ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
ชุดแก้วเซรามิกพานรัฐธรรมนูญ
ปีที่สร้าง:
พ.ศ.2565
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

ไม่เพียงเราจะพบข้าวของเครื่องใช้ที่มีลวดลายพานรัฐธรรมนูญและสัญลักษณ์ที่สะท้อนหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งถูกผลิตขึ้นโดยภาคเอกชนและประชาชนในช่วงตลอด 15 ปีภายหลังการปฏิวัติ 2475 ข้าวของที่มีลวดลายแบบเดียวกันนี้ที่ถูกทำขึ้นใหม่ในยุคภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 ก็ได้สะท้อนพลวัตของความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปของ “พานรัฐธรรมนูญ” และ “หลัก 6 ประการ” อย่างน่าใคร่ครวญ เพราะในขณะที่สิ่งของที่ผลิตในยุคก่อนเกือบทั้งหมดคือสัญลักษณ์สื่อถึงการขานรับและเฉลิมฉลองระบอบการปกครองใหม่โดยภาคประชาชนทั่วประเทศ วัตถุที่ถูกสร้างขึ้นในปัจจุบันกลับมีความหมายที่ไม่เพียงเชื่อมโยงถึงการเชิดชูบทบาทของคณะราษฎรในอดีต แต่ยังเป็นเครื่องมือสะท้อนพัฒนาการในแนวคิดประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ ที่เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงเน้นย้ำให้ประเทศมีหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความสากลยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในจำนวนสิ่งของอันหลากหลายที่ผลิตขึ้นมานับตั้งแต่หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 จนถึงยุคปัจจุบัน ชุดภาชนะเซรามิกชุดนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างของพลวัตดังกล่าวที่ถูกสร้างขึ้นด้วยนัยอันแหลมคมชุดหนึ่ง

ชุดภาชนะเซรามิกชุดนี้ผลิตโดย บุญชนินทร์ สุทธสม ศิลปินและผู้ผลิตเซรามิกและของที่ระลึก เจ้าของกุงหมอกคามสตูดิโอ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชุดภาชนะที่ทำจากเซรามิกสโตนแวร์ (stoneware) ดังกล่าว ประกอบด้วย ถ้วยกาแฟ (ขนาด 8.5 x 11.5 x 9.0 เซนติเมตร) แก้วมัค (8.5 x 11.5 x 11.0 เซนติเมตร) และแจกัน (8.5 x 8.5 x 17 เซนติเมตร) ทั้งหมดมีลักษณะเฉพาะคือมีลวดลายพานรัฐธรรมนูญบริเวณพื้นผิว มีขายื่นออกมา 6 ขา (สะท้อนหลัก 6 ประการ) และเมื่อคว่ำภาชนะลง จะมีลักษณะเหมือน “มงกุฎ” โดยผลงานชุดนี้เกิดจากความประสงค์ของผู้ผลิตที่จะร่วมรำลึกวาระครบรอบ 90 ปีของการปฏิวัติ 2475 ในปี 2565 และถึงแม้บุญชนินทร์จะไม่ได้ตั้งชื่อผลงานในคอลเลกชั่นนี้ไว้ แต่เหล่าผู้สนับสนุนผลงานก็ต่างตั้งชื่ออย่างไม่เป็นทางการให้ว่า “มงกุฎคว่ำ” ซึ่งสอดคล้องกับรูปลักษณ์ของภาชนะ และคำอธิบายที่ผู้ผลิตเขียนไว้ว่า "จงหยิบมงกุฎนั้นคว่ำลง ติดหู ใส่น้ำ แล้วแจกจ่ายให้ประชาชน" อันเป็นประโยคที่ผู้ผลิตนำมาจากหนังสือ “สามัญสำนึก” (Common Sense) ของโธมัส เพน (Thomas Paine) หนังสือที่จุดประกายให้คนอเมริกันรวมตัวกันประกาศเอกราชจากอังกฤษในศตวรรษที่ 18 (หนังสือแปลเป็นภาษาไทยโดย ภัควดี วีระภาสพงศ์ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Bookscape ปี 2563) ผลงานชุดนี้วางจำหน่ายทางเพจเฟซบุ๊ค “NAIYA Objects นัยยะวัตถุ” โดยผู้ผลิตได้หักส่วนแบ่งร้อยละ 80 จากผลกำไรให้แก่กองทุนราษฎรประสงค์ (กองทุนที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยระดมเงินบริจาค สำหรับค่าประกันตัว ค่าปรับ และค่าดำเนินการต่างๆ แก่ผู้ต้องหาที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย)

โดยก่อนหน้าที่ภาชนะชุดนี้จะถูกผลิตออกมา บุญชนินทร์ยังได้ผลิตผลงานที่สะท้อนสัญลักษณ์ของคณะราษฎรออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น แก้วหมุดคณะราษฎร 2475, แก้วหมุดคณะราษฎร 2563 และจานรัฐธรรมนูญประชาชน เป็นอาทิ บุญชนินทร์ให้สัมภาษณ์ถึงจุดประสงค์ในการผลิตผลงานทั้งหมดไว้ดังนี้ “เนื่องจากผมไม่สะดวกในการไปร่วมลงถนนกับเพื่อนๆ จึงเลือกสนับสนุนความเคลื่อนไหวด้วยสิ่งที่ถนัด นั่นคือการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อนำกำไรบางส่วนไปช่วยเหลือเงินประกัน และในทางหนึ่งก็อยากมีส่วนช่วยเผยแพร่อุดมการณ์ของคณะราษฎรผ่านผลิตภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้ เหมือนที่กลุ่มคณะราษฎรได้เคยทำไว้ในอดีต”

นอกจากนี้ บุญชนนินทร์ยังออกตัวอีกว่าก่อนกระแสการรื้อฟื้นคณะราษฎร เขาก็เหมือนคนส่วนใหญ่ในเวลานั้นที่แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์คณะราษฎรเลย กระนั้นด้วยผลพวงจากการรัฐประหาร รวมถึงการที่รัฐบาลเผด็จการไล่ปราบปรามกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย และบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและไร้ซึ่งมนุษยธรรม ก็ส่งผลให้บุญชนินทร์เริ่มศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ในยุคดังกล่าวอย่างจริงจัง จนนำมาสู่ความรู้สึกร่วม และเริ่มต้นผลิตสิ่งของที่เชื่อมโยงกับคณะราษฎรออกมาอย่างต่อเนื่อง  “แม้ไม่มีกลุ่มคณะราษฎร ในปี 2475 ประเทศเราก็จะต้องมีกลุ่มใหม่เกิดขึ้นอยู่ดี มันเป็นสายธารที่ถึงเวลาการเปลี่ยนแปลง สำนึกเรื่องความเสมอภาคจึงเป็นหัวใจสำคัญของเหตุการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่นเดียวกับคนรุ่นนี้ก็ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่เสมอภาคเท่าเทียมกันมากขึ้น” บุญชนินทร์ กล่าว

รูปภาพ

ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน

พิกัดสถานที่