ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
เข็มผู้แทนตำบล
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2476
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

เมื่อประเทศสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญที่อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรชาวสยาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนราษฎรสยามเกือบ 13 ล้านคน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมี 2 ประเภท ได้แก่ สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งจากราษฎรจังหวัดละ 1 คน ถ้าจังหวัดใดมีพลเมืองมากกว่า 2 แสนคนให้เลือกผู้แทนเพิ่มอีก 1 คนต่อราษฎร 2 แสนคน กับสมาชิกประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้ง การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศสยามดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 อันเป็นช่วงเวลาที่ระบอบใหม่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤตการปิดสภาพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 โดยการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม กล่าวคือ ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลจึงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง แม้ว่าประเทศสยามระหว่างการเลือกตั้งจะอยู่ภายใต้สถานการณ์สงครามกลางเมืองจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช แต่การเลือกตั้งยังสามารถดำเนินการด้วยความเรียบร้อยจนทำให้มีผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งครบทุกจังหวัด การเลือกตั้งครั้งแรกยังสะท้อนความก้าวหน้าของระบอบใหม่ในการให้สิทธิเลือกตั้งแก่ราษฎรที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีอย่างกว้างขวาง โดยไม่จำกัดฐานะทางเศรษฐกิจและวุฒิการศึกษา นอกจากนี้ยังให้สิทธิแก่สตรีในการลงสมัครเลือกตั้งผู้แทนตำบลและผู้แทนราษฎรอีกด้วย

หลังการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกสิ้นสุดลง นายมงคล รัตนวิจิตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เสนอญัตติในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2476 ขอให้รัฐบาลจัดทำเครื่องหมายเกียรติยศแก่ผู้แทนตำบล เนื่องด้วยผู้แทนตำบลได้รับความไว้วางใจจากราษฎรและสามารถเป็นผู้นำหรือตัวอย่างแก่ราษฎรได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงเห็นชอบให้จัดทำเข็มผู้แทนตำบลขึ้น และได้ร่างกฎหมาย “พระราชบัญญัติเข็มผู้แทนตำบล” โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติประกาศใช้เป็นกฎหมายในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2477 เข็มผู้แทนตำบลเป็นเข็มกลัดเนื้อเงินลงยาสูง 4.5 เซนติเมตร กว้าง 3 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นรูปรัฐธรรมนูญเปล่งรัศมีลงยาสีแดง ด้านซ้ายมีข้อความว่า “ผู้แทนตำบล” ด้านขวามีข้อความว่า “พ.ศ. 2476” บนพื้นลงยาสีน้ำเงินอยู่ในบัวกนก เข็มนี้ใช้ประดับที่อกเสื้อด้านซ้ายเฉพาะผู้แทนตำบลเท่านั้น โดยมีการกำหนดโทษจำคุกและปรับแก่ผู้ที่มิใช่ผู้แทนตำบลแต่นำเข็มนี้ไปประดับด้วย เมื่อผู้แทนตำบลที่ได้รับพระราชทานเข็มผู้แทนตำบลเสียชีวิต ทายาทสามารถเก็บรักษาเข็มผู้แทนตำบลไว้เป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลแต่ห้ามมิให้ใช้ประดับ

ทั้งนี้รัฐบาลได้แจกเข็มผู้แทนตำบลแก่ผู้แทนตำบลทั่วประเทศ รวม 4,743 คน โดยมอบหมายให้ผู้แทนราษฎรแต่ละจังหวัดเป็นผู้แจก ยกเว้นจังหวัดพระนครมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แจกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2477 เข็มผู้แทนตำบลได้เป็นเครื่องหมายแห่งเกียรติยศของผู้แทนตำบล ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากราษฎรให้มาเป็นตัวแทนสำหรับการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในแต่ละจังหวัด แม้ว่าภารกิจของผู้แทนตำบลจะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการหลังการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกของประเทศสยามในปี พ.ศ. 2476 ถึงกระนั้นผู้แทนตำบลที่ประดับเข็มแห่งเกียรติยศนี้ยังถือเป็นผู้แทนของราษฎรตามตำบลต่าง ๆ ในฐานะคนกลางที่เชื่อมโยงระหว่างราษฎรกับผู้แทนราษฎรอย่างไม่เป็นทางการและมีส่วนช่วยเหลืองานของรัฐบาลโดยมิได้รับผลประโยชน์ตอบแทน อาทิ การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบอบใหม่ การแจ้งเรื่องราวต่าง ๆ ของรัฐให้แก่ราษฎรตามท้องถิ่น การช่วยเหลืองานราชการทั้งเป็นที่ปรึกษาของเทศบาลและสารวัตรศึกษาของกระทรวงธรรมการ นอกจากนี้ผู้แทนตำบลยังเป็นที่พึ่งของราษฎรในการนำเสนอปัญหาหรือความเดือดร้อนต่าง ๆ ให้แก่ทางราชการ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลระบอบใหม่ได้กระจายอำนาจให้สิทธิแก่ราษฎรในการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล ผู้แทนตำบลหลายคนจึงเข้าสู่เวทีการเมืองระดับท้องถิ่นด้วยการสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล

รูปภาพ

ยุคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐

คลิปวิดีโอ