ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
สถาปัตยกรรม “ราษฎร” ที่ถูกลบเลือนบนถนนราชดำเนิน - AR ราษฎรดำเนิน
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2565
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

ถนนราชดำเนินใน-กลาง-นอก ของกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่แค่ทางสัญจรหลักที่เชื่อมโยงระหว่างบริเวณพระราชวังหลวง เขตพระนคร กับบริเวณพระราชวังดุสิต เขตดุสิต เพียงเท่านั้น แต่นี่คือชุดถนนที่สำคัญที่สุดในพื้นที่ศูนย์กลางการเมืองและการปกครองของรัฐไทย ที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองอันเข้มข้น ประจักษ์พยานสำคัญหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวของถนนทั้งสามสายได้เป็นอย่างดีก็คือการสร้าง การรื้อถอน และการปรับปรุงสถาปัตยกรรม ที่เรียงรายตลอดเส้นทางของถนนตั้งแต่แรกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงคือการพัฒนาเมือง แต่ขณะเดียวกัน การคงอยู่ การหายไป และการซ่อมแปลงสถาปัตยกรรมที่สำคัญหลายแห่ง รวมถึงการยกเลิกกิจกรรมหลายกิจกรรมบนถนนชุดนี้ได้แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อันพลิกผันของการเมืองไทยในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงหลายสิบปีมานี้ ถนนราชดำเนินทั้งสามสายได้ถูกเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์และเน้นกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้นอย่างเด่นชัด ขณะที่สถาปัตยกรรมและกิจกรรมที่บรรจุความทรงจำของคณะราษฎรและคนธรรมดาสามัญหลายหลังได้ถูกทำให้สูญหายไปอย่างมีนัยยะสำคัญ อาจกล่าวได้ว่าเรื่องราวบนถนนราชดำเนินใน-กลาง-นอก เป็นภาพสะท้อนประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองของไทยที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรให้เรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในถนนแห่งราชดำเนินใน-กลาง-นอก แห่งนี้เป็นที่สนใจแก่คนทั่วไป ? ก่อนที่จะถูกลบเลือนไปจากความทรงจำของมหาชน

ในปี 2565  “AR ราษฎรดำเนิน: ค้นพบความทรงจำที่สูญหายไปจากถนนของมหาชน” ถูกเผยแพร่และได้ความสนใจจากสื่อหลายสำนัก โดย AR นี้ได้เสนอภาพจำลองและข้อมูลของสถาปัตยกรรมบนถนนราชดำเนินใน-กลาง-นอก ของกรุงเทพมหานคร ที่น่าสนใจ จำนวน 8 แห่ง ซึ่งปัจจุบันสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นบางส่วนหายไป บางส่วนถูกเปลี่ยนแปลงจนสูญเสียคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม สำหรับที่มาของ AR ราษฎรดำเนิน เริ่มต้นจากโครงการของศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง มหาวิทยาลัยศิลปากร (Urban Ally) ที่ต้องการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการออกแบบและพัฒนาเมืองมุมมองใหม่ ๆ ในรูปแบบที่ทันสมัย จึงได้เปิดโอกาสให้กลุ่มคิดอย่าง กลุ่มนักวิจัยอิสระด้านศิลปะสถาปัตยกรรมและสังคม เข้าเป็นทีมหลักในการกำหนดประเด็น จัดทำเนื้อหา และเลือกเครื่องมือนำเสนอองค์ความรู้ได้อย่างอิสระ ทั้งนี้กลุ่มคิดอย่างได้เลือกถนนราชดำเนินใน-กลาง-นอก อันเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพขององค์ความรู้ด้านการออกแบบและพัฒนาเมืองสูงที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร และเป็นชุดถนนที่มีพัฒนาการสืบเนื่องคู่กรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่สมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงระบอบประชาธิปไตย คิดอย่างได้นำเทคนิค AR (Augmented reality) ที่โดดเด่นในการสร้างภาพแบบผสานสภาพแวดล้อมจริงกับสิ่งจำลองเข้าไว้ด้วยกัน นำมาสื่อความหมาย มรดกคณะราษฎร 8 แห่ง ให้มาปรากฏเป็นภาพจำลองให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยคำว่า “ราษฎรดำเนิน” ในชื่อ AR ถูกใช้แทนคำว่า “ราชดำเนิน” เพื่อย้ำให้เห็นบทบาทของ “คณะราษฎร” และ “ราษฎรทั่วไป” ที่ครั้งหนึ่งเคยโลดแล่นบนถนนชุดนี้อย่างมีสีสัน

AR นี้เข้าถึงผ่าน website Urban Ally ในหน้า https://open-data.urbanally.org/projects/ratsadondumnoen ประกอบด้วยแผนที่ที่แสดงภาพกราฟิกส์ของถนนราชดำเนินในกรุงเทพมหานครทั้ง 3 สาย และสถาปัตยกรรมสำคัญ 8 แห่ง ที่ถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของกลุ่มสถาปัตยกรรมที่เคยมีอยู่ ได้แก่ อาคารชั่วคราวในงานรัฐธรรมนูญที่ลานพระราชวังดุสิตและท้องสนามหลวง ที่หายไปพร้อมกับการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญอย่างยิ่งใหญ่ เมรุปราบกบฏบวรเดช (อาคารชั่วคราว) ปั๊มน้ำมันสามทหาร ศาลาเฉลิมไทย และโรงละครเฉลิมชาติ

กลุ่มสถาปัตยกรรมที่ถูกเปลี่ยนแปลงจนสูญเสียคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ได้แก่ กลุ่มอาคารศาลยุติธรรม กลุ่มอาคารถนนราชดำเนินกลางบางหลัง นอกจากนั้นกลุ่มอาคารถนนราชดำเนินกลางที่เหลือทั้งหมดล้วนสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

ร่องรอยการดำรงอยู่ การหายไป และการเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมเหล่านี้รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ถูกนำมาเล่าผ่าน 2 วิธีการควบคู่กัน ได้แก่ หนึ่ง AR ที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมด้วยการถ่ายรูปและวิดีโอของตนเองกับสถาปัตยกรรมเหล่านี้ได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ แท็บเล็ต ท่ามกลางสภาพแวดล้อมจริง และสอง ข้อมูลประวัติของสถาปัตยกรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รูปเก่า และรายการอ้างอิงทางวิชาการ

AR ราษฎรดำเนินต้องการเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงได้ง่ายและน่าสนุกสำหรับทุกคน เพื่อส่งต่อความทรงจำที่ซุกซ่อนอยู่บนถนนราชดำเนินใน-กลาง-นอก ย้ำเตือนให้เห็นถึงพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมและสังคม และการช่วงชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรมผ่านการรื้อและการสร้างบนถนนประวัติศาสตร์ชุดนี้ในอดีตและยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

รูปภาพ

ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน