ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประวัติและความเป็นมา

หลังจากที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกกฎหมายเวนคืนที่ดินตามแนวถนนราชดำเนิน ก็ได้มีคำสั่งให้สร้างสนามมวยขึ้นในปี พ.ศ. 2484 ภายใต้การรับผิดชอบของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อส่งเสริมและจัดการแข่งขันมวยไทยให้เป็นกิจกรรมต้อนรับชาวต่างประเทศ[1] โดยในตอนแรกนั้นได้มีกำหนดให้สร้างสนามมวยบริเวณสวนมิสกวัน มุมถนนพิษณุโลกและราชดำเนินนอก แต่เนื่องจากสถานที่มีขนาดเล็กเกินไปจึงได้มาก่อสร้าง ณ บริเวณที่ตั้งในปัจจุบัน โดยบริษัท Imprese Italiane All Estero-Oriente เป็นผู้ทำสัญญาก่อสร้างสนามมวย[2]เริ่มวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2484

โครงการก่อสร้างสนามมวยราชดำเนินต้องหยุดชะงักไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้กลับมาดำเนินการต่อเมื่อปี พ.ศ. 2488 จนแล้วเสร็จ มีการแข่งขันนัดแรกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2488 

 


สนามมวยราชดำเนินในช่วงแรก
ที่มา : สำนักงานเวทีมวยราชดำเนิน, 60 ปี เวทีราชดำเนิน, 10.

 


การแข่งขันในสนามมวยราชดำเนินในช่วงแรก
ที่มา : สำนักงานเวทีมวยราชดำเนิน, 60 ปี เวทีราชดำเนิน, 10.

 


สนามมวยราชดำเนินขณะขึ้นโครงหลังคาและสร้างอัฒจันทร์
ที่มา : สำนักงานเวทีมวยราชดำเนิน, 60 ปี เวทีราชดำเนิน, 10.

 

ในช่วงแรกของสนามมวยราชดำเนินนั้นยังเป็นสนามที่ตั้งอยู่ในที่โล่งไม่มีหลังคา กระทั่งเมื่อถึงสมัยของนายเฉลิม เชี่ยวสกุล เป็นผู้จัดการสนามมวยราชดำเนินในขณะนั้น ได้เล็งเห็นถึงปัญหาในการจัดการแข่งขันในที่แจ้ง จึงได้เสนอให้สร้างหลังคาคลุมพื้นที่ทั้งหมด โดยว่าจ้างบริษัท Christiani & Nelson (Thailand) เป็นผู้รับเหมา สนามมวยราชดำเนินจึงได้เป็นอาคารที่มีหลังคาคลุมและมีการต่อเติมที่นั่งให้มีจำนวนมากขึ้นจนเป็นสนามมวยที่ได้มาตรฐานในปี พ.ศ. 2494[3]

 


สนามมวยราชดำเนินขณะก่อสร้าง ซึ่งเปิดให้ผู้เข้าชมการแข่งขัน
ที่มา : สำนักงานเวทีมวยราชดำเนิน, 60 ปี เวทีราชดำเนิน, 11.

 

วิเคราะห์ผังอาคารสนามมวยราชดำเนิน

 


ผังอาคารสนามมวยราชดำเนิน

 

ผังอาคารสนามมวยราชดำเนินมีลักษณะเป็นรูปวงกลม ส่วนที่เป็นทางเข้าหลักของอาคารยื่นออกมาด้านหน้าเพื่อรองรับผู้ที่เข้ามาชมการชกมวย เชื่อมต่อกับอาคารด้านข้างที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งเป็นส่วนของสำนักงานสนามมวย

การวางผังอาคารบริเวณสนามมวยเป็นวงกลม มีอัฒจันทร์ล้อมรอบเวทีมวยที่อยู่ตรงกลาง เวทีมวยเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร ตำแหน่งที่นั่งมีทั้งชั้นล่างสุดซึ่งอยู่ชั้นเดียวกับเวทีมวย ที่นั่งในส่วนนี้เป็นเก้าอี้ชั่วคราวสามารถเคลื่อนย้ายได้ ส่วนที่นั่งชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 เป็นแบบถาวร 

ทางเข้าสู่ที่นั่งชมแต่ละชั้นจะเข้าคนละทาง โดยมีบันไดขึ้นไปยังชั้น 2 และชั้น 3 ดังแสดงในแผนผัง ทางเข้าสนามมวยนอกจากจะเข้าได้จากทางด้านหน้าอาคารแล้ว ยังสามารถเข้าถึงได้จากทางด้านข้างซึ่งติดต่อกับส่วนของสำนักงาน แสดงให้เห็นว่ามีการทางสัญจรอย่างชัดเจนระหว่างบุคคลภายนอกและเจ้าหน้าที่สนามมวย 

ทางออกสำหรับผู้เข้าชมมวยสำหรับชั้น 1 และชั้น 2 จะอยู่ช่องเดียวกับทางเข้า ส่วนผู้ชมชั้น 3 จะออกคนละทางกับทางเข้า ทางออกฉุกเฉินมี 2 ทางที่ด้านหลังและด้านหน้าซึ่งจะเปิดใช้เฉพาะเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินเท่านั้น

 


ผังแสดงทางเข้าสนามมวยชั้น 1

 


ผังแสดงทางเข้าสนามมวยชั้น 2

 


ผังแสดงทางเข้าสนามมวยชั้น 3

 


ผังแสดงทางออกสนามมวยชั้น 3

 

จากรูปแบบแผนผังอาคารที่หันหน้าเข้าหาจุดสนใจซึ่งอยู่กึ่งกลางเพียงจุดเดียว ทำให้สายตาของผู้เข้าชมมองไปยังจุดเดียวกัน ด้วยการลดหลั่นของที่นั่งในแต่ละชั้นทำให้ไม่มีการบังสายตาถึงแม้เวทีจะไม่ได้สูงมากนัก ทำให้ผู้ชมทุกคนได้รับประสบการณ์เดียวกัน

ส่วนอาคารด้านข้างสนามมวยที่เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นส่วนของสำนักงานสำหรับเจ้าหน้าที่ของสนามมวย บริเวณที่นักมวยใช้เตรียมตัวก่อนขึ้นชก และห้องน้ำ โดยส่วนนี้มีทางเข้าที่เชื่อมกับสนามมวยอยู่ด้านข้าง

 


ผังแสดงตำแหน่งอาคารสำนักงานสนามมวยราชดำเนิน

 

จะเห็นได้ว่าการวางผังอาคารถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือส่วนของผู้เข้าชมซึ่งถือว่าเป็นบุคคลภายนอก และส่วนของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ใช้งานประจำ โดยทางเข้าที่ถูกออกแบบให้มีความสำคัญมากกว่าคือทางเข้าสำหรับบุคคลภายนอก ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้ากึ่งกลางอาคาร ส่วนทางเข้าสำหรับเจ้าหน้าที่นั้นไม่มีการเน้นความสำคัญแต่อย่างใด

 


รูปด้านหน้าอาคารสนามมวยราชดำเนิน

 


รูปด้านหน้าอาคารสนามมวยราชดำเนิน

 


รูปด้านหน้าอาคารสนามมวยราชดำเนิน

 

ด้านหน้าอาคารสนามมวยราชดำเนินมีการจัดวางองค์ประกอบอย่างเรียบง่าย มีเสาซึ่งเป็นองค์ประกอบทางตั้งถูกจัดวางเป็นจังหวะ 3 ช่วงเสา สลับกับผนังสี่เหลี่ยม ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วพบว่ามีความคล้ายคลึงกับอาคารในยุคเดียวกัน เช่น อาคารสนามศุภชลาศัย โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง โรงภาพยนตร์เฉลิมไทย เป็นต้น

ด้านหน้าอาคารถูกแบ่งเป็น 5 ช่วง ช่วงริมสุดของทั้งสองฝั่งมีการประดับตกแต่งด้วยประติมากรรมนูนสูง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับรูปประดับที่ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและประติมากรรมนูนสูงที่ตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ประติมากรรมมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน โดยรูปปั้นนูนสูงที่ประดับอยู่หน้าอาคารสนามมวยราชดำเนินนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้แบบไทยสมัยโบราณ เช่น การฟันดาบ กระบี่กระบอง และการชกมวย ฉากหลังเป็นต้นไม้และเจดีย์ แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยที่ผูกพันกับทั้งการสู้รบและวัดวาอาราม

ประติมากรรมนูนสูงทั้งสองฝั่งของเวทีราชดำเนินมีรูปแบบเหมือนกัน เข้าใจว่าเป็นการหล่อปูนปลาสเตอร์ที่มาจากแม่พิมพ์เดียวกัน

 


ประติมากรรมนูนสูงด้านหน้าสนามมวยราชดำเนิน

 

จุดที่น่าสนใจสำหรับสนามมวยราชดำเนินอีกจุดหนึ่งคือการออกแบบป้ายด้านหน้าที่ไม่เหมือนกับสถานที่อื่นในยุคสมัยเดียวกัน เป็นป้ายที่มีสีสันไม่ฉูดฉาด เป็นการประกอบของเส้นตรงและวงกลมเป็นหลัก เน้นความเรียบง่ายในการออกแบบ

 


ป้ายหน้าสนามมวยราชดำเนิน

          

รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม ได้มีนโยบายให้ก่อสร้างสนามมวยราชดำเนินขึ้นเพื่อใช้เป็นกิจกรรมในการต้อนรับชาวต่างชาติ ความเป็นสมัยใหม่ของสนามมวยราชดำเนินแห่งนี้สะท้อนมาในการออกแบบรายละเอียดการประดับตกแต่งดังจะเห็นได้จากรูปด้านหน้าอาคาร และในแง่ของการใช้งานสนามมวยราชดำเนินนั้นก็มีความเป็นสมัยใหม่ ทั้งการแบ่งส่วนของบุคคลภายนอกแยกออกจากส่วนของเจ้าหน้าที่สำนักงานสนามมวย และมีทางออกฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัย

สรุป

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สนับสนุนให้ประชาชนใช้เวลาว่างในการพักผ่อนหย่อนใจ เช่นการชมมหรสพต่างๆ ตามแบบตะวันตก รวมทั้งการออกกำลังกายเพื่อสร้างร่างกายพลเมืองตามอุดมคติที่ต้องการ นอกจากนโยบายด้านการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน เช่น ให้ข้าราชการทำกายบริหารทุกสัปดาห์ การเดินทางไกลของข้าราชการ รัฐบาลยังสนับสนุนให้สร้างสนามกีฬาและสนามเด็กเล่นเพื่อให้ประชาชนได้ใช้งาน

การออกกำลังกายเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ขณะเดียวกันก็ถือเป็นมหรสพอย่างหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปใช้เวลาช่วงหนึ่งร่วมกัน ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ดังจะเห็นได้จากจุดประสงค์ของการก่อสร้างสนามมวยราชดำเนินก็เพื่อเป็นการแสดงต้อนรับชาวต่างชาติในยุคนั้น รวมทั้งการก่อสร้างอัฒจันทร์ล้อมรอบสนามกีฬา ไม่ว่าจะเป็นสนามศุภชลาศัยหรือสนามมวยราชดำเนิน ก็หันที่นั่งชมเข้าสู่จุดสนใจที่อยู่บริเวณกึ่งกลางสนามเช่นเดียวกัน การก่อสร้างพื้นที่เข้าชมด้วยอัฒจันทร์ที่หันหน้าเข้าสู่ทิศทางเดียวกันนั้นสามารถบรรจุผู้ชมได้จำนวนมาก ทำให้ผู้เข้าชมมีประสบการณ์ร่วมกันจากการชมกีฬาในสนาม

ถือว่ารัฐบาลในสมัยนั้นได้ใช้สถาปัตยกรรมประเภทสนามกีฬาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสะท้อนสภาวะความเป็นสมัยใหม่ของชาติ นอกจากรูปลักษณ์ของอาคารแล้ว กิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในสนามกีฬาก็ถูกบังคับจากการวางผังที่แบ่งแยกสัดส่วนชัดเจน หน้าที่ของสนามกีฬาที่นอกจากจะมีเพื่อรองรับการกีฬาสมัยใหม่ที่มีขึ้นแล้ว ยังเป็นสถานที่สำหรับแสดงให้เห็นศักยภาพทางด้านร่างกายซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐนิยมของรัฐบาลอีกด้วย

 


 

[1] สำนักงานเวทีมวยราชดำเนิน, 60 ปี เวทีราชดำเนิน, 70.

[2] สำนักงานเวทีมวยราชดำเนิน, 60 ปี เวทีราชดำเนิน, 9.

[3] สำนักงานเวทีมวยราชดำเนิน, 60 ปี เวทีราชดำเนิน ,หน้า 11.