ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
แทนวางตาลปัตรรูปปีกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2480
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

ไม่เพียงวัตถุสิ่งของที่มีสัญลักษณ์ “พานรัฐธรรมนูญ” ซึ่งผลิตโดยภาคเอกชนหรือประชาชนจะถูกพบอย่างแพร่หลายในภูมิภาคต่างๆ ภายหลังการปฏิวัติ 2475 หากในปริมณฑลทางศาสนา คณะสงฆ์ทั่วประเทศก็ต่างรับเอาสัญลักษณ์นี้ไปใช้ในการออกแบบอย่างแพร่หลาย ศาสนสถานหลายแห่งทั่วประเทศเริ่มออกแบบปรับเปลี่ยนลวดลายของสิ่งปลูกสร้างด้วยการใส่ลวดลายรัฐธรรมนูญเข้ามาแทนที่ลายแบบประเพณี ลวดลายดังกล่าวนอกจากจะทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ทางการเมืองของไทยแล้ว ยังเป็นวัตถุหลักฐานสำคัญที่ยืนยันให้เห็นถึงความตื่นตัวและการรับรู้เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ลงลึกไปในระดับท้องถิ่นที่ห่างไกล และไปไกลจนถึงพื้นที่ศาสนา ดังเช่นหน้าบันศาลาการเปรียญที่มีลวดลายพานรัฐธรรมนูญที่วัดใหญ่สว่างอารมณ์ จังหวัดนนทบุรี, หน้าบันของวิหารวัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ จังหวัดเชียงใหม่ หรือ พนักพิงธรรมาสน์ วัดเชิงท่า จังหวัดลพบุรี เป็นต้น ในขณะที่วัตถุที่พบส่วนใหญ่ยังมีลวดลายของพานรัฐธรรมนูญเป็นภาพประธานคล้ายคลึงกัน หากที่วัดท่านางหอม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้มีการค้นพบฐานตาลปัตรไม้แกะที่มีรูปลักษณ์ต่างออกไปอย่าง “รูปปีกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่าวัตถุชิ้นนี้ไม่เพียงถูกทำขึ้นเพื่อการโอบรับกระแสการปฏิวัติ 2475 แต่ยังเป็นการร่วมเฉลิมฉลองอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถูกสร้างขึ้นหลังจากนั้นด้วยเช่นกัน

ฐานตาลปัตรชิ้นนี้เป็นสมบัติของวัดท่านางหอม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทำขึ้นด้วยวัสดุไม้ ออกแบบเป็นรูปปีกสองข้างของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ทราบช่างผู้สร้าง อายุสมัยกำหนดได้เพียงกว้างๆ ว่าทำขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2483 - 2490 เนื่องจากรูปแบบได้รับอิทธิพลจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยตรง ดังนั้นย่อมไม่มีทางสร้างขึ้นก่อนเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2483 และไม่น่าจะสร้างหลัง พ.ศ. 2490 อันเป็นจุดสิ้นสุดของอุดมการณ์คณะราษฎร นอกจากนี้ บริเวณหน้าบันของศาลาวัดแห่งนี้ยังมีงานปูนปั้นฝีมือช่างท้องถิ่นทำเป็นรูปเทวดาเทินพานรัฐธรรมนูญล้อมรอบด้วยลายพันธุ์พฤกษา เช่นเดียวกับหน้าบันด้านหลังที่มีรูปปูนปั้นของชาวบ้านกำลังทำงานพร้อมจารึกระบุ “๒๔๘๐ ปีฉลู” ซึ่งรูปชาวบ้านกำลังทำงานก็สอดรับกับแนวคิดของคณะราษฎรที่มองว่าประชาชนคือกำลังในการพัฒนาประเทศชาติ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากปีที่ระบุในงานปูนปั้นหน้าบันของศาลา (2480) อันน่าจะเป็นปีที่สร้างผลงานชิ้นดังกล่าว และฐานตาลปัตรรูปปีกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่น่าจะสร้างหลังจากที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้สร้างแล้วเสร็จ (2483) สิ่งของสองสิ่งนี้ก็ถือเป็นหลักฐานสำคัญอย่างมากที่สะท้อนถึงความตื่นตัวของบุคลากรในแวดวงศาสนาในระดับท้องถิ่นที่ประสงค์จะสร้าง “ของที่ระลึก” เพื่อสะท้อนอุดมการณ์ประชาธิปไตยซึ่งหาได้ยาก และหลงเหลือเพียงไม่มากนักในปัจจุบัน

ข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งของการค้นพบวัตถุสิ่งของจากยุคคณะราษฎรภายในวัดวาอารามต่างๆ ทั่วประเทศที่ยังคงปรากฏมาถึงปัจจุบัน นั่นคือวัตถุทั้งหมดเท่าที่ค้นพบได้เหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งของที่ผลิตขึ้นในวัด “ฝ่ายมหานิกาย” ทั้งสิ้น ยังไม่พบสัญลักษณ์นี้ในวัด “ฝ่ายธรรมยุกติกนิกาย” แต่อย่างใด (ยกเว้นก็แต่งานสถาปัตยกรรมของวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ที่สร้างโดยคณะราษฎร ภายใต้แนวคิดที่จะหลอมรวมสองนิกายนี้เข้าด้วยกันเท่านั้น) จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าการปฏิวัติ 2475 นั้นน่าจะสร้างความตื่นตัวและพึงพอใจแก่พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายมากกว่าฝ่ายธรรมยุกติกนิกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราพิจารณาเทียบเคียงกับนโยบายของคณะราษฎรที่ต้องการ “หลอมนิกาย” เข้าด้วยกัน พร้อมกับมีการออก พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2475 ที่จัดวางโครงสร้างการบริหารคณะสงฆ์ในลักษณะเทียบเคียงกับการบริหารบ้านเมืองของฆราวาส โดยให้มีการเลือกตั้ง และสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ทั่วไปมากขึ้น ฯลฯ พรบ. ดังกล่าวจึงมีส่วนท้าทายอำนาจนำของฝ่ายธรรมยุกติกนิกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่คณะราษฎรหมดอำนาจลง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นก็ยกเลิก พรบ.นี้ลงในปี 2500 โดยกลับไปใช้โครงสร้างเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้มหาเถระสมาคมกลับมามีอำนาจบริหารคณะสงฆ์อย่างเบ็ดเสร็จ และนับตั้งแต่นั้น สมเด็จพระสังฆราชก็ล้วนมาจากพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุกติกนิกายมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน    

รูปภาพ

พิกัดสถานที่