ศาลาเฉลิมไทยเป็นโรงภาพยนตร์อีกแห่งหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นับเป็นโรงภาพยนตร์ที่มีความทันสมัยและได้รับความนิยมในสมัยนั้นพอสมควร ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยได้ถูกรื้อถอนและแทนที่ด้วยลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์เพื่อเปิดมุมมองทัศนียภาพของวัดราชนัดดาและโลหะปราสาท
ความเป็นมาและความสำคัญของศาลาเฉลิมไทย
อาคารศาลาเฉลิมไทยเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาอาคารริมถนนราชดำเนินของรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นโรงมหรสพฉายหนังและเล่นละครที่มีลักษณะตามมาตรฐานสากล ดังบันทึกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2486
“...ท่านนายกรัถมนตรีมีคำสั่งไห้แจ้งมาว่า ไห้กรมศิลปากรวางโครงการจัดตั้ง บริสัทสแดงละคอนสมัยใหม่ขึ้น โดยไห้ทางรัถบาลมีหุ้นร่วมด้วย ... โดยมีความประสงค์จะช่วยสนับสนุนผู้มีอาชีพสแดงละครไนเวลานี้ไห้ดีขึ้น และเพื่อหางานไห้หยิงพวกหนึ่งมีงานอาชีพที่ถูกไจ จะได้ไม่ไปเกะกะกับชาวต่างประเทสไห้เปนการเสียเกียรติของชาติไทย...”[1]
ศาลาเฉลิมไทยออกแบบโดยหมิว อภัยวงศ์ ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2489 ในระหว่างก่อสร้างนั้นเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาทำให้ต้องยุติการสร้างลงชั่วคราว โดยตัวอาคารยังเป็นอาคารเปล่า ไม่มีประตูหน้าต่าง ทางหน่วยราชการจึงได้นำมาใช้เป็นโกดังเก็บของในเวลาต่อมา[2] ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนเป็นโรงมหรสพสำหรับแสดงละครเวที โดยมีการตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นโรงมหรสพที่สวยงามและทันสมัยที่สุดของกรุงเทพมหานคร ต่อมาผู้ชมละครลดน้อยลง ผู้จัดจึงเปลี่ยนจากโรงละครมาเป็นโรงภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2496 ซึ่งการตั้งชื่อ “ศาลาเฉลิมไทย” เป็นที่มาความตั้งใจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นประเทศไทย เพื่อให้โรงมหรสพแห่งนี้มีความสอดคล้องกับชื่อประเทศไทย[3]
ศาลาเฉลิมไทยเป็นโรงภาพยนตร์อีกแห่งหนึ่งที่ผู้เข้าชมจะต้องแต่งกายให้สุภาพ สวยงาม ดังที่มีกฎระเบียบห้ามใส่รองเท้าเกี๊ยะเข้าไปในโรง เพราะเวลาเดินจะเกิดเสียงรบกวนผู้อื่น[4]
จากข้อบังคับที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทำให้เกิดเป็นธรรมเนียมการแต่งกายในการชมภาพยนตร์ ซึ่งสร้างความเป็นอารยะมากกว่าสมัยก่อนหน้า
กัณฑีรย์ น.สิมะเสถียร นักแสดงในยุคนั้นได้เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการใช้ศาลาเฉลิมไทย แสดงให้เห็นว่าชีวิตของผู้คนสมัยนั้นมีการพักผ่อนหย่อนใจเพื่อชมมหรสพในยามค่ำคืน นอกจากนี้ศาลาเฉลิมไทยยังเป็นสถานที่สำคัญสำหรับอาชีพนักแสดงที่สร้างชื่อเสียงให้ใครหลายคนมาแล้ว
“...ศาลาเฉลิมไทยเป็นที่ก่อให้เกิดความรักในหมู่เพื่อน เล่นกันทุกวัน กว่าจะเลิกก็ตี 1 สองยาม ก่อให้เกิดความชัง ผู้ดูชังเราเพราะเล่นได้สมบทร้าย ก่อให้เกิดอาชีพเลี้ยงตัวเรา ยังก่อให้เกิดชื่อเสียงของนักแสดงหลายคน สายตาเป็นพันๆ คู่จ้องมาที่เราคนเดียว เราสามารถสะกดให้เขาฟังเราพูดอยู่คนเดียวได้...”[5]
ส. อาสนจินดา เป็นอีกคนที่กล่าวถึงศาลาเฉลิมไทยว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ให้ความบันเทิงแก่คนในยุคนั้น
“...พอพวกเราเข้าไปเล่น เฉลิมไทยก็ดังเป็นพลุ เฉลิมนครมันโรงเล็กนี่ จุคนได้ 800 คน เสริมเต็มสักพันนึง เฉลิมไทยนี่พอเสริมเต็มพันห้า ความยิ่งใหญ่โอ่อ่าเวทีเลื่อนได้หลายเวที มันก็เลยติด เฉลิมไทยก็เลยกลายเป็นคล้ายๆ จุดศูนย์กลางของความสำราญของคนกรุงเทพ จะปีใหม่ก็ดี จะมีงานอะไรก็ดี ถนนราชดำเนินก็ได้เฉลิมไทยนี่มาช่วยส่งเสริมบารมี...”[6]
จากความคิดเห็นของบุคลากรในวงการบันเทิง แสดงให้เห็นว่าศาลาเฉลิมไทยในฐานะโรงมหรสพนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
ศาลาเฉลิมไทยในทัศนะของนักวิชาการ
นอกเหนือจากความคิดเห็นของผู้ที่ได้ใช้ศาลาเฉลิมไทยขณะที่อาคารยังไม่ถูกรื้อถอนแล้ว ยังมีทัศนคติของนักวิชาการเกี่ยวกับศาลาเฉลิมไทย โดยบัณฑิต จุลาสัย ได้กล่าวถึงถนนราชดำเนินและศาลาเฉลิมไทยไว้ในคอลัมน์ “เที่ยวบ้านชมเมือง” ในนิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2529 ว่าถนนสายนี้เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้าซึ่งไม่ได้ก้าวหน้ากว่าแค่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่เป็นความเจริญก้าวหน้าที่ทัดเทียมกับประเทศยุโรป สองฟากถนนราชดำเนินมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยซึ่งเกิดจากการออกแบบอาคารที่ใช้วัสดุก่อสร้างเหมือนกัน มีความสูงไล่เลี่ยกัน และสิ่งที่พิเศษกว่าถนนสายอื่นนอกเหนือจากรูปแบบของอาคารทั้งสองฝั่ง นั่นคืออาคารที่ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนยังได้รับการออกแบบให้มีมุมโค้งสวยงามด้วย[7]
บัณฑิตกล่าวว่าศาลาเฉลิมไทยเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยนั้น การออกแบบอาคารนับเป็นศูนย์บันเทิงสมบูรณ์แบบ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ถนนราชดำเนินไม่ใช่ศูนย์กลางเมืองดังแต่ก่อน โรงภาพยนตร์ไม่เป็นที่นิยม รวมทั้งอาคารหลังนี้บดบังโลหะปราสาทวัดราชนัดดาที่อยู่ด้านหลัง จึงได้มีผู้เสนอให้รื้ออาคาร ซึ่งในทัศนะของเขาเห็นว่าการรื้ออาคารศาลาเฉลิมไทยนั้นทำให้ภาพรวมของกลุ่มอาคารเสียไปไม่สมบูรณ์ รวมทั้งคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่สะท้อนสภาพสังคม การเปลี่ยนแปลงทางความคิด วิถีชีวิตของคนในยุคนั้นก็ถูกทำลายลงไปพร้อมอาคาร
ซึ่งความคิดเห็นของบัณฑิตนั้นแตกต่างจากหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ได้กล่าวถึงศาลาเฉลิมไทยไว้ในคอลัมน์ “ซอยสวนพลู” ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน 17 สิงหาคม พ.ศ. 2532 ว่าอาคารแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่ต่ำทราม บดบังทัศนียภาพของวัดราชนัดดาซึ่งมีความสวยงาม และได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการทุบทำลายศาลาเฉลิมไทยไว้ว่า
“...คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่รับผิดชอบในการสร้างถนนราชดำเนินกลางขึ้นนั้น มิได้มีใจรักศิลปะหรือวัฒนธรรมไทยแต่อย่างใดเลย และออกจะไม่เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นของสำคัญหรือจำเป็นอีกด้วย จึงสามารถทำกับวัดราชนัดดาได้ถึงเพียงนั้น
กาลสมัยเปลี่ยนแปลงไป คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองชุดนั้นก็ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ คงจะเหลือบ้างก็อีกไม่กี่คน และไม่มีอำนาจวาสนาที่จะทำอะไรได้อย่างที่เคยทำมาแต่ก่อน
ผู้ที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เริ่มฟังเสียงของปัญญาชน และผู้ที่รักศิลปะและวัฒนธรรมของไทยทั้งหลาย ที่มีความเห็นว่าควรจะทุบโรงหนังเฉลิมไทยทิ้งเสีย เพื่อให้วัดราชนัดดาปรากฏเด่นขึ้นมาในสายตาของผู้ที่เดินทางมาจากถนราชดำเนินนอก และข้ามสะพานผ่านฟ้าอันเป็นจุดเด่น ณ ที่นั้น...”[8]
ชาตรี ประกิตนนทการ ได้ตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบระหว่างศาลาเฉลิมกรุงและศาลาเฉลิมไทย ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “มรดก 2475 : สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” โดยมีเนื้อหาตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดีฉบับสิงหาคม 2552 ว่าแม้ศาลาเฉลิมกรุงและศาลาเฉลิมไทยจะมีหน้าตาคล้ายกัน การใช้งานใกล้เคียงกัน แต่ก็ถูกให้ความหมายต่างกัน เพราะศาลาเฉลิมกรุงนั้นรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อฉลอง 150 ปีพระนคร แต่ศาลาเฉลิมไทยถูกสร้างขึ้นโดยคณะราษฎร พร้อมกับอาคารอื่นๆ ตลอดแนวถนนราชดำเนินกลาง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมรัตนโกสินทร์ โรงแรมสุริยานนท์ อาคารไทยนิยม เพื่อให้ถนนราชดำเนินแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่แสดงถึงความก้าวหน้าของประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตย[9]
ประชา สุวีรานนท์ กล่าวถึงการรื้ออาคารศาลาเฉลิมไทยที่ถือเป็นอาคารสำคัญของคณะราษฎรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่าอาจเป็นการแก้เคล็ดหรือการเอาชนะต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในเชิงสัญลักษณ์ อีกทางหนึ่งนั้น การทุบศาลาเฉลิมไทยถือเป็นการเปิดทัศนียภาพโดยให้ความสำคัญกับวัดและวังมากกว่าประชาชนทั่วไป
ตอนหนึ่งของบทความของประชา สุวีรานนท์ ในคอลัมน์ วิช่วลคัลเจอร์ ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12-18 สิงหาคม 2559 ได้กล่าวถึงบทบาทของศาลาเฉลิมไทยเอาไว้ว่า
“... โรงหนังโรงนี้ไม่ใช่แค่ฉายหนังดี แต่มีความทันสมัยและหรูหราเหมือนพระราชวังด้วย มันเป็น a place to be seen จะไปทีไร ทุกคนในครอบครัวของเราจะแต่งตัวดีที่สุด แถมยังต้องเผื่อเวลาไปเดินโฉบฉายหน้าโรงอีกต่างหาก นอกจากนั้น ยังมีร้านขายข้าวโพดคั่ว ไอศกรีมป๊อปตราเป็ด (ซึ่งเอาโดนัลด์ดั๊กมาเป็นเครื่องหมายการค้า) และขนมต่างๆ ...”
จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่าโรงศาลาเฉลิมไทยถือเป็นอีกสถานที่ที่ผู้เข้าใช้งานต้องวางตัวให้เหมาะสมสำหรับใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะในฐานะที่สถานที่แห่งนี้เป็น “A place to be seen” และสถานที่แห่งนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของ “ข้าวโพดคั่ว”[10] ที่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมความบันเทิงแบบใหม่
จากทัศนคติที่มีต่ออาคารศาลาเฉลิมไทยของนักวิชาการที่ได้กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าความคิดเกี่ยวกับการมีอยู่ของศาลาเฉลิมไทยนั้นมีคุณค่าและความหมายมากกว่าแค่สถาปัตยกรรมแห่งยุคสมัย แต่เฉลิมไทยคืออาคารที่ถือเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอีกแห่งหนึ่ง โดยมุมมองที่มีต่ออาคารหลังนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายแรกเห็นว่ามีคุณค่าในเชิงของการสะท้อนสภาพสังคม บ้านเมือง และวิถีชีวิตของคนในยุคนั้น แต่อีกฝ่ายกลับเห็นว่าอาคารหลังนี้เป็นมรดกของคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เป็นการทำลายศิลปวัฒนธรรมแบบจารีตของไทย
วิเคราะห์อาคารศาลาเฉลิมไทย
ศาลาเฉลิมไทยมีลักษณะผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีทางเข้าหลักที่ไว้สำหรับรองรับผู้ที่เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจเป็นโถงรูปวงกลมอยู่บริเวณหัวมุม โดยจะมีทางเข้าสำหรับการติดต่อภายในอยู่แยกออกไป ลักษณะของที่ว่างบริเวณโถงทางเข้าเมื่อพิจารณาจากผัง พบว่ามีองค์ประกอบคล้ายกับศาลาเฉลิมกรุงคือมีการโอบล้อมของผนังโดยรอบทำให้ผู้ที่อยู่บริเวณนี้เกิดความรู้สึกว่าเป็นจุดสนใจ และต้องระมัดระวังในการปฏิบัติตัวในที่สาธารณะ
ตำแหน่งที่ตั้งของจุดขายบัตรอยู่กึ่งกลางของโถงทางเข้า ผู้ที่จะเข้าชมต้องมาซื้อบัตร ณ จุดที่จัดไว้ให้ โดยที่ตั้งของจุดขายบัตรนี้ส่งผลต่อความรู้สึกผู้ที่เข้ามาภายในอาคาร การยืนอยู่ที่กึ่งกลางที่โดนโอบล้อมทำให้รู้สึกว่าตัวเองถูกจ้องมองขณะทำการซื้อบัตร ยิ่งต้องสำรวมและปฏิบัติตนให้มีอารยะ
การเปลี่ยนพื้นที่ว่างจากโถงทางเข้าเพื่อเข้าสู่โรงมหรสพ พบว่ามีการใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับศาลาเฉลิมกรุง คือมีการบีบพื้นที่ให้แคบลงเพื่อเน้นความสำคัญของสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และการใช้ขั้นบันไดเพื่อนำสายตา ทำให้เกิดความรู้สึกว่ากำลังจะเข้าสู่พื้นที่อีกพื้นที่หนึ่งซึ่งอยู่ด้านหลังประตู
เมื่อพิจารณาพื้นที่ภายในโรงมหรสพจากผังพื้น พบว่าก่อสร้างด้วยเทคนิคเดียวกับโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง พื้นที่มีลักษณะเป็นโถงกว้าง ไม่มีเสามาตั้งบดบังทัศนียภาพในการชมการแสดง มีทางเดินล้อมรอบ และทางออกอยู่ทั้งสองฟากของตัวโรง รองรับการระบายผู้คนหากเกิดเหตุสุดวิสัย
จากเอกสารหลักฐานชั้นรอง พบข้อมูลระบุว่าศาลาเฉลิมไทยนับเป็นโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยในยุคนั้น ภายในโรงมหรสพนั้นบุด้วยวัสดุกันเสียงสั่นสะเทือน มีเวทีเลื่อนได้แบบไฮดรอลิคเพื่อความรวดเร็วในการเปลี่ยนฉาก มีลิฟต์สำหรับขึ้นไปยังที่นั่งด้านบน สามารถบรรจุผู้ชมได้ราว 1,500 ที่นั่ง ขณะที่ศาลาเฉลิมกรุงนั้นบรรจุผู้ชมได้เพียง 600 ที่นั่ง อาคารแห่งนี้ถือเป็นวัฒนธรรมใหม่ตามแนวทางของคณะราษฎรและจอมพล ป. พิบูลสงคราม[11] ละครเวทีที่เคยเฟื่องฟูมาก่อนหน้านี้ตามโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เฉลิมนคร ศรีอยุธยา ก็มาเฟื่องฟูถึงขีดสุดที่ศาลาเฉลิมไทย[12]
จากการศึกษาพบว่ามีการกล่าวถึงลักษณะการออกแบบและการประดับตกแต่งศาลาเฉลิมไทยไว้ในหนังสือ “ตำนานโรงหนัง” โดย ธนาทิพ ฉัตรภูติ เนื้อความว่า
“บริเวณเชิงบันไดและผนังมีการออกแบบรูปปูนปั้นเป็นรูปนางละครเพื่อใช้เป็นลวดลายประดับ ตัวโรงมีที่นั่ง 2 ชั้นตามแบบอย่างโรงละครในยุโรป โดยมีโถงหน้าทางเข้าโรงที่มีลักษณะเป็นทรงกลมเปิดโล่งจนถึงหลังคารูปโดมที่ให้ความสง่าและหรูหรา การออกแบบเสาและซุ้มด้วยลวดลายไทยอย่างวิจิตร มีเวทีขนาดใหญ่ที่ด้านหลังเวทีกว้างขวางพอสำหรับเปลี่ยนฉากได้อย่างสะดวก”[13]
จากข้อความข้างต้นสอดคล้องกับผังอาคารที่ว่าโถงทางเข้ามีลักษณะเป็นทรงกลม ซึ่งทรงกลมและหลังคารูปโดมดังกล่าวนี้ทำให้ผู้ที่เข้ามายังอาคารเกิดความรู้สึกว่าอาคารมีความโอ่อ่า ยิ่งใหญ่ และไม่รู้สึกอึดอัด ความหรูหราของการประดับตกแต่งต่างๆ ตามข้อความข้างต้นก็ทำให้ผู้ที่เข้าไปในอาคารจะต้องปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับบรรยากาศของสถานที่
เมื่อพิจารณาผังอาคารพบว่าทางเข้าหลักบริเวณทางเข้าด้านหน้ามีร้านอาหารขนาบอยู่ทั้งสองฝั่ง ซึ่งเป็นฟังก์ชันเดียวกับศาลาเฉลิมกรุงที่ถือเป็นธรรมเนียมแบบใหม่ เป็นการเชื่อมต่อกิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจที่เกิดขึ้นภายในอาคารอย่างครบครัน
สำหรับทางออกของผู้ที่เข้าชมมหรสพเสร็จสิ้นแล้ว อยู่บริเวณด้านข้างของโรงมหรสพทั้งสองด้านคือฝั่งที่ติดกับถนนราชดำเนินซึ่งเชื่อมต่อกับร้านอาหารอีกหนึ่งร้าน ที่มีไว้เพื่อรองรับการพักผ่อนหย่อนใจหลังจากชมมหรสพ อีกทางออกหนึ่งอยู่ทางด้านหลังซึ่งติดกับซอยเล็กๆ
การวางผังอาคารมีการแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน ส่วนบริการ (service) ห้องเครื่อง ห้องน้ำ ถูกจัดไว้ทางด้านหลังซึ่งไม่ทำให้เกิดทัศนะที่อุจาดตา บัณฑิต จุลาสัย กล่าวถึงที่ว่างด้านหลังอาคารไว้ว่าบริเวณนี้ถูกใช้เป็นเส้นทางบริการ (service) ซึ่งมีการใช้ประโยชน์มาถึงปัจจุบัน[14] ทางเข้าสำหรับติดต่อกันภายในก็ถูกแบ่งออกจากทางเข้าหลักอย่างชัดเจนไม่ต้องมาปะปนกับผู้ชมภายนอก ซึ่งการแบ่งสัดส่วนการใช้งานอาคารนี้ก็เป็นรูปแบบที่คล้ายกับศาลาเฉลิมกรุงซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับมาจากตะวันตกเช่นเดียวกัน
เมื่อพิจารณารูปด้านของอาคารศาลาเฉลิมไทย พบว่าองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ใช้ในการตกแต่งผนังด้านนอกของอาคารมีความเรียบง่าย มีการเจาะช่องเปิดอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย มีองค์ประกอบทางตั้งสร้างจังหวะให้รูปด้านอาคารไม่น่าเบื่อ โดยรวมของผนังอาคารมีการตกแต่งที่เป็นไปในลักษณะเดียวกับสนามศุภชลาศัยและโรงภาพยนตร์ทหารบก
จะเห็นได้ว่าโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยนั้นสะท้อนความทันสมัยออกมาในรูปแบบของตัวอาคาร รวมทั้งมีการจัดวางผังที่เป็นสมัยใหม่ เหมือนกับโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง สิ่งที่อาคารทั้งสองแตกต่างกันคือตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งศาลาเฉลิมไทยตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญและถูกให้ความหมายเป็นการสะท้อนถึงยุคสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตัวโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยเองก็ถูกสร้างขึ้นด้วยเป้าประสงค์เดียวกับอาคารบนถนนราชดำเนิน ถือเป็นการให้ความหมายผ่านตำแหน่งที่ตั้ง เหมือนดังเช่นโรงภาพยนตร์ทหารบก
สรุป
การชมภาพยนตร์นั้นเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพียงแต่ยังเป็นกิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจที่จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มคนเท่านั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประกอบกับนโยบายสร้างชาติในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กิจกรรมการชมภาพยนตร์ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ รัฐได้ทำการประชาสัมพันธ์สนับสนุนให้ประชาชนเข้าชมภาพยนตร์เพื่อพักผ่อนหย่อนใจในเวลาว่างจากการทำงาน โดยสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่แสดงออกถึงความศิวิไลซ์ผ่านข้อบังคับในการใช้งานพื้นที่สาธารณะและพื้นที่โรงภาพยนตร์
โรงภาพยนตร์ทั้งสามแห่งที่ได้กล่าวถึงในบทนี้ ได้แก่ ศาลาเฉลิมกรุง โรงภาพยนตร์ทหารบก และศาลาเฉลิมไทย มีลักษณะร่วมกันคือเป็นสถานที่สำหรับรองรับกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจในยุคสมัยเดียวกัน สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนในยุคสมัย และเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้าของประเทศ อย่างไรก็ตาม โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงมีความแตกต่างจากศาลาเฉลิมไทยและโรงภาพยนตร์ทหารบก คือเป็นอาคารที่สร้างจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ขณะที่อาคารอีกสองหลังนั้นสร้างในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากแนวคิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ในที่สุดแล้วอาคารทั้งสามก็กลายมาเป็นเครื่องมือในการสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ให้แก่ประชาชนในสมัยเดียวกัน
โดยสรุป อาคารโรงภาพยนตร์ในยุคนี้ได้ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความทันสมัย ซึ่งนอกจากแสดงออกถึงความเป็นไทยยุคใหม่ผ่านรูปแบบของสถาปัตยกรรมแล้ว ยังแสดงออกผ่านพฤติกรรมทางสังคมของผู้คนที่เข้าใช้งานสถาปัตยกรรมเหล่านั้น
นอกจากโรงภาพยนตร์ทั้ง 3 หลังจะมีจุดกำเนิดที่แตกต่างกันแล้ว การให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์แก่อาคารทั้งสามก็มีความแตกต่างกัน ขณะที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยถูกรื้อถอนและแทนที่ด้วยลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ โรงภาพยนตร์ทหารบกไม่มีการใช้งานอย่างเช่นในอดีต กลายเป็นสำนักงานของบริษัทเอกชน แต่ศาลาเฉลิมกรุงยังถูกใช้ทำการแสดงอยู่ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าศาลาเฉลิมกรุงยังมีบทบาทในการให้ความบันเทิงแก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่โรงมหรสพอีกสองแห่งได้ยุติบทบาทลง
บทบาทของสถาปัตยกรรมประเภทโรงมหรสพในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นอกจากจะสะท้อนความเจริญก้าวหน้าเป็นสมัยใหม่ผ่านปัจจัยทางด้านสถาปัตยกรรมได้แก่รูปแบบอาคาร วัสดุและเทคนิคการก่อสร้าง การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ภายในอาคาร โรงมหรสพเหล่านี้ยังเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมต่างๆ ที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน
[1] หจช.(2)สร.0201.104/6 จัดตั้งบริษัทแสดงลครสมัยใหม่ๆ และปรับปรุงการแสดงลครและดนตรี
[2] ธนาทิพ ฉัตรภูติ, ตำนานโรงหนัง, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เวลาดี, 2547), 56.
[3] อรสม สุทธิสาคร, รวมสารคดีชุดชีวิตจากเงาเวลา, (กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ, 2533), หน้า 31.
[4] ชนัญญา ปัญจพล, ““ศาลาเฉลิมไทย” จากโรงละครสู่โรงภาพยนตร์ พ.ศ. 2483 – 2532 : อดีตที่เลือนหายไปตามกาลเวลา,” มอง : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วารสารโครงการศิลปศาสตร์บัณฑิต เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีที่ 1, ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555), 38.
[5] อรสม สุทธิสาคร, รวมสารคดีชุดชีวิตจากเงาเวลา, (กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ, 2533), 45.
[6] อรสม สุทธิสาคร, รวมสารคดีชุดชีวิตจากเงาเวลา, (กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ, 2533), 48.
[7] บัณฑิต จุลาสัย, “เที่ยวบ้านชมเมือง ราชดำเนิน – ไทยนิยม - เฉลิมไทย,” บ้านและสวน ปีที่ 11, ฉบับที่ 124 (ธันวาคม 2529), 179-182.
[8] คึกฤทธิ์ ปราโมช, “ซอยสวนพลู,” สยามรัฐรายวัน (17 สิงหาคม 2532).
[9] ชาตรี ประกิตนนทการ, “มรดก 2475 : สถาปัตยกรรมคณะราษฎร,” สารคดี ปีที่ 25, ฉบับที่ 294 (สิงหาคม 2552) , 22-26.
[10] ชนัญญา ปัญจพล, ““ศาลาเฉลิมไทย” จากโรงละครสู่โรงภาพยนตร์ พ.ศ. 2483 – 2532 : อดีตที่เลือนหายไปตามกาลเวลา,” มอง : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วารสารโครงการศิลปศาสตร์บัณฑิต เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีที่ 1, ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555), 37.
[11] ประชา สุวีรานนท์, “ศาลาเฉลิมไทยและป้อมมหากาฬ,” มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 36, ฉบับที่ 1878 (12-18 สิงหาคม 2559).
[12] อรสม สุทธิสาคร, ชีวิตจากเงาเวลา, (กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ, 2533), 36.
[13] ธนาทิพ ฉัตรภูติ, ตำนานโรงหนัง, (กรุงเทพฯ: เวลาดี, 2547), 57.
[14] บัณฑิต จุลาสัย, “เที่ยวบ้านชมเมือง ราชดำเนิน – ไทยนิยม - เฉลิมไทย,” บ้านและสวน ปีที่ 11, ฉบับที่ 124 (ธันวาคม 2529), 181.