ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
สนามมวยเวทีราชดำเนิน
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2484
สถานะ:
ยังใช้งานอยู่
พิกัดสถานที่:

ไม่เพียง “มวย” จะเป็นกีฬาพื้นบ้านที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน หากมันยังเป็นมหรสพยอดนิยมอันดับต้นๆ ของชาวบ้าน ก่อนการมาถึงกีฬาสมัยใหม่ที่ได้อิทธิพลจากตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่น ฟุตบอล รักบี้ เทนนิส หรือการแข่งม้า อย่างไรก็ดี อาจเพราะสถานะของการเป็นกีฬา “ชนชั้นล่าง” มาตั้งแต่โบราณ ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เหล่าผู้นำประเทศจึงไม่มีความคิดที่จะสร้างสนามมวยระดับมาตรฐานไว้ใช้ในการแข่งขันใดๆ โดยการแข่งขันมวยในสมัยนั้นจะเกิดขึ้นเฉพาะเวทีมวยชั่วคราว อาทิ ภายในโรงเรียนสวนกุหลาบ ภายในบริเวณสวนเจ้าเชตุ (กรมรักษาดินแดนในปัจจุบัน) และภายในสวนลุมพินี เป็นต้น กระทั่งเมื่อคณะราษฎรขึ้นสู่อำนาจ ไม่เพียงพวกเขาจะขับเคลื่อนนโยบายด้านพลศึกษาในฐานะเครื่องมือที่จะทำให้ประชาชนมีจิตใจนักกีฬา และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อเป็น “พลเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญ” แต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่สำหรับกีฬาควบคู่ไปกับการเป็นพื้นที่สันทนาการและมหรสพสำหรับประชาชน นั่นจึงเป็นเหตุให้เกิดการผลักดันการสร้างสนามกีฬาระดับเมกะโปรเจกต์ขึ้นสองแห่งอย่าง “กรีฑาสถานแห่งชาติ” (สนามกีฬาแห่งชาติในปัจจุบัน) สนามกีฬาสาธารณะแห่งแรก (เปิดใช้สนามครั้งแรกในปี 2481) และ “สนามมวยเวทีราชดำเนิน” สนามมวยมาตรฐานแห่งแรกของประชาชน

สนามมวยเวทีราชดำเนินก่อตั้งโดยดำริของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งมีคำสั่งให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดสร้างสนามมวยขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณริมถนนราชดำเนินนอกในช่วงปี 2484 อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ต้องหยุดชะงักลงหลายปี อันเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะมีการพัฒนาต่อหลังสงครามสิ้นสุด และเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 23 ธันวาคม 2488 ในระยะแรกสนามมวยแห่งนี้ยังอยู่ในรูปแบบอัฒจันทร์เปิดโล่ง ไม่มีหลังคาคลุม กระนั้นด้วยความนิยมอันล้นหลามของผู้ชม จึงมีการก่อสร้างเพิ่มเติมในรูปแบบของอาคารสถาปัตยกรรมอาร์ทเดโค (Art Deco) พร้อมหลังคาคลุมพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่มากในยุคนั้นสำหรับกีฬาประเภทนี้ที่นิยมเวทีกลางแจ้งมาโดยตลอด หลังคาคลุมสนามมวยได้รับการออกแบบเป็นโดมคอนกรีตโค้งขนาดใหญ่ รับผิดชอบโดย บริษัท คริสเตียนี แอนด์ นีลสัน สร้างแล้วเสร็จในปี 2494 ซึ่งนั่นทำให้อาคารแห่งนี้เป็นเวทีมวยที่ทันสมัยที่สุด เช่นเดียวกับที่สนามแห่งนี้กลายเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาวงการมวยสากลอาชีพในประเทศไทย ทั้งนี้ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เหล่านักมวยสากลชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายรายก็ล้วนเคยขึ้นสังเวียนที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น โผน กิ่งเพชร, ชาติชาย เชี่ยวน้อย, เขาทราย แกแล็คซี่, รัตนพล ส. วรพิน, ชนะ เปาอินทร์ ฯลฯ  

อย่างไรก็ดี ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยเข้าสู่รัชกาลที่ 10 ซึ่งมาพร้อมโครงการจัดระเบียบพื้นที่บนเกาะรัตนโกสินทร์ใหม่ หลายฝ่ายจึงกังวลกันว่าสนามมวยเวทีราชดำเนินแห่งนี้จะประสบชะตากรรมแบบเดียวกับสวนสัตว์เขาดิน ซึ่งถูกรื้อถอนและย้ายไปเปิดในทำเลแห่งใหม่ หากภายหลังที่บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด ได้เข้ามาถือหุ้นใน บริษัท เวทีราชดำเนิน จำกัด (ซึ่งได้เช่าช่วงต่อมาจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ในปี 2565 พร้อมก่อตั้ง บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด (GSV) ในการบริหารพื้นที่ รวมถึงการปรับปรุงสนาม และยกระดับการประชาสัมพันธ์และการจัดการแข่งขัน เช่นเดียวกับที่สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้สนองรับนโยบายผลักดันให้มวยไทยเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ของประเทศในรัฐบาลชุดปัจจุบันผ่านการใช้เวทีมวยแห่งนี้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ เหล่านี้ก็มีส่วนช่วยรักษาสถานะของเวทีมวยดั้งเดิมของประเทศไว้อย่างมั่นคง

รูปภาพ

ยุคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐

ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน

คลิปวิดีโอ

พิกัดสถานที่