ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
หมุดคณะราษฎรจำลองขนาดใหญ่
ปีที่สร้าง:
ปลายทศวรรษ 2550
สถานะ:
เสื่อมสภาพ
พิกัดสถานที่:

เมื่อคณะราษฎรสิ้นสุดอำนาจหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 หมุดคณะราษฎร ซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งการปฏิวัติสยามได้ค่อย ๆ หายไปจากความทรงจำของสังคมไทยเช่นเดียวกับเรื่องราวเกี่ยวกับคณะราษฎร ภาพของหมุดคณะราษฎรแทบไม่ปรากฏตามสื่อสาธารณะในช่วงยุคสมัยเผด็จการ จนกระทั่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ภาพหมุดคณะราษฎรจึงถูกเผยแพร่ตามสิ่งพิมพ์อีกครั้ง ดังปรากฏในหนังสือ “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี” ของนายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ แต่ถึงกระนั้นภาพหมุดคณะราษฎรยังคงไม่แพร่หลายนักเมื่อเทียบกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยในยุคสมัยนั้น จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2520 ภาพหมุดคณะราษฎรได้ถูกผลิตซ้ำในหนังสือมากขึ้น และที่สำคัญคือ ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2525 นายปรีดี พนมยงค์ ได้แสดงปาฐกถากล่าวถึงความสำคัญของหมุดคณะราษฎร ณ สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับเปิดนิทรรศการ 50 ปีประชาธิปไตยไทย ซึ่งมีภาพหมุดคณะราษฎรขนาดใหญ่เป็นจุดเด่นของงาน จากนั้นภาพหมุดคณะราษฎรจึงค่อย ๆ กลับมาเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติสยามผ่านการผลิตซ้ำในหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น การตีพิมพ์ภาพหมุดคณะราษฎรในสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ การจัดพิธีรำลึกที่หมุดคณะราษฎรบริเวณลานพระราชวังดุสิตในทุกเช้าวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี การนำเสนอภาพหมุดคณะราษฎรในผลงานทางศิลปะ ตลอดจนการจัดสร้างหมุดคณะราษฎรจำลอง สำหรับจัดนิทรรศการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการปฏิวัติสยาม

การสร้างหมุดคณะราษฎรจำลองชิ้นแรกมีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการก่อสร้างสวนประติมากรรม 11 เหตุการณ์ทางการเมือง บริเวณหน้าหอประชุมใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนั้นเป็น “ศาลาอภิวัฒน์” ภายในมีแท่นหินฝังแผ่นหมุดคณะราษฎรจำลอง ซึ่งแสดงความหมายถึงต้นธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย โดยคณะกรรมการประสานงาน 20 ปี 6 ตุลากับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้จัดสร้าง และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2541 เมื่อเข้าสู่วาระครบรอบ 75 ปีแห่งการปฏิวัติสยามในปี พ.ศ. 2550 สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดนิทรรศการศิลปกรรมกลางแจ้งในบริเวณสวนประติมากรรมแห่งนี้ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 โดยผลงานศิลปะชิ้นสำคัญคือ “กงล้อประวัติศาสตร์” สร้างสรรค์โดยสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ฝ่ายศิลปกรรมสถาบันปรีดี พนมยงค์ กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร กลุ่มบีฟลอร์ และกลุ่มหน้ากากเปลือย ผลงานชิ้นนี้เป็นหมุดคณะราษฎรจำลองขนาดใหญ่ สร้างด้วยไม้อัดพ่นสีเหมือนหมุดคณะราษฎรจริง มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 3 เมตร ฐานหมุดมีข้อความว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” นอกจากนี้ยังมีรูปคนเข็นและคนแห่หมุดสร้างด้วยไม้อัดทาสีขาววางไว้ด้านหน้าและหลังของหมุดคณะราษฎรจำลอง โดยผลงานศิลปะชิ้นนี้จัดวางอยู่ใกล้กับศาลาอภิวัฒน์ รวมถึงใช้เป็นฉากของกิจกรรมการแสดงศิลปะและการอ่านบทกวี หลังจากนิทรรศการสิ้นสุดลง หมุดคณะราษฎรจำลองขนาดใหญ่ได้ถูกเคลื่อนย้ายมาจัดเก็บไว้ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ในฐานะเป็นงานศิลปะที่เชื่อมโยงกับแนวคิดการอภิวัฒน์สยามของปรีดี พนมยงค์

แม้ว่าการจำลองหมุดคณะราษฎรจะไม่ได้มีความสำคัญและคุณค่าในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่ากับหมุดของแท้ ทว่าหมุดคณะราษฎรจำลองได้แสดงบทบาทในฐานะสัญลักษณ์ทางการเมืองที่ลื่นไหลและสามารถตอบสนองต่อผู้คนโดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับสถานที่จริง ทั้งนี้การจัดสร้างหมุดคณะราษฎรจำลองเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและการเมืองของกลุ่มศิลปวัฒนธรรม ที่ประกอบด้วยคนทำงานศิลปะ นักวิชาการ นักเขียน นักดนตรี และนักสร้างสรรค์การละคร โดยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 กลุ่มศิลปวัฒนธรรมได้รับอิทธิพลการรื้อฟื้นคณะราษฎรจนนำไปสู่การผลิตงานทางวิชาการที่เห็นคุณค่าศิลปะยุคสมัยคณะราษฎรและการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะเกี่ยวกับยุคสมัยคณะราษฎร ดังปรากฏชัดเจนในปี พ.ศ. 2530 กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละครสร้างสรรค์ละครเวที “คือผู้อภิวัฒน์” ที่เป็นเรื่องราวของนายปรีดี พนมยงค์ ยิ่งไปกว่านั้นภายหลังจากมีการตั้งสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในช่วงทศวรรษ 2530 สถาบันแห่งนี้ยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อสืบทอดอุดมการณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ตลอดจนเป็นพื้นที่ให้กลุ่มศิลปวัฒนธรรมหลากหลายกลุ่มได้จัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ การสร้างสรรค์หมุดคณะราษฎรจำลองเป็นผลพวงของการทำงานด้านศิลปะเพื่อรื้อฟื้นและสืบทอดอุดมการณ์ของคณะราษฎรจากความร่วมมือของกลุ่มศิลปวัฒนธรรมภายใต้การสนับสนุนของสถาบันปรีดี พนมยงค์และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลงานหมุดคณะราษฎรจำลองขนาดใหญ่ได้มีส่วนสำคัญในการผลิตซ้ำหมุดคณะราษฎรให้แพร่หลายมากขึ้น รวมถึงปลุกความสนใจของประชาชนในยุคร่วมสมัยให้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการปฏิวัติสยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น

หลังจากหมุดคณะราษฎรบริเวณลานพระราชวังดุสิตหายไปอย่างไร้ร่องรอยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 สังคมไทยได้ให้ความสนใจกับหมุดคณะราษฎรมากขึ้นรวมถึงการจำลองหมุดคณะราษฎรขึ้นมาใหม่ในวงกว้างและหลากหลายรูปแบบ อาทิ เข็มกลัด พวงกุญแจ นาฬิกา เสื้อยืด รวมถึงหมุดจำลองแบบเดียวกับของดั้งเดิม ยิ่งไปกว่านั้นการต่อสู้ทางการเมืองร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 ยังมีการใช้สัญลักษณ์หมุดคณะราษฎรในการชุมนุม อันสะท้อนการเชื่อมโยงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในยุคสมัยคณะราษฎรกับยุคร่วมสมัย หมุดคณะราษฎรจำลองขนาดใหญ่ที่จัดสร้างนับตั้งแต่ พ.ศ. 2550 จึงถูกนำมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของฝ่ายประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรำลึกวันปฏิวัติสยามนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 กล่าวคือ กลุ่มทะลุฟ้าได้ขอยืมหมุดจำลองขนาดใหญ่มาใช้ในการจัดงาน “24 มิถุนา ตื่นเช้ามาสานต่อภารกิจคณะราษฎร” ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นในช่วงสายได้เคลื่อนย้ายหมุดจำลองขนาดใหญ่ไปจัดกิจกรรมต่อที่รัฐสภา จากนั้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565 หมุดจำลองขนาดใหญ่ได้ถูกนำไปจัดแสดงในงานเสวนา 90 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยามของสถาบันปรีดี พนมยงค์ บริเวณหน้าหอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในช่วงเย็น กลุ่มทะลุฟ้าได้เคลื่อนย้ายหมุดจำลองนี้ไปจัดแสดงที่งานฉลองวันชาติ ณ ลานคนเมืองกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการรำลึกถึงการปฏิวัติสยามรวมถึงเป็นการส่งต่อสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจากคณะราษฎรมาจนถึงคนรุ่นหลัง แม้ว่าปัจจุบันหมุดคณะราษฎรจำลองขนาดใหญ่จะอยู่ในสภาพชำรุดจากความเสื่อมสภาพของวัสดุตามกาลเวลาจนไม่สามารถใช้งานได้อีก ถึงกระนั้นวัตถุชิ้นนี้ยังคงเป็นผลงานศิลปะชิ้นสำคัญที่ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ความทรงจำเกี่ยวกับการปฏิวัติสยามและขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างทรงพลังในสังคมไทยร่วมสมัย

รูปภาพ

คลิปวิดีโอ