ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชื่อ:
หมุดคณะราษฎร
ปีที่สร้าง:
พ.ศ. 2479
สถานะ:
รื้อถอน
พิกัดสถานที่:

“หมุดคณะราษฎร” หรือชื่อเรียกทางการว่า “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” เป็นวัตถุแห่งความทรงจำสมัยคณะราษฎรที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หมุดนี้ถูกฝังตรึงบริเวณกลางลานพระราชวังดุสิต ซึ่งตรงกับตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้ยืนอ่านประกาศคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หมุดคณะราษฎรจึงเป็นหมุดหมายของการสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการเริ่มต้นระบอบรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเกี่ยวพันกับความทรงจำว่าด้วยการสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร ถึงแม้ว่าหมุดคณะราษฎรจะค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำสาธารณะภายหลังการสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎรนับตั้งแต่ พ.ศ. 2490 แต่จากการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์และความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรในสังคมไทยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2520 ส่งผลให้หมุดคณะราษฎรค่อย ๆ กลับมามีความสำคัญมากขึ้น จนกลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองสำหรับจัดพิธีรำลึกถึงการปฏิวัติสยามในเช้าวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีนับตั้งแต่ทศวรรษ 2540

จุดเริ่มต้นของหมุดคณะราษฎรเกิดขึ้นช่วงต้นปี พ.ศ. 2479 จากดำริของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกสโมสรคณะราษฎร มีความประสงค์จะสร้างหมุดที่ระลึกเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการปฏิวัติสยาม เมื่อแนวคิดนี้ได้รับความเห็นชอบจากพระยาพหลฯ ทางสโมสรคณะราษฎรได้เป็นเจ้าภาพจัดทำหมุดที่ระลึก โดยมีพระพรหมพิจิตร อาจารย์โรงเรียนศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ ปั้น และหล่อหมุดนี้ หมุดคณะราษฎรเป็นหมุดสำริดรูปวงกลมมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 นิ้ว มีข้อความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” ตรงกลางหมุดมีลวดลายดอกซีกดอกซ้อนคล้ายกลีบดอกไม้ผ่าครึ่ง หมุดคณะราษฎรได้ประกอบพิธีฝังหมุดในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 เวลา 14.30 น. ณ ลานพระราชวังดุสิต มีพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะราษฎรเป็นประธานในพิธีฝ่ายฆราวาส และมีพระธรรมโกศาจารย์ (ปลด) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ท่ามกลางผู้เข้าร่วมพิธีที่ประกอบด้วยคณะผู้ก่อการที่เคยร่วมตายในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

การฝังหมุดคณะราษฎรเมื่อปี พ.ศ. 2479 อยู่ภายใต้บริบททางการเมืองที่ฝ่ายคณะราษฎรได้ตระหนักถึงความสำคัญและเริ่มดำเนินการจัดการความทรงจำสาธารณะเกี่ยวกับการปฏิวัติสยาม เริ่มต้นจากงานรำลึกถึงการปฏิวัติสยามและการได้รับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในเดือนมิถุนายน ถัดมาเป็นการรำลึกถึงการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญผ่านพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏในเดือนตุลาคม และสุดท้ายเป็นการเน้นย้ำถึงจุดเริ่มต้นของระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นหมุดหมายความเจริญงอกงามของประเทศสยามผ่านพิธีฝังหมุดคณะราษฎรในเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตามการฝังหมุดอย่างแนบเนียนลงบนพื้นถนนบริเวณลานพระราชวังดุสิต ย่อมสะท้อนการเมืองของความทรงจำที่รัฐบาลพระยาพหลฯ ยังคงพยายามประนีประนอมไม่แตกหักกับความทรงจำของชนชั้นนำระบอบเก่าเหนืออดีตพื้นที่ทางอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้หมุดที่ระลึกชิ้นนี้กลับเป็นวัตถุสัญลักษณ์ทางการเมืองที่มีพลังน้อยกว่าสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญที่ปรากฏทั่วไปตามตราสัญลักษณ์ อนุสาวรีย์ และวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับระบอบใหม่ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามได้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนินในปี พ.ศ. 2482 อนุสาวรีย์นี้จึงกลายเป็นอนุสรณ์แห่งการระลึกถึงการปฏิวัติสยามที่ยิ่งใหญ่และทรงพลังขึ้นแทนที่หมุดคณะราษฎร

หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 หมุดคณะราษฎรได้เลือนหายไปจากความทรงจำสาธารณะเช่นเดียวกับการสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎร ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังมีการรื้อถอนหมุดคณะราษฎรออกจากลานพระราชวังดุสิต แต่หลังจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม หมุดได้ถูกนำกลับไปฝังไว้ตำแหน่งเดิมอีกครั้ง จนล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 2520 เมื่อมีการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์คณะราษฎรในสังคมไทย หมุดคณะราษฎรจึงได้รับความสนใจมากขึ้นผ่านการนำเสนอภาพหมุดนี้ตามสิ่งพิมพ์และนิทรรศการ รวมถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับหมุดชิ้นนี้จากความทรงจำของบุคคลต่าง ๆ ถึงกระนั้นหมุดคณะราษฎรยังคงเป็นวัตถุที่ยังไม่พลังทางการเมืองเช่นเดิม แม้ว่าในบางปีจะมีการจัดงานรำลึกถึงการปฏิวัติสยามในช่วงเช้าวันที่ 24 มิถุนายน แต่กิจกรรมนั้นเล็กมากจนไม่มีนัยทางการเมือง อย่างไรก็ตามภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 เมื่อเกิดปรากฏการณ์บูรณปฏิสังขรณ์คณะราษฎรขึ้นมาใหม่ในสังคมไทย ส่งผลบริเวณหมุดคณะราษฎรถูกใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงถึงการปฏิวัติสยามมากขึ้นและผสมผสานเข้ากับการต่อต้านรัฐประหารอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดกิจกรรมใหญ่เนื่องในวาระ 80 ปีการปฏิวัติสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 พลังอนุรักษ์นิยมได้พยายามลบความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรอีกครั้ง บริเวณหมุดคณะราษฎรไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ และตามมาด้วยการรื้อถอนทำลายหมุดคณะราษฎรในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 อย่างไร้ร่องรอยและแทนที่ด้วยหมุดปริศนาชิ้นใหม่ อันปราศจากรากเหง้าของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยโดยสิ้นเชิง ปัจจุบันบริเวณลานพระราชวังดุสิตมีการสร้างรั้วกั้นเป็นเขตพระราชฐาน และมีการปิดทับตำแหน่งหมุดคณะราษฎรเดิมด้วยแปลงดอกไม้ประดับพระบรมรูปทรงม้า

รูปภาพ

ยุคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐

ยุคที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึง ๒๕๕๗

ยุคที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปัจจุบัน

คลิปวิดีโอ

พิกัดสถานที่

หมุดคณะราษฎร เคยฝังอยู่บนพื้นถนน ใกล้กับพระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5

ปัจจุบันถูกรื้อถอนออกไป และแทนที่ด้วยหมุดหน้าใสฯ