ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
เข็มรัฐธรรมนูญและเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2476
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

ในการปราบกบฏบวรเดชเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 รัฐบาลคณะราษฎรได้อาศัยทหารและตำรวจมาเป็นกำลังหลักในการรบกับฝ่ายกบฏบวรเดช แต่เมื่อราษฎรได้ทราบข่าวว่ากองกำลังฝ่ายกบฏมาประชิดพระนคร ได้เป็นแรงกระตุ้นให้ราษฎรทั่วประเทศสยามอาสาเข้าร่วมกับรัฐบาลในการปราบกบฏบวรเดช เพื่อรักษาระบอบรัฐธรรมนูญและความสงบของชาติ ราษฎรหลากหลายอาชีพ อาทิ ข้าราชการพลเรือนตามหน่วยงานต่าง ๆ ครูและนักเรียน ลูกเสือ กรรมกร นักหนังสือพิมพ์ พ่อค้า ทนายความ นักโทษ และพระสงฆ์ ต่างกระตือรือร้นให้ความช่วยเหลือรัฐบาลปราบปรามกบฏบวรเดชอย่างแข็งขัน ปรากฏการณ์ราษฎรอาสาพิทักษ์ระบอบใหม่สะท้อนได้จากทหารกองหนุนได้เข้ามารายงานตัวกับรัฐบาลทั้งที่ยังไม่มีหมายเรียกระดมพล ลูกเสือในพระนครและหัวเมืองต่างเป็นเวรยามรักษาความสงบตามสถานที่ราชการและทำหน้าที่ลำเลียงเสบียงและกระสุนปืนในแนวหน้าของการสู้รบ ราษฎรอีสานในหลายจังหวัดได้รวมกลุ่มป้องกันตัวเองมิให้ฝ่ายกบฏยึดเมือง นอกจากนี้ราษฎรจำนวนมากยังสนับสนุนรัฐบาลด้วยการส่งสิ่งของ อาหาร และเงินทุนสำหรับการปราบกบฏอีกด้วย จนอาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จของการปราบกบฏบวรเดชเกิดจากความกล้าหาญ ความเสียสละ และความร่วมมือร่วมใจอย่างกว้างขวางระหว่างราษฎรกับรัฐบาล เพื่อพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ

ในช่วงระหว่างการปราบกบฏบวรเดช รัฐบาลได้จัดสร้างวัตถุสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญคือ “เข็มรัฐธรรมนูญ” หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า “เข็มสละชีพเพื่อชาติ” จำนวนทั้งสิ้น 5,000 ชิ้น แจกจ่ายให้แก่ข้าราชการและพลเรือนสำหรับแสดงเกียรติยศในการปราบกบฏ เข็มนี้ออกแบบและจัดทำโดยหลวงนฤมิตรเลขการ ผู้จัดการร้านห้องศิลป์ ตัวเข็มกลัดเป็นวัสดุเนื้อทองแดง มีตราสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญและมีข้อความกำกับว่า “สละชีพเพื่อชาติ” เมื่อเหตุการณ์กบฏบวรเดชสิ้นสุดลง รัฐบาลยังได้แจกจ่ายเข็มกลัดนี้แก่นักเรียนและลูกเสือทั้งในพระนครและอยุธยาอีกจำนวนมาก เพื่อตอบแทนความเสียสละของผู้มีส่วนร่วมในการพิทักษ์ระบอบใหม่ และก่อให้เกิดกระแสความนิยมประดับเข็มรัฐธรรมนูญตามเครื่องแต่งกายทั้งชุดข้าราชการและชุดลูกเสืออย่างกว้างขวาง ยิ่งไปกว่านั้นรูปเข็มรัฐธรรมนูญยังนำไปใช้ประดับขบวนรถในพิธีประกาศเกียรติยศ 17 ทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช ณ ลานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 จากกระแสความนิยมข้างต้นส่งผลให้มีผู้จัดทำเข็มกลัดรัฐธรรมนูญในหลากหลายรูปแบบเพื่อจำหน่ายแก่ราษฎรอย่างกว้างนับตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2476 จนรัฐบาลต้องออกประกาศเตือนพ่อค้ามิให้มีการค้าขายเข็มรัฐธรรมนูญด้วยราคาแพงเกินควรในกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476

ช่วงเวลาเดียวกับที่เข็มรัฐธรรมนูญได้รับความนิยมอย่างสูงในสังคมไทย รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้ตราพระราชบัญญัติเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 เพื่อจัดให้มี “เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” สำหรับบำเหน็จความชอบแก่ผู้ที่ได้ช่วยเหลือรัฐบาลในการปราบกบฏ โดยสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างเร่งด่วนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ทั้งนี้ “เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “เหรียญปราบกบฏ” ออกแบบโดยหลวงนฤมิตรเรขการ มีลักษณะเป็นเหรียญทองแดงรมดำรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ด้านหน้าเป็นรูปรัฐธรรมนูญอยู่ภายในช่อชัยพฤกษ์แผ่รัศมีกระจายทั่วมณฑล ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์และมีข้อความว่า “ปราบกบฏ พ.ศ. 2476” ตัวเหรียญห้อยบนห่วงที่มีข้อความว่า “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ร้อยด้วยแพรแถบลายธงชาติไทยข้างบนเป็นเข็มโลหะมีข้อความว่า “สละชีพเพื่อชาติ” จากลวดลายและข้อความของเหรียญสะท้อนการนำรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของระบอบใหม่ควบคู่กับการช่วงชิงความหมายพระสยามเทวาธิราช อันเป็นผู้พิทักษ์ราชอาณาจักรสยามและราชวงศ์จักรีในสมัยระบอบเก่า มาสร้างความหมายใหม่ในฐานะพิทักษ์รักษาระบอบรัฐธรรมนูญจากการก่อกบฏในปี พ.ศ. 2476 

รัฐบาลได้เริ่มต้นจัดทำเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญจำนวน 5,000 เหรียญเพื่อแจกครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 จากนั้นได้วางแผนผลิตเหรียญเพิ่มเติมอีก 30,000 เหรียญเพื่อแจกให้แก่ผู้ช่วยเหลือรัฐบาลในการปราบกบฏทั่วประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ออกระเบียบในการประดับเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ด้วยการกำหนดให้ประดับเหรียญนี้ไว้ที่หน้าอกเสื้อเบื้องซ้ายในทุกโอกาสเมื่อสวมเครื่องแบบทหาร ตำรวจ และลูกเสือ ส่วนพลเรือนประดับเหรียญเฉพาะในงานพระราชพิธีหรืองานพิธีการของรัฐ

การจัดสร้างเข็มรัฐธรรมนูญและเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญหลังเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 เป็นตัวอย่างของการสร้างเครือข่ายผู้คนในสังคมเข้ากับระบอบใหม่ผ่านวัตถุสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ผู้ที่ได้รับวัตถุเหล่านี้จากรัฐจะได้รับการเชิดชูเกียรติในฐานะผู้ยอมสละชีพเพื่อชาติและรัฐธรรมนูญ ความพยายามสร้างเครือข่ายมวลชนผ่านวัตถุสัญลักษณ์นี้ปรากฏหลักฐานจากกรณีรัฐบาลมอบเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญแก่ผู้คนหลากหลายกลุ่มนับตั้งแต่ พ.ศ. 2476-2483 จำนวนเกือบ 20,000 เหรียญ นับตั้งแต่สมาชิกรัฐบาล เชื้อพระวงศ์ ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน ครูและนักเรียน ลูกเสือ พ่อค้า กรรมกร และราษฎรทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลยังจัดทำใบประกาศและใบคู่มือประจำตัวบุคคลที่ได้รับเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพื่อรับรองว่าบุคคลเหล่านี้มีบำเหน็จความชอบในการปราบกบฏ พ.ศ. 2476 “เป็นผู้รักประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ อย่างน่าสรรเสริญ” และหากบุคคลเหล่านี้ขอเข้ารับราชการ ขอให้หัวหน้าหน่วยงานรับพิจารณารับเข้าบรรจุในตำแหน่งว่างที่เหมาะสม อันเป็นการส่งเสริมให้เครือข่ายผู้สนับสนุนระบอบใหม่เข้าสู่กลไกระบบราชการเพื่อขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ของรัฐบาลคณะราษฎรต่อไป

เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นเหรียญบำเหน็จความชอบที่มีการแจกครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2483 แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์บูรณปฏิสังขรณ์คณะราษฎรหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญกลับถูกรื้อฟื้นและนำมาสร้างความหมายใหม่อีกครั้ง ภายใต้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐประหาร กล่าวคือ กลุ่มเสื้อแดงอยุธยาได้จัดสร้าง “เหรียญปราบกบฏ พ.ศ. 2549-2550” โดยนำเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญมาจัดสร้างใหม่ด้วยขนาดและลวดลายเดิม แต่เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากเหรียญแพรแถบมาเป็นเหรียญห่วงเชื่อม พร้อมกับเปลี่ยนข้อความด้านหลังเหรียญจาก “ปราบกบฏ พ.ศ. 2476” มาเป็น “ปราบกบฏ พ.ศ. 2549-50” นอกจากนี้เหรียญปราบกบฏของกลุ่มเสื้อแดงอยุธยายังได้รับความเมตตาจากพระเกจิหลายรูปนั่งปรกอธิษฐานจิตในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปรากฏการณ์ข้างต้นนี้สะท้อนถึงความพยายามเชื่อมโยงคนเสื้อแดงกับคณะราษฎรผ่านการผลิตซ้ำเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญยุคคณะราษฎร พร้อมกับสร้างคุณค่าและความหมายใหม่กับเหรียญปราบกบฏรุ่นคนเสื้อแดงในฐานะวัตถุศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงกับเครือข่ายกษัตริย์นิยม/อนุรักษ์นิยมหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549

รูปภาพ

ยุคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐

คลิปวิดีโอ