ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
หลัก 6 ประการโรงเรียนวัดบางช้างใต้
ปีที่สร้าง:
ต้นทศวรรษ 2480
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ไม่เพียง “พานรัฐธรรมนูญ” จะเป็นสัญลักษณ์ที่คณะราษฎรใช้เผยแพร่การรับรู้เรื่องประชาธิปไตยสู่ประชาชนผ่านสื่อและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ “หลัก 6 ประการ” ก็ยังเป็นแนวคิดที่ถูกทำให้กลายเป็นรูปธรรมด้วยเช่นกัน โดยหลักดังกล่าวอยู่ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่่ 1 ซึ่งถูกใช้เป็นแนวนโยบายในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รูปธรรมของหลักการนี้มักพบได้ในงานศิลปะ สถาปัตยกรรม งานประดับตกแต่ง หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับคณะราษฎร ซึ่งนิยมอ้างอิงให้สอดคล้องกับจำนวน 6 เช่น ป้อมหกเหลี่ยมเทินพานรัฐธรรมนูญของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เสามุขหน้าอาคารสถานที่ราชการต่างๆ ฯลฯ ทั้งนี้ หาใช่เพียงฝ่ายคณะราษฎรในฐานะผู้นำรัฐบาลในช่วงเวลานั้นจะเป็นฝ่ายเผยแพร่แนวนโยบายนี้ฝ่ายเดียว ในทางกลับกัน ภาคเอกชนและประชาชนก็ยังสนองรับแนวคิดดังกล่าวด้วยการจัดทำสิ่งปลูกสร้างและสิ่งของที่มีสัญลักษณ์ประชาธิปไตยเป็นที่ระลึก ทั้งยังรวมถึง “สถานศึกษา” หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนความรับรู้ด้านวิชาการและสังคม เพราะนอกจากจะมีการบรรจุแนวคิดด้านประชาธิปไตยลงในหลักสูตรการเรียนการสอน สถานศึกษาบางแห่งก็ยังได้จัดทำสิ่งปลูกสร้างที่เป็นดังอนุสรณ์ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศครั้งนี้ด้วย ดังเช่น “หลัก 6 ประการ” ณ โรงเรียนวัดบางช้างใต้ จังหวัดนครปฐม

จากข้อมูลของ รศ.พิชญา สุ่มจินดา อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวัดบางช้างใต้ และเป็นผู้ค้นพบและเผยแพร่เรื่องราวของ “หลัก 6 ประการ” ในโรงเรียนแห่งนี้ ระบุว่า โรงเรียนวัดบางช้างใต้ (กิตติวิทยากร) ตั้งอยู่ที่ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่สร้างขึ้นในปี 2464 อาจารย์พิชญาเคยเข้าเรียนโรงเรียนแห่งนี้สมัยชั้น ป.6 (ราวปี 2533) ในอาคารเรียน 2 ชั้นหลังเก่าซึ่งปัจจุบันถูกทิ้งร้างไปแล้ว เขาจำได้ว่าเคยเห็นเสาเตี้ยๆ 6 ต้นที่ดูทรุดโทรมตั้งอยู่ใกล้กับเสาธงภายในพื้นที่ของโรงเรียน หากในขณะนั้นเขาไม่ได้สนใจมันนัก กระทั่งปี 2560 ที่ได้มีโอกาสได้กลับไปเยือนโรงเรียนเก่าแห่งนี้และได้พบว่าเสาดังกล่าวยังคงอยู่ (ในสภาพทรุดโทรมกว่าเดิม) เมื่อพิจารณารายละเอียดบนเสา เขาก็แน่ใจว่าพวกมันคือเสาหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยเสามีลักษณะเป็นเสาปูนยอดบัวตูมในรูปลักษณ์เรียบง่าย ตั้งบนบัวลูกแก้วอกไก่ รองรับด้วยตัวเสาหกเหลี่ยม ตอนบนยอดปั้นปูนเป็นกระจังคว่ำ ทาสีขาว บัวและตัวหนังสือทาสีแดง เสาทั้ง 6 ต้นตั้งเรียงลำดับกันตามหมายเลขไทยตอนบนของเหลี่ยมด้านที่หันไปทางเสาธง ใต้หมายเลขมีข้อความปูนปั้นแสดงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ดังนี้ 1 เอกราช 2 เศรษฐกิจ 3 ปลอดภัย 4 เสมอภาค 5 เสรีภาพ และ 6 การศึกษา สันนิษฐานว่าพวกมันถูกสร้างขึ้นหลังปี 2482 โดยอนุมานจากเสาบัวตูมหลัก 6 ประการในโปสเตอร์ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์ไทย” ขนาบพานรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ทางโรงเรียนวัดบางช้างใต้นำมาปรับเสากลมให้เป็นหกเหลี่ยม แต่ยังคงลำดับเลขและข้อความของหลัก 6 ประการไว้ดังเช่นในโปสเตอร์

การค้นพบหลัก 6 ประการของอาจารย์พิชญาครั้งนี้ ยังสะท้อนถึงห้วงสมัยที่คณะราษฎรหมดอำนาจนำลงอย่างสิ้นเชิง เพราะหากย้อนกลับไปในปี 2533 ที่อาจารย์พิชญาเห็นเสา 6 ต้นนี้ครั้งแรก พวกมันก็อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม และไม่มีครูคนใดในโรงเรียนกล่าวถึง  โดยเขายังนึกคิดเอาเองว่าเป็น “คำขวัญแปลกๆ ที่ไม่คล้องจองกัน” ของโรงเรียนเมื่อนานมาแล้ว กล่าวได้ว่าเสาทั้ง 6 ต้นนี้เป็นเพียงอนุสรณ์ตกยุคที่ติดมากับโรงเรียนโดยไม่มีใครเหลียวแล (มันถูกทิ้งไว้เช่นเดียวกับอาคารเรียนเก่าที่ถูกทิ้งร้าง) และจากข้อมูลที่ว่านี่เป็นเสาเพียงชุดเดียวที่มีการค้นพบในสถานศึกษาจนถึงปัจจุบัน จึงอนุมานได้ว่าภายหลังจากที่คณะราษฎรหมดอำนาจลงในปี 2490 โรงเรียนแห่งอื่นๆ อาจรื้อถอนสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับคณะราษฎรเหล่านี้ออกไปหมด  อย่างไรก็ตาม การค้นพบหลัก 6 ประการในจังหวัดนครปฐมนี้ ก็เป็นเครื่องยืนยันถึงความตื่นตัวของแนวคิดประชาธิปไตยของผู้คนในระบบการศึกษาที่หาได้กระจุกตัวอยู่ในศูนย์กลางของประเทศอย่างกรุงเทพฯ เท่านั้น  

รูปภาพ

ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน

พิกัดสถานที่