ดร.เสรี วงษ์มณฑา เขียน
เผยแพร่วันที่ 17 มี.ค. 2567 ทางไทยโพสต์
อ่านฉบับเต็มได้ตามลิงก์ https://www.thaipost.net/columnist-people/553501/
วิธีการเล่าเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแบบเรียงตามลำดับเวลา (chronology) ไม่มีการย้อนไปย้อนมา และเพื่อนำเสนอมุมมอง (points of view) ที่แตกต่างกัน ให้เห็นผู้ชมเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เสนอมุมมองของคนที่คิดต่างอย่างเป็นกลาง มีการใช้วิภาษวิธี (dialectic) โดยให้ลุงดอนเป็นผู้เล่า ถกกับเด็กๆ Gen Y ได้อย่างน่าสนใจ ชื่อของลุงดอน ก็เป็นการตั้งชื่อให้พ้องเสียงกับคำว่า dawn ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า อรุณรุ่ง ลุงดอนเล่าเรื่องการปฏิวัติในเวลารุ่งอรุณของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่ก่อให้เกิดอรุณรุ่งของประชาธิปไตยไทย ในขณะเดียวกันลุงก็ทำให้เกิดอรุณรุ่งของความรู้และความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องของเด็กๆ ที่ไม่ได้อ่านหนังสือมากนัก แต่เชื่อสิ่งที่พบเห็นใน social media โดยไม่มีการหาข้อมูลให้รู้ความจริงอย่างถ่องแท้ การเข้าห้องสมุด การได้ถกตามแนววิภาษวิธีกับลุงดอน ทำให้เด็กๆ ได้รับการเปิดเนตร ให้พบกับความสว่าง ซึ่งในฉาก เราจะเห็นเด็กๆ เดินเข้าหาแสงสว่างในขณะที่เดินตามเข้าไปคุยกับลุงดอน
ก่อนจะเกิดการวิภาษระหว่างเด็กๆ กับลุงดอน ภาพยนตร์เกริ่นนำได้อย่างน่าสนใจ 2 ประเด็น คือ 1) เรื่องการชุมนุมทางการเมืองในปีต่างๆ และ 2) การปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดขึ้นในอดีต เมื่อได้ดูการเกริ่นนำดังกล่าวนี้ เราคิดถึงสิ่งที่เด็ก Gen Y และ Z ได้รับข้อมูลข่าวสารให้หมกมุ่นอยู่กับเหตุการณ์ที่พวกเขาถูกครอบงำให้เห็นว่าประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย มีแต่การใช้อำนาจเผด็จการที่ทำให้เด็กๆ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงตามข้อมูลที่พวกเขาได้รับจากนักการเมืองบางพรรคและอาจารย์บางคนที่เป็นปฏิปักษ์กับทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ก็ทำให้เราเห็นลักษณะนิสัยและค่านิยมของเด็ก Gen Y และ Gen Z ที่เชื่อข้อมูล online ฉาบฉวย ไม่ชอบอ่านหนังสือ มองการกระทำของผู้สูงอายุที่ไม่เป็นดิจิทัลว่าเป็นความล้าหลัง ไม่ทันสมัย การเรียนรู้ของพวกเขาไม่ได้ทำด้วยทัศนะของคนต้องการเรียน (want-to attitudes) แต่เป็นการเรียนรู้เพราะถูกบังคับให้เรียน (have-to attitudes) วิธีการนำเสนอของลุงดอน ทำให้เด็กเริ่มตาสว่าง เป็นการเล่าเรื่องอรุณรุ่งของประชาธิปไตยที่เกิดจากการปฏิวัติตอนอรุณรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทำให้เกิดอรุณรุ่งของความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องสำหรับเด็กๆ