ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2480
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

อุตสาหกรรมน้ำตาลในสยามมีปรากฏหลักฐานจากเอกสารต่างชาติมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจากการเป็นสินค้าส่งออกต่างประเทศ และเฟื่องฟูที่สุดในช่วงรัชกาลที่ 3 ผ่านระบบการค้าผูกขาดและระบบเจ้าภาษีนายอากรของรัฐโดยมีชาวจีนเป็นกำลังสำคัญในการผลิตอ้อย อย่างไรก็ดีเมื่อประเทศในยุโรปได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลจากหัวชูการ์บีททดแทนน้ำตาลจากอ้อย ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจึงตกลงอย่างรวดเร็ว เมื่อประกอบกับการเก็บภาษีซ้ำซ้อนในสยาม โรงงานน้ำตาลในประเทศจึงปิดตัวลงเป็นจำนวนมากเนื่องจากแบกรับภาระไม่ไหว อุตสาหกรรมน้ำตาลจึงซบเซาลงนับตั้งแต่ทศวรรษ 2440 จนถึงขนาดต้องนำเข้าน้ำตาลทรายจากต่างประเทศมาบริโภคภายในสยาม ทั้งนี้พลันที่สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้มีนโยบายในการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศภายใต้แนวคิด “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ” โดยการสนับสนุนภาคเอกชนให้เปิดโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคสำหรับให้คนไทยได้ใช้หลายแห่ง อาทิ โรงงานกระดาษ, โรงงานทอผ้า ไปจนถึงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เช่นเดียวกับ “โรงงานน้ำตาล” ที่คณะราษฎรมองว่าน้ำตาลถือเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารที่สำคัญต่อการพัฒนาสุขภาพของประชาชนให้แข็งแรงเพื่อเป็นกำลังหลักของชาติ ไม่น้อยไปกว่าเนื้อสัตว์ นม และไข่

สอดคล้องกับนโยบายของคณะราษฎร ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ก็ได้มีพ่อค้าไทย เจ้านาย และขุนนาง พยายามยื่นเรื่องเข้ามายังรัฐบาลขอให้ช่วยสนับสนุนโครงการโรงงานน้ำตาลของพวกเขา  อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทั้งกำลังการผลิต ความไม่คุ้มทุน ไปจนถึงกระบวนการบริหารจัดการ ในปี 2478 รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงมีมติว่าให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการกิจการผลิตน้ำตาลเอง โดยว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมาอำนวยการแทนคนไทย จากนั้นรัฐบาลที่นำโดยกระทรวงเศรษฐการ ซึ่งมีนายพันเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการในขณะนั้น ได้เปิดประมูลการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลในเดือนมกราคม พ.ศ. 2479 ผลปรากฏว่าบริษัทสโกคาเวอร์ค จำกัด ประเทศเชโกสโลวาเกีย เป็นผู้ชนะการประมูล ส่วนสาเหตุที่ไปตั้งโรงงานที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง นั้นมาจากการที่พระยาพหลฯ มองว่าพื้นที่ดังกล่าวมีเกษตรชาวไทยปลูกอ้อยเป็นจำนวนมาก ซึ่งท่านต้องการให้โรงงานแห่งนี้ตกอยู่กับคนไทย (แตกต่างจากในชลบุรีและนครปฐมที่เป็นแหล่งปลูกอ้อยสำคัญ แต่ผู้ผลิตส่วนใหญ่กลับเป็นคนจีน) ด้วยเหตุนี้ “โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง” โรงงานน้ำตาลแห่งแรกของคณะราษฎรจึงได้เปิดทำการขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม 2480 โดยมีวิธีการดำเนินงานเป็นรูปแบบองค์กรวิสาหกิจของรัฐ สังกัดกระทรวงเศรษฐการ มีคณะกรรมการดำเนินการ 6 นาย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเป็นประธาน และหัวหน้ากองอุตสาหกรรมเป็นผู้จัดการ (นายสาย นิธินันทน์ เป็นผู้จัดการโรงงานคนแรก ระหว่าง ปี 2470 - 2487)

โรงงานน้ำตาลไทยลำปางประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่มต้น โดยสามารถผลิตน้ำตาลได้มากถึง 4,988 ตันในการดำเนินงานปีที่สอง และกลายมาเป็นต้นแบบของการดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาลสมัยใหม่แห่งอื่นๆ ในเวลาต่อมา จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้ในวาระครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้งโรงงานฯ ทางพนักงานโรงงาน พ่อค้า เกษตรชาวไร่อ้อย และประชาชนจึงร่วมใจกันบริจาคทรัพย์ก่อสร้าง “อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา” ขึ้นบริเวณหน้าโรงงานฯ เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีขอท่าน โดยได้ประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2505 แม้ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ไม่ได้ทำการผลิตน้ำตาลต่อไปแล้วเนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตไปยังจังหวัดกำแพงเพชร หากอนุสาวรีย์ของพระยาพหลฯ ก็ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และยังคงมีประชาชนนำพวงมาลามาสักการะในทุกวันอสัญกรรมของท่านต่อเนื่องทุกปี (ทุกวันที่ 14 กุมภาพันธ์) จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้จากจุดเริ่มต้นของการผลิตน้ำตาลในประเทศที่จังหวัดลำปาง ก่อนการขยายแหล่งผลิตไปยังภูมิภาคอื่นๆ ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในประเทศมีมากเกินความต้องการ สิ่งนี้จึงนำมาสู่การผลิต “อุตสาหกรรมความหวาน” ในรูปแบบอื่นๆ ที่แปรรูปมาจากน้ำตาล อาทิ ลูกอม, อาหารกระป๋อง และน้ำอัดลมในเวลาต่อมา ซึ่งก็สอดรับกับความตั้งใจของรัฐบาลคณะราษฎรรวมถึงรัฐบาลในยุคถัดมาที่มุ่งหวังให้ราษฎรบริโภคพลังงานจากน้ำตาลมากขึ้น ทั้งยังส่งผลต่อวัฒนธรรมทางอาหารของคนไทยที่นิยม “รสหวาน” มาจนถึงปัจจุบัน

รูปภาพ

ยุคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐

พิกัดสถานที่