เหตุการณ์กบฏบวรเดช ถือเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองสำคัญหลังการปฏิวัติสยาม 2475 เมื่อกลุ่มบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบใหม่ที่ประกอบด้วยทหารและพลเรือน ที่เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” มีพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร เป็นผู้นำ ฝ่ายกบฏได้นำกำลังทหารจากหัวเมืองเข้ามายึดบริเวณดอนเมือง เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออก ดังนั้นรัฐบาลจึงมอบหมายให้หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการในการปราบปรามฝ่ายกบฏ โดยเริ่มมีการปะทะกันที่บางเขนตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2476 แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎรจะสามารถปราบปรามฝ่ายกบฏได้อย่างราบคาบและพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญสำเร็จ แต่ฝ่ายรัฐบาลกลับต้องสูญเสียทหารและตำรวจ 17 นายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยทหารและตำรวจที่สละชีพในการปราบกบฏนั้น ได้รับยกย่องจากรัฐบาลให้เป็นวีรชนของชาติ ดังนั้นรัฐบาลจึงจัดพิธีฌาปนกิจอย่างยิ่งใหญ่ที่เมรุกลางท้องสนามหลวง นอกจากนี้รัฐบาลคณะราษฎรยังได้สร้างอนุสาวรีย์ที่หลักสี่ เพื่อบรรจุอัฐิ 17 วีรชนแห่งชาติและเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์การปราบกบฏบวรเดช
“อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” ซึ่งมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ อาทิ “อนุสาวรีย์ 17 ทหารตำรวจ” “อนุสาวรีย์หลักสี่” และ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เป็นอนุสรณ์แห่งการรำลึกถึงการสละชีพของวีรชนในการปราบกบฏบวรเดชเพื่อรักษาระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 อนุสาวรีย์แห่งนี้เริ่มก่อสร้างพร้อมกับโครงการสร้างถนนเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับดอนเมืองในปลายปี พ.ศ. 2476 ทั้งนี้กระทรวงกลาโหมได้มอบหมายให้นายพันโท หลวงนฤมิตรเรขการ เป็นผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ปราบกบฏ รูปแบบของอนุสาวรีย์เป็นสถาปัตยกรรมทันสมัยในยุคคณะราษฎร ตัวอนุสาวรีย์มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์สำหรับบรรจุอัฐิตามคติความเชื่อพุทธศาสนา ตั้งอยู่บนฐานคอนกรีต 8 เหลี่ยม มีกลีบบัวประดับซ้อนกัน 2 ชั้น ยอดของกลับบัวมีพานรัฐธรรมนูญ อันสะท้อนถึงการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ ผนังด้านหน้าของอนุสาวรีย์ (ทิศตะวันตก) มีแผ่นโลหะจารึกชื่อ 17 ทหารและตำรวจที่สละชีพในการปราบกบฏบวรเดช ผนังด้านทิศใต้เป็นประติมากรรมนูนต่ำรูปครอบครัวชาวนา โดยสามีถือเคียว ภรรยาถือรวงข้าว และบุตรถือเชือกมะนิลา เปรียบเสมือนกับกลุ่มชาวนาผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ผนังด้านทิศเหนือเป็นประติมากรรมรูปธรรมจักร เป็นเครื่องหมายแทนความสงบสุขของชาติ ผนังด้านทิศตะวันออกเป็นแผ่นโลหะจารึกโคลงพระราชนิพนธ์สยามานุสสติของรัชกาลที่ 6 เพื่อเตือนใจคนไทยให้รักชาติและสามัคคี รัฐบาลได้ประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2479 โดยมีพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพย์อาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 เป็นประธานในพิธี
อนุสาวรีย์ปราบกบฏใช้เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมรำลึกวีรกรรมการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญของทหารและตำรวจ โดยรัฐบาลสมัยคณะราษฎรจัดให้มีการวางพวงมาลาในวันที่ 14 ตุลาคมของทุกปี ยิ่งไปกว่านั้นในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามยังได้ขยายลานอนุสาวรีย์ปราบกบฏให้มีขนาดกว้างใหญ่มากขึ้นเพื่อความสะดวกในการประกอบพิธีกรรมและเพิ่มความสง่างานให้แก่อนุสาวรีย์ นอกจากนี้ยังพัฒนาพื้นที่อนุสาวรีย์ให้เป็นพื้นที่เมืองใหม่ โดยสร้างที่ว่าการอำเภอบางเขน สุขศาลา โรงเรียนประชาบาล สถานีตำรวจ และวัดประชาธิปไตยในบริเวณรอบอนุสาวรีย์ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความสำคัญของอนุสาวรีย์ปราบกบฏในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองของระบอบใหม่ที่นำพาความเจริญเข้าสู่อำเภอบางเขน ถึงแม้ว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏจะค่อยๆลดความสำคัญระดับชาติจากการรื้อสร้างความหมายอนุสาวรีย์นี้หลังจากกลุ่มปฏิปักษ์คณะราษฎรเข้ามามีบทบาททางการเมืองหลังการรัฐประหาร 2490 แต่อนุสาวรีย์ปราบกบฏยังคงมีความสำคัญและผูกพันในระดับท้องถิ่น ดังสะท้อนได้จากการใช้อนุสาวรีย์เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่จัดกิจกรรมสำหรับคนท้องถิ่น และเป็นตราสัญลักษณ์ของอำเภอบางเขน อนุสาวรีย์ปราบกบฏได้กลายมาเป็นพื้นที่ทางการเมืองอีกครั้งหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เมื่อคนเสื้อแดงรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรและได้ใช้พื้นที่อนุสาวรีย์ในการจัดกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้ง อาทิ การบวงสรวงอนุสาวรีย์และดวงวิญญาณคณะราษฎรที่อนุสาวรีย์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 การจัดงาน 76 ปีอนุสาวรีย์ปราบกบฏในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 และการจัดงาน 80 ปี อนุสาวรีย์ปราบกบฏในเดือนตุลาคม 2556
หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ฝ่ายทหารได้พยายามทำลายความหมายทางการเมืองของอนุสาวรีย์นี้ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มคนเสื้อแดง โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้เฝ้าระวังพื้นที่อนุสาวรีย์อย่างเข้มงวด รวมถึงจับกุมนักกิจกรรมที่พยายามเข้าไปใช้พื้นที่อนุสาวรีย์สำหรับกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 นอกจากนี้อนุสาวรีย์ยังถูกเคลื่อนย้ายจากกลางบริเวณวงเวียนหลักสี่ไปอยู่บริเวณริมวงเวียนฝั่งตะวันตก เนื่องจากพื้นที่เดิมใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว อย่างไรก็ตามอนุสาวรีย์ปราบกบฏได้ถูกรื้อถอนออกจากวงเวียนหลักสี่และสูญหายไปนับตั้งแต่คืนวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ระหว่างการรื้อถอนอนุสาวรีย์นั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้มีการควบคุมตัวประชาชนและนักข่าวรวมทั้งสิ้น 10 คนที่มาสังเกตการณ์ด้วย สถานะปัจจุบันของอนุสาวรีย์ปราบกบฏยังคงสูญหาย โดยหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่คุ้มครองดูแลอนุสาวรีย์ต่างเงียบงันและให้ข้อมูลที่เต็มไปด้วยข้อสงสัยแก่สาธารณชน
รูปภาพ
ยุคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐
ยุคที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๐ ถึง ๒๕๔๙
ยุคที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึง ๒๕๕๗
ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน
คลิปวิดีโอ
พิกัดสถานที่
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เคยตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับ สถานีรถไฟฟ้าบางเขน ในปัจจุบัน โดยไม่มีใครทราบว่าถูกย้ายไปไว้ที่ไหน