ภายหลังที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้เยอรมนีเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2483 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ขอให้รัฐบาลไทยที่มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทำสนธิสัญญาไม่รุกรานพื้นที่แถบอินโดจีนที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยรัฐบาลไทยก็ได้ยื่นข้อเสนอกลับไปในวันที่ 11 กันยายน 2483 ว่าหากฝรั่งเศสมีการปรับปรุงเส้นเขตแดนบริเวณแม่น้ำโขงใหม่ และคืนดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในลาวและกัมพูชาที่ไทยเคยเสียให้ฝรั่งเศสเมื่อครั้งวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 กลับมา รัฐบาลไทยก็พร้อมจะลงนามในสัตยาบัน อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสยอมรับแค่ข้อเสนอในการปรับปรุงเส้นเขตแดน หากไม่ยินยอมจะคืนพื้นที่ให้กับไทย นั่นส่งผลให้ไม่เพียงสนธิสัญญาจะไม่บังเกิด ฝรั่งเศสยังได้เคลื่อนพลทหารเข้ามาในชายแดนไทยเพื่อเตรียมการรบ ก่อนจะส่งเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม ขณะที่ไทยก็ตอบโต้กลับด้วยการส่งทหารเข้ายึดดินแดนในลาวและกัมพูชา พร้อมมีการรบพุ่งทางอากาศและทางเรือ อย่างไรก็ดี ก่อนสงครามจะบานปลาย ญี่ปุ่น ที่เป็นมหาอำนาจในขณะนั้น ได้เสนอเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในเดือนมกราคม 2484 จนนำมาสู่การสงบศึก
แม้ที่สุดแล้วสงครามที่รู้จักกันในชื่อ “สงครามอินโดจีน” ครั้งนี้ จะไม่มีผู้ชนะ (สุดท้ายไทยจำเป็นต้องคืนดินแดนที่ยึดมากลับสู่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภายหลัง เพื่อจะได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ) หากรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีมติในการจัดสร้าง “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานเชิดชูเกียรติและเทิดทูนความดีของเหล่าทหารที่ร่วมรบในสงครามครั้งนั้น โดยประกอบการรัฐพิธีวางศิลาฤกษ์ วันที่ 24 มิ.ย. 2484 และมีพิธีเปิดในวันเดียวกันของปีถัดมา ทั้งนี้รัฐบาลยังตั้งใจให้ “ทุ่งพญาไท” อันเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ฯ เป็นจุดเริ่มต้นของถนนประชาธิปัตย์ (ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นถนนพหลโยธินเพื่อเป็นเกียรติแก่พระยาพหลฯ) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ที่ตัดผ่านทุ่งบางเขน (สมรภูมิกบฏบวรเดช) สระบุรี ลพบุรี ก่อนที่จะไปสิ้นสุดที่จังหวัดเชียงรายในภายหลัง ขณะที่รูปแบบของอนุสาวรีย์ก็สะท้อนแนวคิดของลัทธิทหารนิยมของ จอมพล ป. อย่างชัดเจน กล่าวคือเป็นอนุสาวรีย์ในรูปลักษณ์ของดาบปลายปืน 5 แฉก ความสูง 50 เมตร ผลงานการออกแบบของ มล. ปุ่ม มาลากุล และรายล้อมด้วยประติมากรรมรูปหล่อทองแดงของทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจสนาม และพลเรือน ขนาดสองเท่าของคนจริง ซึ่งเป็นผลงานภายใต้การควบคุมของ ศิลป์ พีระศรี ส่วนที่คอฐานอนุสาวรีย์ประดับแผ่นหินอ่อนจารึกนามผู้เสียชีวิตจากการรบในสงครามอินโดจีน และการสงครามต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2483 - 2497 รวมทั้งสิ้น 801 คน
แม้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะเป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างสมัยคณะราษฎร หากความที่มันมีรูปแบบและความหมายหลุดไปจากหลักการของคณะฯ และมีความเชื่อมโยงโดยตรงต่อลัทธิทหารนิยมซึ่งริเริ่มโดย จอมพล ป. รวมถึงการเป็นสถานที่จัดพิธีทหารผ่านศึกทุกวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี อนุสาวรีย์แห่งนี้จึงดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับคณะราษฎรในความทรงจำของผู้คนร่วมสมัย และด้วยสถานะเช่นนี้ อนุสาวรีย์ฯ จึงมีความปลอดภัยจากการถูกรื้อถอนเฉกเช่นสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ทั้งนี้ในช่วงกระแสการรื้อฟื้นคณะราษฎรและการเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2563 เหล่าคนรุ่นใหม่ยังใช้พื้นที่โดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นสถานที่ชุมนุมต่อต้านเผด็จการ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความหมายของพื้นที่ที่สร้างโดยคณะราษฎร แต่กลับสะท้อนอุดมการณ์ทหารเต็มขั้น การชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าวจึงสื่อนัยอย่างน่าใคร่ครวญ