ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
ศาลาเฉลิมไทย
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2483
สถานะ:
รื้อถอน
พิกัดสถานที่:

พ.ศ. 2475 หาได้มีความสำคัญแค่การเป็นห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม แต่ยังเป็นปีที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 150 ปี และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบดังกล่าว รัชกาลที่ 7 จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้าง “โรงมหรสพ” ขึ้นบริเวณหัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนตรีเพชร โดยมี ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ และอาจารย์นารถ โพธิประสาท เป็นผู้คำนวณโครงสร้าง โรงมหรสพแห่งนั้นมีชื่อว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” เริ่มก่อสร้างในปี 2473 หากแล้วเสร็จให้หลังที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจรัชกาลที่ 7 ไปแล้วหนึ่งปี (พ.ศ. 2476) ศาลาเฉลิมกรุงนับว่าเป็นโรงภาพยนตร์สมัยใหม่แห่งแรกของไทย และล้ำสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตามเพียงไม่นานสถานะดังกล่าวก็ถูกเทียบชั้น เมื่อคณะราษฎรมีดำริให้จัดสร้าง “โรงมหรสพสำหรับประชาชน” แห่งใหม่ในชื่อ “ศาลาเฉลิมไทย” ในปี 2492 ซึ่งน่าสนใจที่ว่าในวันที่โรงมหรสพแห่งใหม่นี้เปิดทำการ (วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2492) ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการอย่างคณะราษฎรก็ได้หลุดพ้นจากอำนาจไปแล้วด้วยเช่นกัน

ศาลาเฉลิมไทย ตั้งอยู่ที่มุมถนนราชดำเนินกลางกับถนนมหาไชย เริ่มก่อสร้างในปี 2483 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ประสงค์จะให้ที่นี่เป็นโรงละครแห่งชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมกะโปรเจกต์ในการทำให้ถนนราชดำเนินเป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศ อาคารก่อสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่โดดเด่นในรูปทรงเรขาคณิตแบบบาศกนิยม (Cubism) ออกแบบโดย จิตรเสน ภัยวงศ์ และตบแต่งภายในโดย ศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา อย่างไรก็ดีในระหว่างการก่อสร้าง ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นเสียก่อน จึงทำให้โครงการต้องหยุดพัก และกว่าจะได้เปิดใช้งานจริงก็ล่วงเข้าเกือบ 10 ปี ศาลาเฉลิมไทยถือเป็นหนึ่งในโรงมหรสพที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้น โดยมีที่นั่ง 1,200 ที่นั่ง (ศาลาเฉลิมกรุงมีเพียง 600 ที่นั่ง)  พร้อมที่นั่งชั้นบนเวทีเป็นแบบมีกรอบหน้า และมีเวทีแบบรางเลื่อน (Wagon Stage) เพื่อความรวดเร็วในการเปลี่ยนฉาก ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นโรงภาพยนตร์ในปี 2496 ซึ่งก็ยังคงรักษาสถานะของผู้นำด้านความบันเทิงสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มนำข้าวโพดคั่วและไอศกรีมมาขายตามแบบโรงภาพยนตร์ในต่างประเทศ จัดฉายภาพยนตร์สามมิติครั้งแรกในไทยอย่าง “ใต้อุ้งมือโจร” (Man in the Dark, พ.ศ. 2496) จัดฉายการ์ตูนไทยเรื่องแรก “เหตุมหัศจรรย์” โดย ปยุต เงากระจ่าง รวมถึงภาพยนตร์เพลงระบบเสียงสเตอริโอโฟนิคสมบูรณ์แบบครั้งแรกของฮอลีวูด “มนตร์รักทะเลใต้” (South Pacific, พ.ศ. 2501) เป็นอาทิ หากในที่สุด ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2532 ศาลาเฉลิมไทยก็ถึงคราวลาโรง เมื่อรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้รื้อศาลาเฉลิมไทย เนื่องจากอาคารดังกล่าวบดบังทัศนียภาพของ “โลหะปราสาท” วัดราชนัดดารามวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังศาลาเฉลิมไทย มตินี้ยังสอดคล้องกับบทความของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 17 มกราคม 2532 ที่มองว่าอาคารแห่งนี้มีความ “ต่ำทราม” ทั้งยังปิดบังความงามของวัดราชนัดดา ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายว่าศาลาเฉลิมไทยไม่ได้บดบังทัศนียภาพหลักของวัด เนื่องจากวัดแห่งนี้มีมุมหลักจากถนนฝั่งคลอง (ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นยุคที่วัดแห่งนี้ถูกสร้าง ยังไม่มีการตัดถนนราชดำเนิน) หากเหตุคัดค้านนี้ก็ไม่เป็นผล ศาลาเฉลิมไทยถูกรื้อถอน และแทนที่ด้วยลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์มาถึงปัจจุบัน  

กล่าวได้ว่าการรื้อถอนศาลาเฉลิมไทย รวมถึงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่แห่งอื่นๆ ที่สร้างในยุคคณะราษฎร ซึ่งยังคงมีความพยายามรื้อถอนต่อเนื่องหลังจากนั้น ถือว่าเป็นความพยายามของฝ่าย “นิยมเจ้า” ที่ต้องการรื้อทำลายมรดกของคณะราษฎร และเชิดชูสถาปัตยกรรมไทยประเพณีที่สะท้อนคุณค่าดั้งเดิมของระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์ ดังเช่นในข้อเขียนส่วนหนึ่งจากบทความเดียวกันของ มรว. คึกฤทธิ์ ที่ว่า “ในยุค 50 ปี ที่แล้วมานี้ ได้มีการสร้างตึกรามที่น่าเกลียดน่ากลัวเอาไว้ในกรุงเทพมหานครอีกมากพอสมควร เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มทุบทิ้งอะไรกันขึ้นแล้ว เราก็ควรรู้สึกมันมือ เที่ยวทุบทิ้งตึกอื่นๆ ที่อยู่ผิดที่ผิดทาง และมีสถาปัตยกรรมอันไม่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของกรุงเทพฯ…” อย่างไรก็ตามในทางกลับกันความพยายามรื้อถอนมรดกคณะราษฎรนี้ก็มีส่วนในการปลุกสำนึกประชาธิปไตยให้ผู้คนในยุคปัจจุบันให้กลับมาสนใจศึกษาค้นคว้าถึงคุณค่าและความหมายของสิ่งปลูกสร้างในยุคคณะราษฎร และนั่นทำให้ประวัติศาสตร์ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ฝ่ายนิยมเจ้าต้องการให้ประชาชนลืมเลือน ก็ได้ถูกนำกลับมารื้อฟื้นอีกครั้งในปัจจุบัน

รูปภาพ

คลิปวิดีโอ

พิกัดสถานที่