ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
เมรุเผาศพแห่งแรกของสามัญชน ณ วัดไตรมิตรฯ
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2483
สถานะ:
รื้อถอน
พิกัดสถานที่:

แม้ความตายจะเป็นสิ่งที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยง กระนั้นปัญหาจากกระบวนการฌาปนกิจในยุคก่อนปฏิวัติ 2475 ก็เป็นสิ่งที่สามัญชนชาวสยามไม่อาจหลีกเลี่ยงได้มาอย่างยาวนานด้วยเช่นกัน แต่เดิมชนชาวสยามมีวิธีการฌาปนกิจร่างผู้ตายด้วยการเผาแบบเชิงตะกอนในพื้นที่กลางแจ้ง (ผ่านการก่ออิฐฉาบปูนหรือใช้ไม้ท่อนเป็นฐานสำหรับวางศพ ก่อนจะใช้ฟืนวางขัดกันเป็นเชิงตะกอนเพื่อเผาร่าง) วิธีการนี้ไม่เพียงสร้างทัศนะอุจาดต่อผู้พบเห็น หากกระบวนการเก็บศพก่อนการฌาปนกิจก็ยังสร้างมลภาวะให้แก่ชุมชนโดยรอบ เนื่องจากการฌาปนกิจจะทำขึ้นพร้อมกันกับศพจำนวนมาก ผู้ที่ยังอยู่จึงต้องเก็บศพก่อนเริ่มพิธี ไม่ว่าจะเก็บไว้ในอาคารที่อาจไม่มีรั้วรอบขอบชิด หรือฝังไว้ชั่วคราวในหลุมตื้นๆ ซึ่งก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นคลุ้งทั่วบริเวณ รวมถึงอาจมีสัตว์มาคุ้ยเขี่ยศพจากที่ฝัง ทั้งนี้ข้อมูลในปี 2478 ระบุว่าในพื้นที่เขตพระนครมีศพจำนวน 2,400 ศพในโรงเก็บ และอีกกว่า 2,700 ศพ ที่ถูกฝังไว้ชั่วคราวเพื่อรอการเผา ตัวเลขดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อสุขภาวะของผู้คนในพระนครอย่างไม่น่าอภิรมย์

แม้จะมีการนำเข้าเมรุ หรือเตาเผาศพสมัยใหม่จากต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่เมรุดังกล่าวก็ถูกใช้สำหรับศพของเชื้อพระวงศ์หรือผู้คนในชนชั้นสูงเท่านั้น เนื่องจากญาติของผู้ตายต่างรังเกียจที่จะเผาศพของผู้วายชนม์ร่วมเมรุเดียวกับศพของผู้มีสถานะทางสังคมต่ำกว่า สามัญชนทั่วไปจึงจำต้องจัดพิธีเผาศพบนเชิงตะกอนเรื่อยมา เช่นนั้นแล้วเพียงไม่นานหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎรจึงมีดำริให้สร้างเมรุถาวรที่ถูกสุขลักษณะสำหรับประชาชนขึ้น ด้วยการจัดตั้ง “คณะกรรมการวางโครงการที่ตั้งเผาศพ” ขึ้นในปี 2478 ลงนามคำสั่งโดย หลวงประดิษฐมนูญธรรม (ปรีดี พนมยงค์) และมีพระยาบริรักษ์เวชชการ อธิบดีกรมสาธารณสุขเป็นประธาน โดยมีการทดลองสร้างเมรุถาวรบนที่ดิน 7 ไร่บริเวณป้อมเสาธง ปากคลองสาน ฝั่งธนบุรี พร้อมสร้างอาคารใช้สอยหลายรูปแบบ ได้แก่ ที่พักแขก, เมรุ, เตาเผาสมัยใหม่ และที่เก็บศพซึ่งถูกสุขอนามัย ทั้งยังมีรูปแบบสถาปัตยกรรม Art Deco ซึ่งล้ำสมัยมากในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ จึงมีมติให้จัดตั้งองค์การสาธารณะเพื่อเข้ามาดูแลแทน พร้อมกับการร่าง “พระราชบัญญัติจัดตั้งกรุงเทพฌาปนการจำกัด พ.ศ. 2479” ทว่าอีกเช่นกัน โครงการดังกล่าวก็ล้มเลิกไปในท้ายที่สุด กระทั่งในปี 2483  เมรุถาวรสำหรับสามัญชนก็ได้รับการก่อสร้างและเปิดใช้ครั้งแรกขึ้นที่วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารโดยฝีมือการออกแบบของพระพรหมพิจิตร นายช่างสถาปัตยกรรมไทยจากกรมศิลปากร ซึ่งมีรูปแบบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนโถงด้านหน้าที่ทำเป็นอาคารทรงเครื่องยอดมณฑป ส่วนอาคารเตาเผาสมัยใหม่ทางด้านหลัง และมุขหลังคาที่เชื่อมระหว่างอาคารทั้งสอง

การเกิดขึ้นของเมรุสำหรับสามัญชนแห่งแรกที่วัดไตรมิตรฯ ในปี 2483 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในระบบสาธารณสุขของประเทศ เพราะไม่เพียงเมรุแห่งนี้จะได้รับความนิยมทันทีที่เปิดใช้ หากยังเป็นแบบแผนในการสร้างเมรุเผาศพที่อื่นๆ ทั่วประเทศเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กลิ่นไม่พึงประสงค์จากศพที่รอถูกเผาจึงลดน้อยลง เช่นเดียวกับภาพอุจาดต่างๆ ทั้งก่อนและหลังการประกอบพิธี ทั้งนี้ความนิยมดังกล่าวยังส่งผลให้วัดสระเกศซึ่งเคยเป็นพื้นที่ฌาปนกิจที่ใหญ่ที่สุดในพระนครต้องยกเลิกการเผาศพแบบเชิงตะกอนไปในปี 2490 โดยสมบูรณ์ ไม่เพียงเท่านั้น เมรุแห่งนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคเท่าเทียมอย่างมีนัยสำคัญ เพราะไม่ว่าผู้ตายจะมาจากชนชั้นไหน ร่างของพวกเขาก็สามารถได้รับการฌาปนกิจอย่างสมเกียรติและเท่าเทียมไม่ต่างกัน แม้ต่อมาในปี 2550 เมรุวัดไตรมิตรฯ จะถูกรื้อถอนและแทนที่ด้วยพระมหามณฑปของวัด หากเมรุแห่งนี้ก็ถือเป็นมรดกที่ย้ำเตือนถึงคุณค่าจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย เพราะแท้จริงแล้ว ปัญหาเรื้อรังด้านการเผาศพของประเทศที่ผ่านมาหาใช่มาจากการที่ประชาชนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม แต่มาจากการกีดกันด้านชนชั้นของญาติผู้เสียชีวิตที่มาจากชนชั้นสูง ซึ่งไม่ปรารถนาจะให้ร่างของผู้วายชนม์เกลือกกลั้วกับร่างของสามัญชนต่างหาก

รูปภาพ

คลิปวิดีโอ

พิกัดสถานที่