พิมพ์ชนก พุกสุข เขียน
เผยแพร่วันที่ 20 มี.ค. 2567 ทางเว็บไซต์ the101.world
อ่านฉบับเต็มได้ตามลิงก์ https://www.the101.world/2475-dawn-of-revolution/
ทันทีที่แอนิเมชั่นออกฉาย แน่นอนว่ามันเต็มไปด้วยเสียงชื่นชมว่าเต็มไปด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริง ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งด้านหนึ่ง หนังนำเสนอข้อมูลพื้นฐานบางอย่างที่ถูกบันทึกไว้ตามหน้าประวัติศาสตร์ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคมเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้มายาวนานที่สุด หรือคณะราษฎรจัดประชุมก่อตั้งคณะก่อนการปฏิวัติหลายปีที่ปารีส
กระนั้น เราก็ต้องมาแยกระหว่างข้อเท็จจริงหรือ fact ที่ปรากฏในเนื้อหา กับความเห็นหรือ opinion ของตัวหนังที่ปรากฏผ่านน้ำเสียงและสายตาต่อชนชั้นนำกับคณะราษฎร ดังที่กล่าวไปว่า ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ เริ่มเรื่องด้วยการเชิดชูความสามารถของเหล่ากษัตริย์ในการปกปักษ์รักษาแผ่นดินช่วงที่ตะวันตกล่าอาณานิคม [...]
เทียบกันกับสายตาที่หนังมีต่อคณะราษฎร เมื่อหนังตัดไปเล่าเรื่องขวบปี 2475 ที่เกิดการรัฐประหารนั้น หนังก็ฉายภาพคณะราษฎรด้วยท่าทีราวกับละครคุณธรรมใน TikTok ที่คนดูรู้ว่าใครเป็นตัวร้ายตั้งแต่เดินเลี้ยวเข้าซอย (ยังไม่ต้องพูดถึงการวาดให้ปรีดีมีสีหน้าเหมือนวายร้ายจากหนังเชยๆ ที่อมยิ้มด้วยสีหน้าเหี้ยมเกรียมตลอดเวลา) ด้วยซาวด์แทร็กสุดระทึกและงานภาพที่เล่าเรื่องราวกับว่า ปรีดี พนมยงค์ ประธานกลุ่มปฏิวัติ เป็นผู้ชักใยบงการความวุ่นวายทั้งปวง ผ่านภาพที่ใช้หมากรุกเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ (และการ ‘เดินหมาก’ ของปรีดี) กับหมึกยักษ์ที่ปรากฏตัวแทบทุกครั้งที่เราได้เห็นนายปรีดีบนจอจนเหมือนจะมาเร่ขายหมึกมากกว่าก่อการปฎิวัติ ซึ่งน่าสนใจที่หนังใช้หมึกยักษ์หรือ octopus เป็นสัญลักษณ์ของปรีดี เพราะเดิมทีนั้น หมึกยักษ์เคยถูกใช้เป็นภาพแทนการรุกราน ขยายอำนาจของกลุ่มคอมมิวนิสต์รัสเซียยุคสงครามเย็น สอดรับกับข้อเท็จจริงที่ว่าครั้งหนึ่ง ปรีดีเคยถูกฝั่งขวากล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ -ซึ่งก็ดูจะเป็นสิ่งที่แอนิเมชั่นเรื่องนี้พูดถึงอยู่เป็นระยะ