ความที่ต้องอาศัยศิลปะวิทยาการ เงินทุน แรงงาน และที่สำคัญคือความหมายที่ยึดโยงกับพื้นที่และอุดมการณ์ชาติ อนุสาวรีย์ในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่สร้างขึ้นโดยรัฐทั้งหมดจึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ถูกทำขึ้นเพื่อเทิดทูนสถาบันหลักของชาติในระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์เป็นสำคัญ ไม่ว่าจะรูปหล่อพระมหากษัตริย์ในอดีต ประติมากรรมเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง อนุสรณ์สถานที่เชื่อมโยงกับวีรกรรมของกษัตริย์ ไปจนถึงรูปปั้นสุนัขทรงเลี้ยง (ย่าเหล) ฯลฯ ทั้งนี้ เมื่อสยามประเทศมีการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตย ไม่เพียงจะนำมาซึ่งหลักความเสมอภาคเท่าเทียมของประชาชน แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านศิลปกรรม-สถาปัตยกรรม และการสร้างความหมายใหม่ของสิ่งปลูกสร้าง ดังเช่นอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อนุสาวรีย์แห่งแรกที่สร้างขึ้นโดยคณะราษฎร ในปี 2476 ทั้งยังเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนที่เป็นผู้หญิงแห่งแรกของสยาม
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ตั้งอยู่หน้าประตูชุมพล (ประตูเมืองนครราชสีมาด้านทิศตะวันตก) ใจกลางเมืองนครราชสีมา ออกแบบโดย ศิลป์ พีระศรี และพระเทวาภินิมมิต ในพงศาวดารรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 3 ระบุว่า ท้าวสุรนารี (ย่าโม) เป็นสตรีสามัญชนที่มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการรุกรานของเจ้าอนุวงศ์ แม้เรื่องราวของท่านจะปรากฏอยู่ในพงศาวดารเพียง 3 บรรทัด และยังไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมมายืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่ในประวัติศาสตร์ หากบทบาทของการเป็น “สามัญชน” ของย่าโม่ก็สอดรับกับอุดมการณ์ชาติสมัยใหม่ของคณะราษฎรที่วางประชาชนเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ และการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศเฉกเช่นประเทศที่มีอารยะ อนุสาวรีย์ฯ เป็นประติมากรรมทองแดงรมดำสูง 185 เซนติเมตร หนัก 325 กิโลกรัม มีรูปแบบสัจนิยม ร่างกายสมส่วนยืนตรง มือขวาค้ำดาบ และปราศจากเครื่องยศที่บ่งบอกสถานะอันสูงศักดิ์ใดๆ ซึ่งแตกต่างจากคติการสร้างอนุสาวรีย์แต่เดิมที่นิยมทำให้บุคคลผู้เป็นต้นแบบมีความวิจิตรอลังการประดุจทวยเทพ นอกจากนี้การจัดสร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าวยังมาจากความต้องการของชาวนครราชสีมาในสมัยนั้นด้วย เนื่องจากพวกเขาต้องการมีสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึง “ความรักชาติ” มาคัดง้างกับการที่บ้านเกิดของพวกเขาเคยเป็นฐานที่มั่นในการก่อกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดชเพื่อคืนอำนาจการปกครองกลับสู่รัชกาลที่ 7 ในเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” โดยภายหลังที่สร้างแล้วเสร็จ อนุสาวรีย์แห่งนี้ก็กลายมาเป็นทั้งแลนด์มาร์คใหม่ของเมือง และสัญลักษณ์ที่เป็นศูนย์รวมใจของผู้คนในจังหวัด
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีถือว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการเปลี่ยนกรอบทัศนคติของผู้คนต่อบทบาทของตัวเองอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อสามัญชนเพศหญิงคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ถูกชุบชีวิตขึ้นมาในรูปแบบอนุสาวรีย์เพื่อการรำลึกและเทิดทูน ประชาชนคนธรรมดาจึงไม่ใช่ไพร่ฟ้าอันต่ำต้อยในระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์อีกต่อไป หากแต่ล้วนมีบทบาทร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระบอบใหม่ ทั้งนี้การเลือกตั้งอนุสาวรีย์แห่งแรกในต่างจังหวัด ยังสะท้อนแนวทางการพัฒนาประเทศที่ไม่ได้มองว่ากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเพียงแห่งเดียว อย่างไรก็ดีภายหลังที่คณะราษฎรสิ้นสุดอำนาจลงในปี 2490 ประกอบกับการลุกฮือขึ้นมาของแนวคิดกษัตริย์นิยมจะมีส่วนพร่าเลือนความทรงจำของผู้คนต่อบทบาทของคณะราษฎร สิ่งนี้ยังส่งผลกระทบต่อความทรงจำของผู้คนต่ออนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ที่ท้ายที่สุดกลายมาเป็นสัญลักษณ์ในเชิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพร กระนั้นด้วยทำเลที่อยู่ใจกลางเมือง และเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสามัญชน พื้นที่โดยรอบอนุสาวรีย์จึงเป็นสถานที่ที่ชาวนครราชสีมานิยมใช้เป็นที่ชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในห้วงเวลาต่างๆ เรื่อยมา โดยเฉพาะกับการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มเสื้อแดงที่ยึดที่นี่เป็นฐานที่มั่นในช่วงปี 2552 - 2553 รวมถึงการชุมนุมต่อต้านเผด็จการในช่วงปี 2563 - 2564 อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีจึงกลับมามีความหมายเชื่อมโยงไปกับอุดมการณ์ของคณะราษฎรเมื่อครั้งแรกสร้างอีกครั้ง