ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
ประตูสวัสดิโสภา
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2484
สถานะ:
คงอยู่
พิกัดสถานที่:

ลักษณะสำคัญของงานสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่ในงานเครื่องคอนกรีตที่คณะราษฎรใช้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์หรือบูรณะสิ่งปลูกสร้างหลังปฏิวัติ 2475 คือการผสมผสานสถาปัตยกรรมไทยแบบจารีตให้สอดรับกับโครงสร้างเครื่องคอนกรีตเสริมเหล็กอันเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ในเวลานั้น โดยมีรูปทรงและจังหวะของงานออกแบบที่เน้นความเรียบง่าย ดูเข้มแข็ง และสง่างาม ซึ่งจะเห็นได้จากสิ่งของตกแต่งอย่างเครื่องปิด เครื่องมุง รวยระกา เครื่องลำยอง ช่อฟ้า หางหงส์ที่มีสัดส่วนสั้นลง เช่นเดียวกับลวดลายและการสะบัดปลายยอดของตัวลายที่ลดน้อยลงหากก็ยังมีการอ้างอิงทรวดทรงแบบจารีต ที่สำคัญคือการลดทอนรายละเอียดให้เหลือเพียงเส้นกรอบนอกทางเรขาคณิต รูปแบบสถาปัตยกรรมใหม่นี้ส่วนหนึ่งเป็นพัฒนาการที่สืบทอดต่อเนื่องมาจากผลงานฝีพระหัตถ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ผู้ออกแบบพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ (พ.ศ. 2471 – 2475) ที่สะท้อนให้เห็นแนวโน้มของการลดทอนองค์ประกอบทางประเพณีลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ยังเป็นครูของ “พระพรหมพิจิตร” นายช่างสถาปัตยกรรมคนแรกที่นำคอนกรีตเสริมเหล็กมาประยุกต์ใช้กับงานสถาปัตยกรรมไทย (รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งและคณบดีคนแรกของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) พระพรหมพิจิตรคือผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมหลากหลายโครงการในยุคคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน, เมรุวัดไตรมิตรฯ (เมรุหลังแรกของประชาชน) รวมถึงการบูรณะประตูสวัสดิโสภา ประตูชั้นนอกของพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสะท้อนอัจฉริยภาพของท่านในการวางหมุดหมายให้กับงานสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่อย่างชัดเจน

ประตูสวัสดิโสภา เป็นประตูชั้นนอกทางด้านทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ระหว่างป้อมเผด็จดัสกรและป้อมสัญจรใจวิง (ตรงข้ามกับกระทรวงกลาโหม) ประตูแห่งนี้แรกเริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เดิมเป็นประตูยอดเครื่องไม้ แต่บูรณะก่ออิฐถือปูนอย่างตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 3 ตามพระบรมมหาราชวังที่กรุงศรีอยุธยา กระทั่งในปี 2477 เกิดฟ้าผ่าลงมาจนทำให้ประตูเสียหาย จึงมีการบูรณะใหม่อีกครั้งในปี 2484 โดยมีพระพรหมพิจิตรเป็นผู้ออกแบบ หากมองเพียงผิวเผินเราจะเห็นประตูที่ถูกบูรณะใหม่มีทรงพระปรางค์ไม่แตกต่างจากซุ้มประตูอื่นๆ ของพระบรมมหาราชวัง แต่เมื่อมองอย่างละเอียดจะพบรูปแบบของ “ศิลปะไทยเครื่องคอนกรีต” ที่มีการลดทอนอย่างวิจิตร ไม่ว่าจะเป็นยอดปรางค์ ตั้งแต่นภศูร จอมโมฬี กลีบขนุน ขึนรัดประคด ซุ้มบันแถลง ซุ้มรังไก่ การย่อเก็จที่เชิงกลอน ลวดลายที่ปลาย และโคนเสาย่อมุมของประตู ทั้งหมดบ่งชี้ถึงการปรับรูปทรงและจังหวะของสถาปัตยกรรมไทยให้สอดรับกับวัสดุคอนกรีตอย่างสง่างาม

ทั้งนี้รูปแบบสถาปัตยกรรมเครื่องคอนกรีตของประตูสวัสดิโสภารวมถึงผลงานอื่นๆ ของพระพรหมพิจิตรล้วนมีความสอดคล้องกับรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ในระดับสากล อย่างชัดเจนหลายประการ เช่น ความเรียบง่าย การเน้นอวดรูปทรงและปริมาตร และการแสดงออกซึ่งความงดงามของโครงสร้างและวัสดุ ความสอดคล้องดังกล่าวยังถือเป็นความพยายามของคณะราษฎรที่จะกลืนรูปแบบและลักษณะของงานสถาปัตยกรรมที่กำลังเป็นกระแสนิยมโดยทั่วไปในสังคม ให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย ขณะเดียวกันลักษณะทางรูปแบบที่ไม่สอดคล้องกับกรอบความคิดของงานสถาปัตยกรรมไทยก็จะไม่ถูกหยิบยกมาใช้ เช่น การตัดลวดลายทุกอย่างออกในลักษณะที่ไม่ต้องอ้างอิงกับอดีตหรือประวัติศาสตร์ใดๆ ของงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ สิ่งนี้ได้บ่งบอกถึงความพยายาม “ประนีประนอม” ระหว่างสิ่งเก่า (จารีต) และสิ่งใหม่ (แนวคิดสมัยใหม่) ของคณะราษฎร หาใช่การรื้อทำลายสิ่งเก่า แต่เป็นการต่อยอดรากเหง้าดั้งเดิมให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และสอดรับกับแนวคิดในเรื่องการสร้างชาติให้เป็นอารยะ โดยเน้นลักษณะความเป็นไทยสมัยใหม่ที่มีสถาปัตยกรรมแบบทันสมัยเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการสื่อความหมาย  

รูปภาพ

ยุคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐

ยุคที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๐ ถึง ๒๕๔๙

ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน

พิกัดสถานที่