ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
แอนิเมชัน ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2564
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

 ภายหลังการปฏิวัติ 2475 และการสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎรในปี 2490 ได้ปรากฏความพยายามของฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายนิยมเจ้าในการช่วงชิงเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ ผ่านการชี้ชวนให้ผู้คนมองฝ่ายคณะราษฎรที่เป็นฝ่ายปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศในมุมมองแง่ลบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วงยึดอำนาจจากกษัตริย์มาให้กับพวกพ้องเสียเอง การ ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ เปลี่ยนแปลงประเทศโดยที่ประชาชนยังไม่พร้อม ไปจนถึงมุมมองที่ว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรับธรรมนูญให้ชาวสยามอยู่แล้ว หากแต่ถูกกลุ่มคนเหล่านี้ยึดอำนาจเสียก่อน เป็นต้น เรื่องเล่าเหล่านี้ถูกบรรจุอยู่ในสื่อต่างๆ มากมาย สอดรับไปกับความพยายามที่จะลบเลือนสัญลักษณ์ หรือมรดกที่เกิดขึ้นในยุคคณะราษฎรจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 เมื่อคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับบทบาทของคณะราษฎรในการเปลี่ยนประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตย ทิศทางของเรื่องเล่าเหล่านี้ก็ถูกท้าทายโดยกลุ่มนักประวัติศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ที่พยายามสืบค้นข้อเท็จจริง ไปจนถึงจัดกิจกรรมในเชิงเชิดชูบทบาทของคณะราษฎรอย่างมีนัยสำคัญ 

ท่ามกลางทิศทางของเรื่องเล่าที่ขัดแย้งกับกรอบความคิดของฝ่ายนิยมเจ้าแต่เดิม ซึ่งเกิดขึ้นจำนวนมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายนิยมเจ้าก็เริ่มผลิตชิ้นงานทางวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อตอบโต้กับความพยายามรื้อฟื้นสถานะเชิงบวกให้แก่คณะราษฎร 2475 Dawn of Revolution ภาพยนตร์แอนิเมชั่นดราม่า-ประวัติศาสตร์ ความยาว 2 ชั่วโมงโดยทีมนาคราสตูดิโอ (กำกับโดย วิวัธน์ จิโรจน์กุล เขียนบทโดย ปัณฑา สิริกุล วิวัธน์ จิโรจน์กุล และ ปราชญ์ สามสี) เป็นหนึ่งในสื่อที่เลือกจะเน้นย้ำมุมมองของฝ่ายนิยมเจ้าที่มีต่อคณะราษฎรอย่างตรงไปตรงมาที่สุดในยุคปัจจุบัน ภาพยนตร์เปิดเรื่องด้วยเสียง voice over ตั้งคำถามว่า “ทำไมการทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประชาธิปไตยจึงล้มเหลว?” ก่อนจะพาเข้าเรื่องราวของนักศึกษา 3 คนที่มานัดพบกันที่หอสมุดวชิรญาณเพื่อหาข้อมูลทำรายงานส่งอาจารย์ และได้พบกับบรรณารักษ์ของหอสมุดที่มาเล่า “ข้อเท็จจริง” ก่อนและหลังเหตุการณ์การปฏิวัติ 2475 อย่างละเอียด ภาพยนตร์ไล่เรียงให้เห็นถึงความพยายามของกษัตริย์ที่ทรงพยายามวางรากฐานการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยด้วยแผนการพระราชทานรัฐธรรมนูญและจัดตั้งรัฐสภามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ไปนถึงการรวมตัวกันของกลุ่มนักเรียนนอกในฝรั่งเศสเพื่อวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองอันเป็นที่มาของการปฏิวัติ 2475 และความขัดแย้งภายในกลุ่มคณะราษฎรหลังจากนั้น ทั้งนี้ ในขณะที่เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ได้ดำเนินไป เราจะได้พบน้ำเสียงและสัญลักษณ์ที่เน้นย้ำภาพลักษณ์ของ ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้นำคณะราษฎรไปในทิศทางของการเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังองค์กรที่แฝงด้วยความชั่วร้าย มุมมองการสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ของปรีดี ไปจนถึงเนื้อหาที่ขัดแย้งกันเองของแนวคิดหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และการยอมสละอำนาจของในหลวงรัชกาลที่ 7 เพื่อคงไว้ซึ่งความผาสุกของพสกนิกร เป็นต้น

 ภาพยนตร์ออกฉายรอบปฐมทัศน์ในโรงภาพยนตร์เซจูรี สุขุมวิท เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 และเผยแพร่ทางออนไลน์ผ่านยูทูป https://www.youtube.com/watch?v=rmNvPB6Jxzo ในวันที่ 13 มีนาคม ปีเดียวกัน โดยมีศิลปินนักแสดงชื่อดังมากมายมาร่วมพากย์เสียง อาทิ ฉัตรชัย เปล่งพานิช, สินจัย เปล่งพานิช, จิราวัฒน์ วชิรศรัณย์ภัทร, สุเมธ องอาจ และกิตติ เชี่ยววงศ์กุล (เกลือ เป็นต่อ) ทั้งนี้ ในข้อความประชาสัมพันธ์ของทีมนาคราสตูดิโอที่เผยแพร่ทาง thaipost.net ยังระบุไว้ว่า “เราขอส่งมอบ แอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution ที่พวกเราตั้งใจสร้างขึ้นมา ให้ทุกคนได้รับชม โดยหวังว่า แอนิเมชันเรื่องนี้ จะช่วยจุดประกายให้ผู้ชมสนใจสืบค้นเรื่องราวประวัติศาสตร์ และช่วยเป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ครับ”

รูปภาพ

คลิปวิดีโอ