ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก


อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญแห่งแรกของประเทศสยาม (ภาพจาก จังหวัดมหาสารคาม งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ)

 

“การฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญที่คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ชุมนุมกันกระทำ  เมื่อวันที่ ๑๐ เดือนนี้  เปนเหตุการณ์ที่จับใจตรึงใจประชาชนทั่วหน้า หมุดนั้นแทนดวงใจของบรรดาท่านวีระบุรุษแห่งวันที่ ๒๔ มิถุนายน  ซึ่งเมื่อก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญแล้ว  ก็ฝังดวงใจไว้ในรัฐธรรมนูญ  ท่านเหล่านั้นไม่เพียงแต่จะก่อกำเนิด  ยังตามพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญตลอดเสมอไปด้วย”[1]

ข้อความข้างต้นเป็นอารมณ์ความรู้สึกของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่มีต่อเหตุการณ์ฝัง “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือหมุดคณะราษฎรกลางลานพระราชวังดุสิต ที่นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ อันเป็นการระลึกและให้ความสำคัญกับจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติสยามเมื่อย่ำรุ่งของวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่นำไปสู่การเกิดระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศสยาม 

อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนั้น ณ ดินแดนอันห่างไกลพระนคร อย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญถึง ๒ แห่งได้แก่ อนุสรณ์รัฐธรรมนูญบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ และอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญกลางบึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด เหตุการณ์ทั้งสองนี้นับว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่งเนื่องด้วยอนุสาวรีย์ทั้ง ๒ แห่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนกลุ่มต่างๆ ในท้องถิ่น อาทิ ข้าราชการ, คหบดี, พ่อค้า, และประชาชนทั่วไป ที่ต้องการสร้างอนุสรณ์เพื่อเป็น “หมุดหมาย” ของระบอบใหม่ในท้องถิ่นของพวกเขา โดยอนุสาวรีย์ที่เกิดจากประชาชนทั้ง ๒ แห่งยังสร้างแล้วเสร็จก่อนที่รัฐบาลคณะราษฎรจะมีแนวคิดในการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนินถึง ๓ ปี

โดยอนุสาวรีย์ทั้ง ๒ แห่งข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่ถูกสร้างกระจายตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศสยามในยุคคณะราษฎรนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๒๔๗๐ จนถึงปลายทศวรรษ ๒๔๘๐ และเป็นที่น่าสังเกตว่าอนุสาวรีย์ส่วนมากตั้งอยู่ในภาคอีสาน อันเป็นพื้นที่ที่ผู้แทนราษฎรแสดงบทบาทอย่างโดดเด่นและประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงหลังการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ถึงแม้ว่าอนุสาวรีย์เหล่านี้มีนัยสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ในภาคอีสานเป็นอย่างมาก ทว่าในปัจจุบันกลับหลงเหลืออนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญอยู่เพียง ๖ แห่งเท่านั้น ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม, จังหวัดสุรินทร์, จังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดชัยภูมิ, จังหวัดขอนแก่น, และจังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากอนุสรณ์หลายๆ แห่งถูกรื้อถอนหรือถูกเปลี่ยนแปลงจนไม่เหลือสภาพเดิม 

นอกจากนั้นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญเหล่านี้ยังถูกกล่าวถึงในงานวิชาการน้อยมาก ซึ่งงานวิชาการที่ศึกษาเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในยุคคณะราษฎรที่น่าสนใจมีเพียงงานของชาตรี ประกิตนนทการ ที่กล่าวถึงบทบาทของรัฐบาลในการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองของระบอบใหม่ผ่านการสร้างรัฐธรรมนูญจำลองหน้าศาลากลางจังหวัดต่างๆ[2] และงานของศราวุฒิ วิสาพรม ได้กล่าวถึงการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในต่างจังหวัด ซึ่งสะท้อนความพยายามของราษฎรและข้าราชการในท้องถิ่นที่พยายามเชื่อมโยงกับระบอบประชาธิปไตย[3] รวมถึงงานสารคดีของนักเขียนอีสานที่ให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประวัติอนุสาวรีย์เหล่านี้[4] 

ดังนั้นในโอกาสครบ ๗ รอบของการสร้างอนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม อันเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกของประเทศสยามที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญจำลองประกอบอยู่ในอนุสาวรีย์ ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงพยายามสืบหาประวัติความเป็นมา ความหมายและนัยสำคัญของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสานจากหลักฐานจำนวนน้อยนิดที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน โดยผู้เขียนหวังว่าการศึกษาสืบค้นของผู้เขียนจะทำให้เราได้ทราบถึงบริบทและประวัติความเป็นมาของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสาน ตลอดจนเปิดโลกทัศน์ให้ผู้อ่านเห็นถึงความตระหนักสำนึกในคุณค่าความเป็นพลเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของคนอีสานนับตั้งแต่กลางทศวรรษ ๒๔๗๐ จนถึงปลายทศวรรษ ๒๔๘๐ รวมทั้งต้องการอภิปรายให้เห็นประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมในภาคอีสานยุคคณะราษฎรผ่านอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญทั้ง ๖ แห่ง

อีสานช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่

ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสานเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยามผ่านกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการผนวกดินแดนอีสานเข้าสู่แผนที่สมัยใหม่ของสยาม การปรับปรุงการจัดเก็บภาษี การนำระบบราชการสมัยใหม่แบบรวมศูนย์มาแทนที่การปกครองของเจ้าเมืองท้องถิ่นที่เป็นอิสระ และการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างมูลนายกับไพร่และทาสมาขึ้นกับรัฐโดยตรง

การผนวกอีสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามนี้มิได้ดำเนินอย่างราบรื่น ดังที่ปรากฎเสียงสะท้อนของการขัดขืน เช่น การเกิดกบฏผีบุญอีสานลุกฮือต่อต้านอำนาจรัฐสยามส่วนกลางอันเป็นผลจากการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลและการขูดรีดภาษีของรัฐสยาม แต่ด้วยความเหนือกว่าของเทคโนโลยีทางการทหารทำให้ส่วนกลางสามารถปราบปรามกบฏผีบุญอีสานได้อย่างราบคาบและง่ายดาย

ภายใต้การปกครองของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม อีสานได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับกรุงเทพฯ ผ่านการสร้างทางรถไฟเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ใน พ.ศ. ๒๔๔๓ และขยายไปถึงอุบลราชธานีใน พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อกระชับอำนาจของส่วนกลางในการปกครองหัวเมืองอีสาน  ขณะเดียวกันการเปิดเส้นทางรถไฟสายอีสานได้ส่งผลต่อการคมนาคมและเศรษฐกิจในอีสานด้วย[5] โดยรถไฟได้กระตุ้นให้คนท้องถิ่นทำการผลิตเพื่อการค้าและเกิดการพัฒนาชุมชนที่ตั้งอยู่ริมทางรถไฟเป็นเมืองการค้า อาทิ  เมืองปากช่อง, เมืองนครราชสีมา, เมืองบุรีรัมย์, เมืองสุรินทร์, เมืองขุขันธ์, และเมืองอุบลราชธานี ส่วนเมืองที่ห่างไกลจากเส้นทางรถไฟ การค้ากลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก ดังสะท้อนให้เห็นจากความยากลำบากในการเดินทางระหว่างนครราชสีมากับขอนแก่นในช่วงต้นทศวรรษ ๒๔๗๐ ที่ราษฎรยังคงใช้เกวียนในการเดินทางและในช่วงฤดูแล้งต้องใช้เวลาเดินทางนานถึง ๑๐ วัน[6]

การขยายตัวของระบบเงินตราในอีสานและการบังคับให้ราษฎรเสียภาษีเป็นเงินตรา ส่งผลให้คนอีสานจำนวนมากกลายเป็นแรงงานรับจ้างสำหรับการผลิตที่ภาคกลาง ซึ่งสถานะทางชนชั้นดังกล่าวทำให้คนอีสานมีสถานะทางสังคมที่ต่ำกว่าคนในภูมิภาคอื่นของประเทศสยาม[7] พร้อมกันนั้นการขยายตัวทางการค้าในอีสานได้ดึงดูดให้คนจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานและมีบทบาททางเศรษฐกิจตามเมืองการค้า ในขณะที่การจัดการศึกษาสมัยใหม่ภายใต้การสนับสนุนของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ได้มีส่วนผลักดันให้คนอีสานบางส่วนผู้มีภูมิหลังจากตระกูลเจ้าเมืองท้องถิ่น ราษฎรท้องถิ่น และคนจีน ได้พัฒนาตนเองมาเป็นข้าราชการท้องถิ่นหรือประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะมีบทบาททางการเมืองและสังคมอย่างแข็งขันในช่วงหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕

ความตื่นตัวของพลเมืองอีสานหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕

การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรที่กรุงเทพฯ เมื่อเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นจุดสิ้นสุดของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐประชาชาติ (Nation-state) อย่างแท้จริงในประเทศสยาม ดังที่สะท้อนในคำประกาศของคณะราษฎรที่เน้นย้ำถึงการเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยจากพระมหากษัตริย์มาสู่ราษฎร จากนั้นในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญอันถือเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศฉบับแรก โดยเนื้อหาในรัฐธรรมนูญได้มีการจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ดังปรากฎในมาตราแรกของรัฐธรรมนูญฉบับแรก (หรือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕) ที่ระบุว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ซึ่งข้อความในมาตราดังกล่าวสะท้อนเจตนารมณ์ของการปฏิวัติ 2475 ที่มุ่งให้ราษฎรมีอำนาจสูงสุด โดยในมาตราอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญมีการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของราษฎรในทางร่างกาย ทรัพย์สิน รวมถึงเสรีภาพ และความเสมอภาค ภายใต้การปกครองระบอบใหม่

เมื่อพิจารณาจากหลักฐานร่วมสมัยพบว่า พลเมืองอีสานให้ความสนใจไม่น้อยต่อสถานการณ์ทางการเมืองในกรุงเทพฯ ดังสะท้อนจากบรรยากาศของหัวเมืองอีสานเมื่อทราบข่าวการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่กรุงเทพฯ ตัวอย่างเช่น สิบโทสุพรรณ อนันตะโสภณ ได้บรรยายความรู้สึกของพลเมืองในจังหวัดอุดรธานีในช่วงวันที่ ๒๔–๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่าราษฎรต่างฟังข่าวทางวิทยุอย่างล้นหลาม ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่มีความรู้เรื่องการปกครองแบบใหม่เท่าใดนัก ทราบเพียงคร่าวๆ ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้อำนาจกฎหมาย ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน เจ้าหน้าที่รัฐบาลเท่ากับลูกจ้างราษฎร มีหน้าที่ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร ดังนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดและกรมการอำเภอต้องเดินทางไปตามท้องที่ต่างๆ เพื่อบรรยายให้ราษฎรมีความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง[8]

ความรู้สึกของสิบโทสุพรรณ แสดงให้เห็นว่าราษฎรอีสานมีความตื่นตัวทางการเมืองเป็นอย่างยิ่งนับตั้งแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และตระหนักรู้ถึงสถานภาพที่เปลี่ยนไปของตนเองจากการเป็นราษฎรใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์กลายมาเป็นผู้มีความเสมอภาคกันถ้วนหน้า มีศักดิ์ศรีเท่ากับข้าราชการทั้งหลาย คณะราษฎรทำให้ราษฎรกลายเป็นศูนย์กลางของการปกครองระบอบใหม่นี้อย่างแท้จริง ดังเห็นได้จากการให้ความสำคัญกับราษฎรด้วยการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการต้องก้าวออกไปหาราษฎรในท้องที่ต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแก่ราษฎร

 


ขุนพรมประศาสน์ (วรรณ พรหมกสิกร) ชาวอุบลราชธานี ผู้ประพันธ์วรรณกรรมอีสานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกรองและรัฐธรรมนูญ ภาพจาก จารุวรรณ ธรรมวัตร, บรรณาธิการ, คือผู้อภิวัฒน์...ถึงรัฐมนตรีอีสาน ถึงกวีพื้นบ้าน คืออุดมการณ์ประชาธิปไตย (อุบลราชธานี : โรงพิมพ์ศิริธรรมออฟเซ็ท, ๒๕๔๓). 

 

ขณะที่ขุนพรมประศาสน์ (วรรณ พรหมกสิกร) นายอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ได้เผยแพร่หนังสือคำกลอนภาษาอีสานเรื่อง“เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำกลอนภาษาไทย ภาคอีสาน”[9] ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ และ “คำกลอนพากย์อีสานบรรยายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม”[10] ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยผู้ประพันธ์มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการช่วยคณะราษฎรเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง หลัก ๖ ประการของคณะราษฎร และรัฐธรรมนูญของประเทศสยาม ให้แก่พลเมืองภาคอีสานและภาคเหนือ รวมถึงช่วยลบล้างข่าวลือในทางลบของคณะราษฎรที่สะพัดในภาคอีสานช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง[11]

ทั้งนี้ขุนพรมประศาสน์ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญในฐานะเป็น “กฎหมายว่าอำนาจสูงสุด จุดที่หมายเป็นของไพร่ราษฎร์ เป็นอำนาจทั่วๆ กันไป บ่อมีใผได้อำนาจลื่น”[12] ซึ่งมีความหมายว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยมีราษฎรเป็นศูนย์กลางในการปกครอง ราษฎรมีอำนาจเสมอภาคกันไม่มีผู้ใดมีอำนาจมากหรือน้อยไปกว่ากัน ดังนั้นรัฐธรรมนูญตามทัศนะของขุนพรมประศาสน์จึงถูกให้คุณค่าทางการเมืองในฐานะสัญลักษณ์ของระบอบใหม่ ที่เป็นหลักประกันแห่งสิทธิของราษฎรและการจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ รวมถึงมีความศักดิ์สิทธิ์สูงสุดแทนที่ผู้ปกครองระบอบเก่า[13]

แม้ว่าในเหตุการณ์กบฏบวรเดช ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ กองกำลังทหารจากหัวเมืองและฐานที่มั่นสำคัญของฝ่ายกบฏจะมาจากภาคอีสาน เนื่องจากพระองค์เจ้าบวรเดช เคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพที่นครราชสีมาและมีนายทหารจำนวนไม่น้อยเลื่อมใสและเคารพยำเกรง แต่กลับปรากฏหลักฐานว่าพลเมืองอีสานได้ให้การสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลในการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดขอนแก่น ข้าราชการและพลเมืองชาวขอนแก่นได้จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครต่อต้านฝ่ายกบฏ เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายกบฏเข้ายึดเมืองขอนแก่นเป็นที่มั่นในการต่อต้านรัฐบาล[14] ขณะที่เมืองมหาสารคาม  พระอรรถเปศลสรวดี (เจริญ ทรัพย์สาร) ผู้ว่าราชการจัดหวัดได้ส่งตำรวจและเหล่าลูกเสืออาสาออกไปช่วยป้องกันรักษาเมืองและจับกุมทหารฝ่ายกบฏที่แตกหนีหลังจากพ่ายแพ้ฝ่ายรัฐบาลในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม[15]

ห้วงเวลาเดียวกันนั้น ในช่วง พ.ศ. ๒๔๗๖ การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศสยามเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยชาวอีสานได้มีโอกาสเลือกผู้แทนตำบลของตนเอง ซึ่งผู้แทนตำบลที่ชาวอีสานเลือกเหล่านั้นจะเป็นผู้เลือกผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง การเลือกตั้งครั้งแรกนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงชาวอีสานเข้ากับระบอบใหม่อย่างแน่นแฟ้น รวมถึงสะท้อนการเปลี่ยนสถานะของชาวอีสานจาก “ราษฎร” ที่ไร้อำนาจมาสู่ “พลเมือง” ที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดและเสมอภาคกันภายใต้ระบอบใหม่ การเลือกตั้งผู้แทนตำบลในภาคอีสานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมถึงมีผู้แทนตำบลที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในประเทศคือ นายสิบตรีพุฒ ทิววิภาต ผู้แทนตำบลจากอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม[16]

หลังจากมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร บรรดาผู้แทนราษฎรอีสานได้เป็นตัวแทนของพลเมืองอีสานในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ภายในจังหวัดของตน อาทิ ประวัติความเป็นมา, การปกครอง, การคมนาคม, ชีวิตความเป็นอยู่, นิสัยใจคอของประชาชน, รวมถึงสภาพปัญหาที่ประสบอยู่ อันสะท้อนถึงสำนึกของตัวแทนพลเมืองอีสานที่พยายามเชื่อมโยงดินแดนอีสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐประชาชาติไทย[17]

นอกจากนี้เมื่อรัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งส่งเสริมให้พลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่น โดยพลเมืองได้เข้าไปดูแลและจัดการผลประโยชน์ในท้องถิ่นของตนเอง อันเป็นการเสริมสร้างให้พลเมืองของรัฐประชาชาติไทยเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น[18] โดยการจัดตั้งเทศบาลในอีสานเริ่มต้นจากเทศบาลเมืองตามหัวเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการและย่านการค้าสำคัญ เพื่อให้อำนาจแก่ท้องถิ่นในการจัดสรรทรัพยากรของตนเอง ตัวอย่างเช่น เทศบาลเมืองนครราชสีมา (พ.ศ. ๒๔๗๘), เทศบาลเมืองอุบลราชธานี (พ.ศ. ๒๔๗๘), เทศบาลเมืองขอนแก่น (พ.ศ. ๒๔๗๘), เทศบาลเมืองสุรินทร์ (พ.ศ. ๒๔๗๙), เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด (พ.ศ. ๒๔๗๙), เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ (พ.ศ. ๒๔๗๙), เทศบาลเมืองอุดรธานี (พ.ศ. ๒๔๗๙), เทศบาลเมืองชัยภูมิ (พ.ศ. ๒๔๗๙), เทศบาลเมืองขุขันธ์ (พ.ศ.๒๔๗๙)[19]

อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญมหาสารคาม : สำนักรัฐธรรมนูญและกำเนิดประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญมหาสารคาม  เป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญแห่งแรกของประเทศสยาม ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. ๒๔๗๗ ด้วยความร่วมมือระหว่างข้าราชการและพลเมืองชาวมหาสารคามในสมัยหลวงอังคณานุรักษ์ (สมถวิล เทพาคำ) เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด เพื่อให้พลเมืองชาวมหาสารคามได้รำลึกและเห็นคุณค่าของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

หากพิจารณาบริบทการสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้นับว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในจังหวัดมหาสารคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐของบรรดากบฏผู้มีบุญในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗  อันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในภาคอีสาน

ดังเช่นกบฏหมอลำน้อยผู้เป็นตัวอย่างชัดเจนในการเคลื่อนไหวของกบฏผู้มีบุญภายใต้ระบอบใหม่ ที่นำโดยนายชาดาหรือคำสา สุมังกะเศษ ผู้มีอาชีพเป็นหมอลำแต่อ้างตัวว่าเป็นผู้วิเศษสั่งสอนและทำนายผ่านกลอนลำให้แก่ประชาชนในจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเนื้อหาของกลอนลำนั้นเต็มไปด้วยถ้อยคำยุยงให้ราษฎรไม่จ่ายภาษี ไม่ส่งเด็กเข้าโรงเรียน ไม่ให้กราบไหว้พระสงฆ์ รวมถึงทำนายว่าจะมีการรบกันระหว่างคนอีสานกับคนภาคกลาง และท้ายที่สุดหมอลำน้อยจะเป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจสิทธิ์ขาด[20] แม้ว่าหมอลำน้อยจะถูกจับและถูกลงโทษจำคุกใน พ.ศ. ๒๔๗๖ แต่การเคลื่อนไหวแบบกบฏผู้มีบุญยังคงปรากฏขึ้นอีกหลายครั้งในจังหวัดมหาสารคาม คือ กบฏเกือกขาว อำเภอตลาด (พ.ศ. ๒๔๗๖) และกบฏพวกสอนธรรมวิเศษ (พ.ศ. ๒๔๗๗) เป็นกลุ่มคนที่อ้างตนว่าเป็นผู้วิเศษและชักจูงให้ราษฎรก่อความไม่สงบ

นอกจากนี้ยังปรากฏความไม่สงบในอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม (พ.ศ. ๒๔๗๗) ผู้นำกบฏได้พูดจายุยงให้ราษฎรเกลียดชังรัฐบาล โดยอ้างถึงเหตุการณ์กบฏบวรเดชว่า พระองค์เจ้าบวรเดชนำฝรั่งเข้ามาแทรกแซงรัฐบาลพระยาพหลฯ รวมถึงกล่าวหาว่าพระยาพหลฯ ใช้อุบายให้ทหารฝ่ายกบฏใช้กระสุนกระดาษ แต่ฝ่ายกรุงเทพฯ กลับใช้กระสุนจริงทำให้ทหารโคราชเสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลยังปกครองไม่เป็นธรรมเรียกเก็บภาษีแพงและริบเอาทรัพย์สินราษฎรมาเป็นของหลวง ด้วยเหตุนี้ผู้ก่อเหตุจึงถูกจับกุมและถูกศาลพิพากษาจำคุก ๓ ปี[21]

 


หลวงอังคณานุรักษ์ (สมถวิล เทพาคำ) ข้าหลวงประจำจังหวัดมหาสารคาม พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๘๒ (ภาพจาก อนุสรณ์ครบ ๑๐๐ ปีของเมืองมหาสารคาม)

 


นายบุญช่วย อัตถากร ผู้ชนะการประกวดแต่งประวัติศาสตร์จังหวัดมหาสารคาม ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคามคนแรก (ภาพจาก ประวัติศาสตร์ภาคอิสาณและเมืองมหาสารคามและผลงานต่าง ๆ)

 

หลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในจังหวัดมหาสารคามยุติลง หลวงอังคณานุรักษ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดมหาสารคาม เห็นว่าชาวมหาสารคามส่วนมากยังไม่เห็นคุณค่าของระบอบรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากเชื่อฟังคำทำนายของกบฏผู้มีบุญ ดังนั้นหลวงอังคณานุรักษ์จึงพยายามปลูกฝังให้ชาวมหาสารคามตระหนักและเห็นความสำคัญของระบอบใหม่มากขึ้น โดยเสนอให้กรมการจังหวัดสร้างอนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ ตลอดจนประกวดกลอนลำเทอดรัฐธรรมนูญและขบวนแห่รัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารให้ชาวมหาสารคามรับรู้และเข้าใจระบอบใหม่ได้อย่างทั่วถึง

 


อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญมหาสารคาม (ภาพจากกลอนลำรัฐธรรมนูญและภาพอนุสสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ)

 

สำหรับอนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญมหาสารคามมีลักษณะเป็นรูปจำลองรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนแว่นฟ้าตั้งอยู่บนฐานสูงทรงสี่เหลี่ยม มีข้อความที่ฐานด้านหน้าว่า “สยามรัฐธรรมนูญ ที่รักและสักการะยิ่ง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗” นอกจากนี้พบว่าตรงกลางรัฐธรรมนูญมีช่องว่างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจใช้เป็นที่ประดิษฐานรัฐธรรมนูญฉบับจำลองในช่วงการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญของจังหวัดมหาสารคาม

นอกจากนี้หลวงอังคณานุรักษ์ยังเห็นว่าชาวมหาสารคามจะสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ หากพวกเขาเข้าใจประวัติศาสตร์ของตนเอง ดังนั้นหลวงอังคณานุรักษ์จึงจัดการประกวดการเขียนประวัติศาสตร์จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งในการประกวดครั้งนั้น นายบุญช่วย อัตถากร เป็นผู้ชนะได้รางวัลที่ ๑[22] โดยประวัติศาสตร์มหาสารคามของนายบุญช่วย (ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๗) แบ่งเนื้อหาเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรกกล่าวถึงประวัติศาสตร์ภาคอีสาน การสร้างเมืองต่างๆ ในอีสาน ประวัติเมืองมหาสารคาม ส่วนที่สองกล่าวถึงประวัติมหาสารคามตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๘-๒๔๗๔ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเจ้าเมืองคนที่ ๑ ถึงคนที่ ๘ และส่วนสุดท้ายกล่าวถึงประวัติมหาสารคามตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๔-๒๔๘๒ ที่เน้นเรื่องราวของเมืองมหาสารคามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง[23]

งานฉลองรัฐธรรมนูญต่างจังหวัด

งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นมหกรรมงานรื่นเริงที่คึกคักและยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยคณะราษฎร เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในคราวที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ และจัดอย่างต่อเนื่องเกือบทุกปีจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยชาตรี ประกิตนนทการ ได้วิเคราะห์นัยของงานฉลองรัฐธรรมนูญว่า มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาชวนเชื่อโน้มน้าวให้ประชาชนรู้จักและเข้าใจความหมายของระบอบรัฐธรรมนูญและหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร นอกจากนี้ยังเป็นการประกาศและตอกย้ำให้ประชาชนรับรู้ว่ารัฐธรรมนูญได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองสูงสุดแทนที่สถาบันกษัตริย์[24]

 


ขบวนแห่รัฐธรรมนูญฉบับจำลองที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๒
(ภาพจาก ประวิทย์ สังข์มี)

 

แรกเริ่มนั้นงานฉลองรัฐธรรมนูญจัดขึ้นเฉพาะในพื้นที่สาธารณะของพระนคร อาทิ สวนสราญรมย์ สนามหลวง เขาดินวนา สวนอัมพร และลานพระราชวังดุสิต โดยภายในงานมีกิจกรรมตั้งแต่การออกร้านของหน่วยราชการและเอกชน การประกวดนางสาวสยาม การประกวดศิลปกรรม การแข่งขันกีฬาของนักเรียน  การจัดมหรสพต่างๆ และการออกสลากกินแบ่ง จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๗๗ รัฐบาลได้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับจำลองในรูปแบบสมุดไทยเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับจริงแจกจ่ายไปทุกจังหวัด[25] ส่งผลให้จังหวัดต่างๆ เริ่มจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญฉบับจำลองในจังหวัดของตนเช่นเดียวกับในพระนครนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นต้นมา

ถึงแม้ว่ารัฐบาลคณะราษฎรจะพยายามทำให้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับจริงและฉบับจำลองมีความศักดิ์สิทธิ์  ที่ประชาชนต้องเคารพสักการะรวมถึงมีการจัดงานเฉลิมฉลองทุกปี แต่นัยของการเคารพสักการะรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นกระดาษข่อยสีดำกลับมิได้เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้าสำหรับให้ประชาชนกราบไหว้บูชา ดังที่ปรากฎในทัศนะของขุนจำนงภูมิเวท (จำนง ศิวะแพทย์) สมาชิกคณะราษฎร ที่ได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญว่าเป็นแนวทางให้ชาวไทยทุกคนปฏิบัติตามเพื่อสร้างชาติไทยให้เจริญก้าวหน้าและทำให้ประเทศไทยได้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นการเคารพและเทิดทูนรัฐธรรมนูญในงานฉลองรัฐธรรมนูญในแต่ละปี จึงเป็นการเตือนให้ระลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่คณะผู้ก่อการได้ยอมสละชีวิตเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองและนำรัฐธรรมนูญมาเป็นหลักในการปกครองประเทศ รวมถึงให้ระลึกถึงวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเป็นวันที่ประชาชาติไทยได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งยังผลให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า เกษตรกรรม มีความมั่นคงทางสังคมและการเมือง  การศึกษา การสาธารณสุข ตลอดจนคุณภาพชีวิตของพลเมืองก็มีการพัฒนามากขึ้นเป็นทวีคูณ[26]

มุมมองของขุนจำนงภูมิเวทข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญมิใช่เพียงแค่พิธีกรรมที่สร้างภาพให้พลเมืองเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์ แต่ยังมีนัยสื่อความหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยให้เข้าไปถึงหัวใจพลเมืองไทยอย่างแนบเนียนผ่านงานรื่นเริงและพิธีกรรมตามคติความเชื่อของสังคมไทย กระนั้นเองพลเมืองไทยก็มิได้กราบไหว้บูชารัฐธรรมนูญในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถดลบันดาลอำนวยชัยให้ผลดีหรือร้าย ดังเช่นสิ่งลี้ลับอันทรงอิทธิฤทธิ์ในลักษณะเป็นลัทธิบูชาทางศาสนา ทว่าพวกเขาเข้าร่วมและจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงความเคารพคารวะอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในฐานะสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันเป็นที่มาของการทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของพลเมืองทุกคน ที่ทำให้พวกเขามีคุณค่าความเป็นคน มีความเสมอภาคกันถ้วนหน้า และมีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตมากกว่าครั้งที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 


งานฉลองรัฐธรรมนูญที่ขอนแก่น เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๒ (ภาพจาก ประวิทย์ สังข์มี)

 


ร้านของกองทางภาค ที่ได้รับรางวัลที่ ๑ ประเภทขบขัน ในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่ขอนแก่น พ.ศ. ๒๔๘๒ 
(ภาพจาก ประวิทย์ สังข์มี)

 


ร้านของอำเภอเมืองอุบล ได้รับรางวัลที่ ๑ ในการประกวดร้านในงานฉลองรัฐธรรมนูญจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. ๒๔๘๒
(ภาพจาก รูปต่าง ๆ จากหนังสือท่องเที่ยวสัปดาห์ ตั้งแต่ก.ค.-มี.ค. ๒๔๘๒ และปีที่ ๓ ตั้งแต่เม.ย.-ธ.ค. ๒๔๘๓)

 

สำหรับกิจกรรมงานฉลองรัฐธรรมนูญในต่างจังหวัดนั้น ทางคณะกรมการจังหวัดจะอัญเชิญรัฐธรรมนูญฉบับจำลองแห่ไปรอบเมือง ซึ่งในขบวนแห่ประกอบด้วยข้าราชการ ประชาชน นักเรียน และลูกเสือ จากนั้นจึงนำรัฐธรรมนูญฉบับจำลองมาประดิษฐานในโรงพิธีพร้อมกับประกอบพิธีสมโภชและการจัดกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ เช่น การจัดมหรสพ, การประกวดนางงาม, การประกวดเรียงความเรื่องรัฐธรรมนูญ, การประกวดพันธุ์พืชและสัตว์เลี้ยง, การแข่งขันกีฬา, การจำหน่ายสินค้า, และการแสดงกิจการอุตสาหกรรมพื้นบ้าน[27] โดยกิจกรรมที่สำคัญของการฉลองรัฐธรรมนูญตามต่างจังหวัดคือ การแสดงปาฐกถาเผยแพร่รัฐธรรมนูญของบุคคลสำคัญของจังหวัด อาทิ ข้าหลวงประจำจังหวัด, ผู้แทนราษฎร, และผู้พิพากษา อันสะท้อนถึงความพยายามในการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจสาระของรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบใหม่ให้แก่พลเมืองตามหัวเมือง นอกจากนี้งานฉลองรัฐธรรมนูญยังทำให้พลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้แนวคิดและอุดมการณ์ของระบอบใหม่อย่างแยบยล รวมถึงเป็นการเชื่อมโยงพลเมืองทุกภาคส่วนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ว่าจะมีสถานะทางสังคมแบบใดก็มีความเสมอภาคที่จะเข้าถึงรัฐธรรมนูญอันเป็นสถาบันสูงสุดในระบอบใหม่ได้อย่างเท่าเทียม

 


บรรยากาศงานฉลองรัฐธรรมนูญที่หนองคาย พ.ศ. ๒๔๘๒ (ภาพจาก ประวิทย์ สังข์มี)

 

การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญในต่างจังหวัดยังสัมพันธ์กับการขยายตัวของสมาคมคณะรัฐธรรมนูญ  ซึ่งเป็นสมาคมที่มีสมาชิกประกอบไปด้วย คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ และพ่อค้าคนสำคัญ สมาคมนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่รัฐธรรมนูญในหมู่ประชาชน โดยข้าราชการและประชาชนทั่วไปสามารถสมัครเป็นสมาชิกสมาคมได้ รวมถึงเริ่มมีการขยายสาขาสมาคมคณะรัฐธรรมนูญในต่างจังหวัดนับตั้งแต่ปีแรกของการตั้งสมาคมใน พ.ศ. ๒๔๗๗ เริ่มจากการตั้งสาขาสมาคมคณะรัฐธรรมนูญจังหวัดภาคเหนือที่เชียงใหม่และขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ[28] ซึ่งกรรมการสาขาสมาคมคณะรัฐธรรมนูญแต่ละจังหวัดจะประกอบด้วยข้าหลวงประจำจังหวัด อัยการจังหวัด นายอำเภอ สมาชิกสภาจังหวัด และข้าราชการ[29] อันสะท้อนถึงความพยายามในการสร้างเครือข่ายระบอบใหม่ทั่วประเทศ  โดยภารกิจสำคัญของสาขาสมาคมคณะรัฐธรรมนูญคือ การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญตามต่างจังหวัดเป็นประจำทุกปีและนำรายได้จากงานฉลองรัฐธรรมนูญไปใช้ในกิจการเพื่อสาธารณประโยชน์  อาทิ สร้างอาคารสุขศาลาหรือโรงเรียนตามต่างจังหวัด, การสนับสนุนให้กรรมการสมาคมไปปาฐกถาเผยแพร่การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญในอำเภอต่างๆ, รวมถึงตีพิมพ์หนังสือรัฐธรรมนูญและปาฐกถาให้แก่ประชาชน[30]

อนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ : เอกภาพของพลเมืองสุรินทร์ในระบอบใหม่

อนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์เป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญจำลองอีกแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ตัวอนุสาวรีย์มีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าตั้งอยู่บนฐานสองชั้น ฐานด้านล่างเป็นรูปทรงหกเหลี่ยม แต่ละมุมของฐานมีเสาหัวบัวจำนวน ๖ ต้นด้านล่างของเสามีการจารึกข้อความว่า “๑ เอกราช  ๒ ความปลอดภัย ๓ เศรษฐกิจ ๔ ความเสมอภาค ๕ เสรีภาพ ๖ การศึกษา”[31] ฐานชั้นที่สองเป็นฐานสูงรูปทรงสี่เหลี่ยมรองรับพานรัฐธรรมนูญ ด้านหน้าของฐานสูงมีแผ่นโลหะจารึก “รายนามผู้บริจาคทรัพย์สร้างอนุสสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ พุทธศักราช ๒๔๗๙” ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น ๑๓๗ รายชื่อ

 


อนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ หน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ (ภาพจาก จังหวัดสุรินทร์ งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ)

 

ประชาชนชาวสุรินทร์ได้ร่วมแรงร่วมใจบริจาคเงินสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ไว้ ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด โดยมีการประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ควบคู่กับงานฉลองรัฐธรรมนูญจังหวัดสุรินทร์ ระหว่างวันที่ ๗-๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ รวม ๕ วัน ๕ คืน มีหลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) ผู้แทนนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในพิธีเปิดอนุสาวรีย์แห่งนี้ พร้อมด้วยหลวงคหกรรมบดี (ชม จารุรัตน์) เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายเอก สุพโปฎก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ และเลขานุการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ร่วมคณะ ซึ่งพิธีการสำคัญเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ ๗ ธันวาคม หลวงโกวิทอภัยวงศ์ได้แสดงปาฐกถาว่าด้วยการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญท่ามกลางที่ประชุมชนชาวสุรินทร์ จากนั้นวันที่ ๘ ธันวาคม ในช่วงเช้า ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ลูกเสือ และนักเรียน ได้ชุมนุมกันที่อนุสรณ์รัฐธรรมนูญ ข้าหลวงประจำจังหวัดอ่านรายงานการก่อสร้าง จากนั้นหลวงโกวิทอภัยวงศ์ ประธานในพิธีกล่าวตอบพร้อมกับเปิดแพรคลุมอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ พระสงฆ์สวดชยันโตและแตรวงลูกเสือบรรเลงเพลงชาติ[32] ต่อมาในวันที่ ๙-๑๑ ธันวาคม จังหวัดสุรินทร์ได้เริ่มงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้น โดยมีกิจกรรมแห่รัฐธรรมนูญฉบับจำลองรอบเมืองสุรินทร์ พร้อมด้วยขบวนรถยนต์ รถจักรยานสามล้อ และขบวนแห่นางงามจังหวัดสุรินทร์ ทั้งยังมีงานออกร้านขายของ ประกวดร้าน ประกวดลิเก ละครร้อง ภาพยนตร์ และการแข่งขันกีฬา[33]

 


จารึกรายนามผู้บริจาคทรัพย์สร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ พุทธศักราช ๒๔๗๙
(ภาพจากฉวีวรรณ ดวงจันทร์)

 

จากจารึกรายนามผู้บริจาคทรัพย์บนฐานอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์พบว่า มีรายนามบุคคล คณะบุคคล และร้านค้าต่างๆ ที่บริจาคเงินตั้งแต่ ๕ บาท จนถึง ๕๐ บาท ซึ่งจากการสืบหารายนามบุคคลจะพบฐานะและอาชีพที่หลากหลายของผู้บริจาค ได้แก่ กลุ่มนักการเมืองในจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียง อาทิ ขุนรักษ์รัษฎากร (จาบไมยรัตน์) ผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ นายบรรณ์ สวันตรัจฉ์ ซึ่งต่อมาได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ พระยาสารคามคณาภิบาล (อนงค์ พยัคฆันตร์) ผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม และขุนพิเคราะห์คดี (อินทร์ อินตะนัย) ผู้แทนราษฎรจังหวัดขุขันธ์ กลุ่มข้าราชการฝ่ายปกครอง อาทิ พระศรีพิชัยบริบาล (สวัสดิ์ ปัทมดิลก) ข้าหลวงประจำจังหวัดสุรินทร์, ขุนบริรักษ์เกษมราษฎร์ (คำตัน ปีประกาย) นายอำเภอชุมพลบุรี, ขุนมูลศาสตร์สาทร (พงศ์ มูลศาสตร์) นายอำเภอสังขะ, ขุนชำนิประศาสน์ (เปรียบ รักษ์คิด) นายอำเภอผู้ช่วยอำเภอสังขะ, หลวงวรวุฒิมนตรี (ทองดี อินทรกำแหง) นายอำเภอเมืองสุรินทร์, กลุ่มอัยการและผู้พิพากษา อาทิ พระอินทเบญญา (นักบุสราคำ วัตถา) ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุรินทร์ และนายถม สุวัณณุสส์ อัยการผู้ช่วยจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มครูและธรรมการจังหวัด อาทิ นายมั่น เพ็ชร์ศรีสมกับนายบรรยง จรัณยานนท์ ครูโรงเรียนสุรวิทยาคาร, นายญาติ ไหวดี ครูใหญ่โรงเรียนศรีสุรินทร์กสิกรรม[34] และนายทิม ภูริพัฒน์ ธรรมการจังหวัดขุขันธ์ กลุ่มทนายความจังหวัดสุรินทร์ อาทิ นายแก้ว กนกนาก, นายแก้ว รุ่งเรือง, และนายถนอม กุมาลย์วิสัย นอกจากนี้ยังปรากฏรายนามคหบดีและพ่อค้าชาวสุรินทร์ อาทิ นายหยงเทียน จินดาประเสริฐ, นายพิมพ์ เจริญพันธ์, และนายขาว ตันสกุล ตลอดจนร้านค้าและกิจการชาวจีนในจังหวัดสุรินทร์ เช่น ยี่ห้ออังกำเฮง, ยี่ห้อลิ่มหลีฮวด, และโรงสีไฟเซ่งหลี

 


เหรียญที่ระลึกในงานเปิดอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ ด้านหน้าเป็นรูปอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ ด้านหลังมีข้อความว่า “ที่ระลึกในงานสมโภชน์อนุสสรณ์รัฐธรรมมนูญ จังหวัดสุรินทร์ ๑๐ ธันว์ ๗๙” (ภาพจาก ผู้เขียน)

 

ตัวอย่างข้างต้นนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าพลเมืองชาวสุรินทร์ล้วนมุ่งหมายที่จะเชิดชูรัฐธรรมนูญด้วยกันทั้งสิ้น อีกทั้งยังเป็นการหลอมรวมสถานะของพลเมืองชาวสุรินทร์ที่มีความหลากหลายทั้งนักการเมือง ข้าราชการ คหบดี พ่อค้า และประชาชนทั่วไปให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในฐานะพลเมืองไทยที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดทางการเมือง นอกจากนี้พวกเขายังตระหนักและเห็นคุณค่าของรัฐธรรมนูญและระบอบใหม่ของคณะราษฎร โดยการสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญเป็นภูมิทัศน์ใหม่ที่เต็มไปด้วยความหมายทางการเมืองหน้าศาลากลางอันเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการ รวมถึงพยายามเชื่อมโยงอนุสรณ์รัฐธรรมนูญแห่งนี้เข้ากับกลุ่มคณะราษฎรในพิธีเปิดอนุสาวรีย์แห่งนี้

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญร้อยเอ็ด : รัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับเอกลักษณ์ของจังหวัด

ในงานฉลองรัฐธรรมนูญจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. ๒๔๗๙ คณะกรมการจังหวัดร้อยเอ็ดได้สร้างภูมิทัศน์ใหม่กลางเมืองร้อยเอ็ดคือ การประดิษฐานรัฐธรรมนูญจำลองขนาดใหญ่บนเกาะกลางบึงพลาญชัย โดยข้าหลวงประจำจังหวัดได้กล่าวถึงสาเหตุของการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญร้อยเอ็ดว่า เกิดจากความริเริ่มของของคณะข้าราชการและนายพันโท พระไพศาลเวชกรรม ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด ได้เชิญชวนให้ชาวร้อยเอ็ดจัดสร้างรัฐธรรมนูญฉบับจำลองเพิ่มอีกหนึ่งฉบับและนำมาบรรจุไว้บนพานหล่อด้วยโลหะประดิษฐานเหนือแท่นคอนกรีต เพื่อเป็นสิ่งระลึกถึงรัฐธรรมนูญอันเป็นหลักปกครองของประเทศชาติ[35]

 


เกาะกลางบึงพลาญชัย ด้านซ้ายเป็นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ตรงกลางเป็นเสาธงชาติประจำจังหวัด และด้านขวาเป็นเสาหลักเมืองร้อยเอ็ด (ภาพจาก จังหวัดร้อยเอ็ด ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ)

 

สำหรับที่ตั้งของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญแห่งนี้นับว่ามีนัยสำคัญมิใช่น้อย เนื่องจากบึงพลาญชัยเป็นบึงน้ำกลางเมืองร้อยเอ็ดที่เคยตื้นเขิน ต่อมาพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดในสมัยระบอบเก่า ได้เกณฑ์แรงงานชาวร้อยเอ็ดที่ไม่มีเงินเสียค่าภาษีอากรจากทุกอำเภอประมาณ ๔๐,๐๐๐ คนมาขุดลอกบึงพลาญชัยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๔๗๑ จนกลางเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่และนำดินที่ขุดมาถมเป็นเกาะกลางบึง[36] 

แรกเริ่มเดิมทีคณะกรมการจังหวัดร้อยเอ็ดประสงค์จะสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญและเสาธงประจำจังหวัดบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ทว่าข้าหลวงประจำจังหวัดได้ขอร้องให้ย้ายมาสร้างบนเกาะกลางบึงพลาญชัยแทน เพราะเป็นที่ประดิษฐานหลักเมืองไม้ใกล้กับสมาคมร้อยเอ็ด  นอกจากนี้อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบนเกาะกลางบึงพลาญชัยยังเปรียบเสมือนเป็นการประกาศชัยชนะของระบอบใหม่เหนือระบอบเก่า โดยอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญได้มาประดิษฐานบนเกาะที่ถูกสร้างจากการเกณฑ์แรงงานอย่างเอารัดเอาเปรียบในสมัยระบอบเก่า อีกทั้งการปกครองด้วยรัฐธรรมนูญยังทำให้ราษฎรได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นเจ้าของประเทศและมีการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของราษฎร ดังนั้นเกาะกลางบึงพลาญชัยในระบอบใหม่จึงเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวร้อยเอ็ด ได้แก่ หลักเมืองที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่น, รัฐธรรมนูญที่เป็นหลักการปกครองของประเทศ,  และเสาธงไตรรงค์อันเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย

 


อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญร้อยเอ็ด ถ่ายโดยชารลส์ เอฟ. ไคส์ ในเดือนมกราคม ๒๕๐๗ (ภาพจาก ResearchWorks Archive, University of Washington)

 


พลเมืองอีสานกับอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญร้อยเอ็ด พ.ศ. ๒๔๘๐ (ภาพจาก tuk-tuk@korat)

 

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญร้อยเอ็ด ตั้งอยู่บนเกาะกลางบึงพลาญชัย มีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญโลหะกว้างประมาณ ๒๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๗๕ เซนติเมตร มีรูปครุฑอยู่ตรงกลางและมีข้อความว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” รัฐธรรมนูญนี้วางอยู่บนพานแว่นฟ้าโลหะสูงประมาณ ๑.๒๐ เมตร และมีฐานหกเหลี่ยมรองรับพานแว่นฟ้ากว้างประมาณ ๓ เมตร สูงประมาณ ๑.๕๐ เมตร[37] บริเวณฐานแต่ละด้านจารึกข้อความหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร ได้แก่ เอกราช, ปลอดภัย, เศรษฐกิจ, เสมอภาค, เสรีภาพ, และการศึกษา

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญร้อยเอ็ดยังสัมพันธ์กับการแสวงหาเอกลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ด ดังสะท้อนผ่านการออกแบบตราประจำจังหวัดร้อยเอ็ดใน พ.ศ. ๒๔๘๓ ที่ได้นำภาพอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญกลางบึงพลาญชัยเป็นตราประจำจังหวัด และอาจกล่าวได้ว่าเป็นตราจังหวัดแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญปรากฏอยู่

 


ตราประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นรูปพานรัฐธรรมนูญจำลองบนเกาะกลางบึงพลาญชัย 
(ภาพจาก จังหวัดร้อยเอ็ด ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ)

 

สำหรับจุดเริ่มต้นของการออกแบบตราประจำจังหวัดนั้นเกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๘๓ เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ผลิตสินค้าประจำจังหวัด เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในครัวเรือนและเป็นของที่ระลึกประจำจังหวัด[38] พร้อมกันนั้นก็ได้ประกาศใช้รัฐนิยมฉบับที่ ๕ ชักชวนให้ประดิษฐ์สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคในประเทศไทย รวมถึงรักษามาตรฐานและคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นตามหลักวิทยาศาสตร์และศิลปกรรม นอกจากนี้จอมพล ป. ยังมีความเห็นว่าประเทศชาติจะรุ่งเรืองแข็งแรงได้ ต้องสร้างความเจริญเป็นปึกแผ่นให้แก่ชนบท ดังนั้นจึงเสนอให้มีเครื่องหมายประจำจังหวัดเพื่อสร้างความภาคภูมิใจในแต่ละท้องที่ และมอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบตราประจำจังหวัด แต่ต่อมากรมศิลปากรได้มอบหมายให้กรมการจังหวัดพิจารณาจากธรรมชาติหรือโบราณสถานสำคัญในแต่ละจังหวัดมาใช้ออกแบบเป็นตราประจำจังหวัด[39]

ทั้งนี้จากการพิจารณาของคณะกรมการจังหวัดร้อยเอ็ดจึงได้ข้อสรุปว่าให้ออกแบบตราประจำจังหวัดเป็นรูปบึงใหญ่ มีเกาะตรงกลางประดิษฐานพานรัฐธรรมนูญจำลอง โดยอธิบายแนวคิดการออกแบบว่า  ธรรมชาติที่โดดเด่นที่สุดของจังหวัดร้อยเอ็ดคือ บึงพลาญชัยที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองร้อยเอ็ด ต่อมาได้มีการขุดลอกปรับปรุงและตกแต่งให้มีเกาะขึ้นกลางบึง บนเกาะนั้นได้สร้างที่ประดิษฐานรัฐธรรมนูญจำลอง เสาธงชาติ และศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ดังนั้นเกาะกลางบึงพลาญชัยจึงเป็นทัศนียภาพที่งดงามและสง่าของจังหวัดร้อยเอ็ด  รวมถึงเป็นเครื่องระลึกถึงสภาพของบ้านเมืองตั้งแต่สมัยโบราณและเป็นเครื่องระลึกถึงความเจริญของชาติและบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของชาวร้อยเอ็ดโดยทั่วไป[40]

งานวันชาติและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองในอีสาน

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ก่อให้เกิดรัฐประชาชาติที่ประชาชนมีความสำคัญสูงสุดในการปกครอง รวมถึงพยายามสร้างสำนึกเรื่องชาติไทยให้แพร่หลายในสังคม ดังนั้นในยุคคณะราษฎรนี้เองจึงทำให้เกิดประดิษฐกรรมต่างๆ เกี่ยวกับชาติมากมาย เช่น การกำหนดให้วันที่ ๒๔ มิถุนายนเป็นวันชาตินับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๑ เพื่อเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หรือการแต่งเพลงชาติไทยที่มีเนื้อหาสดุดีความเป็นเอกราชและความเป็นปึกแผ่นของประชาชน

จากการที่รัฐบาลคณะราษฎรได้พยายามสร้างความเป็นชาติที่มีเอกราชสมบูรณ์ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงส่งผลให้รัฐบาลคณะราษฎรเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคกับประเทศต่างๆ จนทำให้ประเทศสยามได้รับเอกราชสมบูรณ์ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามใน พ.ศ.๒๔๘๒ ดังนั้นรัฐบาลจึงจัดงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญาใหม่ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยกิจกรรมที่สำคัญคือ การวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญโดดเด่นกลางถนนราชดำเนินและมีการสอดแทรกความหมายของวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และหลัก ๖ ประการของคณะราษฎรเป็นองค์ประกอบของอนุสาวรีย์[41] อันสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย “ซึ่งเป็นวันให้กำเนิดแก่วันชาติเป็นวันที่ฟื้นฟูและสถาปนาชีวิตจิตใจใหม่ในการสร้างชาติ”[42] 

 


งานฉลองวันชาติที่จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. ๒๔๘๓ ๑.พิธีเชิญธงชาติมาประดิษฐานที่โรงพิธี ๒.ข้าหลวงประจำจังหวัดกล่าวสุนทรพจน์ ๓.เปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองที่ตั้งอยู่ใกล้กับอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ ๔.ขบวนแห่ฉลองวันชาติ (ภาพจาก ท่องเที่ยวสัปดาห์ ๖ ก.ค. ๒๔๘๓)

 

นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๕๐๓ รัฐบาลได้จัดงานฉลองวันชาติเป็นประจำทุกปี โดยมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ทั้งในพระนครและต่างจังหวัดในช่วงทศวรรษ ๒๔๘๐ ก่อนที่จะซบเซาลงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒[43]  กิจกรรมงานฉลองวันชาติในพระนครมีกำหนดการไว้ ๓ วัน คือ วันที่ ๒๓ มิถุนายน เวลาเช้ามีขบวนแห่ กลางคืนมีมหรสพและจุดดอกไม้ไฟ วันที่ ๒๔ มิถุนายน เวลาเช้ามีการจัดตลาดนัด เปิดสภาผู้แทนราษฎร และพิธีเปิดสถานที่สำคัญต่างๆ กลางคืนมีมหรสพและดอกไม้ไฟ และวันที่ ๒๕ มิถุนายน เวลาเช้าให้ข้าราชการและประชาชนทำบุญตามวัดต่างๆ บ่ายมีกีฬายุวชนทหาร ณ ท้องสนามหลวง และกลางคืนมีงานมหรสพ[44] 

ส่วนงานฉลองวันชาติในต่างจังหวัด รัฐบาลกำหนดให้แต่ละจังหวัดมีคณะกรรมการประกอบด้วยกรมการจังหวัด ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด ผู้บังคับการมณฑลทหารบก ผู้บังคับการจังหวัดทหารบก ผู้บังคับการตำรวจภูธร และรองผู้บังคับการตำรวจภูธร โดยกระทรวงมหาดไทยให้เงินอุดหนุนการจัดงานฉลองวันชาติ จังหวัดละ ๔๐๐ บาทเป็นอย่างต่ำ[45] ดังนั้นการจัดงานฉลองวันชาติในต่างจังหวัดจึงต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากส่วนราชการและประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งล้วนให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี

สำหรับกิจกรรมงานฉลองวันชาติในต่างจังหวัดนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับที่กรุงเทพฯ ตัวอย่างเช่นงานฉลองวันชาติจังหวัดชัยภูมิ พ.ศ. ๒๔๘๔ มีการประดับตกแต่งสถานที่ราชการ ร้านค้า และบ้านเรือนของประชาชนในจังหวัดชัยภูมิ ในช่วงเช้าวันที่ ๒๓ มิถุนายน มีการจัดตลาดนัดและประกวดสินค้าต่างๆ จากนั้นมีการจัดขบวนแห่รอบเมืองของข้าราชการ พ่อค้า คหบดี และนักเรียนในจังหวัดชัยภูมิ เพื่อแสดงถึงความสำคัญของวันชาติ การส่งเสริมรัฐนิยมและวัฒนธรรม รวมถึงความก้าวหน้าของการงานและการค้าในแผนกหรือตำบลของตน โดยขบวนแห่จะเริ่มต้นและสิ้นสุดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองหน้าศาลากลางจังหวัด และในช่วงบ่ายจะมีกิจกรรมการแข่งขันกีฬาของนักเรียน ส่วนในตอนค่ำจะมีการฉายภาพยนตร์สุขศึกษา หนังตะลุง และหมอลำบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ช่วงเช้ามีการจัดตลาดนัด ถัดมาเป็นกิจกรรมเปิดสถานที่ราชการแห่งใหม่ อาทิ โรงเรียนรัฐบาล, โรงเรียนประชาบาล, สุขศาลา, และเรือนคนไข้ ในช่วงเย็นเป็นการชุมนุมกันที่ศาลากลางจังหวัด โดยมีข้าหลวงประจำจังหวัดแสดงปาฐกถาเรื่องความสำคัญของวันชาติ และสุดท้ายวันที่ ๒๕ มิถุนายน มีกิจกรรมทำบุญตามวัดต่างๆ การประกวดม้า การแข่งขันฟุตบอลระหว่างข้าราชการ และการจัดมหรสพช่วงค่ำ[46]

ทั้งนี้ในงานฉลองวันชาติ พ.ศ. ๒๔๘๓ ทางกระทรวงมหาดไทยได้จัดส่งรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองไปให้จังหวัดต่างๆ แต่ได้มีหลายจังหวัดประสงค์จะสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองขนาดใหญ่ขึ้น  ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยจึงส่งสำเนาแบบแปลนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของกรมศิลปากรไปให้[47] ซึ่งแบบแปลนนั้นแตกต่างจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สร้างบริเวณถนนราชดำเนิน เนื่องจากมีเทวดาถือคบเพลิงบนฐานปีกทั้งสี่ด้านของอนุสาวรีย์

 


แบบแปลนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของกรมศิลปากรที่ส่งให้จังหวัดต่าง ๆ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ 
(ภาพจาก หจช. ศธ.๐๗๐๑.๒๓.๑/๗)

 


บรรยากาศงานฉลองวันชาติจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. ๒๔๘๓ มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลอง การกล่าวปาฐกถาของข้าหลวงประจำจังหวัด และการจัดขบวนแห่ฉลองวันชาติ (ภาพจาก รูปต่าง ๆ จากหนังสือท่องเที่ยวสัปดาห์ ตั้งแต่ก.ค.-มี.ค. ๒๔๘๒ และปีที่ ๓ ตั้งแต่เม.ย.-ธ.ค. ๒๔๘๓)

 


อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองในงานฉลองวันชาติที่จังหวัดปัตตานี พ.ศ. ๒๔๘๓ 
(ภาพจาก ประวิทย์ สังข์มี)

 

หากพิจารณาจากภาพถ่ายงานฉลองวันชาติตามจังหวัดต่างๆ จะพบว่ามีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองขนาดใหญ่แบบชั่วคราวบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดหลายจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน พ.ศ. ๒๔๘๓ อันเป็นปีที่เปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนิน จังหวัดต่างๆ เช่น อุบลราชธานี, ขอนแก่น, สุรินทร์, ลพบุรี, พิษณุโลก, ลำปาง, ปัตตานี, และเพชรบุรี ก็ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์จำลองขึ้นเช่นกัน ดังนั้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองจึงกลายเป็นฉากสำคัญของพิธีฉลองวันชาติ ที่สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ข้าราชการและประชาชนที่เข้าร่วมพิธีได้เป็นอย่างดี รวมถึงสะท้อนสำนึกร่วมของท้องถิ่นที่เป็นส่วนหนึ่งของชาติและพยายามเชื่อมโยงจังหวัดของตนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีฉลองวันชาติที่กรุงเทพฯ ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลอง

ถึงแม้ว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองตามต่างจังหวัดเกือบทั้งหมดจะถูกสร้างแบบชั่วคราวสำหรับงานฉลองวันชาติเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ แต่เมื่อผู้เขียนสืบค้นกลับปรากฏว่ายังมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองอย่างน้อยอีก ๒ แห่งที่สร้างขึ้นในลักษณะถาวร คือ วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองที่หน้าสถานีรถไฟอุดรธานี ซึ่งถูกปรับปรุงจนไม่เหลือเค้าเดิม[48]  กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองที่หน้าวัดนครบาล อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ที่สร้างด้วยคอนกรีตแบบถาวรและยังคงหลงเหลืออย่างสมบูรณ์เพียงแห่งเดียวจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากป้ายประชาสัมพันธ์ของเทศบาลตำบลภูเขียวระบุประวัติอนุสาวรีย์แห่งนี้ว่า นายอำเภอภูเขียว ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนชาวภูเขียว เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย จึงรวบรวมเงินและก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยจำลองจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ

 


อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลอง ที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ (ภาพจาก http://www.tlhr2014.com)

 

อย่างไรก็ตามจากการสืบค้นเอกสารชั้นต้นกลับพบข้อมูลที่แตกต่างป้ายประชาสัมพันธ์ของเทศบาล กล่าวคือแนวคิดการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองที่อำเภอภูเขียวเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อคณะกรมการจังหวัดชัยภูมิได้มีหนังสือมาถึงกระทรวงมหาดไทยว่า คณะกรมการอำเภอภูเขียวประสงค์จะก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นถาวรวัตถุจากความริเริ่มของขุนประเสริฐสรรพกิจ นายอำเภอภูเขียว[49] โดยคิดจะสร้างอนุสาวรีย์ที่บริเวณสี่แยกถนนราษฎร์บำรุงกับตรอกสะดวกราษฎร์ โดยใช้มาตราส่วน ๑ ใน ๑๐ และทางอำเภอภูเขียวมีเงินก่อสร้างแล้ว ๓๕๕ บาท ๒๗ สตางค์ จากนั้นกระทรวงมหาดไทยได้นำเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยพิจารณา[50]

จากการพิจารณาของคณะกรรมการแจ้งว่า การสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองมิใช่เป็นนโยบายของคณะกรรมการจัดสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตามที่กระทรวงมหาดไทยเข้าใจ แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลโดยตรง ดังนั้นนายวิลาส โอสถานนท์ ประธานคณะกรรมการฯ จึงนำเรื่องดังกล่าวเข้าปรึกษากับจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และจอมพล ป. ได้ตอบว่า “อนุสสาวรีย์ประชาธิปไตยควรมีแห่งเดียว เงินที่จะสร้างอนุสสาวรีย์ประชาธิปไตยตามจังหวัดควรเอาไปทำถนน บ่อน้ำ สุขศาลาจะดีกว่า หรือหากจะสร้างอนุสสาวรีย์ก็น่าจะทำอนุสสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อบรรจุกระดูกทหารในจังหวัดนั้นๆ ที่เสียชีวิต”[51]  ซึ่งทัศนะของจอมพล ป. ดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมงานวันชาตินับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ ที่ให้ความสำคัญกับการก่อสร้างอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นชาติเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ อย่าง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ส่วนในต่างจังหวัดจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบทโดยสนับสนุนให้ข้าราชการ ผู้แทนราษฎร พ่อค้า และประชาชนบริจาคเงินสร้างสาธารณูปโภคเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนชนบทที่เป็นพี่น้องร่วมชาติ[52]

ถึงแม้ว่าทางรัฐบาลจอมพล ป. จะไม่เห็นด้วยกับการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองที่ภูเขียว แต่สุดท้ายแล้วชาวภูเขียวได้ร่วมแรงร่วมใจกันจนสามารถผลักดันให้เกิดอนุสาวรีย์แห่งนี้กลางเมืองภูเขียว ดังปรากฏบนแผ่นป้ายประวัติอนุสาวรีย์ว่า “นายใส บุญเนาว์ ศึกษาธิการอำเภอ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง และพี่น้องชาวภูเขียวที่มีฝีมือช่างร่วมกันก่อสร้าง... (และเมื่อแล้วเสร็จ-ผู้เขียน) ...อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นสถานที่ชุมนุมและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวภูเขียว...”

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสานช่วงทศวรรษ ๒๔๘๐

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ ๒๔๘๐ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๐ คือสิ่งชี้วัดว่าระบอบใหม่ได้ประสบความสำเร็จในการเปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้นก้าวเข้าสู่การเมืองระดับชาติอย่างเท่าเทียม ดังจะเห็นได้จากการมี ส.ส.อีสานรุ่นใหม่ ได้แก่ นายโสภัณ สุภธีระ (ส.ส.ขอนแก่น) และนายเทพ โชตินุชิต (ส.ส.ขุขันธ์) ที่มีภูมิหลังจากข้าราชการ นายเตียง ศิริขันธ์ (ส.ส.สกลนคร) และนายถวิล อุดล (ส.ส.ร้อยเอ็ด) ที่มีภูมิหลังจากพ่อค้า นายจำลอง ดาวเรือง (ส.ส.มหาสารคาม) และนายฟอง สิทธิธรรม (ส.ส.อุบลราชธานี) ที่มีภูมิหลังจากตระกูลชาวนา[53] โดย ส.ส.อีสานรุ่นใหม่เหล่านี้ต่างแสดงบทบาทผู้แทนราษฎรอย่างเต็มภาคภูมิผ่านการนำเสนอเรื่องของท้องถิ่นอีสานและชนชั้นล่างในสภา นอกจากนี้ ส.ส. อีสานยังมีการรวมกลุ่มเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกสภาในนามกลุ่มเสรีไทยอีสาน

ขณะที่การเมืองระดับท้องถิ่นในช่วงทศวรรษ ๒๔๘๐ กลับเป็นช่วงเวลาที่เทศบาลประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นกับส่วนกลาง อันเป็นผลมาจากความกระตือรือร้นและความตื่นตัวทางการเมืองของผู้นำในท้องถิ่นที่เข้ามาสู่สถาบันการเมืองระดับเทศบาล เพื่อบริหารจัดการและรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม รวมถึงมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับท้องถิ่นของตน[54]

ขณะเดียวกันพลเมืองอีสานยังคงพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญและระบอบใหม่อย่างกระตือรือร้น ดังสะท้อนจากข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานได้ร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญฉบับจำลองสำหรับเป็นสิ่งเตือนใจให้ระลึกถึงคุณค่าและความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เริ่มจาก พ.ศ. ๒๔๘๐ ประชาชนในอำเภอขุหลุ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ขอให้รัฐบาลจัดสร้างรัฐธรรมนูญจำลอง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะไม่เห็นด้วยกับการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับจำลองในระดับอำเภอ เนื่องจากมีรัฐธรรมนูญฉบับจำลองประจำแต่ละจังหวัดแล้ว แต่ถ้าประชาชนในท้องถิ่นประสงค์จะออกค่าใช้จ่ายในการสร้างด้วยความสมัครใจ รัฐบาลก็ไม่ขัดข้องในการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับจำลองในระดับอำเภอ ด้วยเหตุนี้ในท้องที่อำเภออื่นๆ จึงเริ่มจัดสร้างรัฐธรรมนูญฉบับจำลองอย่างกว้างขวางในช่วงต้นทศวรรษ ๒๔๘๐ ตัวอย่างเช่น อำเภอต่างๆ ของจังหวัดอุบลราชธานีใน พ.ศ. ๒๔๘๑ อำเภอต่างๆ ของจังหวัดขอนแก่นใน พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๓ และอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดสุรินทร์ใน พ.ศ. ๒๔๘๔[55]

 


อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบุรีรัมย์หน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า (ภาพจาก สะบายดีบุรีรัมย์ ส.ค. ๒๕๖๐)

 

นอกจากนี้ข้าราชการและประชาชนในจังหวัดบุรีรัมย์และขอนแก่นยังพยายามร่วมแรงร่วมใจในการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับการรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองและการส่งเสริมรัฐธรรมนูญในจังหวัดของตน ถึงแม้ว่าจะถูกทัดทานจากส่วนกลางแต่ก็ยังผลักดันโครงการอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จ โดยอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญทั้งสองแห่งมีลักษณะเป็นวงเวียนที่ประชาชนที่สัญจรผ่านสามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัด รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ซึ่งช่วยเสริมภูมิทัศน์ของเมืองให้ทันสมัยมากขึ้น

สำหรับอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบุรีรัมย์ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับประวัติการสร้างที่ชัดเจน แต่คาดว่าน่าจะเริ่มมีแนวคิดในการสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ ดังปรากฏจากหน้าปกของหนังสือ “เทอดบุรีรัมย์ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๐” ที่มีภาพวาดรัฐธรรมนูญบนพานแว่นฟ้าบนฐานสูงคล้ายคลึงกับอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบุรีรัมย์[56] นอกจากนี้คำกล่าวเปิดงานฉลองรัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ของข้าหลวงประจำจังหวัดได้กล่าวถึง การร่วมแรงร่วมใจของชาวบุรีรัมย์ในการสร้างอะไรบางอย่างที่ยังไม่แล้วเสร็จ  ซึ่งหากก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยจะประกอบพิธีเปิดอีกครั้ง แม้ว่าเอกสารจะไม่ระบุสิ่งก่อสร้างนั้นเป็นอะไร แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญกลางวงเวียนหน้าทางเข้าศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์หลังเก่า ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างแล้วเสร็จในปีถัดมาคือ พ.ศ. ๒๔๘๗

 


หน้าปกหนังสือเทอดบุรีรัมย์ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๐ (ภาพจาก หอสมุดแห่งชาติ)

 

ทั้งนี้อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบุรีรัมย์มีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญจำลองประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า โดยมีฐานสูงทรงกระบอกเรียบเป็นฐานรองรับพานแว่นฟ้า ซึ่งจากภาพเก่าพบว่าเดิมวงเวียนอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญมีขนาดเล็กต่อมาได้ขยายวงเวียนพร้อมกับสวนขนาดย่อมรอบอนุสาวรีย์ อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบุรีรัมย์ได้ถูกบูรณะและเปลี่ยนแปลงรูปทรงอนุสาวรีย์ในสมัยนายพร อุดมพงษ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๓๒ โดยนายอานุภาพ ภาระพรมราช อาจารย์แผนกวิชาสถาปัตยกรรม วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ ได้ออกแบบฐานอนุสาวรีย์ใหม่ โดยเปลี่ยนจากเสาสูงทรงกลมเป็นแท่นคอนกรีตลายธงชาติ[57]

 


อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบุรีรัมย์เมื่อแรกสร้างมีฐานเป็นทรงกระบอก (ซ้าย) และอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบุรีรัมย์หลังจากเปลี่ยนแปลงฐานเป็นเสาสูงลายธงชาติ (ภาพจาก เฟซบุ๊กบุรีรัมย์ น่าอยู่)

 

ขณะที่อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญขอนแก่น ปรากฏหลักฐานว่า กรมการจังหวัดขอนแก่นมีแนวคิดจะสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยอาศัยงบประมาณจากการเรี่ยไรเงินของชาวขอนแก่น ซึ่งจากการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทยมีความเห็นว่า การส่งเสริมรัฐธรรมนูญโดยการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ รัฐบาลยังไม่มีความประสงค์ที่จะจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ ดังนั้นในการขออนุญาตสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญมานี้ จะต้องพิจารณาถึงสถานที่และอาณาบริเวณว่ามีความเหมาะสมเพื่อเป็นการส่งเสริมและเชิดชูรัฐธรรมนูญ[58]  นอกจากนี้ปลัดกระทรวงมหาดไทยยังมีความเห็นว่า “การสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญนี้เป็นความเห็นชอบของท้องถิ่นโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ทางกระทรวงไม่ควรจะล่วงล้ำให้มากเกินควรก็จะได้ตอบอนุมัติและตักเตือนกำชับในเรื่องความเหมาะสมของสถานที่และแบบแปลน”[59]

ถึงแม้ว่าทางกระทรวงมหาดไทยจะยินยอมให้คณะกรมการจังหวัดขอนแก่นสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ  แต่หลวงเชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ตั้งข้อสังเกตและขอให้ระมัดระวังเกี่ยวกับการเรี่ยไรเงินจากประชาชนที่อาจนำไปสู่ข้อครหาได้ พร้อมกันนั้นได้แสดงความเห็นที่ขัดแย้งกับการส่งเสริมระบอบรัฐธรรมนูญของจังหวัดขอนแก่นว่า “อนึ่งการจะเพาะหรือปลูกฝังความมั่นคงในระบอบรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่การสร้างอนุสสรณ์ที่เป็นเสาหิน หรือรูปจำลอง แต่อยู่ที่การปฏิบัติของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองที่จะชักจูงด้วยวิธีอื่น ฉะเพาะอย่างยิ่ง คือการปฏิบัติตนให้สมกับสมัยรัฐธรรมนูญ”[60]

 


อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญขอนแก่นในปัจจุบัน (ภาพจาก ผู้เขียน)

 

ทั้งนี้หากพิจารณาที่ตั้งของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญขอนแก่นมีความแตกต่างจากอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญแห่งอื่นในอีสานที่สร้างก่อนหน้าอย่างชัดเจน โดยอนุสาวรีย์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ข้าหลวงประจำจังหวัดได้กำหนด อันสะท้อนถึงอำนาจการตัดสินใจของข้าราชการส่วนภูมิภาคในการสร้างอนุสาวรีย์แต่ละแห่ง แต่ที่ตั้งของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญขอนแก่นกลับมาจากการตัดสินใจของเทศบาลเมืองขอนแก่นสมัยนายโสภัณ สุภธีระ เป็นนายกเทศมนตรี โดยอนุสาวรีย์มีลักษณะเป็นวงเวียนที่เรียกว่า “วงเวียนประชาสำราญ” หรือ “วงเวียนรัฐธรรมนูญ” อันเป็นจุดตัดระหว่างถนนศรีจันทร์กับถนนประชาสำราญ[61] และเป็นที่น่าสังเกตว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับศาลหลักเมืองแห่งใหม่ที่เพิ่งย้ายมาตั้งใน พ.ศ. ๒๔๘๕ และเทวสถานแม่ธรณีที่สร้างใน พ.ศ. ๒๔๘๖ รวมถึงบ้านของนายกเทศมนตรี[62]

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญขอนแก่นมีลักษณะเป็นป้อมหกเหลี่ยมด้านบนมีพานแว่นฟ้าประดิษฐานรัฐธรรมนูญ โดยป้อมหกเหลี่ยมสะท้อนนัยหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร ซึ่งหากพิจารณาจากสถาปัตยกรรมของอนุสาวรีย์จะพบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองที่สร้างชั่วคราวในงานฉลองวันชาติ พ.ศ. ๒๔๘๓ เพียงแต่อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญขอนแก่นไม่มีปีกทั้งสี่ด้านและบริเวณป้อมมีประตูเพียงแห่งเดียวโดยหันไปทางทิศเหนือ ซึ่งตรงกับทางเข้าบ้านของนายกเทศมนตรีพอดี นอกจากนี้เหนือซุ้มประตูยังมีตัวเลข “๒๔๘๖” ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นปีที่เปิดอนุสาวรีย์แห่งนี้

ชะตากรรมของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในปัจจุบัน

เมื่อคณะราษฎรสิ้นสุดอำนาจลง พลังอนุรักษ์นิยมได้ขยายตัวขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการลดทอนความสำคัญของคณะราษฎรและผลงานต่างๆ สมัยคณะราษฎรให้เสื่อมคลายลง ตัวอย่างเช่น ลดความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญและงานฉลองรัฐธรรมนูญด้วยการยกย่องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สูงเด่นขึ้น

บรรยากาศทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ ยังมีส่วนทำให้ปัญญาชนอนุรักษ์นิยมรื้อสร้างความหมายเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญสมัยคณะราษฎร[63] ตัวอย่างเช่น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้อธิบายว่าประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย มิใช่เพิ่งมีใน พ.ศ. ๒๔๗๕ และสร้างความทรงจำว่าด้วยรัชกาลที่ ๗ เป็นพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นการชิงสุกก่อนห่าม[64] ขณะที่เทอดเกียรติและเอ๊กซเรย์ นักวิจารณ์การเมืองและนักเขียนการ์ตูนอนุรักษ์นิยมจากหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ ได้โจมตีผลงานของเทศบาลในยุครัฐบาลคณะราษฎรว่า มิได้มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันหรือสร้างความผาสุกแก่ประชาชน ดังนั้นประชาชนจึงสนใจเทศบาลเฉพาะการกวาดและเก็บขยะมูลฝอยให้พ้นหน้าบ้านพวกเขา มิใช่เป็นโรงเรียนที่ฝึกอบรมประชาธิปไตยตามที่หวังไว้[65] รวมถึงเขียนการ์ตูนล้อเพื่อสร้างเรื่องเล่าว่ารัฐธรรมนูญเป็นลูกพระยาพหลฯ และรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เพียงให้ราษฎรกราบไหว้เคารพบูชาในเชิงพิธีกรรมทางศาสนา[66]

 


การ์ตูนล้อจากหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ มีส่วนสร้างเรื่องเล่า “รัฐธรรมนูญเป็นลูกพระยาพหลฯ” ในช่วงหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ (ภาพจาก ปทานุกรมการเมือง)

 

ทั้งนี้ศราวุฒิ วิสาพรมได้ชี้ให้เห็นว่าเรื่องเล่าและข่าวลือว่า “รัฐธรรมนูญเป็นลูกพระยาพหลฯ” อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงเวลาสั้นๆ หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เนื่องจากคนในชนบทห่างไกลยังไม่เคยทราบเรื่องรัฐธรรมนูญมาก่อน แต่ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้เผยแพร่รัฐธรรมนูญอย่างแข็งขันและกว้างขวาง ราษฎรจึงได้มีการรับรู้  มีความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญมากขึ้น ทว่าเรื่องเล่าและข่าวลือดังกล่าวเป็นความพยายามบิดเบือนและใส่ความราษฎรว่าไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐[67] นอกจากนี้เรื่องเล่าและข่าวลือดังกล่าวยังถูกผลิตซ้ำและรับรองจากนักวิชาการอนุรักษ์นิยมรุ่นหลังในฐานะข้อวิพากษ์ทางวิชาการเกี่ยวกับประชาธิปไตยไทยยุคคณะราษฎรโดยเจตนาให้ผู้อ่านหลงเชื่อคำบอกเล่าและข่าวลือของกลุ่มปฏิปักษ์คณะราษฎรว่าเป็นความจริงที่เกิดขึ้นทั่วไปตลอดยุคสมัยของคณะราษฎร อันสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเทิดทูนรัฐธรรมนูญว่าเป็นเรื่องขบขันหรือการบูชาแบบลัทธิพิธี

จากความพ่ายแพ้ของคณะราษฎรและการผลิตซ้ำเรื่องเล่าที่ทำลายความทรงจำเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยสมัยคณะราษฎรนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ ได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสานมิได้ถูกสนใจหรือให้คุณค่าจากหน่วยงานราชการระดับจังหวัดและท้องถิ่น  ประกอบกับการยกเลิกกิจกรรมต่างๆ ที่สัมพันธ์กับอนุสาวรีย์เหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานฉลองรัฐธรรมนูญในต่างจังหวัดนับตั้งแต่ทศวรรษ ๒๔๙๐ ส่งผลให้ประชาชนในท้องถิ่นไม่ได้ถูกเชื่อมโยงกับอนุสาวรีย์เหล่านั้น ดังนั้นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสานหลายจังหวัดจึงถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเคลื่อนย้ายจากที่ตั้งเดิม อันส่งผลต่อภูมิทัศน์และพลังทางการเมืองของอนุสาวรีย์เหล่านั้น ตัวอย่างเช่น อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในตราประจำจังหวัดร้อยเอ็ดถูกเปลี่ยนเป็นศาลหลักเมืองบนเกาะบึงพลาญชัย การย้ายอนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญมหาสารคามออกจากบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดมาตั้งหน้าเทศบาลเมืองมหาสารคาม การรื้อถอนอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบุรีรัมย์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ 

 


อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน ถูกเคลื่อนย้ายจากหน้าศาลากลางจังหวัดมาตั้งที่หน้าเทศบาลเมืองมหาสารคาม รวมถึงปรับเปลี่ยนฐานรองรับพานแว่นฟ้า (ภาพจาก ลลิตา หาญวงศ์)

 


การรื้อถอนวงเวียนอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบุรีรัมย์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗ 
(ภาพจาก https://www.thairath.co.th/content/462160)

 

อย่างไรก็ตามอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสานอีกหลายแห่งกลับถูกรื้อฟื้นและมีการสร้างความหมายใหม่ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองหลังการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ปรากฏเด่นชัดคือ อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญขอนแก่นได้กลายเป็นสถานที่ชุมนุมทางการเมืองในการต่อต้านรัฐประหาร ในขณะที่อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญอีกหลายๆ กลับประสบกับวิกฤต นับตั้งแต่การรื้อถอนอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบุรีรัมย์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ให้เหตุผลการรื้อถอนอนุสาวรีย์ว่าเป็นการแก้ปัญหาการจราจรในเขตเทศบาล ถึงแม้ว่ามีการนำรัฐธรรมนูญและพานแว่นฟ้าของเดิมมาตั้งบนฐานที่สร้างใหม่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์หลังเก่า แต่ที่ตั้งแห่งใหม่กลับลดความสำคัญของอนุสาวรีย์อย่างเด่นชัดการย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏใน พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อหลีกทางให้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมถึงการหายไปอย่างปริศนาของหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งสภาพการณ์เหล่านี้ได้มีส่วนกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นและสังคมไทยหันมาให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสานมากขึ้นภายใต้ข้อจำกัดทางการเมืองและบรรยากาศอนุรักษ์นิยมในสังคมไทยร่วมสมัย

 

บรรณานุกรม

เอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

  • “เรื่อง ๑. กรรมการงานฉลองวันชาติกับเงินอุดหนุนจังหวัดจัดงานฉลองวันชาติ ๒๔๘๔ โดยปกติและที่ขอเพิ่มให้เป็นพิเศษ ๒. การแจกดุมเครื่องหมายอนุกรรมการงานฉลองวันชาติ (พ.ศ. ๒๔๘๔).” มท.๒.๒.๑๔/๓. หจช.
  • “เรื่องการประชุมกรรมการกับโครงการงานฉลองวันชาติ ๒๔๘๔ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค (พ.ศ. ๒๔๘๔).” มท.๒.๒.๑๔/๙. หจช.
  • “เรื่องคณะกรมการจังหวัดขอนแก่นขออนุญาตทำการเรี่ยไรเพื่อสร้างอนุสสาวรีย์รัฐธรรมนูญ (พ.ศ. ๒๔๘๑).”  มท.๕/๖๓. หจช.
  • “เรื่องคณะกรรมการจังหวัดชัยภูมิ เสนอเรื่องคณะกรมการจังหวัดภูเขียว ประสงค์จะก่อสร้างอนุสสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลอง (พ.ศ. ๒๔๘๔).” มท.๒.๒.๕/๑๓๗. หจช.
  • “เรื่องโครงการจัดงานฉลองวันชาติ ๒๔๘๔ ซึ่งจังหวัดต่าง ๆ บางจังหวัดเสนอมากระทรวง (พ.ศ. ๒๔๘๔).” มท.๒.๒.๑๔/๖. หจช.
  • “เรื่องงานฉลองวันชาติ (พ.ศ. ๒๔๘๓).” ศธ.๐๗๐๑.๒๓.๑/๗. หจช.
  • “เรื่องตราประจำจังหวัด (พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๙).” ศธ.๐๗๐๑.๔๒.๒/๑. หจช.
  • “เรื่องแนวทางจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ (๒๙ มกราคม ๒๔๗๘-๒๙ กันยายน ๒๔๗๙).” (๓)สร.๐๒๐๑.๖๖.๑/๒๐. หจช.
  • “เรื่องรายงานการทำพิธีฉลองรัฐธรรมนูญประจำ พ.ศ. ๒๔๗๙ (พ.ศ. ๒๔๗๙).” มท.๒.๒.๑๓/๒. หจช.
  • “เรื่องรายงานการทำพิธีฉลองรัฐธรรมนูญประจำ พ.ศ. ๒๔๗๙ (พ.ศ. ๒๔๗๙).” มท.๒.๒.๑๓/๘. หจช.
  • “เรื่องสร้างรัฐธรรมนูญฉบับจำลอง (พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๔).” ศธ.๐๗๐๑.๔๑.๑/๒๐. หจช.
  • “เรื่องหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า นายจันทร กล่าวหาว่า ขุนประเสริฐสรรพกิจ นายอำเภอภูเขียวติเตียนการปกครองระบอบประชาธิปตัย (พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๕).” มท.๕.๑๓/๑๑๙. หจช.
  • “ส.ท.สุพรรณ เล่าเรื่องความรู้สึกของพลเมืองในจังหวัดอุดรคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. ๒๔๗๕).” สร.๐๒๐๑.๒๕/๔๓๖. หจช. 

เอกสารภาษาไทย

  • กระทรวงมหาดไทย. รายงานการสร้างบ่อน้ำ พ.ศ. ๒๔๘๓. พระนคร : โรงพิมพ์กรมรถไฟ, ๒๔๘๔. (พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฉลองวันชาติ พ.ศ. ๒๔๘๔).
  • กันย์ ชโลธรรังสี. “การตอบสนองของปัญญาชนอีสานต่อการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๐๐.” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๕.
  • คณะกรรมการประชาสัมพันธ์และพิมพ์เอกสารการจัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๕๐๐. จังหวัดมหาสารคาม งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ. พระนคร : โรงพิมพ์อุดม, ๒๕๐๐.
  • คณะกรรมการประชาสัมพันธ์และพิมพ์เอกสารการจัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๕๐๐. จังหวัดสุรินทร์ งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ. พระนคร : โรงพิมพ์อุดม, ๒๕๐๐.
  • คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด. กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกรมศิลปากร, ๒๕๔๒.
  • คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดขอนแก่น. กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกรมศิลปากร, ๒๕๔๒.
  • งานพระราชทานเพลิงศพนายโสภัณ สุภธี. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, ๒๕๒๕. (งานพระราชทานเพลิงศพนายโสภัณ สุภธีระ ณ เมรุวัดหนองแวง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น วันเสาร์ที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕).
  • จังหวัดมหาสารคาร. อนุสรณ์ครบ ๑๐๐ ปี ของเมืองมหาสารคาม. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ๒๕๐๙.
  • จารุวรรณ ธรรมวัตร, บรรณาธิการ. คือผู้อภิวัฒน์...ถึงรัฐมนตรีอีสาน ถึงกวีพื้นบ้าน คืออุดมการณ์ประชาธิปไตย. อุบลราชธานี : โรงพิมพ์ศิริธรรมออฟเซ็ท, ๒๕๔๓.
  • ฉวีวรรณ มาเจริญ และคนอื่นๆ, บรรณาธิการ. ปกิณกวัฒนธรรม จังหวัดร้อยเอ็ด. กรุงเทพฯ : กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๕๓.
  • ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรมสยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐.
  • ________. ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๒.
  • ________. สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๙. กรุงเทพฯ : อ่าน, ๒๕๕๘.
  • ณัฐพล ใจจริง. กบฏบวรเดช : เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติ ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๙.
  • ________. ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๐๐). กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๕๖.
  • ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. การเมืองสองฝั่งโขง. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖.
  • เทอดเกียรติ์และเอ๊กซเรย์. ปทานุกรมการเมือง. พระนคร : โรงพิมพ์วิบูลกิจ, ๒๔๙๒.
  • เทิดบุรีรัมย์ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๐. พระนคร : โรงพิมพ์กรุงเทพฯ อังกฤษศึกษา, ๒๔๘๐.
  • บาหยัน อิ่มสำราญ, บรรณาธิการ. ภาษาและวรรณกรรมสาร ฉบับภาษาและวรรณกรรมกับสังคม. นครปฐม : ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๙.
  • บุญช่วย อัตถากร. ประวัติศาสตร์ภาคอิสาณและเมืองมหาสารคาม และผลงานต่าง ๆ. ม.ป.ท., ๒๕๒๒. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายบุญ่ช่วย อัตถากร วันจันทร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๒๒ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม).
  • ประชุมพงศาวดารภาค ๔ และประวัติท้องที่จังหวัดมหาสารคาม. พระนคร : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น, ๒๕๐๖. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระสารคามมุนี เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๐๖).
  • ประพันธ์ไพรัชชพากษ์, หลวง. กฎหมายเทศบาล คำอธิบายในการอบรมที่ปรึกษาเทศบาล พ.ศ. ๒๔๗๗. พระนคร : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ๒๔๗๗.
  • ปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่อง สภาพของจังหวัดต่างๆ. กรุงเทพฯ : สมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-ไทย, ๒๕๓๙.
  • พรมประศาสน์, ขุน. บรรยายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม. กรุงเทพฯ : ไทยเขษม, ๒๔๗๘.
  • _______. เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม คำกลอนภาษาไทยภาคอีสาน. กรุงเทพฯ : อักษรนิติ, ๒๔๗๕.
  • มาลินี คุ้มสุภา. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น. กรุงเทพฯ : วิภาษา, ๒๕๔๘.
  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑๑/๒๔๗๗. (๑ พฤษภาคม ๒๔๗๗).
  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒๐/๒๔๗๗. (๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๗๗). 
  • รูปต่างๆ จากหนังสือท่องเที่ยวสัปดาห์ ตั้งแต่กรกฎาคม ถึงมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ และปีที่ ๓ ตั้งแต่เมษายน ถึงธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓. ม.ป.ท., ๒๔๘๒-๒๔๘๓.
  • รูปต่างๆ จากหนังสือท่องเที่ยวสัปดาห์ปีที่ ๔ ตั้งแต่มกราคมถึงธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔. ม.ป.ท., ๒๔๘๔.
  • ลมูล อติพยัคฆ์. อนุสสรณ์รัฐธรรมนูญ ๒๔๘๓. พระนคร : โรงพิมพ์เจริญลาภ, ๒๔๘๓.
  • ศราวุฒิ วิสาพรม. ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๙.
  • สาขาสมาคมรัฐธรรมนูญ จังหวัดราชบุรี. สถิติการศึกษา แลภาพโรงเรียน ซึ่งรัฐบาล, ท่านเจ้าอาวาส, ประชาชน, ร่วมกันก่อสร้างขึ้นในจังหวัดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์เดลิเมล์, ๒๔๗๙. (สาขาสมาคมรัฐธรรมนูญ จังหวัดราชบุรี พิมพ์แจกผู้อุปการะในการศึกษา). 
  • สุมาลี สุวรรณกร, บรรณาธิการ. เล่าเรื่องเมืองอีสาน บันทึกเรื่องเล่าเมืองอีสานในรูปแบบสารคดี. มหาสารคาม : หจก.อภิชาติการพิมพ์, ๒๕๖๐.

วารสารและหนังสือพิมพ์

  • ประชาชาติ. (๑๘ ธันวาคม ๒๔๗๙).
  • ประชาชาติ. (๑๙ ธันวาคม ๒๔๗๙).
  • สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “ประวัติศาสตร์วันชาติไทยจาก ๒๔ มิถุนา ถึง ๕ ธันวา.” ฟ้าเดียวกัน ๒, ๒ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๗) : น. ๗๐-๑๒๑.
  • สุรินทร์สโมสร ๒, ๖ (กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๕๑).
  • สะบายดี บุรีรัมย์ ๑, ๒ (๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗).
  • ท่องเที่ยวสัปดาห์. ๓, ๑๔ (๖ กรกฎาคม ๒๔๘๓).

ออนไลน์


 


[1] กุหลาบ สายประดิษฐ์, “ความเสมอภาค,” ประชาชาติ (๑๘ ธันวาคม ๒๔๗๙) : น. ๔.

[2] ชาตรี ประกิตนนทการ, “ศิลปะคณะราษฎร ๒๔๗๕-๒๔๙๐,” ใน ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๒), น. ๑๔๒.

[3] ศราวุฒิ วิสาพรม, ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ ๒๔๗๕ (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๙), น. ๗๔.

[4] สุรินทร์สโมสร ๒, ๖ (กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๕๑) : น. ๑-๒. และ วิวัฒน์ โรจนาวรรณ, “ตามหารัฐธรรมนูญฉบับจำลองของคณะราษฎรในภาคอีสาน,” ใน เล่าเรื่องเมืองอีสาน บันทึกเรื่องเล่าเมืองอีสานในรูปแบบสารคดี, สุมาลี สุวรรณกร,  บรรณาธิการ (มหาสารคาม : หจก.อภิชาติการพิมพ์, ๒๕๖๐), น. ๗-๒๔.

[5] กันย์ ชโลธรรังษี, “การตอบสนองของปัญญาชนอีสานต่อการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๐๐” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๕), น. ๒๑.

[6] พระยาสารคามคณาภิบาลและนายทองม้วน อัตถากร, “ปาฐกถาเรื่อง สภาพจังหวัดมหาสารคาม,” ใน ปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่อง สภาพของจังหวัดต่างๆ (กรุงเทพฯ : สมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-ไทย, ๒๕๓๙), น. ๑๑๘.

[7] ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, การเมืองสองฝั่งโขง (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖), น. ๓๒.

[8] “ส.ท.สุพรรณ เล่าเรื่องความรู้สึกของพลเมืองในจังหวัดอุดรคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง,” พ.ศ. ๒๔๗๕, สร.๐๒๐๑.๒๕/๔๓๖, หจช.

[9] ดูใน ขุนพรมประศาสน์, เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม คำกลอนภาษาไทยภาคอีสาน (กรุงเทพฯ : อักษรนิติ, ๒๔๗๕).

[10] ดูใน ขุนพรมประศาสน์, บรรยายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (กรุงเทพฯ : ไทยเขษม, ๒๔๗๘).

[11] กันย์ ชโลธรรังษี, “การตอบสนองของปัญญาชนอีสานต่อการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๐๐” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๕) น. ๕๐-๕๑.

[12] “เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม คำกลอนภาษาไทยภาคอีสาน โดยขุนพรมประศาสน์,” ใน คือผู้อภิวัฒน์...ถึงรัฐมนตรีอีสาน ถึงกวีพื้นบ้าน คืออุดมการณ์ประชาธิปไตย, จารุวรรณ ธรรมวัตร, บรรณาธิการ (อุบลราชธานี : โรงพิมพ์ศิริธรรมออฟเซ็ท, ๒๕๔๓), น. ๑๑๑.

[13] บาหยัน อิ่มสำราญ, “คำกลอนพากย์อีสานบรรยายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามของ ขุนพรมประศาสน์,” ใน ภาษาและวรรณกรรมสาร ฉบับภาษาและวรรณกรรมกับสังคม, บาหยัน อิ่มสำราญ, บรรณาธิการ (นครปฐม : ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๙), น. ๒๕๗.

[14] ณัฐพล ใจจริง, กบฏบวรเดช : เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติ ๒๔๗๕ (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๙), น. ๑๘๔-๑๘๗.

[15] บุญช่วย อัตถากร, ประวัติศาสตร์ภาคอิสาณและเมืองมหาสารคาม และผลงานต่างๆ (ม.ป.ท., ๒๕๒๒. พิมพ์ในอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ นายบุญช่วย อัตถากร วันจันทร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๒๒ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม), น. ๑๑๗.

[16] เรื่องเดียวกัน, น. ๑๑๖.

[17] ดูใน ปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่อง สภาพของจังหวัดต่างๆ (กรุงเทพฯ : สมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-ไทย, ๒๕๓๙).

[18] หลวงประพันธ์ไพรัชชพากษ์, กฎหมายเทศบาล คำอธิบายในการอบรมที่ปรึกษาเทศบาล พ.ศ. ๒๔๗๗ (พระนคร : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ๒๔๗๗), น. ๑๑.

[19] ต่อมาเทศบาลเมืองขุขันธ์เปลี่ยนชื่อเป็น เทศบาลเมืองศรีสะเกษ ใน พ.ศ. ๒๔๘๑

[20] บุญช่วย อัตถากร, ประวัติศาสตร์ภาคอิสาณและเมืองมหาสารคาม และผลงานต่างๆ, น. ๑๑๖.

[21] เรื่องเดียวกัน, น. ๑๑๙.

[22] เรื่องเดียวกัน, น. ๑๒๐.

[23] ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๖ บุญช่วย อัตถากร ได้เขียนประวัติศาสตร์มหาสารคามเพิ่มเติมจากต้นฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๗ คือ เนื้อหาส่วนประวัติศาสตร์เมืองมหาสารคามว่าด้วยสารตราตั้งเมือง-สัญญาบัตรเข้าเมือง จากนั้นใน พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้เพิ่มเนื้อหาส่วนความทั่วไปและภาคผนวกว่าด้วยกรมการเมือง-ตำแหน่งต่าง ๆ และการปกครองในภาคดีสานสมัยประวัติศาสตร์

[24] ชาตรี ประกิตนนทการ, “งานฉลองรัฐธรรมนูญ,” ใน ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์, น. ๑๗๐.

[25] การจัดทำรัฐธรรมนูญจำลองนี้เป็นผลสืบเนื่องจากนายจำรัส มหาวงศ์นันทน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน มีความประสงค์ขอนำรัฐธรรมนูญฉบับจำลองไปประดิษฐานที่จังหวัดน่าน คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติเห็นว่า “ความคิดนี้ดี จึ่งเห็นควรจะให้มีรัฐธรรมนูญฉะบับจำลองไปประดิษฐานไว้ทุกจังหวัด และจะได้จัดให้มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับจำลองนี้แก่ผู้แทนราษฎร ในคราวประชุมวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนสิงหาคม ศกนี้” ดูใน รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑๑/๒๔๗๗, (๑ พฤษภาคม ๒๔๗๗).

[26] ขุนจำนงภูมิเวท, “งานฉลองรัฐธรรมนูญ,” ใน อนุสสรณ์รัฐธรรมนูญ ๒๔๘๓ (พระนคร : โรงพิมพ์เจริญลาภ, ๒๔๘๓), น. ๔๒-๔๓.

[27] “เรื่องแนวทางจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ,” ๒๙ มกราคม ๒๔๗๘-๒๙ กันยายน ๒๔๗๙, (๓)สร.๐๒๐๑.๖๖.๑/๒๐, หจช.

[28] การเปิดสาขาสมาคมคณะรัฐธรรมนูญจังหวัดภาคเหนือ ที่เชียงใหม่นี้ พระยาพหลพลพยุหเสนาให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเดินทางไปเปิดสาขาสมาคมพร้อมกับร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญฉบับจำลองที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยตนเองในลักษณะกึ่งราชการ ดูใน รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒๐/๒๔๗๗, (๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๗๗).

[29] บุญช่วย อัตถากร, ประวัติศาสตร์ภาคอิสาณและเมืองมหาสารคาม และผลงานต่างๆ, น. ๑๒๔.

[30] สาขาสมาคมรัฐธรรมนูญ จังหวัดราชบุรี, สถิติการศึกษา แลภาพโรงเรียน ซึ่งรัฐบาล, ท่านเจ้าอาวาส, ประชาชน, ร่วมกันก่อสร้างขึ้นในจังหวัดราชบุรี (พระนคร : โรงพิมพ์เดลิเมล์, ๒๔๗๙. พิมพ์ในสาขาสมาคมรัฐธรรมนูญ จังหวัดราชบุรี พิมพ์แจกผู้อุปการะในการศึกษา), น. ๑-๒.

[31] ข้อความที่ฐานเสาหัวบัว ๖ ต้นของอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ในปัจจุบัน แตกต่างจากหลัก ๖ ประการของคณะราษฎรโดยเปลี่ยนจาก “เศรษฐกิจ” มาเป็น “สามัคคี” ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานว่าข้อความดังกล่าวถูกแก้ไขในภายหลังเนื่องจากลักษณะตัวอักษรแตกต่างจากข้อความอีก ๕ หลักอย่างชัดเจน

[32] “เรื่องรายงานการทำพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำ พ.ศ. ๒๔๗๙,” พ.ศ. ๒๔๗๙, มท.๒.๒.๑๓/๘, หจช.

[33] “วันรัฐธรรมนูญสุรินทร์ ผู้แทนนายกฯ เปิดอนุสสรรัฐธรรมนูญ,” ประชาชาติ (๑๙ ธันวาคม ๒๔๗๙), น. ๓, ๓๓.

[34]ต่อมานายญาติ ไหวดี ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพิบูลสงครามใน พ.ศ. ๒๔๘๙ และเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์อีกหลายสมัยนับตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๒๖

[35] “เรื่องรายงานการทำพิธีฉลองรัฐธรรมนูญประจำ พ.ศ. ๒๔๗๙,” พ.ศ. ๒๔๗๙, มท.๒.๒.๑๓/๒, หจช.

[36] ฉวีวรรณ มาเจริญ และคนอื่นๆ, บรรณาธิการ, ปกิณกวัฒนธรรม จังหวัดร้อยเอ็ด (กรุงเทพฯ : กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๕๓), น. ๑๐๒.

[37] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด (กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกรมศิลปากร, ๒๕๔๒), น. ๑๐๒.

[38] “เรื่องตราประจำจังหวัด,” พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๙, ศธ.๐๗๐๑.๔๒.๒/๑, หจช.

[39] เรื่องเดียวกัน.

[40] เรื่องเดียวกัน.

[41] ชาตรี ประกิตนนทการ, การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรมสยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐), น. ๓๑๒.

[42] อนุสรณ์ในการบรรจุอัฐิ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ภักดีประดิษฐ์, ๒๕๐๗), น. ๕๒. อ้างถึงใน มาลินี คุ้มสุภา, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น (กรุงเทพฯ : วิภาษา, ๒๕๔๘), น. ๘๗.

[43] ดูรายละเอียดการฉลองวันชาติปีแรกที่กรุงเทพฯ ได้ใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ประวัติศาสตร์วันชาติไทยจาก ๒๔ มิถุนา ถึง ๕ ธันวา,” ฟ้าเดียวกัน ๒, ๒ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๗) : น. ๗๐-๑๒๑.

[44] “เรื่องการประชุมกรรมการกับโครงการงานฉลองวันชาติ ๒๔๘๔ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค,” พ.ศ. ๒๔๘๔,  มท.๒.๒.๑๔/๙, หจช.

[45] “เรื่อง ๑. กรรมการงานฉลองวันชาติกับเงินอุดหนุนจังหวัดจัดงานฉลองวันชาติ ๒๔๘๔ โดยปกติและที่ขอเพิ่มให้เป็นพิเศษ ๒. การแจกดุมเครื่องหมายอนุกรรมการงานฉลองวันชาติ,” พ.ศ. ๒๔๘๔, มท.๒.๒.๑๔/๓, หจช. 

[46] “เรื่องโครงการจัดงานฉลองวันชาติ ๒๔๘๔ ซึ่งจังหวัดต่าง ๆ บางจังหวัดเสนอมากระทรวง,” พ.ศ. ๒๔๘๔, มท.๒.๒.๑๔/๖, หจช.

[47] “เรื่องงานฉลองวันชาติ,” พ.ศ. ๒๔๘๓, ศธ.๐๗๐๑.๒๓.๑/๗, หจช.

[48] วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองที่หน้าสถานีรถไฟอุดรธานี ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นต้นไม้ดัดเป็นรูปทรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในส่วนของปีกทั้งสี่ด้าน ป้อมตรงกลาง ตลอดจนพานรัฐธรรมนูญ โดยส่วนฐานของปีกทั้งสี่ด้านสร้างด้วยคอนกรีต รวมถึงมีการจำลองลวดลายประติมากรรมแบบเดียวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองแห่งนี้เหลือเพียงฐานคอนกรีต มีการปรับปรุงเป็นเสาธงชาติและสวนหย่อมจนไม่เหลือสภาพเดิม

[49] ขุนประเสริฐสรรพกิจ นายอำเภอภูเขียว ได้ถูกกล่าวโทษจากบัตรสนเท่ห์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ว่าไม่นิยมระบอบประชาธิปไตย แต่จากการสอบสวนของกระทรวงมหาดไทยพบว่า ขุนประเสริฐสรรพกิจ นายอำเภอภูเขียว เป็นผู้นิยมระบอบใหม่อย่างแข็งขัน โดยในช่วงมีกบฏบวรเดช พ.ศ. ๒๔๗๖ เขาเป็นปลัดอำเภอเมืองร้อยเอ็ดได้ร่วมมือป้องกันรักษาเมืองร้อยเอ็ดจากฝ่ายกบฏ สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในทุกโอกาส และมีบทบาทในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญที่อำเภอภูเขียวใน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดูใน “เรื่องหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า นายจันทร กล่าวหาว่า ขุนประเสริฐสรรพกิจ นายอำเภอภูเขียวติเตียนการปกครองระบอบประชาธิปตัย,” พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๕, มท.๕.๑๓/๑๑๙, หจช. 

[50] “เรื่องคณะกรรมการจังหวัดชัยภูมิ เสนอเรื่องคณะกรมการจังหวัดภูเขียว ประสงค์จะก่อสร้างอนุสสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลอง,” พ.ศ. ๒๔๘๔, มท.๒.๒.๕/๑๓๗, หจช. 

[51] เรื่องเดียวกัน.

[52] ดูใน กระทรวงมหาดไทย, รายงานการสร้างบ่อน้ำ พ.ศ. ๒๔๘๓ (พระนคร : โรงพิมพ์กรมรถไฟ, ๒๔๘๔. พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฉลองวันชาติ พ.ศ. ๒๔๘๔).

[53] ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, การเมืองสองฝั่งโขง, น. ๒๓๙-๒๔๔.

[54] ศราวุฒิ วิสาพรม, ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ ๒๔๗๕, น. ๒๔๕-๒๔๖.

[55] “เรื่องสร้างรัฐธรรมนูญฉบับจำลอง,” พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๔, ศธ.๐๗๐๑.๔๑.๑/๒๐, หจช.

[56] เทิดบุรีรัมย์ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๐ (พระนคร : โรงพิมพ์กรุงเทพฯ อังกฤษศึกษา, ๒๔๘๐).

[57] วิวัฒน์ โรจนาวรรณ, “ภาพเก่าเล่าเรื่อง วงเวียนรัฐธรรมนูญหลังศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์หลังเก่า,” สะบายดี บุรีรัมย์ ๑, ๒ (๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗) : น. ๒๖.

[58] “เรื่องคณะกรมการจังหวัดขอนแก่นขออนุญาตทำการเรี่ยไรเพื่อสร้างอนุสสาวรีย์รัฐธรรมนูญ,” พ.ศ. ๒๔๘๑, มท.๕/๖๓, หจช.

[59] เรื่องเดียวกัน.

[60] เรื่องเดียวกัน.

[61] งานพระราชทานเพลิงศพนายโสภัณ สุภธีระ (กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, ๒๕๒๕. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายโสภัณ สุภธีระ ณ เมรุวัดหนองแวง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น วันเสาร์ที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕), ไม่มีเลขหน้า.

[62] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดขอนแก่น (กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกรมศิลปากร, ๒๕๔๒), น. ๖๑.

[63] ดูเพิ่มเติมใน ณัฐพล ใจจริง, “คว่ำปฏิวัติ-โค่นคณะราษฎร : การก่อตัวของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข,” ใน ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๐๐) (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๕๖), น. ๓-๖๓.

[64] ชาตรี ประกิตนนทการ, “ความทรงจำและอำนาจบนถนนราชดำเนิน,” ใน สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๙ (กรุงเทพฯ : อ่าน, ๒๕๕๘), น. ๒๙๒-๒๙๓.

[65] เทอดเกียรติ์และเอ๊กซเรย์, ปทานุกรมการเมือง (พระนคร : โรงพิมพ์วิบูลกิจ, ๒๔๙๒), น. ๑๐๘-๑๐๙.

[66] เรื่องเดียวกัน, น. ๑๒๗.

[67] ศราวุฒิ วิสาพรม, ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ ๒๔๗๕, น. ๗๙-๘๐.