกับพระราชกรณียกิจของกษัตริย์แต่ละพระองค์ ดังเช่นธนบัตรชุดแรกที่ออกมาในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นประธานด้านหน้า พร้อมภาพพระบรมมหาราชวัง เรือสุพรรณหงส์ และทิวทัศน์แม่น้ำปิงเพื่อสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของชาติ ส่วนด้านหลังเป็นภาพพระสมุทรเจดีย์ สื่อถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 4 ผู้ทรงปกป้องประเทศจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 โดยรูปแบบเช่นนี้จะปรากฏอยู่ในธนบัตรเรื่อยมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ในช่วงที่คณะราษฎรเรืองอำนาจ กลับมีธนบัตรชุดหนึ่งที่องค์ประกอบสำคัญที่คนไทยคุ้นตาหายไป นั่นคือภาพพระบรมสาทิสลักษณ์

ธนบัตร 50 สตางค์ ที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกนำมาใช้ครั้งแรกในราวปี พ.ศ. 2490 คือธนบัตรชุดแรกและชุดเดียวของประเทศที่ไม่ปรากฏรูปพระบรมสาทิสลักษณ์ (ไม่นับรวมกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 และ 6) หากถูกแทนที่ด้วยพานรัฐธรรมนูญขนาดใหญ่ใต้รูปตราแผ่นดิน ส่วนด้านหลังคือรูปพระสมุทรเจดีย์ นี่คือธนบัตรที่สะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองของคณะราษฎรหลังปฏิวัติ 2475 ในการเชิดชูระบอบประชาธิปไตยให้อยู่เหนือสถาบันกษัตริย์อย่างชัดเจน กระนั้นธนบัตรฉบับนี้ก็กลับมีอายุสั้นอย่างน่าใจหาย เพราะหลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลจากคณะราษฎรก็ถูกทำรัฐประหารและมีการเปลี่ยนรัชกาล ธนบัตร 50 สตางค์ในรูปแบบดังกล่าวจึงถูกยกเลิก และแทนที่ด้วยธนบัตรที่มีพระบรมสาทิสลักษณ์ในทุกค่าเงิน อย่างไรก็ดีความพยายามในการสื่อสารแนวคิดประชาธิปไตยผ่านธนบัตรยังปรากฏอยู่ในธนบัตรชุดก่อนหน้าที่ประกาศใช้ในปี 2481 ซึ่งมีพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 8 เป็นประธาน คาดทับด้วยลายน้ำที่เป็นรูป “พานรัฐธรรมนูญ” ในขณะที่ด้านหลังธนบัตร คือภาพพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งถูกเปลี่ยนมาใช้เป็นที่ประชุมรัฐสภา สะท้อนการเปลี่ยนผ่านจากพระที่นั่งของรัชกาลที่ 5 สู่พื้นที่ในระบอบประชาธิปไตยของราษฎร กล่าวได้ว่า ธนบัตรฉบับนี้เป็นคล้ายการประนีประนอมระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร เมื่อพานรัฐธรรมนูญและที่ประชุมรัฐสภาอันสะท้อนบริบทของความเท่าเทียมกันของประชาชนได้ปรากฏอยู่คู่กับพระบรมสาทิสลักษณ์

ภายหลังที่คณะราษฎรเสื่อมอำนาจในปี 2490 สวนทางกับการกลับเข้ามาเรืองอำนาจอีกครั้งของขบวนการนิยมเจ้า สัญลักษณ์ที่เชื่อมร้อยเข้ากับอุดมการณ์ประชาธิปไตยก็แทบไม่เคยปรากฏลงบนธนบัตรในรัชสมัยต่อมาอีกเลย ธนบัตรกลายมาเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์อุดมการณ์ราชาชาตินิยมอย่างเต็มรูปแบบ ดังเช่นธนบัตรที่ถูกใช้ในรัชกาลปัจจุบันที่ปรากฏพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลปัจจุบันควบคู่กับพระบรมสาทิสลักษณ์ด้านหลังของรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 (ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท) รัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 (ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท) รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 (ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท) รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 8 (ธนบัตรชนิดราคา 500 บาท) และรัชกาลที่ 9 (ธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท) พร้อมด้วยรูปถ่ายองค์ประกอบพระราชกรณียกิจในรัชสมัยต่างๆ โดยไม่มีธนบัตรชนิดไหนปรากฏรูปถ่ายพานรัฐธรรมนูญ สัญลักษณ์ของกฎหมายสูงสุดในระบอบประชาธิปไตยของประเทศ 

รูปภาพ

คลิปวิดีโอ