ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
เดอะเซอตารา
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2564
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

สถาปัตยกรรมแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) มีพัฒนาการในยุโรปและอเมริกาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือราว พ.ศ. 2468 โดยมีลักษณะเด่นคือการปฏิเสธแบบแผนเดิมที่เน้นการประดับตกแต่งอาคารอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย และพยายามทำให้รูปลักษณ์ของมันหันกลับมารับใช้มนุษย์อย่างซื่อตรงผ่านการใช้เส้นสายและรูปทรงเรขาคณิตอันเรียบง่ายแทน ทั้งนี้ในช่วงทศวรรษ 1930 ปรากฏอาคารหลายแห่งในโลกตะวันตกที่สะท้อนอิทธิพลของสถาปัตยกรรมนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาคารไคร์ซเลอร์ (Chrysler Building, สร้างเสร็จในปี 2473) อาคารเอ็มไพร์สเตท  (Empire State Building, 2474) ในนิวยอร์ก หรือวิลลาซาวอย (Villa Savoye, 2474) ในปารีส เป็นต้น สำหรับประเทศไทย สถาปัตยกรรมอาร์ตเดโคเข้ามาครั้งแรกอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลังปฏิวัติ 2475 จากความที่คณะราษฎรต้องการนำสถาปัตยกรรมนี้มาเป็นภาพสะท้อนของความทันสมัยของประเทศ รวมถึงการสลัดให้หลุดจากรูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยประเพณีในระบอบเก่า เราจึงพบอาคารสถาปัตยกรรมนี้เกิดขึ้นจำนวนมากตลอด 15 ปีที่คณะราษฎรเรืองอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงานรัฐหลายหลังในลพบุรี, ศาลาเฉลิมกรุง (ถูกรื้อถอนไปแล้ว), อาคารไปรษณีย์กลาง ไปจนถึงสนามมวยเวทีราชดำเนิน และสนามกีฬาแห่งชาติ ฯลฯ อย่างไรก็ดี ภายหลังที่คณะราษฎรหมดอำนาจลงในปี 2490 รูปแบบสถาปัตยกรรมนี้ก็ค่อยๆ หมดความนิยม พร้อมๆ ไปกับการเกิดขึ้นของขบวนการรื้อถอนอาคารที่สร้างในยุคนั้นโดยฝ่ายนิยมเจ้า ทั้งนี้การกลับมาของกระแสการฟื้นฟูคณะราษฎรนับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2557 ไม่เพียงจะมีคนรุ่นใหม่ได้ผลิตสิ่งของที่มีรูปลักษณ์และลวดลายเชื่อมโยงกับคณะราษฎรออกมามากมาย หากยังมีการก่อสร้างบ้านพักอาศัยที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโคและสะท้อนสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับคณะราษฎรโดยตรง อันเห็นได้ชัดจาก The Setara (เดอะ เซอตารา) ที่ตั้งอยู่ในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ แห่งนี้

The Setara เป็นภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า “เสมอภาค” บ้านหลังนี้เป็นของ สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ ชายหนุ่มผู้มีความทรงจำและความประทับใจในสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโคและคณะราษฎร จากความที่เขาเกิดและเติบโตในนิคมสร้างตนเองที่พระพุทธบาท สระบุรี นิคมที่ถูกสร้างขึ้นด้วยอาคารรูปแบบอาร์ตเดโค อันเกิดจากดำริของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม รวมถึงมีโอกาสเรียนมัธยมที่จังหวัดลพบุรี อีกหนึ่งเมืองที่มีมรดกสถาปัตยกรรมคณะราษฎรถูกลงเสาเข็มไว้มากมาย กระทั่งในปี 2564 เมื่อสิทธาตัดสินใจจะสร้างบ้านพักตากอากาศของตัวเอง เขาจึงเลือกที่จะทำให้บ้านหลังนี้สะท้อนรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เขาผูกพันในวัยเด็ก (รวมถึงความทรงจำช่วงที่เขาทำวิจัยในประเทศอินโดนีเซียและพบอาคารรูปแบบเหล่านี้มากมาย อันเป็นเหตุผลให้เขาตั้งชื่อบ้านหลังนี้เป็นภาษาอินโดนีเซีย) โดยสิทธาได้ชวนให้ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ นักวิจัยผู้บุกเบิกการศึกษาสถาปัตยกรรมของคณะราษฎรให้มาเป็นผู้ร่างแบบ และบริษัท HUES development เป็นผู้ทำแบบก่อสร้าง บ้านหลังนี้เป็นอาคารสูง 1 ชั้นครึ่ง ก่อร่างขึ้นจากเสาความสูง 6 เมตร จำนวน 6 ต้นในระยะกริด 6 x 6 เมตร   รวมถึงการปรับความโค้งมนของกำแพงด้วยรัศมี 0.6 เมตร ที่อ้างอิงเลข 6 ตาม “หลัก 6 ประการ” สิทธาได้นำรูปแบบของอาคารปฏิบัติการแพทย์และตึกศัลยกรรม โรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโคที่ใหญ่และโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในลพบุรี (สร้างขึ้นในปี 2480) มาใช้เป็นองค์ประกอบของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผนังที่มีความโค้งมน หน้าต่างที่แบ่งช่องย่อยเป็นช่องเล็กๆ รวมไปถึงหน้าต่างทรงกลม (Porthole Window) ที่เป็นเอกลักษณ์ของตึกศัลยกรรม แผงคอนกรีตและเส้นสายที่มีความลู่ลม (Streamline) และการจัดวางอาคารแบบอสมมาตร ขณะที่หัวเสาของรั้วบ้านมีต้นแบบมาจากประตูโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง อำเภอเกาะคา โรงงานน้ำตาลแห่งแรกที่สร้างขึ้นสมัยคณะราษฎร เช่นเดียวกับของตบแต่งภายในทั้งหมดก็ล้วนสะท้อนแพสชั่นของเจ้าของที่มีต่อคณะราษฎรอย่างเต็มเปี่ยม ไม่ว่าจะเป็นโมเดลรัฐธรรมนูญ หนังสือและภาพถ่ายในยุคดังกล่าว โปสเตอร์รัฐธรรมนูลและหลัก 6 ประการ ไปจนถึงแก้วน้ำและภาชนะต่างๆ ที่ถูกทำขึ้นใหม่โดยมีรูปพานรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์

สิทธาเล่าว่าไม่เพียงเขาจะเลือกอาคารปฏิบัติการแพทย์และอาคารศัลยกรรมของโรงพยาบาลอานันทมหิดล มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบบ้านด้วยเหตุผลด้านคุณค่าและความงามเชิงสถาปัตยกรรม หากสิ่งสำคัญมากอีกประการก็คือ อาคารสองหลังนี้ทำให้เขาตระหนักถึงความพยายามของคณะราษฎรในการสร้างหลักประกันเรื่องความสงบและปลอดภัย อันเป็นหนึ่งในหลักหกประการ ด้วยการสร้างโรงพยาบาลและสุขศาลาจำนวนมากในหลายจังหวัดในช่วงเวลานั้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของราษฏร ในขณะที่ชาตรี ผู้รับคำชวนจากสิทธาให้เป็นผู้ร่างแบบ ก็เล่าถึงเหตุผลที่เขายินดีร่วมโครงการนี้ เพราะต้องการรื้อฟื้นคุณค่าของสถาปัตยกรรมคณะราษฎรในไทย ดังที่เขาให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร art4D ไว้ดังนี้ “หลังจากหลายอาคาร (ที่สร้างโดยคณะราษฎร) ถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย ผมต้องการผลักดันให้รูปแบบสถาปัตยกรรมนี้ ถูกรื้อฟื้นในบริบทสังคมไทย เพราะมันถูกมองในเชิงลบว่าไม่มีคุณค่า ไม่มีความเป็นไทย ในขณะที่รูปแบบตะวันตกอื่นๆ อย่างเช่นตึกที่สร้างช่วง ร.5-ร.7 ผู้คนก็รับรู้ว่าหน้าตามันเป็นตะวันตกแต่ก็ถูกยอมรับว่าเป็นมรดกของสถาปัตยกรรมไทย แต่สถาปัตยกรรมรูปแบบนี้ไม่ได้อยู่ในสถานะนั้น” (อ้างอิงจาก https://art4d.com/2021/11/the-setara)

รูปภาพ

ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน