ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
รูปปั้นหลักเศรษฐกิจ
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2480
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

นอกเหนือจากการปลูกฝังค่านิยมประชาธิปไตยผ่านการประชาสัมพันธ์ และสัญลักษณ์ในสิ่งปลูกสร้างทางสถาปัตยกรรมหลังปฏิวัติ 2475 “ศิลปกรรม” ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการเมืองที่คณะราษฎรใช้เพื่อเป็นการเผยแพร่แนวคิด “หลัก 6 ประการ” สู่ประชาชน ด้วยเหตุนี้ ศิลปะในยุคคณะราษฎรจึงนับว่ามีแนวทางของการเป็นศิลปะเพื่อการเมืองอย่างแยกไม่ออก หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญคือการที่คณะราษฎรได้รื้อฟื้นกรมศิลปากรขึ้นมาใหม่ (หลังจากถูกยุบไปในสมัยรัชกาลที่ 7) เพื่อเป็นหน่วยงานสำคัญในการสนองนโยบายทางการเมืองผ่านงานศิลปะ โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ร่วมกับนายช่างศิลปกรรมที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดอย่าง ศิลป์ พีระศรี ผู้ที่ต่อมาจะได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยไทย” ทั้งนี้ในแขนงทางศิลปกรรมอันหลากหลายที่คณะราษฎรเลือกใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่อุดมการณ์ ประติมากรรมเปลือยกายของผู้ชายที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามดูจะเป็นรูปแบบที่มักถูกใช้มากที่สุด ค่าที่ว่างานศิลปะรูปแบบนี้สามารถการสะท้อนเรือนร่างของประชาชนในอุดมคติตามจารีตใหม่ได้อย่างชัดเจน

เพราะไม่เพียงการนำเสนอเรือนร่างอันสมบูรณ์จะเป็นการส่งเสริมให้พลเมืองมีสุขพลานามัยที่ดี หากยังเป็นความพยายามของคณะราษฎรในการทำลายภาพจำเดิมๆ ของผู้คนในสังคมที่มองว่าผู้ที่ต้องตรากตรำทำงานหนักคือ “ผู้มีกรรม” (ส่วนคนที่อยู่สุขสบายโดยไม่ต้องทำอะไรเลยคือ “ผู้มีบุญ”) รวมถึงค่านิยมที่เกิดจากตัวละครเอกในวรรณคดีตามจารีต ที่ซึ่งตัวละครเหล่านั้นมักได้ดีโดยไม่ต้องลงแรง ไปจนถึงการเสียดเย้ยมโนคติ “ทำนาบนหลังคน” ของกลุ่มอำนาจเก่าที่คณะราษฎรมองว่าเอารัดเอาเปรียบไพร่ฟ้าประชาชน กล่าวได้ว่าประติมากรรมที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามเหล่านี้เป็นเสมือนการปลูกฝังให้พลเมืองขยันขันแข็ง รักการทำงาน และตระหนักในคุณค่าของความลำบากตรากตรำ เพื่อเป็นฟันเฟืองในการสร้างชาติ ดังเห็นได้ชัดจาก “รูปปั้นหลักเศรษฐกิจ” ประติมากรรมเสมือนจริงรูปชาวนาผู้มีร่างกายกำยำล่ำสัน อันเป็นภาพแทนของประชาชนในอุดมคติตาม “หลักเศรษฐกิจ” 1 ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร (หลักข้อที่ 3: ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก) รูปปั้นชิ้นนี้จัดแสดงครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญช่วงต้นทศวรรษ 2480 หนึ่งในมหกรรมประจำปีที่คณะราษฎรใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือในการปลูกฝังประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนองานสถาปัตยกรรมของซุ้มอาคาร งานประติมากรรม และงานออกแบบบูธร้านค้าที่มีความทันสมัย การประกวดนางสาวสยาม (นำเสนอเรือนร่างในอุดมคติและบทบาทของสตรี) และการประกวดศิลปกรรมและการละคร เป็นต้น

แม้ในปัจจุบันจะไม่ปรากฏหลักฐานถึงชะตากรรมของรูปปั้นหลักเศรษฐกิจชิ้นนี้ หากต้นแบบของมันที่เป็นประติมากรรมหล่อจากปูนปลาสเตอร์ ก็ถูกเก็บรักษาไว้ภายในหอประติมากรรมต้นแบบ ถนนหน้าพระลาน (ด้านข้างมหาวิทยาลัยศิลปากร) ร่วมกับประติมากรรมต้นแบบของอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระเจ้าตากสิน ไปจนถึงอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ฯลฯ ทั้งนี้กล่าวได้ว่าประติมากรรมชิ้นนี้ถือเป็นสัญลักษณ์เชิงรูปธรรมชิ้นแรกๆ ของคณะราษฎรที่มีส่วนฝังรากความคิดที่มองว่าประชาชนทุกคนฟันเฟืองในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของชาติเฉกเช่นกรอบคิดของนานาอารยะประเทศ  
 

รูปภาพ

พิกัดสถานที่