ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
ฟอนต์คณะราษฎร เรกูลาร์
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2563
สถานะ:
เผยแพร่สาธารณะ
พิกัดสถานที่:

ตัวพิมพ์ หรือฟอนต์ (font) คือชุดตัวอักษรสำหรับใช้ในการสื่อสารผ่านข้อเขียนที่ปรากฏในสิ่งพิมพ์รูปแบบต่างๆ โดยรูปแบบหรือลายเส้นศิลปะของฟอนต์ที่มีมิติที่แตกต่างกัน ยังมีส่วนในการสร้างความหมายต่อการรับรู้ของข้อเขียนนั้นๆ ทั้งยังสะท้อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในยุคสมัยต่างๆ ที่ตัวพิมพ์แต่ละรูปแบบถูกผลิตออกมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยสำหรับตัวพิมพ์ไทยชุดแรกมีชื่อว่า ‘จัดสัน’ (Jadson) ปรากฏขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 2 (ราว พ.ศ. 2359) อันเป็นผลงานของหมอจัดสัน (Adoniram Judson)  และแอนน์ ฮาเซลไตน์ จัดสัน (Ann Hazeltine Judson) มิชชันนารีคณะแบพติสท์ ชาวอเมริกัน ที่เดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ซึ่งเป็นผู้คิดเขียน “ตัวพิมพ์อักษรไทย” โดยอ้างอิงจากลายมือของเชลยศึกชาวสยามที่ถูกกวาดต้อนไปเมื่อครั้นเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 หลังจากนั้นฟอนต์ภาษาไทยก็มีวิวัฒนาการ ผ่านการเกิดขึ้นของโรงพิมพ์และสิ่งพิมพ์ในยุคสมัยต่างๆ ตามมา

จากการค้นคว้าของ อเนก นาวิกมูล พบว่าก่อนการอภิวัฒน์สยามไม่นาน อุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์เบ่งบานอย่างมาก เช่นเดียวกับการใช้ฟอนต์ที่มีเส้นหนาและมีขนาดใหญ่สำหรับการพาดหัวข่าว เช่น ฟอนต์โป้งแซ (ออกแบบโดย นายแซ ช่างแกะ) ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งได้ปรากฏทั้งในป้ายร้านค้า และใบปิดประชาสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงใบปิด ‘ประกาศคณะราษฎร’ ในปี พ.ศ. 2475 และภายหลังการอภิวัฒน์สยาม ที่คณะราษฎรพยายามนำเข้ารูปแบบของศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่มีความทันสมัยจากต่างประเทศเข้ามา อิทธิพลดังกล่าวยังปรากฏอยู่ในฟอนต์ที่ถูกใช้เพื่อการสื่อสาร ซึ่งเห็นได้ชัดคือการใช้ตัวพิมพ์เหลี่ยม หรือตัวอักษรหัวตัดที่มีความแตกต่างจากรูปแบบการเขียนมือดั้งเดิมอย่างเห็นได้ชัด ตัวอักษรดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ ที่ได้ประยุกต์ฟอนต์ Blackletter จากภาษาอังกฤษมาเป็นตัวอักษรไทย รูปแบบของฟอนต์นี้ปรากฏชัดผ่านการพิมพ์ ‘หลัก 6 ประการ’ ของคณะราษฎร ไปจนถึงข้อความที่ปรากฏบนหมุดคณะราษฎร (ภายหลังที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ยังใช้ตัวเหลี่ยมดังกล่าวในเอกสารราชการ)

อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ที่รุดหน้าขึ้นในช่วง พ.ศ. 2500 รวมถึงความพยายามของฝ่ายนิยมเจ้าที่ต้องการลบล้างมรดกจากคณะราษฎร ฟอนต์ตัวพิมพ์เหลี่ยมของคณะราษฎรจึงค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไปตามยุคสมัย กระทั่งในภายหลังที่คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาให้ความสนใจประวัติศาสตร์คณะราษฎรในฐานะต้นกำเนิดแนวคิดประชาธิปไตยไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 การออกแบบฟอนต์ดิจิทัลที่มีนัยทางประวัติศาสตร์การเมือง ไม่ว่าจะเป็นฟอนต์ “คณะราษฎร” “หัวหาย” “33712” และ “FC Rebel” ก็ถือเป็นสื่อศิลปะที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านเผด็จการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนป้ายประท้วงตามม็อบต่างๆ (อ้างอิงจากหนังสือ Mob Type บันทึกการต่อสู้ของประชาชนผ่านศิลปะตัวอักษร เขียนโดย กลุ่มประชาธิปไทป์ และกลุ่ม Design For Life ตีพิมพ์เมื่อปี 2565) ทั้งนี้ ในจำนวนฟอนต์ที่แฝงนัยของการต่อต้านดังกล่าว ฟอนต์ ‘คณะราษฎร เรกูลาร์’ (KhanaRatsadon-Regular) ที่ออกแบบโดยผู้ไม่ประสงค์ออกนาม เมื่อปี 2563 (หากประกาศความตั้งใจให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ได้ฟรีโดยไม่มีเงื่อนไข ในฐานะสมบัติของประชาชน) นับเป็นฟอนต์ที่ผลิตซ้ำรูปแบบตัวพิมพ์เหลี่ยมในยุคคณะราษฎรออกมาโดยตรง และเป็นดังภาพสะท้อนของกระแสการฟื้นฟูคณะราษฎรในกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นการสื่อถึงหมุดคณะราษฎรดั้งเดิมที่สูญหายไป ซึ่งปรากฏฟอนต์รูปแบบนี้อยู่ ดังเช่นคำประกาศของผู้ออกแบบฟอนต์นิรนามว่า  “ขอมอบฟอนต์คณะราษฎรนี้ ให้เป็นสมบัติของประชาชน เหมือนดังที่คณะราษฎรปักหมุดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อมอบอำนาจสูงสุดให้เป็นของประชาชนทุกคน และเพื่อให้เป็นสิ่งที่ระลึกว่า แม้ตัวหมุดคณะราษฎรดั้งเดิมจะหายไป แต่ ‘จิตวิญญาณ’ ของมันจะยังคงอยู่” 

รูปภาพ