ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2482
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

อนุสาวรีย์คือสิ่งปลูกสร้างที่ทำงานกับความทรงจำของผู้คนทั้งในเชิงบุคคล พื้นที่ กาลเวลา และห้วงเหตุการณ์มาตั้งแต่ยุคโบราณ เช่นเดียวกับในช่วงหลัง “ปฏิวัติ 2475” ที่คณะราษฎรได้มุ่งสร้างจิตสำนึกใหม่ของความเสมอภาคเท่าเทียม และการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยวิธีการที่หลากหลาย โดยมีการสร้างอนุสาวรีย์และอนุสรณ์สถานเป็นรูปธรรมอันชัดเจนมากที่สุด ซึ่งไม่เพียงจะเป็นสิ่งที่ช่วยย้ำเตือนการรับรู้ของประชาชนถึงการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบการปกครองใหม่ แต่ยังรวมถึงการคัดง้างความหมายดั้งเดิมของการเทิดทูนวีรกรรมพระมหากษัตริย์ในระบอบเก่า ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (พ.ศ. 2476) เพื่อเป็นการเชิดชูวีรกรรมของสามัญชนครั้งแรกในสยามประเทศ หรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (2479) เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การปราบกบฏบวรเดชโดยคณะราษฎร กระทั่งในปี 2482 ภายหลังที่สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญถูกเผยแพร่ไปสู่ความรับรู้ของผู้คนในวงกว้างผ่านสื่อต่างๆ ก็ถึงคราวที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ได้สร้างอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่เพื่อเป็นฐานของสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญ ณ พื้นที่ที่ผู้นำในระบอบเก่าได้วางยุทธศาสตร์ไว้ให้เป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศ นั่นคือ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ถนนที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี 2442 เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของถนนทุกสายในประเทศ รวมถึงเป็นศูนย์กลางความเจริญของชาติ ที่ซึ่งในอีก 40 ปีต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้สร้างความหมายใหม่ทับลงบนถนนสายดังกล่าว อนุสาวรีย์ฯ ได้รับการออกแบบโดย ม.ล. ปุ่ม มาลากุล ส่วนประติมากรรมตกแต่งเป็นผลงานออกแบบของ ศิลป์ พีระศรี โดยเริ่มมีการวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 แล้วเสร็จและทำพิธีเปิดในวันเดียวกันของปีถัดมา อนุสาวรีย์มีลักษณะเป็นรูปหล่อลอยตัว ประกอบด้วยรูปเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทยประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าที่หล่อด้วยทองแดง ตั้งบนฐานรูปทรงกลมด้านบนโค้งกลม ลานอนุสาวรีย์ยกสูงมีบันไดโดยรอบ รอบนอกลานมีครีบทรงแบน อยู่ 4 ทิศ พร้อมภาพแกะสลักลายปั้นนูนบริเวณโคนครีบ และมีรั้วเตี้ยกั้นโดยรอบลานอนุสาวรีย์ ซึ่งทำขึ้นจากการฝังปืนใหญ่ 75 กระบอกลงดินโดยให้ส่วนท้ายของกระบอกปืนโผล่พ้นขึ้นมา ทั้งนี้ องค์ประกอบทั้งหมดล้วนสื่อความหมายถึง “วันแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรัศมีของอนุสาวรีย์และความสูงของปีกทั้งสี่ด้านที่สูง 24 เมตร (เลขวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ปืนใหญ่ 75 กระบอก (สื่อถึง พ.ศ. 2475) ป้อมกลางอนุสาวรีย์มีประตู 6 บาน และลวดลายพระขรรค์ 6 เล่มอยู่ที่กลางประตูแต่ละบาน (สื่อถึงหลัก 6 ประการ) ลวดลายเหนือประตูคือ “อรุณเทพบุตร” สื่อถึง “แสงสว่างเมื่อแรกขึ้น” อันเปรียบเปรยมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แรกมีในประเทศ พานรัฐธรรมนูญที่มีความสูง 3 เมตรหมายถึงเดือนมิถุนายน (ในเวลานั้นปีใหม่หรือเดือนหนึ่งคือเดือนเมษายน) และประติมากรรมนูนต่ำรอบฐานอนุสาวรีย์นำเสนอเรื่องราวประวัติของคณะราษฎรที่นำพาประเทศสู่ประชาธิปไตยและความเจริญ กล่าวได้ว่านี่เป็นอนุสาวรีย์สมัยใหม่แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศที่มีแนวคิดการออกแบบและก่อสร้างระบุไว้อย่างละเอียด

ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่แรกสร้าง หากในเวลาต่อมา อนุสาวรีย์แห่งนี้ก็ยังคงความหมายของการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมและเสรีภาพของประชาชนเรื่อยมา บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์บนถนนราชดำเนินกลางมักถูกใช้เป็นเวทีชุมนุมเรียกร้องเสรีภาพและความเสมอภาคของผู้คนในยุคต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่การชุมนุมครั้งแรกในวันที่ 8 ตุลาคม 2483 ที่เหล่านักศึกษาและประชาชนมาร่วมชุมนุมเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสอันเป็นผลจากวิกฤตการณ์ รศ. 112 เช่นเดียวกับการสวนสนามเพื่อฉลองชัยชนะเหนืออินโดจีนในปีถัดไป รวมถึงการสวนสนามเสรีไทยภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2488 จนมาถึงประวัติศาสตร์ในยุคใกล้อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาทมิฬ, วิกฤตการเมือง 2553 และขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย 2563 – 2564 เป็นต้น กล่าวได้ว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นสถานที่รวบรวมความทรงจำในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน 

รูปภาพ

ยุคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐

ยุคที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๐ ถึง ๒๕๔๙

ยุคที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึง ๒๕๕๗

ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน

คลิปวิดีโอ

พิกัดสถานที่

ถนนราชดำเนินกลาง