ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วารสารธรรมศาสตร์ : ประชาธิปไตย - วัฒนธรรม: รัฐธรรมนูญ-สามัญ-อนุสาวรีย์-ผู้นำทหาร
ปีที่ 25  ฉบับที่ 2  พฤษภาคม-สิงหาคม 2542
ผู้แต่ง:     มาลินี คุ้มสุภา (นักวิชาการอิสระ)

ความสำคัญของชื่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เมื่อการคิด ฟัง พูด เขียน อ่านของมนุษย์ล้วนตกอยู่ภายใต้อำนาจของ "ภาษา” ระบบภาษา คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ภาษามีความสำคัญอันเกิดขึ้นจากการกำกับใช้ของมนุษย์ แต่ในทางเดียวกันมนุษย์ก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของภาษา เช่น คำว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ที่ใช้นำหน้าชื่อของสตรีนั้น เป็นระบบภาษาที่สร้างขึ้นเพื่อบ่งบอกสถานภาพทางการสมรส แต่ในความเป็นจริงคำนำหน้าชื่อนี้ได้พันธนาการพฤติกรรมของสตรีที่แตกต่างกัน หลังจากการอ่านเอกสารประวัติส่วนตัวของหญิงสองคน ความคิดต่อหญิงสูงอายุที่มีคำนำหน้าชื่อ “นางสาว” ย่อมแตกต่างจากหญิงสูงวัยที่มีคำนำหน้าว่า “นาง” เพียงการใช้คำกำกับก็สามารถสร้างความคิดบางอย่างให้เกิดขึ้นได้แตกต่างกัน ดังนั้น คำ หรือ ภาษา จึงไม่ใช่เพียงเครื่องมือที่มนุษย์ใช้สื่อสารซึ่งกัน และกันในสังคมภายใต้บงการของมนุษย์ แต่ภาษามีความซับซ้อนและกำกับพฤติกรรมของคนเราไปพร้อมๆกัน

ในบางครั้งการเลือกใช้คำบางคำมีความสำคัญอย่างมาก อาทิ เบื้องหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระประศาสน์พิทยายุทธหนึ่งในคณะราษฎรได้กล่าวถึงความสำคัญของคำๆ หนึ่งที่มีส่วนในการสั่งการแก่ทหารให้ไปยังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าให้สำเร็จได้อย่างฉับพลันและสามารถนำเหล่าทหารเหล่านี้มารวมตัวบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าได้ คือ คำว่า “กบฏ” พระประศาสน์พิทยายุทธในฐานะผู้บังคับบัญชาได้ออกคำสั่งแก่ทหารรักษาการณ์ว่า “เฮ้ยรู้ไหม เวลา นี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้วนะ” เขาเห็นว่าคำนี้จะทำให้คนทั้งหลายกระทำอะไรอย่างรวดเร็วไปตามแผนการณ์ คือ การขนรถเกราะ รถยนต์หุ้มเกราะ สรรพอาวุธทั้งปวง ออกจากกรมทหารม้ารักษาพระองค์อย่างรวดเร็วตามที่กลุ่มผู้ก่อการได้วางแผนการณ์ไว้ (จำรัส สุขุมวัฒนะม, 2491, น.63) และให้เหตุผลถึงความสำคัญของคำๆ นี้ว่า 

“กบฏ" คำนี้เป็นคำที่ทำให้ทุกคนรู้สึกตลึงงงงวย คำพูดคำหนึ่งเท่านี้เป็นคำมีความหมายแรงเข้าสู่ใจคน ทำให้คนตื่นเต้นและโดยเฉพาะผู้มีหน้าที่ราชการแล้วก็จะอยู่ในอาการที่จะต้องท่าอะไรในทันทีตามคำสั่งโดยด่วนมิรั้งรอ ในเวลานั้นคำ “กบฏ” เป็นคำเดียว ที่หมายถึง การประหารพระมหากษัตริย์แห่งราชบัลลังก์ เราไม่เคยมีคำว่า “ปฏิวัตร” หรืออะไรเลยและคนทั้งหลายมักคิดว่าฝ่ายที่เป็นนายนั้นเป็นฝ่ายถูกเสมอไป (จำรัส สุขุมวัฒนะ 2491. น.89) การเลือกใช้คำจึงสำคัญตามความหมาย 

“อนุสาวรีย์” หมายถึง วัตถุสร้างไว้เป็นที่ระลึกหรือ ระลึกถึงเมื่อต้องการจะรำลึกถึงสิ่งใดนั้นจะมี “ชื่อ” กำกับไว้อีกทีหนึ่งด้วย เช่น ต้องการให้รำลึกถึงเหล่าทหารที่เสียชีวิตในสงครามอนุสาวรีย์นั้นๆ ก็จะใช้ชื่อเหตุการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับทหารหรือการรบกำกับไว้ เช่น อนุสาวรีย์ ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ทหารอาสา ฯลฯ ถ้าต้องการให้รำลึก ถึงบุคคลใดก็จะใช้ชื่อของบุคคลคนนั้นเป็นชื่อของอนุสาวรีย์ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า-เจ้าอยู่หัว อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เป็นต้น อนุสาวรีย์ต่างๆ จึงมีชื่อเรียกขยายความทั้งสิ้น (ในความเป็นจริงอาจจะเกิด หรือไม่เกิดการรำลึกถึงก็ได้) มีอนุสาวรีย์น้อยแห่งที่สร้างขึ้นแล้วไม่มีชื่อเรียกกำกับเหตุการณ์ มีอนุสาวรีย์บางแห่งเท่านั้นที่ใช้ชื่อเฉพาะหรือคำที่มีความหมายทางนามธรรมหรือความคิด ซึ่งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เป็นหนึ่งในชื่อเหล่านั้นที่มีชื่อเรียกแตกต่างไปจากอนุสาวรีย์อื่นๆ

ถ้าพิจารณาชื่อของอนุสาวรีย์ไทยที่มักจะใช้ชื่อบุคคล หรือเหตุการณ์สำคัญเป็นชื่ออนุสาวรีย์ สามารถแยกแยะ คำออกเป็นสองส่วน คือ 

คำ "อนุสาวรีย์" + ชื่อเฉพาะบุคคล หรือเหตุการณ์สำคัญ 

    อนุสาวรีย์ + ปราบฮ่อ 

เช่น อนุสาวรีย์ + ผู้เสียสละเขาค้อ 

     อนุสาวรีย์ + พระยาพิชัยดาบหัก 

     อนุสาวรีย์ + รามคำแหงมหาราช

               ฯลฯ

อนุสาวรีย์ที่ใช้ชื่อเหตุการณ์หรือชื่อบุคคลเป็น ชื่ออนุสาวรีย์ สื่อความหมายว่าการสร้างอนุสรณ์สถาน หรืออนุสาวรีย์ต่างๆ เหล่านี้ต้องการให้เกิดการว่าลึก ถึงบุคคลหรือเหตุการณ์เฉพาะเหล่านั้น และถ้าจะมีการแยกแยะส่วนประกอบของคำ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เหมือนข้างต้น จะพบว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยประกอบด้วยคำสองส่วนเช่นกัน คือ

อนุสาวรีย์ - ประชาธิปไตย 

ซึ่งคำ “ประชาธิปไตย” นี้เป็นคำที่มีความหมายต่างไปจากอนุสาวรีย์อื่นๆ ในหลายประการ เพราะคำนี้ไม่ใช่ชื่อของบุคคล ไม่ใช่คำแสดงเหตุการณ์เฉพาะและไม่ใช่สิ่งที่สัมผัสได้เป็นรูปธรรม (แม้ว่าสัญลักษณ์ของอนุสาวรีย์นี้จะเป็นรัฐธรรมนูญแต่ก็ไม่ใช่รูปธรรมของระบอบประชาธิปไตยทั้งหมด) แต่เป็นคำที่ใช้เรียกชื่อระบบการปกครองที่ไม่มีความหมายที่เป็นเอกภาพชัดเจนเหมือนคำเหตุการณ์หรือบุคคลที่เป็นชื่อของอนุสาวรีย์อื่นๆ การมีชื่อเช่นนี้ได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญอยู่มาก เช่น มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “อนุสาวรีย์ที่ไม่มีพลังจืดสนิทเท่ากับซีเมนต์กองใหญ่กลางถนน” (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2538 น. 140) ซึ่งข้อความในวงเล็บนี้เท่ากับย้ำความสำคัญของชื่ออนุสาวรีย์นี้นั่นเอง หรือ "อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตยที่มีผู้กล่าวว่าน่าเกลียดเป็นกองซีเมนต์มหึมากลางถนน ซึ่งนำเอาสัญลักษณ์ต่างๆ มายำใหญ่อย่างไร้รสนิยมก็รอดชีวิตและฟื้นความหมายใหม่ได้ เพราะชื่อแท้ๆ” (ธงชัย วินิจจะกูล, 2539 น. 268) และด้วยชื่อเช่นนี้นี่เอง ได้สร้างข้อถกเถียงต่างๆ เช่น สมควรเปลี่ยนชื่อที่ไม่สอดคล้องกับสัญลักษณ์เด่น คือ พานรัฐธรรมนูญเสียเนื่องจากชื่อ“ประชาธิปไตย”แสดงว่า ต้องการสื่อระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งในความเป็นจริง ระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้มีความหมายจำกัดอยู่เพียงแค่นั้น “สร้างอนุสาวรีย์ ที่ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญแต่กลับใช้ชื่อว่า“ประชาธิปไตย” ถือว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าการมีรัฐธรรมนูญ คือการมีประชาธิปไตย ซึ่งทั้งสองอย่างไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ดังนั้น เมื่อสร้างเป็นรูปรัฐธรรมนูญจึงสมควรเปลี่ยนชื่อเป็น “อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ”จะเหมาะสมกว่า” (ประเสริฐ    ทรัพย์สุนทร, 2527, น 41) หรือแม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งยังไม่รู้สึกชื่นชมกับอนุสาวรีย์นี้แต่กลับเห็นว่า “มีอนุสาวรีย์ฝังไว้อย่างแปลกประหลาดเป็นการกีดขวางการจราจรที่ถนนราชดำเนิน” (เสนีย์ ปราโมช, 2517, น. 130)

ดังนั้น คงปฏิเสธได้ยากว่าชื่อของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ก่อนัยหรือความหมายแก่อนุสาวรีย์นี้อย่างมาก ภายใต้ความหมายของคำบนชื่ออนุสาวรีย์ที่มีความซับซ้อนของปฏิบัติการและทำให้เกิดความแตกต่างระหว่าง อนุสาวรีย์นี้กับอนุสาวรีย์อื่นๆด้วยความสำคัญของคำได้มีข้อเขียนแสดงความเห็นปรากฏในหนังสือพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2496 ในคอลัมภ์การเมืองนอกเวที โดยอานนท์ (หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย 1 กรกฎาคม 2496) กล่าวถึงความสำคัญของคำว่า “ประชา” ว่า

ภายหลัง 24 มิถุนายน 2475 จนกระทั่งบัดนี้ ประชาชนทั้งมวลก็รู้สึกนึกคิดและปฏิบัติอยู่เสมอ ว่าเราอยู่ภายใต้การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” ขอให้ท่านมองดูตัวหนังสือทั้งสองระบบนี้ว่ามีอะไรที่ผิดกันอยู่ นั่นคือคำว่า ราชา กลายมาเป็นประชาด้วยอำนาจแห่งตัวหนังสือที่ได้เปลี่ยนไป ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่าประชาชนชาวไทยก็หันมานิยมการปกครองโดยประชามาเป็นเวลา 22 ปีแล้ว จึงขอเสนอให้เปลี่ยนคำจาก “ข้าราชการ” เป็น “ข้าประชาการ” บ้าง เพราะจะทำให้ท่านที่นั่งเก้าอี้ตามที่ทำการ รัฐบาลมาเป็นผู้รับใช้ประชาชนโดยตรงประชาชนจะหายกลัวและท่านเหล่านั้นก็จะทราบหน้าที่ของตนด้วย (กจช.ก/ป7/2496/บ.3.4)

เมื่อมีความคิดว่าการใช้คำ “ประชา” จะก่อให้เกิดการตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับประชาชนมากขึ้น กรณีของอนุสาวรีย์ที่มีชื่อ “ประชาธิปไตย” จะก่อให้เกิด นัยหรือความหมายอย่างไรบ้าง ดังนั้น ความหมายเบื้อง ต้นของอนุสาวรีย์ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้คือ ความหมายที่ เกิดจากความหมายของคำสองคำ คือคำ “อนุสาวรีย์" กับ “ประชาธิปไตย” โดยในที่นี้จะพยายามศึกษาถึงความหมายของคำทั้งสองคำนี้พอสังเขป และต้องการชี้ให้เห็นว่า ความหมายของคำอนุสาวรีย์จะส่งผลต่อความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างไร หรือความหมายของประชาธิปไตยในลักษณะต่างๆ จะส่งผลต่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างไร

1. วาทกรรม ของ “อนุสาวรีย์" 

"อนุสาวรีย์" ตามความหมายจากพจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (2526 : น.877) หมายถึง วัสดุสร้างไว้เป็นที่ระลึก แต่สำหรับความหมายของ Monument ในภาษาอังกฤษนั้น หมายถึง ผลงานที่ตั้งใจที่จะเก็บความทรงจำของบุคคล เหตุการณ์หรือความคิด ส่วนใหญ่จะรองรับเรื่องราวในอดีต อนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นในยุคหลังจะมีทั้งที่เป็นสถาปัตยกรรม (architecture) และรูปปั้น (sculpture) ความคิดของอนุสาวรีย์ในงานศิลปะจะมีความเชื่อมโยงระหว่างความใหญ่โต ความโอ่อ่า ความถาวร และที่สำคัญคือเรื่องของขนาด (Osborne, 1970, p737) ในเริ่มแรกนั้นอนุสาวรีย์มักจะเป็นสิ่งก่อสร้าง เช่น วิหาร ซุ้มประตู อนุสาวรีย์รูปเสาแหลม (obelisk) อนุสรณ์คนตาย (cenotaph) และหลุมฝังศพ (tomb) ความคิดเกี่ยวกับหลุมฝังศพนั้นยังแบ่งออกเป็นสองอย่าง คือเป็นสถานที่อยู่ของวิญญาณคนตายกับความคิดเกี่ยวกับชีวิตในโลกหน้า การสร้างอนุสาวรีย์ที่เป็นรูปปั้นนั้นเกิดจากลักษณะ 3 มิติของรูปปั้น คือ ความถาวรที่มีเหตุผลที่ทำให้ปรากฏบนวัตถุและขนาด (size) นี้คือการแสดงออกถึงการยกย่องความทรงจำนี้ให้ดำรงอยู่ต่อมา (Osborne, 1970, p.737)

การสร้างอนุสาวรีย์เป็นการรำลึกถึง ไม่ว่าจะเป็น“ชื่อ” “สัญลักษณ์” “พื้นที่” “พิธีกรรม” ส่วนประกอบ เหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเน้นย้ำการจดจำให้เกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันกลับก่อให้เกิดการหลงลืมขึ้นในเวลาเดียวกันด้วย เช่น อนุสาวรีย์ที่มีไว้เชิดชูชัยชนะและความรักชาติ ก็จะกลบเกลื่อนความขมขขื่นที่ไทยได้กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน (ธงชัย วินิจจะกูล, 2539, น. 266) ดังนั้น “สิ่งที่ควรจำ” กับ “สิ่งที่ต้องลืม” จึงเกิดขึ้นเคียงกัน การเลือกจดจำภายใต้ชื่อของอนุสาวรีย์ในสังคมไทยมักเลือกที่จะจดจำผ่าน “บุคคล” หรือ เหตุการณ์” มากกว่าการจดจำรำลึกถึงความคิด (Idea) หรือสิ่งนามธรรม รายชื่อของอนุสาวรีย์ต่างๆ จึงมีชื่อตามบุคคลต่างๆ ที่สมควรแก่การจดจำทั้งสิ้น กรณีของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่แตกต่าง ไปจากอนุสาวรีย์อื่นๆ ตรง "ชื่อ” อยู่มากชื่ออนุสาวรีย์นี้ไม่มีการเชิดชูบุคคลหรือเหตุการณ์ แต่กลับสร้างวาทกรรมชนิดใหม่ขึ้นในสังคมไทยนั่นคือ การจดจำเรื่องซึ่งเป็นนามธรรมความคิด แทนที่การชิดชูบุคคลหรือมนุษย์ (แม้ว่าจะมีงานเขียนจำนวนมากที่พยายามโยงใยอนุสาวรีย์นี้กับคณะราษฎร หรือเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ลำพังชื่อของอนุสาวรีย์นี้ก็ไม่ได้มีการผูกมัดไว้กับ “ชื่อ” ของบุคคลหรือเหตุการณ์นั้น) การที่อนุสาวรีย์ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในรูปของบุคคลน่าจะเกิดจากความคิดในเรื่องวีรบุรุษที่ว่าวีรบุรุษ

จำลองเอาอุดมคติของคุณธรรมที่สังคมยกย่องมาไว้ในรูปบุคคล สังคมย่อมต้องการอุดมคติของคุณธรรม (ทั้งที่สามารถบรรลุได้และไม่สามารถบรรลุได้) เป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานทางจริยธรรมของตน การทำให้อุดมคตินี้อยู่ในรูปของบุคคล ทำให้สามารถย้ำหรือสืบทอดอุดมคติได้ง่ายเพราะสามารถสร้างพิธีกรรมขึ้นมาแวดล้อมได้ (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2536, น.36)

กรณีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนอกจากจะสร้างการจดจำภายใต้ชื่ออนุสาวรีย์ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลแล้วชื่อของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังไม่พยายามที่จะยึดเหนี่ยวกับอดีตที่เป็นเวลาเฉพาะในประวัติศาสตร์ด้วย เพราะคำ “ประชาธิปไตย” ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นเพียงอดีตของเหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี พ.ศ. 2475 เท่านั้น หากแต่ประชาธิปไตยยังเป็นการปกครองที่ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน การรำลึกถึงประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าต้องรำลึกถึงประชาธิปไตยในอดีตแล้วจบสิ้น แต่เป็นการย้ำเตือนด้วยว่าเป็นระบอบการปกครองที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันที่มีมิติของปัจจุบันและอนาคตแทรกอยู่ในความหมายของคำนี้ สำหรับเรื่องนี้ได้เกิดมีความเข้าใจเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในความหมายต่างๆ เช่น มองว่า “ปัจจุบันไม่มีความเป็นประชาธิปไตยแล้วแต่เคยมีและควรให้ผู้คนปัจจุบันรำลึกถึงจึงต้องสร้างอนุสาวรีย์เป็นอนุสรณ์ ด้วยเหตุนี้อาจจะเป็นอาถรรพ์ประการหนึ่งที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถก้าวหน้าในปัจจุบันได้ [1] หรือกล่าวว่า“สร้างเป็นที่ระลึกถึงการได้มาซึ่งประชาธิปไตยมากกว่าที่จะเป็นเครื่องเตือนใจให้เราช่วยกันรักษา “ประชาธิปไตยประชาธิปไตยไว้มากกว่ามากกว่า เราจึงต้องเริ่มต้นประชาธิปไตยกันใหม่เรื่อยมาเกินครึ่งศตวรรษ (วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, 2535, น. 58) หรือถ้าแปลตามความหมายของพจนานุกรมว่าเป็นสิ่งที่ควรระลึกถึงหรือสร้างไว้เป็นที่ระลึกประชาธิปไตยก็น่าจะเป็น สิ่งที่ตายไปแล้วจึงต้องสร้างไว้ ดังนั้น ควรจะเรียกว่าศูนย์ประชาธิปไตยหรือหลักประชาธิปไตยจะเหมาะสมกว่า (รอง ศยามานนท์, 2520, น. 110)

ความเข้าใจเหล่านี้เกิดขึ้นจากความหมายที่ปะปน กันระหว่าง “อนุสาวรีย์” กับ “ประชาธิปไตย” ที่ปรากฏใน ชื่อของอนุสาวรีย์นี้ จากคำอธิบายต่างๆ ข้างต้นเป็นความ พยายามยึดโยงให้ความสำคัญกับความเป็น “อนุสาวรีย์” ที่ต้องมีอดีตเฉพาะเป็นเรื่องอดีตไม่ใช่เรื่องปัจจุบัน เวลา กล่าวถึง “การรำลึก” มักเข้าใจว่าเกี่ยวข้องอยู่กับอดีตหรือสิ่งที่จบสิ้นไปแล้วซึ่งแท้จริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ในบางยุคสมัยอนุสาวรีย์ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงความ คิดความเชื่อ และความยิ่งใหญ่ของประเทศหรือของตนเองโดยที่บุคคลหรือเหตุการณ์นั้นยังมิได้จบสิ้นไปแต่อย่างใด อนุสาวรีย์จึงได้เล่นบทบาทในฐานะตัวสร้าง ประวัติศาสตร์โดยตรง (พิบูลย์ หัตถกิจโกศล, 2527, น.12)

“อนุสาวรีย์” ไม่ใช่สิ่งที่จบสิ้นในอดีต หรือไม่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่เหตุผลในการสร้างขึ้นคือเพื่อการรำลึกถึงเพื่อต่อเนื่องกับปัจจุบัน ความสำคัญจึงอยู่ที่ “การจดจำ ที่ไม่จบสิ้นมากกว่าจะเป็นเรื่องของอดีตแต่เพียงเท่านั้น การที่อนุสาวรีย์ใช้ชื่อที่ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการสื่อความถึงบุคคล หรือเหตุการณ์เฉพาะในอดีตเหมือนอนุสาวรีย์ อื่นๆ จึงมีการเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเปลี่ยนชื่ออนุสาวรีย์ เพื่อที่จะให้มีความหมายถึงการรำลึกอดีตที่เฉพาะมากขึ้น เช่น “อนุสาวรีย์คณะราษฎร” เพื่อระลึกถึงกลุ่มผู้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ "อนุสาวรีย์ 24 มิถุนา เพื่อรำลึกถึงวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง[2] ด้วยแต่ชื่อนี้ก็ไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจนปัจจุบัน

นอกจากชื่อของอนุสาวรีย์นี้ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากอนุสาวรีย์อื่นๆ แล้ว รูปแบบของอนุสาวรีย์ยัง มีความแตกต่างไปจากอนุสาวรีย์อื่นๆ ด้วย อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตยถือได้ว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่ใช้สัญลักษณ์ผ่านรูปทรงศิลปะมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นปีกทั้ง 4 ด้าน ปืนใหญ่ที่ฝังโดยรอบพานรัฐธรรมนูญ ภาพดุนประกอบฐาน ทั้ง 4 รูปพระขรรค์ทั้ง 6 ที่ประดับรอบป้อมตรงกลางแต่ สัญลักษณ์ที่ให้ความสำคัญคือป้อมตรงกลางที่เป็นที่ตั้งของพานรัฐธรรมนูญ ได้มีการกล่าวถึงสัญลักษณ์ต่างๆ นี้ เช่นการสร้างให้มีพานแว่นฟ้ารองรับรัฐธรรมนูญนั้นแสดงถึงการถวายรัฐธรรมนูญนี้ให้กษัตริย์มากกว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่กษัตริย์พระราชทาน เคยมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญนี้เกิดขึ้นด้วย โดยก่อนที่จะมีการสร้างอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณรัฐสภาได้เคยมีการแสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยการรื้อทิ้งและสร้างอนุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ แทนที่ แต่มีการคัดค้านการรื้อด้วยเหตุผลที่ว่า “อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นก็เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษากันแม้ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ของการกระทำที่ไม่ดี”[3] และ “ไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะสร้างพระบรมรูปพระองค์ท่านในท่านั่งพระราชทานรัฐธรรมนูญสวมลงแทนพานรัฐธรรมนูญของอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตยแต่ควรหาสถานที่ใหม่ที่เชิดชูพระเกียรติ และสร้างความสง่างามกว่า[4] อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงไม่มีความลงตัวระหว่าง “ชื่อ” “สัญลักษณ์" "ความหมาย" ที่พอดีในขณะที่ อนุสาวรีย์อื่นๆ ต้องการสร้าง "สิ่งที่ควรจำ" ชื่อของ อนุสาวรีย์ต่างๆ สามารถสื่อได้ชัดเจน เช่น บุคคลใดหรือ เหตุการณ์โด อนุสาวรีย์จะสร้างในรูปบุคคลนั้นๆ ใช้ชื่อ บุคคลหรือเหตุการณ์นั้นเป็นชื่ออนุสาวรีย์ แต่อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตยกลับกำกวมและไม่ชัดเจน

อนุสาวรีย์รูปปั้นในอดีตจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา หรือพิธีกรรมที่ต้องการตรึงความทรงจำไว้ซึ่งความหมายดั้งเดิมเป็นเรื่องของการคาดคะเน (speculation) (Osborne 1970, 0.737) อนุสาวรีย์ของหลุมฝังศพไม่เป็นที่นิยมในยุคกรีก จนกระทั่งหลังศตวรรษที่ 4 ที่เป็นครั้งแรกที่มีการอุทิศแก่ตัวแทนของอุดมคติ (idealized representation) แก่ผู้มีชื่อเสียงในอดีต รูปแบบต่างๆ ของอนุสาวรีย์ ปรากฏเป็นรูปปั้น นักกีฬา คนขี่ม้า ผู้นำที่มีหอกหลาว นักพูด นักปรัชญา อนุสาวรีย์ในแบบของกรีกเป็นที่นิยมมากในอาณาจักรโรมันและกรุงโรมนิยมทำเป็นรูปปั้นบุคคลโลหะ ("filled with a people of bronze") อนุสาวรีย์ในยุคเรอเนอของส์จะมีขนาดเล็กลง สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นกษัตริย์ที่สร้างอนุสาวรีย์ให้กับตนเองและเป็นตัวอย่างแก่อนุสาวรีย์ในยุคหลังศตวรรษที่ 18 ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสได้ทำลายอนุสาวรีย์หลายแห่งไปและในช่วงหลัง ค.ศ. 1870 อนุสาวรีย์ในปารีสก็มีไม่มากกว่า 9 แห่ง จนศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ถือเป็นยุคที่เฟื่องฟูของอนุสาวรีย์ที่เรียกว่า public monument อย่างมาก อนุสาวรีย์เหล่านี้เกิดขึ้นจากความต้องการของราชการและค่อยๆ มีการตัดขาดระหว่างงานศิลปะที่สร้างสรรค์ (creative art) กับศิลปะของราชการ (office art) ตัวอย่างของอนุสาวรีย์ทางราชการจะเห็นได้จากอนุสรณ์สถานของสงคราม หรือรูปปั้นคนขี่ม้า (equestrian  statue) หลุมฝังศพเริ่มเป็นที่นิยม อนุสาวรีย์จะสร้างขึ้นเพื่อยกย่องปัจเจกบุคคล เช่น คนสำคัญทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ฯลฯ (Osborne, 1970, p.738)

เมื่อมีการกล่าวถึงอนุสาวรีย์ในสังคมไทย มักจะมีความเข้าใจว่าเป็นเรื่องของชาติ (national) เป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกถือว่าเป็นอนุสาวรีย์ของรัฐชาติสมัยใหม่ เป็นเรื่องของ “ชาติ” (national) มากกว่าจะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล (individual) จึงเกิดพรมแดนความคิดในเรื่องความคิดหลักของชาติกับสิ่งที่ถูกกีดกันให้อยู่นอกความคิดแห่งชาติ ก่อเกิดความคิดของสาธารณะ (public) ที่ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกชน (private) แม้จะสร้างอนุสาวรีย์ในรูปของบุคคลที่อาจจะเป็นการยกย่องเฉพาะบุคคล เช่น อนุสาวรีย์จอมพล ป.พิบูลสงคราม อนุสาวรีย์สุนทรภู่ อนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจัน ฯลฯ แต่อนุสาวรีย์เหล่านี้กลับเกี่ยวข้องกับสังคมสาธารณะมากกว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นไว้ สำหรับเฉพาะกลุ่มคน ไม่มีการกล่าวถึงอนุสาวรีย์ว่าเป็นเพียงเรื่องของมนุษย์นิยมที่ยกย่องเชิดชูหรือให้ความสำคัญกับมนุษย์ในฐานะผู้บงการประวัติศาสตร์ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ตามทัศนะมนุษย์นิยมเท่านั้น คือเป็นเรื่องของชาติ, ประเทศ (จะเห็นว่าไม่พบเห็น อนุสาวรีย์ที่เชิดชูสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกเหนือจากมนุษย์) ไม่มีคำอธิบายที่กล้าจะกล่าวถึงการสร้างอนุสาวรีย์ในลักษณะที่ไม่มีเหตุผล หรือเป็นแค่ความพึงพอใจบางอย่าง ต่างกับการสร้างพระราชวังแวร์ซายส์ของพระเจ้า หลุยส์ที่ 14 ที่มีการกล่าวว่าเป็นเพียงเรื่องของความสำราญพระราชหฤทัยส่วนพระองค์เท่านั้น

อนุสาวรีย์ในรัฐสมัยใหม่กลายเป็นเวทีที่สะท้อนเรื่องราวของรัฐชาติ เป็นที่อยู่ของเรื่องราวของวีรบุรุษที่ส่งผ่านอดีตเพื่อเชื่อมต่อกับปัจจุบันเป็นสำคัญ แต่ขณะเดียวกันได้ก่อให้เกิดวาทกรรมและเป็นที่อยู่ของความคิดที่ไม่สามารถจัดรวมไว้ในความคิดของรัฐชาติด้วย นอกจากนี้อนุสาวรีย์ยังเชื่อว่ามีสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังรูปแบบและเนื้อหาของอนุสาวรีย์ต่างๆ เชื่อว่ามีสิ่งที่ “ถูกพูด อันเป็นเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ในรูปแบบ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีวาทกรรมใดที่ชูเด่นอยู่ข้ามกาลเวลาได้ตลอดเวลาและเนื้อหาที่ถือว่าเป็นแก่นของคำพูดของอนุสาวรีย์ นั้นก็เปลี่ยนแปลงไปได้ไม่มีความแน่นอน อนุสาวรีย์ไม่สามารถยึดกุมแก่นของสิ่งที่ถูกพูดไว้กับความคิดใดความคิดหนึ่งได้ตลอดไป อนุสาวรีย์เป็นรูปธรรมที่ปรากฏของวาทะ (Speech) ที่ไม่มีการควบคุมโดยโครงสร้าง หน่วยงาน องค์กรหรือบุคคลใดได้ หากแต่เป็น “อำนาจ” ของวาทกรรมต่างๆ ที่รายรอบ ที่ทำให้อนุสาวรีย์มีวาทะชนิดต่างๆ เกิดขึ้นในลักษณะที่ไม่สามารถกล่าวได้ว่าเกิดจากการตระหนักรู้และจงใจได้เสมอไป กรณีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีชื่อที่แตกต่างจากอนุสาวรีย์อื่นๆ จึงสามารถผลิตวาทกรรมใหม่ๆ ของตนขึ้นมาเองได้ ไม่ได้จำกัดการรำลึกถึงให้อยู่แต่ในเรื่องราวของอดีต และที่สำคัญที่อนุสาวรีย์ใช้ชื่อเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงความคิดประชาธิปไตยได้ด้วย          

การที่อนุสาวรีย์นี้สามารถก่อความหมายที่แตกต่างจากอนุสาวรีย์อื่นๆ ได้เองนั้น สืบเนื่องจากการที่มีคำว่า “ประชาธิปไตย” กำกับชื่ออนุสาวรีย์นี้อยู่มากพอสมควรและการรับรู้หรือความเข้าใจในเรื่อง “ประชาธิปไตย” ในสังคมไทยก็เป็นสิ่งที่สามารถส่งผลต่อความเข้าใจและการรับรู้เกี่ยวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย ดังนั้นวาทกรรมเกี่ยวกับประชาธิปไตยไทยจึงเป็นสิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไป

2. วาทกรรม "ประชาธิปไตย"

หากจะกล่าวถึงคำ “ประชาธิปไตย” ในสังคมไทยจะพบว่ามีการนำมาใช้เป็นชื่อหรือประกอบชื่อบางอย่าง อาทิ ชื่อหนังสือพิมพ์ ชื่อพรรคการเมือง หรือชื่อบางกลุ่ม โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่จัดตั้งก่อน พ.ศ. 2500 มีชื่อพรรคที่นำคำ “ประชาธิปไตย" มาประกอบ อาทิเช่น พรรค เสรีประชาธิปไตย พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคชาติ-ประชาธิปไตย พรรคชาติเสรีประชาธิปไตย และ พรรคสหพันธ์ประชาธิปไตย สำหรับพรรคที่จัดตั้งหลัง พ.ศ.2500 คือ พรรคแนวประชาธิปไตย และพรรค ประชาธิปไตย พรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตย พรรคกิจประชาธิปไตย พรรคแรงงานประชาธิปไตย พรรคสยามประชาธิปไตย พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติ พรรคพลังสังคมประชาธิปไตย เป็นต้น

ชื่อพรรคประชาธิปไตยนั้นมีความริเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์จะเปิด อภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมีความคิดว่าจะรวบรวมเสียงระหว่างพรรคธรรมาธิปัตย์ กับพรรคอิสระโดยให้ชื่อว่า “พรรคประชาธิปไตย” (กจช.ก/ป7/2493/3ก.) และในปี พ.ศ. 2517 ได้เกิดมีพรรคการเมือง ชื่อ “พรรคประชาธิปไตย” ขึ้น นอกจากนี้ค่าประชาธิปไตยยังได้ถูกนำมาใช้เรียกทหารเฉพาะกลุ่มในช่วงเวลาหนึ่งด้วย กลุ่มทหารได้แบ่งฝ่ายออกเป็นทหารประชาธิปไตย และทหารหนุ่ม (ยังเติร์ก)

ทหารประชาธิปไตยนั้น หมายถึง ทหารที่นิยมระบอบประชาธิปไตย ตรงกันข้ามกับทหารเผด็จการ ทหาร ประชาธิปไตยนั้นประกอบด้วยทหารทุกรุ่นทุกวัยไม่จำกัด ว่าเป็นรุ่นหนุ่มหรือวัยแก่ ทหารไทยส่วนข้างมากสุดนิยมระบอบประชาธิปไตย พวกเขาเชื่อว่าทหารประชาธิปไตยเป็นกำลังหลักในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2475 แต่หลังจากนั้น 4-5 ปี ทหารฝ่ายข้างน้อยที่นิยมเผด็จการได้นำการปกครองไปสู่ระบอบเผด็จการ จนภายหลัง 14 ตุลาคม ทหารจึงได้เริ่มแถลงการณ์อย่างเปิดเผยตัวว่าทหารสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ทหารสมัยนี้ ต้องการประชาธิปไตยเช่นเดียวกับประชาชน (ระวี วันเพ็ญ รวบรวม, 2530, น. 27-28) ทหารประชาธิปไตยมีส่วนเป็นเจ้าของนิตยสาร “ตะวันใหม่” ดังข้อความใน "ตะวันใหม่" ฉบับที่ 21 ตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ผู้ถือหุ้นบริษัทเจ้าของตะวันใหม่นั้นมีทหารรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังได้จัดพิมพ์ “แถลงการณ์ ทหารประชาธิปไตย” ลงในนิตยสารตะวันใหม่ฉบับที่ 40 วันที่ 3 พฤศจิกายน 2521 และ “สาส์นจากทหารประชาธิปไตย” ฉบับที่ 42 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2521 (ระ วันเพ็ญ (รวบรวม), 2530 น. 25) ทหารประชาธิปไตยได้ออกเอกสาร ตั้งแต่ 23 ตุลาคม 2521 - 13 กุมภาพันธ์ 2524 จำนวนทั้งสิ้น 20 ฉบับ

การที่ทหารประชาธิปไตยจะปฏิบัติหน้าที่ในการสร้างสรรค์ และรักษาระบอบประชาธิปไตยได้นั้น จะอาศัยแต่เพียงความนิยมระบอบประชาธิปไตยหาเพียงพอไม่ จำเป็นที่ทหารประชาธิปไตยจะต้องมีแนวความคิดและแนวทางประชาธิปไตยที่ถูกต้องด้วย ฉนั้นทหารประชาธิปไตยบางส่วนจึงพยายามศึกษาวิจัยและรวบรวมความคิดและแนวทางประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ดังที่เสนอแสดงทรรศนะบางปัญหาออกสู่การพิจารณาในการแถลงการณ์และสาส์น (ระวี วันเพ็ญ, (รวบรวม), 2530, น. 29)

ความต้องการชี้เฉพาะเจาะจงถึงเจตนารมณ์ในทาง ประชาธิปไตยของพรรคการเมืองต่างๆ จึงได้นำคำประชาธิปไตยมาตั้งเป็นชื่อหรือประกอบคำอื่นๆ เป็นชื่อพรรคการเมืองหรือชื่อกลุ่มทหารที่ต้องการแสดงออกซึ่งความคิด เห็นในแนวทางประชาธิปไตย จึงใช้ชื่อกลุ่มว่าทหาร ประชาธิปไตยแต่ในความเป็นจริงความหมายของประชาธิปไตยนั้น กินความหมายครอบคลุมวาทกรรมมากมายไม่ว่าจะ เป็นเรื่องของความคิด ทัศนคติ สังคม การปกครอง เศรษฐกิจ ค่านิยม แนวปฏิบัติต่างๆ มากมาย มีการกล่าวว่า “ประชาธิปไตย” ได้ถูกนิยามไว้มากมายกว่า 200 นิยาม จากการพยายามหาความหมายโดยนักวิชาการกว่า 100 คน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (วิสุทธิ โพธิแท่น, 2524, น. 13-14) หรือจากการศึกษางานเขียนที่เป็นวิทยานิพนธ์ (หรือผลงานที่มีความหมายใกล้เคียง) ในสังคมไทย จำนวน 30 ฉบับ แสดงให้เห็นว่าเกิดความไม่เข้าใจ "ประชาธิปไตย” ในสิ่งเดียวกัน และเห็นว่า “ประชาธิปไตย” เป็นมโนทัศน์ที่เป็นปัญหาในตัว (problematic) มีการทึกทักเอากรอบ ความคิดมาใช้ตามอัธยาศัยส่วนตัว “ประชาธิปไตย” เป็นตัวอย่างชั้นยอดเยี่ยมของมโนทัศน์ ที่กำลังถูกเถียงกันอย่างดุเดือดโดยที่หาข้อยุติที่เห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์ไม่ได้ แต่นักวิจัยไม่เห็นว่าแนวคิดนี้เป็นปัญหาในตัวเอง (สมเกียรติ วันทะนะ, 2539, น. 459, 470)

เมื่อลองนึกถึง “ประชาธิปไตย” คำๆ นี้จะเจือปนไป ด้วยการรับรู้ ความเข้าใจ ความคิด พฤติกรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลในทางรูปธรรมถือว่า “ประชาธิปไตย” ในระบบการเมืองไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นจริงเมื่อ พ.ศ. 2475 และในเริ่มต้นบางครั้งมีการใช้คำ “ประชาธิปไตย” กับ “รัฐธรรมนูญ” ปะปนกันไป บางครั้งมีความหมายตรงข้ามกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ “ประชาธิปไตย บางครั้งใช้เป็นสิ่งกล่าวอ้างถึง เช่น การประณามการกระทำที่ใช้ความรุนแรงของรัฐบาลว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย (ทั้งที่ประเทศประชาธิปไตย หลายประเทศก็มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนในรูป แบบที่แตกต่างกันไป) หรือการเลือกตั้งเป็นพฤติกรรมประชาธิปไตย (ทั้งที่อาจไปเลือกตั้งเพราะตกอยู่ภายใต้ ระบบอุปถัมภ์ก็เป็นได้) เป็นต้น กรณีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีค่า "ประชาธิปไตย" ประกอบเป็นชื่อที่มีความหมายที่ครอบคลุมกินความกว้างขวางซึ่งปฏิเสธได้ยากว่าเป็นคำที่มีค่านิยมแฝงอยู่ (value loaded) และบางครั้งก็มักใช้เป็นข้ออ้างเสมอ และเมื่อคำนี้เป็นคำที่มีค่านิยมแฝงอยู่ความพยายามที่จะให้ “คำ” เป็น “ตัวอธิบาย” สัจจภาวะของปรากฏการณ์ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 2528 น. 28)

ระบอบ "ประชาธิปไตย” ที่มีความพยายามที่จะนำ ไปเป็นแม่แบบของการปกครองในส่วนต่างๆ ของโลกนั้นแท้ที่จริงเป็นแนวความคิดทางการเมืองที่มีรากฐานมาจากคริสต์ศาสนาที่ไม่สามารถนิยามให้เป็นรูปธรรมอัน มีตัวอ้างอิงในเชิงประจักษ์ได้เป็นเพียง "ภาพตัวแทน" (representation หรือ Mimesis) เป็นแนวความคิด ประชาธิปไตยที่อยู่ในกรอบของรัฐประชาชาติที่เป็นการสวมความคิดหรือ "คำ” เข้าไปแทน (ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2539, น. 301) ประชาธิปไตยตะวันตกหรือประชาธิปไตยแอตแลนติคเหนือ (North Atlantic Democracy) นั้น ใฝ่ฝันวาดภาพประชาธิปไตยกรีกโบราณเป็น “ต้นแบบ” ทั้งๆ ที่กรีกโบราณไม่ได้อยู่ในกรอบของรัฐประชาชาติ (ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2539, น. 303) และเมื่อสิ้นสุดยุดของสงครามเย็นและการล่มสลายของระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตย ประชาธิปไตยได้กลายเป็นกระแสนำที่ถูกกล่าวอ้างความชอบธรรมในการปกครองมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันประชาธิปไตยในปัจจุบัน ประชาธิปไตยเป็นเพียง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม participatory democracy) และประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน (representative democracy) ของพวกเสรีนิยมเท่านั้น เป็นเรื่องของการเลือกตั้ง การเลือกตัวแทน (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2540 ข, น. 68) ความหมายของการเมืองแบบเก่าในลักษณะนี้เป็นความหมายแบบเก่า หรือมีความหมายเพียงแคบๆ คือ ความคิดถึงการเมืองในลักษณะของการมีพรรคการเมืองหรือ การเลือกตั้ง ที่เป็นเพียงพิธีการพิธีกรรมสำหรับรักษาอำนาจและสถานภาพเดิม เป็นประชาธิปไตยของระบบทุนนิยมที่ครอบง่ำประชาชนด้วยลัทธิบริโภคนิยมแบบต่างๆ เท่านั้น (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2540, น.12- 13) ที่แม้แต่ตัวลัทธิการปกครองประชาธิปไตยเองยังถูกบริโภคในรูปแบบต่างๆ ด้วย

ประชาธิปไตย” ถูกวางตลาดจัดจำหน่ายใน บรรจุภัณฑ์ประเภทสินค้าสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร ฯลฯ ในสภาพตลาด เสรีที่ใครๆ ก็ซื้อหา "ประชาธิปไตย" ได้ “ประชาธิปไตย” ที่ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าหมุนเวียนผ่านมือใครต่อใครอย่างเสรีเข้าไปในสภาพแวดล้อมและ การใช้ทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ฉะนี้ก็ย่อม ประสบชะตากรรมไม่ต่างจากสินค้าชนิดอื่นในระบบ ทุนนิยมกล่าวคือเสื่อมถอยหมดความศักดิ์สิทธิ์สูญ จะเสียประโยชน์ใช้สอยเฉพาะตัวของมันไป (เกษียร เตชะพีระ, 2537, น. 13)

ในที่สุดประชาธิปไตยได้กลายเป็นสิ่งเสพติดที่ถูกบรรเทาความเจ็บปวดของประชาชนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ก็เพราะถูกสร้างให้เป็นสำนึกที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นของปวงชน เพื่อปวงชนและโดยปวงชน (ธเนศ วงศ์ยาน นาวา, 2539, น. 303) ทั้งๆ ที่คำกล่าวที่อ้างกันบ่อยๆ เป็น คำกล่าวของประธานาธิบดีลินคอล์นของสหรัฐที่ได้กล่าว ไว้ ณ เมือง Gettysburg เมื่อ ปี ค.ศ. 1865 (พ.ศ. 2406) ซึ่งการกล่าวถึงประชาธิปไตยในความหมายนี้เกิดขึ้น หลังจากสหรัฐได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 76 ปี และขณะที่กล่าวคำพูดนี้การเลือกตั้งในสหรัฐก็ยังไม่ได้เป็นการเลือกตั้งแบบทั่วไปด้วย (อมร จันทรสมบูรณ์, 2537, น. 11)

ดังนั้น ลำพังแนวความคิด ทฤษฎี ภาคปฏิบัติ ความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยล้วนเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดทั้งวิชาความรู้ สถาบัน องค์กร หน่วยงาน กฎเกณฑ์ต่างๆ ตามมามากมายในสังคมโลก ในสังคมไทยมีความพยายามที่จะกล่าวถึงประชาธิปไตยในลักษณะต่างๆ บางคนเห็นว่าเกิดขึ้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แต่บางคนกลับเห็นว่าเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วกรณีการขึ้นดำรงตำแหน่งพระมหา กษัตริย์ของไทยที่เรียกว่า “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ”ประชาธิปไตยสามารถเชื่อมโยงกับวาทกรรมอื่นๆ มากมาย เช่น กระบวนการทำให้เป็นตะวันตก (westernization) ที่เมื่อมีการรับรู้ การจัดการศึกษาภายใต้ระบบ ตะวันตก องค์ความรู้ของโลกตะวันตก ดังนั้น ระบบการเมืองต้องเป็นแบบตะวันตกด้วยนั่นคือ ต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และเพื่อให้สภาพสอดคล้องกับการปกครองนี้ต้องมีความทันสมัย (modernization) มีการพัฒนาอุตสาหกรรม (industrialization) ประชาชนต้องได้รับการศึกษามีความตื่นตัวทางการเมืองในการที่จะรวมตัวเป็นกลุ่มผลประโยชน์หรือพรรคการเมืองและต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงจะเป็นสภาพสังคมที่เหมาะกับประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันสภาพเศรษฐกิจจะต้องเอื้ออำนวยต่อการปกครองนี้ด้วย นั่นคือ ระบบ เศรษฐกิจเสรี ที่เอื้อต่อทุนนิยม (capitalism) ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบการเมืองลำพังเท่านั้น ยังต้องครอบ คลุมเศรษฐกิจ สังคม ค่านิยม กระบวนการต่างๆ มากมาย ฯลฯ ดังนั้น เมื่อสังคมไทยเปิดรับคำ “ประชาธิปไตย จึงไม่ใช่สิ่งที่จะลงตัวแน่นอน เพราะในโลกตะวันตกเองยังถกเถียงในเรื่องนี้กันอย่างยาวนาน

การสร้างอนุสาวรีย์เพื่อให้เกิดการรำลึกถึง “ประชาธิปไตย” จึงก่อเกิดเป็นความคิดสำเร็จรูปได้ยากเพราะ “ประชาธิปไตย “อย่างที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นมีความคิดการรับรู้และความเข้าใจที่หลากหลายในขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาในตัวเอง (Problematic) ด้วย “ประชาธิปไตย” สำหรับบางคนไม่ใช่แค่เพียงรูปแบบการปกครองไม่ใช่เพียงแบบแผนทางเศรษฐกิจ แต่เป็นทัศนคติ ค่านิยม ระบบวัฒนธรรมที่ครอบคลุมได้ในหลายเรื่อง ซึ่งบางครั้งในยามปกติเราอาจจะไม่นึกถึงประชาธิปไตยมากมายเท่าไร เช่น ในภาวะปกติเรามักจะไม่รู้สึกตั้งคำถามกับ “สังคมประชาธิปไตย” ที่เป็นอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผูกขาดทางเศรษฐกิจ การผลิต การค้า การศึกษา การสื่อสาร การโฆษณา สถาบันหรือหน่วยงานราชการ ฯลฯ ที่เราถูกยัดเยียดโดยปราศจากซึ่งทางเลือก ต่อเมื่อมีภาวะที่เรารู้สึกถึงการที่ต้องเผชิญกับอำนาจรัฐ หรือรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมหรือมีลักษณะโน้มเอียงในทางใช้อำนาจ กระแสของความรู้สึกเกี่ยวกับประชาธิปไตยกลับ มีการกล่าวขานหรือเรียกร้องขึ้น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในภาวะปกติอาจจะชักนำให้ ผู้คนนึกถึงประชาธิปไตยได้ยาก แต่ในช่วงภาวะวิกฤติที่ เกิดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐ กับประชาชน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอาจกระตุ้นความคิดในเรื่องประชาธิปไตยได้มากกว่า เช่น กรณี 14 ตุลาคม 2516 หรือเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีการใช้พื้นที่อนุสาวรีย์เป็นพื้นที่แสดง ความต้องการในทางประชาธิปไตย ท่าให้อนุสาวรีย์นี้มีความหมายมากขึ้นกว่าปกติ

คำ “ประชาธิปไตย” ที่พ่วงท้ายชื่อของอนุสาวรีย์นี้ ในสังคมไทยยังมีความหมายหลากหลายไปได้หลายประการตามที่ได้กล่าวข้างต้น งานศึกษาเมื่อ 14 ปีที่ แล้วยังเชื่อว่า “ความหมายของประชาธิปไตยที่ใช้อยู่ ตลอด 50 ปี มิได้มีเพียงความหมายเดียว” (ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ กนก วงษ์ตระหง่าน, 2526, น. 285) และ เพราะความหมายของคำที่มีความหมายหลากหลายนี้นี่เองที่ทำให้อนุสาวรีย์นี้มีความหมายที่แตกต่างไปจากอนุสาวรีย์อื่นๆ ตามมาในหลายลักษณะ โดยเฉพาะสามารถสร้างความเชื่อมโยงกับความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้ภายใต้ชื่อนี้ ส่วนประชาธิปไตยในความหมายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้นมีอะไรบ้างในที่นี้จะขอจัดกลุ่มความหมายของประชาธิปไตยว่ามีการนิยามหรือให้ความหมายในลักษณะที่แตกต่างกันอยู่ 3 ประการ คือความหมายที่เกิดจากความหมายของคำที่ตรงข้ามหรือ เทียบเคียงความหมายที่เกิดจากหลักการตะวันตก และ ความหมายที่เกิดจากลักษณะเฉพาะในสังคมไทย

2.1 ความหมายที่เกิดจากค่าตรงข้ามหรือเทียบเคียง 

ความหมายของประชาธิปไตยในลักษณะแรกคือ การมีความหมายที่เกิดขึ้นจากการนิยามความหมายของคำที่ตรงข้ามกัน เช่น ประชาธิปไตยมีความหมายก็ต่อ เมื่อมีการเปรียบเทียบกับลักษณะที่ไม่เหมือนระบอบประชาธิปไตยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือระบอบสังคมนิยม หรือในลักษณะเดียวกันความหมายของประชาธิปไตยก็เกิดจากการเทียบเคียงกับคำ ราชาธิปไตย สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือสังคมนิยมด้วยเช่นกันว่า มีความคล้ายคลึงกันในส่วนใด ส่วนใดที่แตกต่างบ้าง การที่ “ประชาธิปไตย” เข้ามาสู่สังคมไทยได้กระแทกกับคำบางคำ (เช่น “ประชาธิปไตย” กับ “ศักดินา” หรือประกบคู่กับคำอื่น (เช่น Demokratie Kerakjatan ในภาษาอินโดนีเซีย) ทำให้ “ประชาธิปไตย” แตกสลาย ออกเป็นค่าล่องลอย (คำว่า “ประชาธิปไตย), ความหลาก หลาย (แนวคิดต่างๆ เรื่องประชาธิปไตย), และของทดแทน (สิ่งต่างๆ ที่ถูกเรียกว่า “ประชาธิปไตย”) (เกษียร เตชะพีระ, 2537, น. 9) จึงก่อความหมายขึ้นมาเอง ในยุคเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยไทยนั้น หนึ่งในคณะราษฎรคนสำคัญได้ ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการดำเนินการไว้อย่างชัดเจนว่า ระบอบใหม่ที่คณะราษฎรต้องการ คือ 

เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีศัพท์สมัยใหม่ว่า "ปฏิวัติ" หรือ "อภิวัฒน์” เพื่อถ่ายทอดคำฝรั่งเศส อังกฤษ REVOLUTION ดังนั้น เราจึงใช้ศัพท์ธรรมดาว่า “เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์ ที่อยู่ใต้กฎหมาย” (ปรีดี พนมยงค์, 2514, น.212)

ความคิดเบื้องต้นนั้นยังไม่มีการเรียกชื่อระบอบ ใหม่ว่าประชาธิปไตย เพียงแต่ต้องการที่จะจำกัดอำนาจ กษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายเท่านั้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงตระหนักในเรื่องนี้เป็น อย่างดี ตามหัตถเลขาที่คณะราษฎรเชิญให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้พระธรรมนูญ พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบว่าทรงยอมรับเป็นพระเจ้าแผ่นดินตามพระธรรมนูญ (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2533, น. 93)

ในเรื่องของประมุขของประเทศภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นได้มีการถกเถียงกันในคณะราษฎร ว่าจะปกครองประชาธิปไตยแบบมีพระเจ้าแผ่นดินใต้กฎหมายแบบอังกฤษหรือจะประกาศเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแบบสหรัฐในที่สุด หนึ่งในคณะราษฎรกล่าวถึงการตัดสินใจในครั้งนั้นว่า

(การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีพระเจ้าแผ่นดินใต้กฎหมาย-ผู้เขียน) เป็นสิ่งที่สมควรกระทำ เพราะว่าบ้านเมืองเราผู้คนยังไม่สู้จะเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยและยังไม่รู้จักเคารพนับถือบุคคลผู้ใดที่มีอุดมคติประชาธิปไตยในบัดนั้นมาก่อนเพียงพอ ถ้าหากว่าเราขืนแต่งตั้งพวกเราเป็นใหญ่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีผู้คนทั้งหลายไม่รู้จักและนับถือก็จะเกิดการยุ่งยากในภายหน้าอาจจะถึงรบราฆ่าฟันนองเลือดกันขึ้นได้...ฉะนั้นเราจึงเห็นสมควรที่จะใช้แบบ...ที่จะขอให้พระมหากษัตริย์ซึ่งบุคคลเคารพยำเกรงอยู่แล้วนั้นเป็นประธานในบ้านเมืองให้เรา เมื่อผู้คนทั้งหลายเคารพนับถืออยู่แล้วจะทำการสิ่งใดล่วงเกินก็ย่อมเกรงใจ บ้านเมืองก็จะรักษาอำนาจความเรียบร้อยเข้าไว้ได้ (จำรัส สุขุมวัฒนะ, 2491, น. 130)

ในเรื่องของประมุขประเทศนี้ได้ทำให้คณะราษฎร กล่าวถึงความหมายของประชาธิปไตยไว้ในจดหมายที่ส่งถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในกรณีที่พระองค์ไม่ทรงยอมรับข้อเสนอว่า “ก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างแบบประชาธิปไตย กล่าวคือประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ” (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2535, น. 17) ประชาธิปไตยในที่นี้จึงหมายถึง การปกครองที่ประมุขของประเทศเป็นคนสามัญและรูปแบบการปกครองที่คณะราษฎรต้องการ คือ ระบอบกษัตริย์ภายใต้กฎหมายเท่านั้น

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติได้ทำให้ปราศจากองค์พระประมุขที่ประทับเป็นประมุขของประเทศ ทำให้เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการเมืองไทย นั่นคือ กระบวนการเมืองต้องดำเนินไปโดยปราศจากประมุขตามระบอบรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการแข่งขันต่อสู้ซึ่งนอกจากจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์หรือกติกาแล้วยังต้องอาศัย “ผู้ตัดสิน” ด้วย ยิ่งปราศจากฐานของ “มติมหาชน” องค์ประกอบนี้ยิ่งมีความสำคัญเป็นทวีคูณเกิดการแตกแยกช่วงชิงฐานอำนาจกันในผู้นำฝ่ายทหารของคณะราษฎรและเมื่อการปราบกบฏ พ.ศ. 2476 ก็ส่งเสริมให้ทหารหนุ่มขึ้นสู่อำนาจ (เสน่ห์ จามริก, 2540, น. 138-139)

จะเห็นว่าความหมายของ “ประชาธิปไตย” ในยุคต้นนั้นมีความหมายเกี่ยวข้องกับเรื่องของประมุขของ ประเทศเป็นสำคัญ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้คำว่า “ประชาธิปไตย" ในความหมาย “republic” (เกษียร เตชะพีระ, 2537, น. 12) (อ้างจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จดหมายเหตุรายวันของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. 113, 2524: น. 7) และดิกชั่นนารีภาษาอังกฤษแปลเป็นไทย ร.ศ. 120 ของหลวงรัตนณัปติ (สงบ) แปลไว้ที่หน้า 404 ว่า “ซึ่งไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน มีแต่ผู้ซึ่งราษฎรเลือกขึ้นให้บังคับบัญชาบ้านเมือง (เกษียร เตชะพีระ, 2537, น. 12 อ้างจาก หลวงรัตนญัปติ (สงบ), 2444. น. 404)

คำประชาธิปไตยในขณะนั้นออกจะมีความหมายกำกวม ก่อน พ.ศ. 2475 “ประชาธิปไตย” หมายถึง เก็ก เหม็ง (สาธารณรัฐ) นั้นหมายถึง การขจัดสถาบันกษัตริย์ออกไปจากกระบวนการปกครอง ฉะนั้นหลัง พ.ศ. 2475 หมู่ผู้นำคณะราษฎรจึงเรียก “ราชาธิปไตย” ภายใต้รัฐธรรมนูญเพื่อเลี่ยงความรุนแรงของประชาธิปไตย (นิธิ      เอียวศรีวงศ์, 2538, น. 116) ความหมายของประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในช่วงแรกจึงให้ความสำคัญกับประมุขประเทศเป็นหลักและเหตุผลของการเลือกประมุขในแบบโดแบบหนึ่งก็เพื่อการวัฒนาของประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามใน ภายหลังเมื่อขาดองค์ประมุขในการตัดสินใจก็เป็นสิ่งที่สร้างเงื่อนไขให้ประชาธิปไตยเอื้อต่อการผูกขาดของฝ่าย กำลังในเวลาต่อมา ยุคเริ่มต้นประชาธิปไตยจึงมีความหมายเทียบเคียงหรือที่ให้ความสำคัญกับประมุขเป็นสำคัญ ต่อมาความหมายของประชาธิปไตยได้ถูกนิยาม โดยการเปรียบเทียบกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมีคำอธิบายที่หลากหลายไม่แพ้ประชาธิปไตยเช่นกัน

ความคิดเกี่ยวกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ในความเป็นจริงเกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อไม่นานมานี้เอง ระบอบนี้เคยถูกหนังสือพิมพ์เรียกว่า “ระบอบเจ้า” ที่ในความจริงแล้วมีขุนนางสามัญชนเป็นฐานของระบอบอยู่ ไม่น้อย แต่เพราะความคับแค้นของระบบซึ่งไม่ขยายฐานอำนาจของตนออกไปให้กว้างขวางในสังคม ระบอบนี้จึงถูกมองว่าเป็น “ระบอบเจ้า” และด้วยอำนาจแห่งภาษาเท่ากับถูกสาปให้เป็นระบอบที่ไร้ฐานที่เป็นไปได้ (viable) (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2538, น. 128) และถ้านับทศวรรษ พ.ศ. 2440 เป็นยุคเริ่มต้น (เมื่อรัฐบาลปราบกบฏไพร่ได้หมด) อายุของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสังคมไทยจะมีอายุน้อยที่สุดในโลก คือ มีอายุเพียง 30 ปีเศษ เท่านั้น (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2538, น. 134) ความล้มเหลวของการปฏิรูปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นั้นเกิดจากความล้มเหลวในการปฏิรูประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยราบรื่นมากกว่า ทรงล้มเหลวที่จะนำระบอบประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทยอย่างราบรื่น (นิธี เอียวศรีวงศ์, 2538, น. 134-435) และการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นก็เป็นการปฏิรูปสู่การเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ (Absolutist State) มากกว่ารัฐประชาชาติ (สมเกียรติ วันทะนะ, 2530, น. 75)

แม้รัฐไทยจะดำเนินการปกครองโดยใช้การปกครองรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เป็นการปกครอง ที่มีหลักของประชาธิปไตยเจือปนอยู่นั่นคือ หลักการ “เอนกนิกรสโมสรสมมติ” ที่ได้รับการตีความโดยหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรและนักคิดคนอื่นๆ ว่าเท่ากับระบอบประชาธิปไตยมีความเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยมีมาอย่างช้านานหรืออย่างน้อยก็มีแนวโน้มและมีการเตรียมการมาอย่างช้านานโดยองค์พระมหากษัตริย์ (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2533, น. 49) เป็นแนวคิดที่อธิบายฐานะอันชอบธรรมของระบอบกษัตริย์ว่ามีความสำคัญและ ความเป็นมาอันยาวนานเป็นแหล่งสะสมความรู้ทางวัฒนธรรม สำนักคิดประเพณีเกิดขึ้นเมื่อต้นพุทธศตวรรษ 25 พ.ศ. 2475 ที่เรียกว่าสำนักประเพณี (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2533, น. 45) ซึ่งต่างจากสำนักคิดตะวันตกที่อธิบายว่าก่อนหน้า พ.ศ. 2475 นั้นลักษณะการเมืองการปกครองไทยไม่มีสิ่งใดที่อาจเรียกได้ว่า เป็นประชาธิปไตยอยู่ในสังคมการเมืองไทย (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2533, น. 56) แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชหัตเลขาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ทรงปรารภถึงรายละเอียดเกี่ยวกับความคิดเรื่องเอนกชนนิกรสโมสรสมมติว่า

ตามที่ท่านทราบดีอยู่แล้วว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ ซึ่งพระราชอำนาจเด็ดขาดในทุกสิ่งทุกอย่าง หลักการข้อนี้เป็นสิ่งที่ดีมากและเหมาะกับประเทศนี้ อย่างยิ่งตราบเท่าที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่ดี ถ้าพระมหากษัตริย์เป็นเอนกชนนิกรสโมสรสมมติจริงก็เป็นที่หวังได้ว่าพระองค์จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดีพอประมาณ เป็นแต่ความคิดเรื่องเอนกชนนิกรสโมสรสมมตินี้แท้ที่จริงเป็นแต่ในทฤษฎีเท่านั้น ตามความจริงแล้ว กษัตริย์สยามครองราชย์โดยการสืบสันตติวงศ์ซึ่งก็มีผู้ให้เลือกที่จำกัดมาก (เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, 2535, น. 23) แต่การสืบราชสมบัติของพระมหากษัตริย์นี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการปรับตัวให้เป็นสถาบันที่ไม่ยึดติดกับบุคคลของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นเอง (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2538, น. 129)

การพยายามอธิบายความหมายของประชาธิปไตยจึงมีคำอธิบายในสองลักษณะคือ ความหมายตรงข้ามกับระบอบราชาธิปไตยแต่มีประมุขเป็นสามัญชน กับ ความหมายในอีกลักษณะหนึ่งคือการอธิบายโดยเทียบเคียงกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยอ้างว่าคล้ายคลึงกันกับหลักการเอนกชนนิกรสโมสรสมมติที่พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าฯ เองทรงมีพระราชปรารภว่าไม่ใช่หลักการที่แท้จริงเท่าการสืบราชสันตติวงศ์กลายเป็นการกล่าวอ้างหรือพยายามอธิบายมากกว่า

ในเวลาต่อมาเมื่อกระแสประชาธิปไตยตะวันตกพัฒนาการออกเป็นสองแนวทางระหว่างทางเสรีนิยมและ สังคมนิยม สหรัฐเป็นประเทศที่มีบทบาทในการทำให้ประชาธิปไตยแพร่หลาย ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน แม้จะยอมรับว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ปฏิบัติได้ยากที่สุด แต่ได้ประกาศเมื่อตอนนำสหรัฐเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ว่า วัตถุประสงค์ในการทำสงครามครั้งที่ 1 ของท่านก็เพื่อให้โลกนี้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับประชาธิปไตย คำประกาศนี้ได้มีผลทำให้ประเทศแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 คือ เยอรมัน ออสเตรีย และตุรกี รีบเปลี่ยนการปกครอง ตนจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยทันทีที่สงครามสงบลง ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกที่ได้ รับเอกราชเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่างก็นำเอารูปการปกครองประชาธิปไตยมาใช้ในประเทศตนทั้งสิ้น (กมล ทองธรรมชาติ, 2519, น. 263) และเมื่อถูกพวกคอมมิวนิสต์ก่อความสับสนเกี่ยวกับความหมายของ ประชาธิปไตย สหรัฐจึงเรียกประชาธิปไตยของตนเสียใหม่ว่า “เสรีประชาธิปไตย” (กมล ทองธรรมชาติ, 2519, น. 265)

ความคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยในสังคมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศสหรัฐน่าจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารในทศวรรษ 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 25 มิถุนายน 2493 รัฐบาลคอมมิวนิสต์แห่งเกาหลีเหนือได้ประกาศสงครามกับสาธารณรัฐเกาหลีใต้พร้อมกับส่งกำลังทหารเข้าสู่ เกาหลีใต้ องค์การสหประชาชาติได้เข้าช่วยเหลือและเรียกร้องชาติสมาชิก เมื่อมีการนำมติเข้าสู่การพิจารณา เมื่อ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 และได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาเมื่อ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 สหรัฐได้ ประกาศว่า

สหรัฐอเมริกาเตรียมแผนส่งอาวุธให้แก่ไทยแล้วโดยถือว่าไทยเป็นประเทศหนึ่งในการช่วยเหลือทางทหาร ซึ่งสภาได้อนุมัติแล้วและการเจรจาเพื่อกำหนดข้อตกลงระหว่างสองประเทศจะได้ทำกันที่กรุงเทพฯ ใน เวลาต่อไป ไม่ช้าต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม 2493 ความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางการทหารระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก็ได้ลงชื่อกันที่กรุงเทพวันที่ 30 กรกฎาคม 2493 กระทรวงกลาโหมก็ประกาศรับสมัครทหารอาสาไปช่วยสหประชาชาติ (ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์, สิทธิ ศาสนนันท์ และ ไชย เอี่ยมกระสินธุ์, 2496, น. 232) 

หลังจากนั้นเป็นต้นมาสหรัฐได้เข้ามาช่วยเหลือทางการทหารแก่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รัฐบาลไทยสามารถใช้ความกลัวของสหรัฐเพื่อผลประโยชน์ของ ประเทศไทยโดยใช้วิธีว่ามีแผนการคอมมิวนิสต์ที่จะโค่นรัฐบาลจอมพล ป. พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้ทำการปราบปรามคอมมิวนิสต์ฆ่าชาวจีนและมีการออกพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ. 2495 (ทักษ์ เฉลิม เตียรณ, 2526, น. 311) เหตุอีกประการหนึ่งเกิดจากการที่ฐานะทางการเมืองของจอมพล ป. ไม่มีความมั่นคงที่ ต้องแข่งขันกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ และ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ทำให้ต้องหันไปพึ่งพาสหรัฐ (ทักษ์ เฉลิม เตียรณ, 2526. น. 309) เงื่อนไขการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างเสรีนิยมและสังคมนิยมดำเนินไปภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐต่อประเทศไทยโดยเน้นความช่วยเหลือทางการทหารเป็นสำคัญ นิยามประชาธิปไตยมีแนวทางตามแบบสหรัฐ ตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นชัดในเรื่องนี้คือคำแถลงนโยบายของรัฐบาลจะพบว่า จากคำแถลงนโยบาย ของรัฐบาลจอมพล ป. ในช่วงเวลาต่างๆ ปรากฏว่า คำแถลงนโยบายเมื่อ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ระบุว่า “จะรักษาระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ส่วนคำแถลงนโยบายเมื่อ วันที่ 11 พ.ศ. 2494 ได้ระบุอีกว่า “รัฐบาลนี้จะส่งเสริมไมตรีอันมั่นคงกับนานาประเทศและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เชิดชูอุดมคติของสหประชาชาติและยึดมั่นอยู่ในฝ่ายเสรีประชาธิปไตย” และคำ “เสรีประชาธิปไตย" ก็ได้ปรากฏอีกครั้งในคำแถลงนโยบาย 3 เมษายน พ.ศ. 2495 (กจช.[2] สร. 0201. 10/8.8)

จากข้อความที่ปรากฏนี้พบว่ามีความเฉพาะเจาะจงของความหมายของระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นเสรีนิยม ไม่ใช่สังคมนิยม ความหมายของประชาธิปไตยในช่วงนี้จึงถูกนิยามโดยใช้ความตรงข้ามกับสังคมนิยมเป็นหลัก ภายหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล สฤษดิ์ ความหมายของประชาธิปไตยที่นิยามโดยใช้ ลักษณะตรงข้ามเป็นตัวเปรียบเทียบลักษณะนี้ยิ่งมีความเข้มข้นมากขึ้นจากคำปราศรัยของจอมพลสฤษดิ์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2502 เนื่องในวันชาติที่ได้กล่าวถึงภารกิจของแผนการปฏิวัติว่า แผนการปฏิวัติขั้นต่อไปคือการกวาดล้างสิ่งซึ่งเป็นภัยต่อชาติเสมือนทำการปัดกวาดชำระล้างสิ่งโสโครกโรคร้ายในบ้านของเรา

ภัยอันใหญ่หลวงคือคอมมิวนิสต์จำจะต้องขจัดภัย เหล่านี้ให้จงได้และถ้ามิได้อาศัยอำนาจปฏิวัติยากที่จะทำให้สำเร็จได้ด้วยวิธีอื่น ข้าพเจ้าจำต้องอาศัยอำนาจปฏิวัติสั่งจับคอมมิวนิสต์ ซึ่งตำรวจมีร่องรอยรู้เห็นอยู่แล้วว่าผู้ใดเป็นผู้แทนดำเนินการ...ด้วยเหตุนี้บทบัญญัติในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร จึงได้เหลืออำนาจปฏิวัติไว้ใน มาตรา 17 สำหรับงานกวาดล้างทำความสะอาดในบ้าน (กจช. มท. 00101.28.14/13)

ประชาธิปไตยที่ตรงข้ามกับความเป็นสังคมนิยมได้ถูกให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ความหมายใน ลักษณะแรกของประชาธิปไตยในสังคมไทยจึงเกิดจากการอธิบายความหมายของสิ่งที่ตรงข้าม เช่น ตรงข้าม จากระบอบกษัตริย์เหนือกฎหมายที่เป็นอยู่หรือตรงข้ามกับระบอบสังคมนิยมหรือมีความหมายเกิดจากเทียบเคียง กับความหมายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่อ้างว่ามีความเป็นประชาธิปไตยอย่างหนึ่งโดยหลักเอนกชนนิกรสโมสรสมมติ

2.2 ความหมายที่เกิดจากหลักการตะวันตก

ความหมายของประชาธิปไตยในสังคมไทยในลักษณะที่สองคือ ความหมายที่เกิดจากการนิยามตามหลักการ ตะวันตก เช่น การจะเป็นประชาธิปไตยได้นั้นจะต้องมี รัฐธรรมนูญ ประชาชนมีการศึกษา มีการเลือกตั้งและเกิดชนชั้นกลางในสังคม ด้วยการตั้งมาตราฐานของแนวทางการดำเนินสู่ความเป็นประชาธิปไตยตามแบบตะวันตกเป็นหลักแล้วพิจารณาว่าสังคมไทยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่างๆ นั้นหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์นั้น แสดงว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตยตามหลักเกณฑ์ตะวันตกนั่นเอง ซึ่งหลักการใหญ่ๆ ที่ได้รับการพิจารณาเป็นสำคัญของต้นแบบการเป็นประชาธิปไตยเหล่านี้มี ดังนี้

ประชาธิปไตยกับการมีรัฐธรรมนูญ การปกครองรูปแบบใหม่ที่คณะราษฎรสถาปนาในสังคมไทยหาได้เรียกระบอบประชาธิปไตยในแบบที่เข้าใจปัจจุบันไม่ ตลอดช่วง 60 ปี ความหมายได้แปรเปลี่ยนมาตลอดช่วงเวลา ในยุคเริ่มต้นเพื่อแผ้วถางสู่ความหมาย ประชาธิปไตย” ต้องต่อสู้ช่วงชิง แทนที่ บดบัง กับความหมายอื่นๆ โดยเฉพาะ “รัฐธรรมนูญ” จนสามารถสร้างตัวตนของความหมายของตนขึ้นอย่างแยกขาดจากระบอบรัฐธรรมนูญ และหลังจากนั้นภายในความหมายของตนเองนั้นได้แปรผันไปในลักษณะต่างๆ ตามมาอีก โดยมีชื่อเรียกที่เฉพาะมากขึ้น เช่น ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นต้น ความหมายของ “ประชาธิปไตย” ในยุคที่ต้องต่อสู้และสร้างความหมายของตนเองและผันแปรไปต่างๆ นี้มีผลต่อการเข้าใจอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปพร้อมกันด้วย

คงมีความเข้าใจร่วมกันแล้วว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญถือเป็นหลักสำคัญในการปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวถูกประกาศใช้ทันทีภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 3 วัน (27 มิถุนายน 2475) ยุคเริ่มต้น ของประชาธิปไตยไทยจึงเริ่มจากรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ความหมายของรัฐธรรมนูญดูเหมือนว่าจะแทนที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ดีกว่าคำประชาธิปไตย และภายใต้สภาวะการณ์นั้น คณะราษฎรรู้ดีว่ายังมิใช่การปกครอง ในรูปแบบของประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบตะวันตก จึงเรียกการปกครองขณะนั้นว่า ระบอบรัฐธรรมนูญ แต่ ความหมายของคำสองคำนี้ยังคงไหลเวียนอยู่ในสังคมไทยยุคเริ่มต้นอย่างปะปนกัน โดยไม่อาจแยกความหมาย อย่างเด็ดขาดได้ บางครั้งใช้แทนกัน บางครั้งช่วงชิงการครอบงำความหมายซึ่งกันและกัน แต่ความหมายของคำ รัฐธรรมนูญ ดูจะได้เปรียบคำ ประชาธิปไตย อยู่มาก เนื่องจากมีความเป็นรูปธรรม และถูกสถาปนาความ ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น

คณะราษฎรต้องสร้างสัญลักษณ์ของระบอบการปกครองใหม่ขึ้นโดยทำเป็นพาน มีรูปจำลองสมุดข่อยที่ เขียนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญวางอยู่บนพาน มีการแห่แหนรูปจำลองรัฐธรรมนูญไปตามจังหวัดต่างๆ และมีเจ้าหน้าที่อธิบายหลักการปกครองแบบใหม่ให้ประชาชน ฟัง การทำให้สัญลักษณ์ของระบอบใหม่ (รัฐธรรมนูญ) มีความศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นการทดแทนความศักดิ์สิทธิ์ และความสูงสุดของผู้ปกครองในระบอบเก่า (ชัยอนันต์ สมุทวณิช และกนก วงษ์ตระหง่าน, 2526, น. 22-23 และ น.29)

แต่กลับมีความคิดเห็นในอีกทางหนึ่งว่าการล้มอำนาจพระมหากษัตริย์ที่ปกครองเป็นพ่อเมืองลงไปแล้ว กลับไม่มีอะไรใหม่ที่ดีกว่ามาแทน ผู้ก่อการต้องประสบกับปัญหาที่คนไทยผู้เคยชินต่อลัทธิพ่อเมืองยังไม่มีความพร้อม เช่น มีคนเข้าไปนั่งในบ้านคนอื่นโดยอ้างว่ามีสิทธิเสมอภาคเท่ากัน หรือคนโดยมากคิดว่ารัฐธรรมนูญ ปกครองแผ่นดินที่ออกมาใช้เป็นลูกพระยาพหลฯ (เสนีย์ ปราโมช, 2517, น. 131)

อย่างไรก็ตาม การทำความศักดิ์สิทธิ์ให้กับรัฐธรรมนูญนั้นมีรูปธรรมแสดงปรากฏ เช่น การเล่าถึงการนำรัฐธรรมนูญจำลองไปยังจังหวัดต่างๆ ที่สะท้อนความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนี้

รัฐบาลทำรัฐธรรมนูญจำลองเหมือนตัวจริงเป็นสมุดข่อยใส่พานแว่นฟ้าจำนวนเท่าจำนวนจังหวัดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำไปประดิษฐานที่ศาลากลางจังหวัดของตน วันหนึ่งผมไปรับเพื่อนที่สถานีสุราษฎร์ซึ่งจะเดินทางมาโดยรถด่วน เห็นข้าราชการแต่งเครื่องเต็มยศยืนเข้าแถวอยู่บนชานชาลา นายมงคล รัตนวิจิตร ส.ส.นครศรีธรรมราช ประคองพานรัฐธรรมนูญลงจากรถไฟ กลดกางขึ้นทันที นายมงคลอุ้มพานรัฐธรรมนูญเดินตรวจพล ข้าราชการมีคนกางกลดไปตลอดแถว ดูรัฐธรรมนูญกลางกลด แล้วเหมือนจริงๆ พระเจ้าแผ่นดิน สมกับ “พระมหากษัตริย์รัฐธรรมนูญ” รถด่วนต้องหยุดกินเวลาหลายนาทีแสดงว่ารัฐธรรมนูญใหญ่มากเพราะตามธรรมดา รถด่วนสมัยโน้นจะไม่รอใครเป็นอันขาดผมได้เห็น กับตาว่ารถด่วนต้องรอรัฐธรรมนูญ (ประเสริฐ ทรัพย์ สุนทร, 2527, น. 39)

ความคิดในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญฉบับ วันที่ 10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเห็นพ้องด้วยเช่นกัน ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริที่พระองค์เตรียมไว้กล่าวในวันพระราชทาน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เห็นในพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญและยังให้โหรหลวงหาฤกษ์ยามวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ วันที่ 10 ธันวาคม 2475 เพราะทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นของที่ควรจะขลังจึงทรงแนะนำให้เขียนไว้ในสมุดไทย (สุพจน์ ด่านตระกูล, 2535 น. 296)

กระบวนการสร้างความศักดิ์สิทธิให้กับรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นตั้งแต่การทำสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญจัดส่วนให้ จังหวัดต่างๆ จัดงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้จากกรณีกบฏบวรเดชได้มีส่วนในการสร้างเสริมความ ศักดิ์สิทธิ์ให้แก่อนุสาวรีย์นี้มากขึ้นด้วย เพราะหลังเหตุการณ์รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษา รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476[5] เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2476 และสร้างอนุสาวรีย์ที่ให้ชื่อว่า “อนุสาวรีย์พิทักษ์ รัฐธรรมนูญ” คณะผู้ก่อการและรัฐบาลขณะนั้นได้ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญอย่างมาก แม้จะเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองก็ยังคงยึดมั่นรัฐธรรมนูญ

แม้จะมีการรัฐประหารถึง 4 ครั้ง ระหว่าง พ.ศ. 2476 -  2500 แต่คณะรัฐประหารก็มิได้ล้มล้างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด อย่างมากที่สุดก็เพียงได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น และรัฐธรรมนูญฉบับแรก (พ.ศ. 2475) ได้ใช้เป็นหลักในการปกครองอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 25 ปี (2475-2501) (ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ กนก วงษ์ตระหง่าน, 2526, น. 30)

ในช่วงแรกดูเหมือนความหมายของประชาธิปไตยจะถูกช่วงชิงการนำโดยระบอบรัฐธรรมนูญ แม้แต่ในคำ แถลงนโยบายของรัฐบาลชุดแรก คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ไม่ได้กล่าวถึง “ประชาธิปไตย” ทั้งๆ ที่เป็น รัฐบาลที่เพิ่งจะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย

แต่คำว่า “ประชาธิปไตย” เพิ่งจะเริ่มปรากฏในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดที่ 5 ของพระยาพหล พลพยุหเสนา (16 ธันวาคม พ.ศ. 2476 - 21 กันยายน พ.ศ. 2477) ว่า “...รัฐบาลนี้จะได้หาวิถีทางที่ดีซึ่งจะนำไปให้ถึงจุดที่หมายที่พลเมืองรู้จักการปกครองตามแบบประชาธิปไตยให้ได้มีความเป็นอยู่เหมาะสมแก่สมัย รัฐธรรมนูญ” (สมเกียรติ วันทะนะ, 2536, น. 109)

เหตุผลที่สนับสนุนการไม่กล่าวถึงคำ “ประชาธิปไตย” ของคณะราษฎรในช่วงแรกนั้นน่าจะเกิดจาก คณะราษฎรได้ตระหนักถึงความหมายประชาธิปไตยในเรื่องของเอกราชและอธิปไตยเหนือดินแดนเป็นสำคัญซึ่งช่วงแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นประเทศสยามยังไม่มีอิสระในทางการศาลและการศุลกากรอย่างสมบูรณ์ จึงไม่สะดวกใจที่จะเรียกระบอบการปกครองขณะนั้นว่าประชาธิปไตย แต่พึงเรียกระบอบ รัฐธรรมนูญ

โปรดระลึกถึงประเทศสยามหรือประเทศไทยก่อน 24 มิถุนายน 2475 ว่าสมัยนั้นประเทศไทยไม่มีความเป็นเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ เพราะจำต้องทำสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศทุนนิยมสมัย ใหม่ หรือที่เรียกว่า จักรวรรดิ์นิยม (Imperialism) หลายประเทศมีสิทธิเหนือประเทศไทยหลายประการ อาทิ คนในบังคับต่างประเทศเหล่านั้นทำผิดในดินแดนประเทศไทยแต่ศาลไทยก็ไม่มีอำนาจตัดสินชำระโทษคนทำผิดเหล่านั้น หากรัฐบาลไทยต้องส่งตัวคนต่างประเทศที่ทำผิดนั้นไปให้ศาลกงสุลของต่างประเทศชำาระคดี...เรียกตามศัพท์กฎหมาย ระหว่างประเทศว่า “สภาพนอกอาณาเขต" (Extra- territoriality) ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้นประเทศจักรวรรดินิยมดังกล่าวก็มีสิทธิพิเศษตามสนธิสัญญาไม่เสมอภาค คือ ประเทศไทยถูกบังคับให้เก็บภาษีขาเข้าได้ตามสนธิสัญญาขาเข้าได้ตามที่สนธิสัญญา กำหนดไว้คือ เดิมเก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 ของราคาสินค้าขาเข้า...ต่อมาปี พ.ศ. 2480 รัฐบาล พระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นได้บอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาค... แล้วได้มีการเจรจาสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่ประเทศไทยได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ทุกประการ (ปรีดี พนมยงค์, 2523, น.8) และความคิดในเรื่องชาติต้องมีเอกราชสมบูรณ์นี้เป็นสิ่งหนึ่งคณะราษฎรมีความเห็นพ้องต้องกัน ในการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ซึ่งความเห็นพ้องต้องกันนั้นมีเพียงสองประการเท่านั้น คือการจำกัดอำนาจของกษัตริย์ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นความคิดดังที่เข้าใจปัจจุบันกับความคิดว่าชาติต้องมีเอกราชสมบูรณ์ (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2533, น. 241-242)

หลังจากการเจรจาและยกเลิกสนธิสัญญาต่างๆ ที่จำกัดสิทธิทางการศาลและศุลกากรของสยามเป็นผลสำเร็จ จอมพล ป. พิบูลสงครามขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศ กำหนดวันชาติ และจัดสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (และในงานฉลอง วันชาติที่มีการวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2482 ได้กำหนดงานฉลองสนธิสัญญาในปีเดียวกันนี้ด้วย) ความเป็นประชาธิปไตยในความหมายของเอกราชอธิปไตยเหนือดินแดนอย่างแท้จริงจึงเกิดขึ้น ดังนั้น แม้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะมีรูปสัญลักษณ์สำคัญเป็นพานรัฐธรรมนูญ (คล้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ) แต่ก็มีชื่อเรียกใหม่ว่า “ประชาธิปไตย”

ต่อมาคณะราษฎรได้พยายามในการดำเนินการให้ประเทศเข้าสู่ภาวะประชาธิปไตยสมบูรณ์มากขึ้นเป็น ลำดับโดยเฉพาะช่วงเวลา 14 ปีแรกที่คณะราษฎรควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน แต่พัฒนาการประชาธิปไตย กลับต้องหยุดชะงักลงเมื่อมีการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ทั้งๆ ที่มีคำอธิบายว่าภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 นั้นเป็นความพยายามตั้งอยู่ในหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ถูกต้องสมบูรณ์และในสาระประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกพฤฒิสภาเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎรถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย “แบบการปกครองที่ถือมติที่ปวงชนเป็นใหญ่ (ปรีดี พนมยงค์, 2523, น.7)

หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว หรือที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม[6] ซึ่งบัญญัติให้วุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้งมิใช่เลือกตั้ง ต่อมาการปฏิวัติรัฐประหารได้เกิดติดตามมา ถึงปัจจุบัน 9 ครั้ง (พ.ศ. 2494. พ.ศ. 2500. พ.ศ. 2501, พ.ศ. 2514. พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2520 (2 ครั้ง), พ.ศ. 2524. พ.ศ. 2534 ไม่ประสบความสำเร็จสองครั้ง คือ พ.ศ. 2520. พ.ศ. 2524)

ในที่สุดการนิยามประชาธิปไตยต้องมีความสัมพันธ์กับความหมายของรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งมีการให้ความหมายรัฐธรรมนูญไว้ในลักษณะต่างๆ

คำ “รัฐธรรมนูญ” ได้มีขึ้นภายหลังเมื่อได้มีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 หรือฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ขึ้นแล้ว และเรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” คำว่า “รัฐธรรมนูญ” เป็นศัพท์ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรซึ่งทรงอธิบายไว้ว่า "...ตามศัพท์แปลว่าระเบียบ อำนาจ หน้าที่ และ “รัฐ” แปลว่าการปกครองแผ่นดินเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากวลีที่ว่า "พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” เพื่อให้กระทัดรัดขึ้น และเพื่อให้เป็นศัพท์ขลังตามสมควรแก่สภาพที่ศักดิ์สิทธิ์ คำว่า “รัฐธรรมนูญ” นี้เป็นคำแปลมาจากภาษาฝรั่งว่า "Constitution" เพราะวิธีปกครองแบบนี้เป็นวิธีที่ดัดแปลงมาจากฝรั่ง ดั่งปรากฏในพระราชปรารภแห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่สอง) ว่า “เพื่อให้สยามราชอาณาจักรได้มีการปกครองตามวิสัยอารยประเทศในสมัยปัจจุบัน...” จากปาฐกถาทางวิทยุกระจายเสียงเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” แสดงเมื่อคืนวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2476 โดยหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (ไพโรจน์ ชัยนาม, 2495, น.33)

แต่การพิจารณารัฐธรรมนูญว่ามีความหมายเพียงระเบียบการปกครองแผ่นดินเท่านั้นยังไม่เป็นการเพียงพอหากแต่รัฐธรรมนูญยังเป็นสัมพันธภาพทางอำนาจ เป็นตัวกำหนดแจกแจงว่า “ใครได้อะไร เมื่อไร และอย่างไร” (เสน่ห์ จามริก, 2540, น. 9) รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งมีชีวิตอยู่ในกระบวนการทางสังคมการเมือง อาจไม่มีความหมายแบบรัฐธรรมนูญเสรีนิยมตะวันตก (จํากัดอำนาจรัฐบาล) แต่มีเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างใดอย่าง หนึ่งตามสัมพันธภาพทางอำนาจ (เสน่ห์ จามริก, 2540, น. 29) และความสัมพันธ์ทางอำนาจนี้ยังผูกติดกับวัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมนั้นๆ ที่ต้องต่อสู้ช่วงชิงกันในเชิงอำนาจด้วย

รัฐธรรมนูญจึงเป็นข้อกำหนดของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมหนึ่งๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากใครเป็นผู้กำหนดขึ้น แต่เกิดจากการที่บุคคลและสถาบันต่างๆ ในสังคมนั้นได้ต่อสู้ช่วงชิงและรักษาสถานะแห่งอำนาจของตนมาเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดการยอมรับกันในระดับหนึ่งกลายเป็นประเพณีทางการปกครองและการเมืองและวัฒนธรรมทางการเมือง เป็นข้อกำหนดสูงสุดในสัมพันธภาพทางอำนาจหรือวัฒนธรรมทางการเมือง คือรัฐธรรมนูญที่แท้จริงของรัฐ หรือเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ ฉบับวัฒนธรรม” (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2538, น. 138-139)

รัฐธรรมนูญแม้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในสังคมไทยอย่างมากและแม้ว่าประชาธิปไตยในสังคมไทยจะผ่านมาถึง 60 ปี รัฐธรรมนูญก็ยังคงต้องมีการปรับแก้อยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดวิกฤติทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ทางออกภายหลังเหตุการณ์คือต้องร่างรัฐธรรมนูญ (กติกา) ฉบับใหม่ขึ้นใช้หลังเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535 มีกระแสการเรียกร้องให้ทำการปฏิรูปการเมือง ได้ปรากฏ ข้อเสนอที่แม้จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งองค์กรการเมืองและมีบทบัญญัติ ให้หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนยังต้องเพิ่มกลไกควบคุมและถ่วงดุลการใช้อำนาจของนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งด้วย (อมร จันทรสมบูรณ์, 2537, น. 7) แนวทาง Constitutionalism (รัฐธรรมนูญนิยม) คือ แนวคิดที่ได้รับการเสนอเป็นทางออกของการปฏิรูปการเมือง มีความหมายว่าจะใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรให้เป็นเครื่องมือในการกำหนดรูปแบบการปกครองและกำหนดกลไกอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการจัดองค์กรบริหารของรัฐ (อมร จันทรสมบูรณ์, 2537, น. 9)

ดังนั้น การปฏิรูปการเมืองควรมุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกัน คือ การแก้จุดอ่อนของ “ระบบรัฐสภาแบบเก่า” และ “ประชาธิปไตย” ที่มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะการจัดองค์กร (Organization) ในระบอบการปกครองทางการเมือง (ระดับชาติ) เท่านั้น แต่มีความหมายกระจายลงมาสู่การจัดการจัดรูปแบบขององค์กรทางบริหาร (ส่วนราชการ) ของรัฐด้วย (อมร จันทรสมบูรณ์, 2537, น. 37 และ น. 39)

กระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองโดยจัดทำรัฐธรรมนูญนี้ รัฐสภาได้ทำการแต่งตั้งคณะกรรมการ พัฒนาประชาธิปไตยขึ้น (คพป.) เพื่อศึกษาแนวทางในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและได้นำเสนอเป็นรายงาน ต่อรัฐสภาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2538 ต่อมารัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2538 ว่าจะ สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน มาตรา 211 ทั้งนี้โดยคำนึงถึงข้อเสนอ ของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, น. 158-159) ในที่สุดที่ประชุมรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบให้มีองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในรูปแบบของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ต่อมาจึงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 16 ณ วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ประชาธิปไตยกับการศึกษา ระบอบประชาธิปไตยมักจะมีความคิดว่าเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับการ ศึกษาเป็นอย่างมาก ด้วยเงื่อนไขในเรื่องการศึกษานี่เองที่เป็นเหตุให้การพระราชทานรัฐธรรมนูญที่เป็นพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ต้องถูกระงับไว้ การคัดค้านในการพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นก็โดย เหตุผลที่ว่า “ความไม่พร้อมของสยามต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นมีรากฐานมาจากความด้อยการศึกษาของประชาชนและที่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือความเชื่อที่ว่า ระบบการปกครองประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบบตะวันตกนั้นไม่เหมาะกับคนตะวันออก” (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2535, น. 49)

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรยังได้ประกาศหลัก 6 ประการเป็นหลัก โดยมีหัวข้อเรื่อง การศึกษาประกอบอยู่ด้วย ต่อมาเมื่อมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ในมาตรา 65 แห่งบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ยังได้ระบุว่า "เมื่อราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ยังมีการศึกษาไม่จบประถมศึกษาสามัญมากกว่ากึ่งจำนวน ทั้งหมด และอย่างช้าต้องไม่เกินกว่าสิบปีนับแต่วันใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภทมีจำนวนเท่ากัน (ปรีดี พนมยงค์ 2526. 14. 350)

ดังนั้น ความหมายของประชาธิปไตยถูกเชื่อมโยงกับการมีการศึกษาของประชาชนเป็นสำคัญ ด้วยเหตุผล หลักที่มักกล่าวอ้างกันเสมอๆ ว่าประชาชนด้อยการศึกษาทำให้มีความพยายามที่จะให้การสนับสนุนปลูกฝัง ระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง

ประชาธิปไตย จึงมีความหมายแคบๆ เพียงเท่าที่เป็นประชาธิปไตยตามแบบที่ชนชั้นนำเข้าใจและ เห็นว่าเหมาะกับใคร มากน้อยแค่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ประชาธิปไตยในวาทกรรมกระแสหลักของชนชั้นนำทางการเมืองไทยจึงเป็นประชาธิปไตยที่มี ชนชั้นนำเป็นผู้อุปถัมภ์ทุกขั้นตอนเป็นประชาธิปไตยแบบอุปถัมภ์ (สมเกียรติ วันทะนะ, 2536, น.111)

ประชาธิปไตยกับชนชั้นกลาง การยึดอำนาจ 2475 ในที่สุดก็มาจากกลุ่มที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางเศรษฐกิจโดยตรงนั้นคือ กลุ่มคนชั้นกลางที่มีคณะราษฎรขึ้นมาเป็นตัวแทน (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2535, น. 61) ชนชั้นกลางนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย สืบเนื่องมาจนถึงแนวความคิดในการปฏิรูป การพัฒนาที่เกิดขึ้นในยุคสฤษดิ์ก็มีเป้าหมายคือการสร้างสังคมใหม่ คือ สร้างชนชั้นกลาง (เสน่ห์ จามริก, 2540, หยิบ น. 218)

ช่วงเวลานี้ได้เกิดกลุ่มธุรกิจการค้าและอาชีพต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งสมาคมการค้าขึ้น จำนวนมากมาย ในจำนวนนี้มี 3 กลุ่มที่มีบทบาทต่อรองและกำหนดนโยบายรัฐบาลต่อไป ประกอบด้วยหอการค้าไทย สมาคมอุตสาหกรรมไทยและสมาคมธนาคารซึ่งครบวงจรกิจกรรมการค้า การเงิน และอุตสาหกรรม (เสน่ห์ จามริก, 2540, 14. 222-223)

แม้ชนชั้นกลางจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของพัฒนาการประชาธิปไตยในชาติตะวันตก แต่สำหรับสังคมไทยชนชั้นกลางกลับไม่ได้เป็นกลุ่มที่ผลักดันให้กลไกทางการเมืองและประชาธิปไตยดำเนินไปอย่างราบรื่น เกิดการขัดแย้งระหว่างชาวไร่ชาวนาในชนบทกับชนชั้นกลางในเมือง นั่นคือชาวนาเป็นฐานเสียงตั้งรัฐบาลแต่ชนชั้นกลางเป็นฐานนโยบายที่ล้มรัฐบาลโดยสอดคล้องกับสื่อมวลชนและการกดดันของทหาร เกิดการแตกแยกเป็นสองความคิด สองความต้องการ สองพฤติกรรม ที่เรียกว่า สองนคราประชาธิปไตย (เอนก เหล่าธรรมทัศน์, 2538, น.11) (เราปกครองคนส่วนกลางด้วยคนจากท้องถิ่นและ ปกครองท้องถิ่นด้วยคนจากส่วนกลางอันเป็นการผิดฝา ผิดตัว” เอนก เหล่าธรรมทัศน์, 2538, น. 49)

ความเห็นที่เชื่อในหลักการที่ว่าเมื่อสังคมใดมีชนชั้นกลางจำนวนมาก สังคมนั้นจะมีความเป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในความหมายตามหลักการนี้จึงมุ่งวิเคราะห์ชนชั้นกลางในสังคมไทยเป็นสำคัญ ถ้ามีแนวโน้มที่มีชนชั้นกลางมากขึ้นในสังคมไทยก็จะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตามมา

ประชาธิปไตยกับการเลือกตั้ง จากการกำหนดกติกาในการเลือกสรรผู้ปกครองไว้อย่างชัดเจน จึงทำให้ระบอบประชาธิปไตยถูกยอมรับว่าเป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด เพราะเมื่อใดที่มีการเลือกตั้งนั่นคือ รัฐได้หยิบยื่นอำนาจในการเลือกผู้ปกครองของประชาชน นี่เป็นหลักการของการเลือกตั้งซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย และแม้ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งบ่อยครั้ง ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยสูง กลับเป็นการสะท้อนระบอบประชาธิปไตยที่ไร้เสถียรภาพ โดยเฉพาะการซื้อสิทธิขายเสียง ถึงกับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ (รสช.) ใช้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่จำเป็นต้องทำการปฏิวัติ ประชาธิปไตยในลักษณะนี้อาจเรียกได้ว่า “ประชาธิปไตยแบบตลาด" หมายความว่าคะแนนเสียงเป็นสินค้าชนิดหนึ่งซึ่งการซื้อขายเป็นไปตามกลไกของตลาด ประชาชนหรือชาวบ้านขายคะแนนเสียงของตนให้กับนักธุรกิจการเมืองที่เสนอราคาให้ตนดีที่สุด” (สมเกียรติ วันทะนะ, 2536, น. 112) อย่างไรก็ตาม การซื้อขายเสียงนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าการที่จะประเมินว่าเป็นเพียงการซื้อขายคะแนนเสียงในรูปของสินค้าตามหลักเศรษฐศาสตร์ การซื้อขายเสียงเป็นเรื่องของการรักษาสัจจะไม่ใช่เรื่องของธุรกิจ ความสัมพันธ์กับหัวคะแนนต่างหากที่เป็นหลักประกัน

การซื้อขายเสียงเป็นพัฒนาการทางการเมืองในระยะหลัง แต่พัฒนาบนรากฐานของระบบความสัมพันธ์ในวัฒนธรรมไทย เป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนระหว่างคนที่มีสถานภาพไม่เท่าเทียมกันระหว่าง “ลูกพี่”และ “ลูกน้อง”ถ้าทุกคนพากัน ใช้วิจารณญาณของตนเลือก “คนดี” เข้าสภาหมด คนไทยส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมโดยปราศจากความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ได้อย่างไร เรามีกฎหมาย การกระจายโอกาส สิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการทรัพยากรท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ดี ฯลฯ ที่จะ มาทำหน้าที่แทนระบบอุปถัมภ์แล้วหรือ (นิธิ เอียว ศรีวงศ์, 2539, น. 252)

ถ้าจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ตะวันตกว่าลักษณะของประเทศตามแนวทางประชาธิปไตยต้องเป็นอย่างไร บ้างนั้น ความหมายของประชาธิปไตยก็จะถูกตีค่าให้เท่ากับสิ่งนั้นๆ เช่นประชาธิปไตยคือการมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง ประชาชนมีการศึกษา หรือมีชนชั้นกลางอยู่ในสังคมจำนวนมาก แต่หลักเกณฑ์ข้างต้นในสังคมไทยกลับมีความหมายที่ไม่เป็นไปตามแนวทางตะวันตก ดังนั้นจึงมีคำอธิบายความหมายของประชาธิปไตยที่เป็นการเฉพาะในสังคมไทยขึ้น ที่จะได้กล่าวถึงลำดับต่อไป

2.3 ความหมายที่นิยามภายใต้เงื่อนไขเฉพาะของสังคมไทย

2.3.1 ประชาธิปไตยแบบไทย 

การปฏิวัติเมื่อ 20 ตุลาคม 2501 เป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งแรกที่มีผลทำให้สถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องสิ้นสุดลง คณะปฏิวัติออกคำสั่งยกเลิกพรรคการเมือง และจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ...รูปธรรมของระบอบประชาธิปไตยได้หมดไป คณะปฏิวัติจึงจำเป็นต้องอธิบายถึงเหตุการณ์ล้มเลิกรูปธรรมของระบอบประชาธิปไตย นี่คือที่มาของการถกเถียงอันยาวนานเกี่ยวกับความหมายของประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นมาของการถกเถียงอันยาวนานเกี่ยวกับความหมายของประชาธิปไตย ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา...การหาเหตุผลที่จะสนับสนุนลักษณะของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีความแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ นี่คือที่มาของความคิดที่เกี่ยวกับ "ประชาธิปไตยแบบไทย” (ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ กนก วงษ์ตระหง่าน, 2526, น. 88. น. 90-91)

ภายหลังการปฏิวัตินี้ ได้มีการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาถึง 9 ปี ในการร่าง แต่ระยะเวลาที่ถูกประกาศใช้เพียง 3 ปี 5 เดือน มีการปฏิวัติยึดอำนาจโดยคนๆ เดียวกันที่เป็นผู้ลงนามสนองฯ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ จอมพลถนอม กิตติขจร ในช่วงเวลานี้ “ระบอบรัฐธรรมนูญ” กับ “ระบอบ ประชาธิปไตย” เริ่มมีการแยกความหมายอย่างชัดเจนมากขึ้น

เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่เป็นทั้งนามธรรม (ในแง่ความคิด) และรูปธรรมในแง่ของการมีรัฐธรรมนูญ (ลายลักษณ์อักษร) ประชาชนโดยทั่วไปจึงคุ้นเคยกับคำว่ารัฐธรรมนูญมากกว่าคำว่าประชาธิปไตย เพราะประชาชนสามารถเห็นภาพรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปธรรมได้ในแง่นี้ รัฐธรรมนูญจึงเป็นแนวคิดหลักและประชาธิปไตยเป็นแนวคิดรอง ซึ่งก่อเกิดความเข้าใจกันว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วประชาธิปไตยก็มีตามมาด้วย กล่าวอีกทางหนึ่งก็คือรัฐธรรมนูญ (ซึ่งเป็นรูปธรรม) เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย (ซึ่งเป็นนามธรรม) (ชัยอนันต์ สมุทวณิช และกนก วงษ์ตระหง่าน, 2526, น. 99)

“การปฏิวัติ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เป็นขั้นสำคัญที่สุดในวิวัฒนาการของประชาธิปไตยในประเทศไทยสืบต่อจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 คือ การก้าวจากประชาธิปไตยแบบตะวันตกไปสู่ประชาธิปไตยแบบไทย (เสน่ห์ จามริก, 2540, น. 269) “ระบอบปฏิวัติ 2502 ได้จัดตั้งระบบอำนาจคู่ขึ้น โดยมีคณะปฏิวัติในฐานะองค์กรพรรค กำกับองค์กรรัฐ (คณะรัฐมนตรี) และสภาร่างรัฐธรรมนูญมีฐานะรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติ (เสน่ห์ จามริก, 2540, น. 264) การสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมไม่จำกัดอยู่ที่การจัดให้มีรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องสอดคล้องกับสภาวะการณ์ที่เป็นจริงเท่านั้น หากโดยสาระแล้วยังหมายถึงการสร้างสังคมใหม่ทั้งระบบ (เสน่ห์ จามริก, 2540, น. 270)

การนำเสนอแนวทางการปกครองประเทศที่เหมาะสม สำหรับสังคมไทยขึ้นมาในลักษณะเฉพาะขึ้น ประกอบด้วยฝ่ายบริหารที่มีเสถียรภาพและมีความมั่นคง

เมื่อปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2501 จึงเริ่มพูดถึงประชาธิปไตยแบบไทย คือ เอาคำว่า "แบบไทย” เติมเข้าไป ข้างหลังและพูดกันกว้างขวางมากขึ้นเป็นลำดับ...คำว่า ประชาธิปไตยแบบไทยนั้นเกิดขึ้นจากความคิดที่จะ ประยุกต์ลัทธิประชาธิปไตยเข้ากับสภาพของประเทศไทยซึ่งเป็นความคิดที่หลวงวิจิตรวาทการพยายามจะให้ คณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ยึดถือเป็นแนวทาง (สุริยา (นามแฝง), 2521, น. 24)

หรืออาจมีความหมาย ดังนี้ 1. ต้องเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของชาวไทย มีรัฐธรรมนูญ ที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ประเทศไทยและสามารถปฏิบัติได้ 2. ไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งหรือรัฐธรรมนูญถาวร 3. มีความเป็นประชาธิปไตยทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม 4. จะต้องก่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งกระทำได้โดยฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งกว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ 5. ต้องมีระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมที่มีแผน 6. จะต้องเชิดชูพระมหากษัตริย์และถวายพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงมีส่วนได้ปกครองบ้านเมืองประชาชนพลเมืองตามสมควร 7. ต้องเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศ (ชัยอนันต์ สมุทวนิช และกนก วงษ์ตระหง่าน, 2526, น. 93-94)

มีการเขียนหนังสือประชาธิปไตยแบบไทยที่ “เป็นตัวอย่างของการใช้ภาษาทางการเมืองเพื่อโฆษณาชวน เชื่อ...พยายามที่จะให้เหตุผลในการสร้างความชอบธรรมแก่คณะปฏิวัติซึ่งปกครองประเทศในระบอบเผด็จการว่าต้องการสร้างประชาธิปไตยแบบไทย" (ชัยอนันต์ สมุทวนิช และกนก วงษ์ตระหง่าน, 2526, น. 102-104)

ดูเหมือนว่าความหมายของประชาธิปไตยแบบไทยนั้นเกิดขึ้นจากการอ้างความชอบธรรมของทหารในการปกครองที่มี “ความหมายทั้งในแง่ของเนื้อหาสาระเป้าหมาย (เช่น การเป็นอุดมการณ์, ความเหมาะสมกับลักษณะพิเศษของชาติไทย และการสนองความต้องการของประชาชนหรือใช้การได้ผล) และรูปแบบวิธีการ (คือมีรัฐธรรมนูญ, พรรคการเมือง, การเลือกตั้ง, ระบบรัฐสภา เป็นต้น) (เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, 2535 น. 145) นอกจาก นี้ยังมีความคิดเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยไทยที่เฉพาะ คือ ประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปรากฏขึ้นเคียงคู่กันด้วย

2.3.2 ประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

ถ้อยคำที่ว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ปรากฏอยู่อย่างเป็นทางการใน รัฐธรรมนูญ 2511 ในคำปรารภ ระบุว่า “ตามวิวัฒนาการปรากฏว่าระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์นั้นเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของปวงชนชาวไทยเป็นการถาวรมั่นคงตลอดมา...” (เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, 2535, น. 151) รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยบริบทในขณะนั้น ที่ให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมาก 

รัฐประหาร พ.ศ. 2500 นับเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นการนำเอา กลุ่มผู้นำทางการทหารซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการฝึกฝน และการศึกษาภายในประเทศไทยเข้ามาเป็นผู้นำทางการเมือง โดยมีทหารบกเป็นผู้นำผู้ซึ่งมิได้มีประสบการณ์การศึกษามาจากต่างประเทศความคิด ความเห็นเกือบจะเรียกได้ว่าเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะรู้สึกประทับใจในแนวคิดที่ว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นจุดมุ่งหมายสุดท้าย และในยุคสฤษดิ์ได้เกิดการอธิบายเหตุผลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตยแบบไทย” (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, 2526, 14 34)

ในการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ พ.ศ. 2500 อ้างเพียงว่าต้องรับผิดชอบต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง จึงมีรากฐานที่ไม่มั่นคงทำให้ต้องพึ่งพระบรมโพธิสมภารเพื่อการสนับสนุนและความชอบธรรม การประกาศฐานะของรัฐบาลว่าชอบธรรมเกิดขึ้นจากพระบรมโองการแต่งตั้ง ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ได้นำพระบรมราชโองการดังกล่าวนี้มาแสดงให้เห็นประจักษ์ด้วย[7]

เกิดการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็น สถาบันทางการเมืองอย่างรวดเร็วหลัง พ.ศ. 2500 รัฐบาลสฤษดิ์พยายามที่จะให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้แสดงพระองค์ทั้งในและนานาประเทศ ปลาย พ.ศ. 2502 - ต้น พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จเยือนประเทศใกล้เคียงคือ เวียดนาม พม่า และ กลางปี พ.ศ. 2503 - พ.ศ. 2504 เสด็จเยือน 14 ประเทศยุโรปและสหรัฐ เป็นเวลา 6 เดือน (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, 2526, น. 415-416) เมื่อพระองค์ทรงมีบารมีมากขึ้น รัฐบาลก็ได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย รัฐบาลได้จัดให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จประพาสภายในและภายนอกประเทศ ได้มีการรื้อฟื้นพระราชพิธีดั้งเดิม ขึ้นมาใหม่ วันชาติเปลี่ยนมาเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษา (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, 2526, น. 412) ระบอบประชาธิปไตยในยุคของสฤษดิ์แม้จะกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อความชอบธรรมแต่ขณะเดียวกัน ก็ได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วย ดังนั้น ในช่วงเวลานี้จึงเน้นระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นสำคัญ หลังจากการขึ้นสู่อำนาจของจอมพลถนอม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายขวาจัด สถาบันพระมหากษัตริย์จึงได้รับการตอกย้ำอย่างมาก ในช่วงของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่มีความเข้มข้นนี้ โดยเฉพาะช่วงเวลา พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2519 การนิยาม คำ ประชาธิปไตย” ถูกนำไปปฏิบัติโดยการสั่งการของ นายภิญโญ สาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการปี 2519 ว่า “ให้ครูและโรงเรียนทุกแห่งเรียนหรือสอนเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยให้เด่นชัด โดยใช้คำว่า “ระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เพราะคำว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นปัจจุบันใช้กันจนเฝือแม้คอมมิวนิสต์ก็เรียกตัวเองว่า “ประชาธิปไตย” ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดการสับสน" (หนังสือพิมพ์สยามรัฐ 6 ธันวาคม 2519 น. 1 และ น. 8)

หรือคำเตือนใจจาก “เลขาธิการสำนักงานผู้สังเกตการณ์รัฐสภาแห่งประเทศไทย (องค์การอาสาเอกชนเพื่อธำรงไว้ซึ่งกว่าการปกครองแบบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) ที่ปรากฏใน หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2524 หน้า 1 ว่า 

จำเป็นที่ประชาชนชาวไทยผู้ไม่หวังจะตกเป็นเหยื่อ ของการโฆษณาชวนเชื่อจากฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์จะต้องทราบความหมายที่แท้จริงของคำว่า ประชาธิปไตยในบทความที่ท่านอ่าน ในรายการทีวีวิทยุที่ท่านฟัง ในรายการปาฐกถาสัมมนาที่ท่านร่วมไม่ว่าจะเป็นผู้พูดหรือผู้ฟัง จำเป็นที่ท่านจะต้อง ถามความหมายของคำว่าประชาธิปไตยที่กำลังใช้อยู่ในขณะนั้นเสมอ จึงจะทราบว่าความหมายของคำว่าประชาธิปไตยที่ใช้นั้น ใช้ตามความหมายของคำประชาธิปไตยในค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หรือตามความหมายของคำประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเงียบๆ มีการกล่าวว่าทหารไม่สามารถ กล่าวคำว่าประชาธิปไตยได้เฉยๆ อีกต่อไปเพราะอาจหมายถึงประชาธิปไตยที่มีสภาเปรซิเดียมเป็นการใหญ่ก็ได้ จะต้องใช้คำว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยมีนัยทางทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับกองทัพหรือพรรคการเมืองน้อยลง แต่ให้ความสำคัญกับ “ระบอบ” หรือ องค์รวมทางการเมืองมากขึ้น โดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถอ้างเฉพาะสถาบันของตนขึ้นมาเหนือส่วนทั้งหมด ระบอบที่ว่านี้คือ “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (ธีรยุทธ บุญมี, 2536, น. 42-43)

ประชาธิปไตยแบบพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ได้รับการเชิดชู ภายใต้การปกครองของคณะปฏิวัติชุด ต่างๆ ที่รวบอำนาจสามารถพิจารณาการใช้อำนาจของคณะปฏิวัติเหล่านี้ว่า “มีการสืบทอดอำนาจเด็ดขาดใน ลักษณะต่างๆ[8] นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงการปกครองในช่วงเวลาเหล่านี้ว่านอกจากจะเป็นการผิดหลักการประชาธิปไตยยังผิดจากราชธรรมของการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิมอีกด้วย ปรีดีกล่าวว่า :

มีเพียงเป็นระบบที่ผิดต่อระบบประชาธิปไตยยังเป็นระบบที่ผิดต่อ "ราชธรรม” แห่งระบบพระมหากษัตริย์ ด้วยเพราะ...ระบบที่ใช้อำนาจเด็ดขาดของหัวหน้าคณะการเมืองและหัวหน้าคณะรัฐบาลใดๆ ที่เป็นเพียงฝ่ายบริหารนั้นประหารชีวิตหรือ จำคุกผู้ต้องหาว่ากระทำผิดได้โดยไม่ต้องส่งผู้ต้องหาให้ศาลพิจารณาพิพากษานั้นจึงเป็นระบบที่ผิดกับระบบประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้งและเป็นการละเมิดต่อพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์เพราะพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 5 ยังมีความว่า เรียกนามว่าเจ้าชีวิตซึ่งเป็นที่หมายว่าอำนาจอันจะฆ่าคนให้ตายโดยไม่ผิดอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ซึ่งความจริงสามารถจะทำได้ แต่ไม่เคยทำเลยนั้นก็เป็นการสมควรแก่บ้านเมืองในเวลานี้อยู่แล้ว...ทั้งนี้ ความปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยุคหลังนั้นไม่เคยทรงสั่งประหารผู้ใดเลยถ้าบุคคลใดต้องหาว่ากระทำผิดอัยการก็ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลยุติธรรมให้พิจารณาพิพากษาตามกระบวนความ (ปรีดี พนมยงค์, 2523, น. 16-17)

การปกครองประเทศที่ตกอยู่ภายใต้คณะปฏิวัติชุดต่างๆ (หรืออาจเรียกได้ว่าตกอยู่ภายใต้อำนาจของทหาร) พยายามที่จะเชื่อมโยงระบบประชาธิปไตยไทยให้อยู่ในความหมายเฉพาะของการเชิดชูพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ประชาธิปไตยไทยจะต้องมีความหมายเฉพาะเจาะจงมากขึ้นโดยเป็นความหมายที่ทางการยอมรับ แต่ขณะเดียวกันในส่วนของประชาธิปไตยในสังคมนั้นก็เริ่มมีประชาธิปไตยทางสังคมสร้างขึ้นเคียงคู่ไปกับความกดดันจากอำนาจเผด็จการของผู้ปกครอง ประชาธิปไตยทางสังคมเริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา ประชาชนเริ่มชัดเจนมากขึ้นโดยเฉพาะมีกระแสการก่อตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2496[9] จอม พล ป. ได้นำวิธีการทางประชาธิปไตยมาสู่สังคมไทยที่ เรียกว่า การไฮต์ปาร์ก (Hyde park) เปิดโอกาสแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และด้วยวิธีการนี้ได้เห็นดรรชนีการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนมากขึ้น บริเวณท้องสนามหลวงจัดเป็นสถานที่แสดงออกทางการเมือง ซึ่งได้ก่อความรุนแรงทางการเมืองตามมาด้วยในขณะเดียวกัน

มีการโจมตีรัฐบาล นักการเมือง และบางวันเกิดเหตุการณ์วุ่นวายที่ถึงขั้นนองเลือดการปาก้อนอิฐหินปาผู้พูดบนหลังคารถ หรือแทงกันตายก็มี พ.ศ. 2498 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง ปรากฏว่ามีการตั้งพรรคการเมืองมากมายเป็นประวัติการณ์ จำนวนถึง 30 พรรค มีการเลือกตั้งทั่วไป 26 ก.พ. 2500 และด้วยความไม่โปร่งใส่ของการเลือกตั้งจึงมีการเดินขบวนน่าโดยนักศึกษาประชาชนเกิดขึ้น (รอง ศยามานนท์, 2520, น. 331-335)

การอนุญาตให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองและมีพรรคการเมืองก่อตั้งจำนวนมากนี้สะท้อนความต้องการมีส่วนรวมในทางการเมืองของประชาชนที่เพิ่มขึ้น และเมื่อต้องตกอยู่ภายใต้การปฏิวัติ 2501 จนถึง 2516 ประชาธิปไตยทางสังคมอีกรูปแบบหนึ่งได้มีบทบาทอย่างเข้มข้น

ในช่วงปี 2516 - 2519 นั้นไม่ได้ถูกเสนอในแง่มุมทางสังคมนิยมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการมองจากแง่มุมของชาตินิยมอยู่ด้วย “อธิปไตย” และ “เอกราช สมบูรณ์” เป็นคำเรียกร้องที่ปรากฏในป้ายที่ชูขึ้น เพื่อการประท้วงเกือบทุกครั้ง...จะต่อสู้กับศัตรูของ “ชาติ” ได้สำเร็จก็ต้องเป็นประชาธิปไตย คือ ให้ โอกาสแก่คนทุกหมู่เหล่าซึ่งมีความหลากหลายในด้านผลประโยชน์และอื่นๆ อยู่มาก ได้เข้ามาจัดการปกครองตนเองไม่ต้องตกเป็นทาสของเผด็จการทหารตลอดไป (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2538, น. 180)

การปกครองแบบประชาธิปไตยได้ผนวกตนเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ภายหลังที่ประชาธิปไตยในยุคต้นพยายามสลายความสัมพันธ์นี้ลงแต่ไม่เป็นผล ประชาธิปไตยที่ผนวกกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคใหม่นี้ ต้องใช้คำกำกับให้มีความหมายชัดเจนว่า “ประชาธิปไตย แบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

การนำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปผูกพันกับระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะเป็นเช่นไร ก็ตามย่อมเท่ากับทำให้พระมหากษัตริย์ทรงผูกพันกับการเมืองโดยปริยายแม้จะเป็นโดยอ้อมก็ตาม การกล่าวว่าระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นระบอบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทยโดยสาระแล้วก็คือการอ้างพระมหากษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบประชาธิปไตยชนิดหนึ่งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง (หมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2521) แท้ที่จริงแล้วไม่ควรนำข้อความที่ว่า “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” มาต่อเข้ากับคำว่า"ประชาธิปไตย” แต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะในการเมืองไทยสมัย ใหม่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐอยู่แล้วและทรงดำรงฐานะดังกล่าวอยู่เสมอ (สมเกียรติ วันทะนะ, 2530, น. 121)

2.3.3 ประชาธิปไตยครึ่งใบ

ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบเป็นการเรียกช่วงเวลาหนึ่งของการเมืองไทยที่ยาวนานกว่า 10 ปี ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ได้รับการยอมรับจากพลังการเมืองส่วนต่างๆ มีการประนีประนอมอย่างหลวมๆ ระหว่างกองทัพกับพรรคการเมือง ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจชัดเจนระหว่างอำนาจในระบบและนอกระบบการกล่าวถึงรัฐธรรมนูญว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบนั้น หมายความว่า รัฐธรรมนูญที่ยังควบคุมอำนาจและบทบาททางการเมืองของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ โดยให้สมาชิกประเภทแต่งตั้ง (วุฒิสมาชิก) เป็นผู้คอยถ่วงอำนาจ จึงเปรียบเสมือนพรรครัฐบาลที่จะคอยค้ำจุนดำรงเสถียรภาพของรัฐบาล (เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, 2535, น. 72)

ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ด้านหนึ่งความสามารถของระบอบดูจะขึ้นอยู่กับฐานะบทบาทของพลังฝ่ายทหารที่จะมีส่วนกำกับควบคุมกลไกปฏิบัติงานทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ (สอดคล้องกับอุดมการณ์“ทหารประชาธิปไตย”) อันถือว่าภารกิจของทหารที่จะต้องมีส่วนร่วมสร้างระบอบประชาธิปไตย ในอีกด้านกลุ่มพลังและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจยังประกอบเป็นฐานอำนวยทั้งความชอบธรรมประสิทธิผลในการกำหนดแนวนโยบายของรัฐ ซึ่งผูกพันอยู่กับภาคเศรษฐกิจสังคมสมัยใหม่ (เสน่ห์ จามริก, 2540, น.373)

พันโท ประจักษ์ สว่างจิตร หนึ่งในทหารประชาธิปไตย ได้สรุปว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2521 มีลักษณะเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งหมายถึงการมีรัฐธรรมนูญมีมาตราการที่ยังควบคุมอำนาจและบทบาททางการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยให้มีสมาชิกสภา ประเภทแต่งตั้ง (วุฒิสภา) เป็นผู้คอยถ่วงอำนาจ (เฉลิม เกียรติ ผิวนวล, 2535, น. 75)

จะเห็นว่าวาทกรรมเกี่ยวกับประชาธิปไตยไม่ใช่ความคิดสมบูรณ์แบบที่สามารถนำเสนอหรือนึกถึงอย่างเป็นรูปธรรมได้ง่ายๆ และวาทกรรมเกี่ยวกับคำ "อนุสาวรีย์ “ประชาธิปไตย” ได้ส่งผลต่อความหมายของ "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ตามมา เช่น เป็นอนุสาวรีย์ที่เป็นอนุสรณ์ของประชาธิปไตยที่ตายแล้ว, ไม่มีพลัง, หรือสามารถแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นต้น ในขณะเดียวกันอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังสามารถใช้ในการเชื่อมโยงกับความเป็นประชาธิปไตยได้ภายใต้ชื่อเช่นนี้ด้วย เช่น กรณีการชุมชนเรียกร้องทางการเมืองที่มีการนำเสนอผ่านข้อเขียน หรือภาพการชุมชนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภายใต้ชื่อของอนุสาวรีย์สามารถ ก่อให้เกิดความคิดที่เชื่อมโยงว่าการชุมนุมเรียกร้องดังกล่าวเป็นการชุมนุมเรียกร้องในกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่การชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยน่าจะเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย ชื่อของอนุสาวรีย์จึงมีอำนาจในการอธิบายที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยง “การชุมนุม” กับ “ประชาธิปไตย” มากขึ้น หากอนุสาวรีย์นี้ใช้ชื่ออื่นอาจจะไม่สามารถสร้างความเชื่อมโยงได้ดีเท่ากับการมีชื่อเช่นนี้ได้ เช่น กรณีการชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น ขบวนของนักศึกษาได้มีการชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าด้วย แต่การอธิบายหรือภาพการชุมนุมกลับให้ความสำคัญกับบริเวณนี้มาก เท่ากับพยายามอธิบายเหตุการณ์ หรือใช้ภาพการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสร้างความหมาย เพราะชื่อของอนุสาวรีย์นี้สามารถก่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับ “ประชาธิปไตย” ได้ดีนั่นเอง

ในความเป็นจริงแล้ว การมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับการปกครองหรือสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น เช่น มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในประเทศนั้นๆ แล้ว จะต้องเป็นเครื่อง หมายที่แสดงว่าประเทศนั้นมีการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่การมี “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” อยู่ในสังคม ไทยก็สามารถสร้างคำถาม ผลิตวาทกรรม หรือสร้างพฤติกรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับ “ประชาธิปไตย” ได้ หรือ ก่อให้เกิดการโต้แย้งจากการมือนุสาวรีย์นี้ได้

หากให้คำอธิบายวาทกรรมที่รายรอบชื่อและคำของอนุสาวรีย์เหล่านี้ จะพบเห็นนัยหรือความหมายที่ต่อสู้ บดบัง สอดแทรก และตรงข้ามซ่อนอยู่ ตั้งแต่วาทกรรมของอนุสาวรีย์ วาทกรรมของประชาธิปไตย และวาทกรรม ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งวาทกรรมต่างๆ เหล่านี้จะสถาปนาอำนาจทางความหมายให้กับตัวอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตยในลักษณะที่ไม่ถูกบงการโดยโครงสร้างที่แน่นอนของโครงสร้างใดได้ และภายใต้ชื่อเช่นนี้สามารถสร้างคำอธิบายที่เชื่อมโยงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับ “ความเป็นประชาธิปไตย” ได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำคัญเฉพาะอย่างหนึ่งของอนุสาวรีย์ที่ต่างไปจากอนุสาวรีย์อื่นๆ

วาทกรรมประชาธิปไตยในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความหมายที่เกิดจากคำตรงข้ามหรือเทียบเคียง ความหมายที่เกิดจากหลักการความหมายที่เกิดขึ้นในบริบทเฉพาะต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีส่วนในการสร้างความเข้าใจต่อความหมายต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ้าจะให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสื่อถึงความเป็นประชาธิปไตยก็มีความหมายที่หลากหลายตามความหมายต่างๆ ที่ได้กล่าวข้างต้น แต่คำอธิบายนัยหรือความหมายที่เชื่อมต่อกับประชาธิปไตยจากชื่อของอนุสาวรีย์นี้ก็ไม่ใช่นัยที่กุมความหมายในลักษณะนี้ไว้แต่เพียงลำพัง ยังต้องพิจารณาถึงวาทกรรมอื่นๆ เช่น เรื่องของงานเขียน พื้นที่ หรือ ภาพที่เกิดขึ้นประกอบกันด้วย หากอนุสาวรีย์นี้มีชื่อว่า“อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” แต่กลับตั้งอยู่ในบริเวณที่ไม่เคยมีการเดินขบวนชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ตั้งอยู่บนถนนเส้นอื่นที่ไม่ใช่ถนนราชดำเนินเหมือนปัจจุบันอาจจะไม่มีนัยหรือความหมายอย่างที่เป็นอยู่ก็ได้

 

บรรณานุกรม

หนังสือและบทความในหนังสือ

  • กมล ทองธรรมชาติ. การเมืองและประชาธิปไตยของไทย กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ หจก.บรรณกิจเทรดดิ้ง2519.
  • จำรัส สุขุมวัฒนะ. (เล่าโดยพระประศาสน์พิทยายุทธ). แผนการปฏิวัตร พระนคร : โรงพิมพ์สารเสรี, 2491.
  • ฉันทิชย์ กระแสสินทร์, สิทธิ ศาสนนันท์ และไชย เอี่ยมกระสินธุ์. หนังสือที่ระลึกวันสถาปนากระทรวงกลาโหม. ภาคที่ 5. เล่ม 3. พระนคร : โรงพิมพ์ อักษรประเสริฐ, 2496.
  • เฉลิมเกียรติ ผิวนวล. ความคิดทางการเมืองของทหารไทย 2519-2535. กรุงเทพฯ : นำอักษรการพิมพ์, 2535.
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ. สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2535.
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. 2475 การปฏิวัติของสยาม. กรุงเทพฯ : บริษัทพลพันธ์การพิมพ์ จำกัด, 2535.
  • ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. การเมืองมนุษย์ : รัฐศาสตร์ทวนกระแส. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2528
  • ชัยอนันท์ สมุทรวณิช. 14 ตุลา : คณะราษฎร์ กับกบฏบวรเดช. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, 2517.
  • ชัยอนันต์ สมุทรวณิช และกนก วงศ์ตระหง่าน. ภาษากับการเมือง. กรุงเทพฯ : เจ้าพระยาการพิมพ์, 2526
  • ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ /ขบวนการเคลื่อนไหวประชาสังคม ในต่างประเทศ : บทสำรวจพัฒนาการสถานภาพและนัยยะเชิงความคิดทฤษฎีต่อการพัฒนาประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิภาษา, 2540
  • ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (Thailand : The Politics of Despotic Paternalism). พรรณี ฉัตรพลรักษ์ และประกายทอง สิริสุข (ผู้แปล) การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.
  • ธเนศ วงศ์ยานนาวา. “ประชาธิปไตยในยุคหลังสมัยใหม่." ใน จินตนาการสู่ปี 2000 : นวกรรมเชิงกระบวนทัศน์ด้านไทยศึกษา? น. 297-342 ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บก.) กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2539.
  • ธงชัย วินิจจะกูล. “ความอิหลักอิเหลือแห่งชาติ.” ใน ตุลากาล. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Good Old Days, 2539. 
  • ธีรยุทธ บุญมี. สังคมเข้มแข็ง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ มิ่งมิตร, 2536.
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ความคิด ความรู้ และอำนาจ ทางการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475. กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2533. 
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. “วีรบุรุษในวัฒนธรรมไทย” การแสดงปาฐกถาพิเศษ ป่วย อึ้งภากรณ์ ครั้งที่ 4. 
    9 มีนาคม 2536 ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. “สงครามอนุสาวรีย์กับรัฐไทย" น. 89- 124; “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย"
    น. 125- 135; รัฐธรรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย.” น. 136- 171; “ชาตินิยมในขบวนการประชาธิปไตย" น. 172- 198; ใน ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2538.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. สองหน้าสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ผู้จัดการ,  2539.
  • ปรีดี พนมยงค์. “เกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย." น. 210-279 ใน รัฐศาสตร์ 14 ฉบับ ปฏิวัติและประชาธิปไตย. ชูศักดิ์ อชรางกูร (รวบรวม) กรุงเทพฯ : เจริญวิทย์การพิมพ์, 2514.
  • ปรีดี พนมยงค์. สัมภาษณ์พิเศษในโอกาสครบรอบ 48 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2523. สัมภาษณ์โดยผู้แทนสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน. กรุงเทพฯ : หจก.เกษมการพิมพ์, 2523.
  • ปรีดี พนมยงค์. ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย. รวมข้อเขียน (2443-2526). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.
  • ไพโรจน์ ชัยนาม. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ เล่ม 2. ตอนที่ 1. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2495.
  • ระวี วันเพ็ญ (รวบรวม). ข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาของชาติของทหารประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ 2. 2530.
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2540.
  • รอง ศยามานนท์. ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2520
  • วิสุทธิ์ โพธิแท่น, ประชาธิปไตยแนวคิดและตัวแบบประชาธิปไตยในอุดมคติ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2524
  • สุพจน์ ด่านตระกูล. “หมายเหตุเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญสามฉบับ” น.293-301 ใน แนวคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์. มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และโครงการ 60 ปี ประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2535.
  • สุริยา (นามแฝง). ลัทธิประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สุวรรณภูมิ, 2521.
  • สมเกียรติ วันทะนะ. “ชนชั้นนำกับประชาธิปไตยไทย.” น. 58-113 ใน 60 ปี ประชาธิปไตยไทย คณะกรรมการ 60 ปีประชาธิปไตย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (บก.) กรุงเทพฯ : ครีเอทีฟ พับลิชชิ่ง จำกัด, 2536.
  • สมเกียรติ วันทะนะ. “เมืองไทยยุคใหม่: สัมพันธภาพระหว่างรัฐกับประวัติศาสตร์สำนึก.” ใน อยู่เมืองไทย น 71-123 สมบัติ จันทรวงศ์ และ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บก.) กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530.
  • สมเกียรติ วันทะนะ “ไทยศึกษายุคใหม่ : ข้อจำกัดของการวิจัยเชิงปริมาณ." ใน จินตนาการสู่ปี 2000   นวกรรมเชิงประบวนทัศน์ด้านไทยศึกษา? น. 457- 494 ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บก.) กรุงเทพฯ : สำนัก งานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2539
  • เสน่ห์ จามริก. การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ. พิมพ์ครั้งที่ 2 . มูลนิธฺโครงการตำราสังคมศาสตร์ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540.
  • เสนีย์ ปราโมช. “การเมืองไทย.” ใน รัฐศาสตร์ 14 ฉบับ ปฏิวัติและประชาธิปไตย. น. 114-151. ชูศักดิ์ อชรางกูร (รวบรวม). กรุงเทพฯ : เจริญวิทย์การ พิมพ์, 2517.
  • อมร จันทรสมบูรณ์. คอนสติตัวชั่นแนลลิสม์ : ทางออกของประเทศไทย. สถาบันนโยบายศึกษา, 2537 
  • เอนก เหล่าธรรมทัศน์. สองนัคราประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2538.

บทความ

  • เกษียร เตชะพีร.ะ “การเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยประชาธิปไตย : บทนำเปรียบเทียบเชิงทฤษฎี” ใน รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 (มีนาคม 2537): น.6-23.
  • ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร. “คณะราษฎร - อุปสรรคของ ความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศ ไทย" ใน หลักไทย ปีที่ 2 ฉบับที่ 95 (8 ธ.ค. 2526) และ ปีที่ 3 ฉบับที่ 125 (5 ก.ค. 2527).
  • วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. “ใครสร้าง (อนุสาวรีย์) ประชาธิปไตย” ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 38 ฉบับที่ 33 (19 – 25 ม.ค. 35) : น.57 – 58.

วิทยานิพนธ์

  • พิบูลย์ หัตถกิจโกศล. อนุสาวรีย์ไทย : การศึกษาในเชิงการเมือง. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527.

เอกสารขั้นต้น

  • กจช., เอกสารกระทรวงมหาดไทย (1) มท. 3.1.4.7/62 แถลงการณ์ของรัฐบาล เรื่องประเทศภาคี ส.ป.อ. ส่งกำลังทหารเข้ามาร่วมมือกับกองทหารไทยเพื่อป้องกันการคุกคามของฝ่ายคอมมิวนิสต์ (11 พ.ค. 5 มิ.ย. 2505).
  • -----, ก/ป1/2512/14 นายใหญ่ ศวิตชาติ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ คัดค้านการรื้ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ 24 ธันวาคม 2512.
  • -----, ก/ป8/2513/33 อนุสาวรีย์ (ข่าวตัดหนังสือพิมพ์) (3 มกราคม 2513 - 14 ธันวาคม 2513) 
    นายแคล้ว นรปติ รองหัวหน้าพรรคเศรษฐกร ค้านการสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ทับบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย.
  • -----, ก/ป7/2496/บ. 3.4 บทความและสารคดีต่างๆ จาก-----, ก/ป7/2496/บ. 3.4 บทความและสารคดีต่างๆ จาก “การเมืองนอกเวที” โดย อานนท์ หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2496.
  • —--,ก/ป7/2493/3 ก. บทความเห็นและความเคลื่อนไหวทางความคิดเห็นที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์คัด จากหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย 14 มกราคม 2493.
  • ----- เอกสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี [2] สร.0201 10/8.8 เรื่อง คำแถลงนโยบายของรัฐบาล (ตอน 3) (2 พฤษภาคม 2492 - 5 สิงหาคม 2497).

หนังสือพิมพ์

  • หนังสือพิมพ์ สยามรัฐรายวัน (6 ธันวาคม 2519) น.1, 8.

หนังสือต่างประเทศ 

  • Osborne, Harold. The oxford Companion to Art. Oxford University Press, 1970.

 

[1] จดหมายจาก นายปิยะณัฐ วัชรากรณ์ ในฐานะสมาชิกงภาผู้แทนราษฎร จ.ศรีสะเกษ ลงวันที่ 9 มิ.ย. 2525 ถึงนายกรัฐมนตรี และ ถูกนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา บันทึกการลงมติว่าทราบ (ไม่ต้องยืนยันมติ)
 

[2] เพิ่งอ้าง. ความคิดในการเปลี่ยนแปลงชื่อนี้เคยเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จมาแล้ว กรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดิมที่ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ได้มีการเสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็น”มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” หรือให้ตัดคำว่า “การเมือง” ที่อาจทำให้เข้าใจผิดปละมิใช่เป็นวิชาที่แท้จริงออก ซึ่งกรณีนี้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาและเห็นพ้องให้ตัดคำ”การเมือง” ออกในปี พ.ศ.2495 รายละเอียดโปรดดู ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2535) น.168-170

[3] กจช. ก/ป/2512/14 กรณี นายใหญ่ ศวิตชาติ เลขาธิการพรรคประชาชนคัดค้านการรื้ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

[4] กจช. ก/ป/2513/33 อนุสาวรีย์ (ข่าวตัดหนังสือพิมพ์ 3 ม.ค. 2513-14 ธ.ค. 2514).

[5] รายละเอียดของพระราชบัญญัติมาตรา 3 ผู้ใดกระทำการด้วย ประการใดๆ เป็นปฏิปักษ์ต่อหรือเพื่อให้ประชาชนเสื่อมความนิยม หรือหวาดหวั่นต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม แม้การกระทำดังกล่าวมาแล้วจะเป็นเพียงการคบคิดหรือ ทำความตกลง หรือจะเตรียมการก็ตาม ท่านว่าผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีจนถึงยี่สิบปี หรือปรับตั้งแต่ 500 บาท จน ถึง 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 1 ยังระบุว่าอาจจะมีการเพิกถอนคำสั่งได้เมื่อยอมรับรองว่า 1. จะไม่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบรัฐธรรมนูญ 2. จะเผยแผ่สนับสนุนด้วยความบริสุทธิ์ใจซึ่งการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าในพระราชบัญญัตินี้เรียกระบอบการปกครองขณะนั้นว่าระบอบรัฐธรรมนูญ (ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย) และมีเจตนารมณ์ในการปกป้องรัฐธรรมนูญ (รายละเอียดการตั้งกรรมาธิการ, รายงานการประชุมสภาฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้ โปรดดู ชัยอนันต์ สมุทวณิช 14 ตุลา คณะราษฎร กับ กบฏบวรเดช กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, 2517, น. 106-124 แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่ไม่ยุติธรรมพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวพาดพิงในการเจรจากับรัฐบาลก่อนสละราชสมบัติถึงพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า “พระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญเป็นการกดขี่และตัดสิทธิไม่ให้บุคคล แสดงความคิดเห็นเมื่อมีเรื่องขึ้นก็ไม่ให้โอกาสจำเลยสู้ดีในโรงศาล เมื่อผู้ใดออกความคิดเห็นขัดต่อรัฐบาลก็หาว่าคิดร้ายต่อรัฐบาล โปรดดู รอง ศยามานนท์ ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ กรุงเทพฯ ไทยวัฒนาพานิช, 2520, น.88

[6] หมายถึง รัฐธรรมนูญฉบับ 3 พฤศจิกายน 2490 ที่คณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้แถลงว่าฝ่ายตนได้แอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เก็บซ่อนไว้ที่ใต้ตุ่มโดยกำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย วุฒิสมาชิก และสภาผู้แทนฯ วุฒิสมาชิกเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้งมี จำนวนเท่าสมาชิกสภาผู้แทนฯ ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับ พฤษ ภาคม 2489 ที่กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยพฤฒิสภากับสภาผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งทางตรงและทางอ้อม

[7] “...ภายหลังรัฐประหารกันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทันทีเพื่อกราบบังคมทูลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนคร ในการแถลงข่าวต่อหนังสือพิมพ์ เมื่อ 17 กันยายน 2500 เขากล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นผู้รักษาพระนคร และมีอำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งได้ตามกฎหมายเพราะเป็นพระบรมราชโองการ...” และได้เก็บพระบรมราชโองการต้นฉบับนี้ไว้ที่ตู้นิรภัยและได้สำเนาแจกแก่บรรดาหนังสือพิมพ์ต่างๆ รายละเอียด โปรดดู ทักษ์ เฉลิมเตียรณ “Thailand: The Politics of Despotic paternalism” พรรณี ฉัตรพลรักษ์ และประกายทอง สิริสุข (ผู้แปล). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2525, น.159-165

[8] ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ใช้อำนาจเด็ดขาด โดย “คำสั่งคณะปฏิวัติ" พ.ศ. 2502 มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรไทย มาตรา 17 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่ง หรือกระทำการ (จำคุกหรือประหารชีวิต) ในการปราบปรามการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ ประหารชีวิต บุคคลที่ต้องการกระทำผิด 9 ปี ต่อมามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 แต่ในปี พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ทำการปฏิวัติและใช้ "คำสั่งปฏิวัติ" ปกครองประเทศ จน พ.ศ 2515 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2515 ซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในลักษณะเดียวกับสมัยจอมพล สฤษดิ์อีก ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2518 การแต่งตั้งวุฒิสมาชิกเปลี่ยนจากองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระราชโองการมาเป็นนายกรัฐมนตรี (ซึ่งคล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492) หลังประกาศใช้เพียง 1 ปีเศษ พลเรือ เอกสงัด ชลออยู่ ได้ปกครองประเทศโดย "คำสั่งคณะปฏิวัติ” อีกครั้ง 22 ต.ค. พ.ศ. 2519 มีการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดไว้ในมาตราที่ 29 ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเด็ดขาดด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (คล้ายมาตรา 17) ต่อมาพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้ยึดอำนาจอีกครั้ง เมื่อ 20 ต.ค. พ.ศ. 2520 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับใหม่ พ.ศ. 2520 ในมาตราที 27 ที่คงให้อำนาจ เด็ดขาดแก่นายกรัฐมนตรีในทำนองเดียวกับมาตรา 29 และมาตรา 17 ข้างต้นอีก จะเห็นว่ามีการสืบทอดอำนาจจากการบริหารที่ปรากฏใน รัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง

[9] หลังจากจอมพล ป. ได้เดินทางรอบโลก (เม.ย. - มิ.ย. 2496) ได้ นำวิธีการ 2 อย่างคือ 1. การเปิดสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ (Press conference) และ 2. การเปิดอภิปรายหรือพูดแบบไฮด์ปาร์ก (Hyde park) มาสู่สังคมไทย